4 ประเด็นว่าด้วย “A World of Married Couple”

4 ประเด็น a world of married couple

หนึ่ง

เอาเข้าจริง นี่อาจเป็นบทสนทนาต่อเนื่องมาจากซีรี่ส์เกาหลีฮิตๆ หลายเรื่องก่อนหน้านี้

บรรดาซีรี่ส์ที่มักเล่าถึงชีวิตครอบครัว 2 ครอบครัวขึ้นไป อันประกอบด้วยตัวละครรุ่นพ่อแม่ และตัวละครรุ่นลูกที่กำลังก่อสานความรักซึ่งกันและกัน

ก่อนที่เรื่องราวจะลงเอยในช่วงท้ายด้วยตอนจบปลายเปิดว่าด้วยคู่รักชายหญิงวัย 20-30 ปี ที่ยังไม่ได้ร่วมกันลงมือสร้างครอบครัวอันสมบูรณ์แบบของตนเองโดยฉับพลันทันที และแน่นอนว่าพวกเขาและเธอมักจะยังไม่มีลูก (คนเจนเนอเรชั่นหลาน) เป็นทายาทสืบสกุล

(ในกรณีตัวละครนำของ “Reply 1988” แม้จะมีการสมรสเกิดขึ้นหลายคู่ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าครอบครัวเหล่านี้ได้ให้กำเนิดทายาทหรือไม่)

ราวกับว่า “ความเป็นครอบครัว” ก็ดี สถานภาพ “ความเป็นพ่อแม่” ก็ดี นั้นไม่ใช่ภาพกระจ่างชัดในความรับรู้ จินตนาการ หรือความคิดฝัน ของคน (เกาหลี) รุ่นปัจจุบันมากนัก

“A World of Married Couple” ดูจะล้ำหน้าจากเหล่าซีรี่ส์ร่วมชาติไปก้าวหนึ่ง ด้วยการกล่าวถึงชีวิตครอบครัว อันประกอบด้วยสามี ภรรยา และลูก (ชาย)

อย่างไรก็ตาม ซีรี่ส์เรื่องนี้กลับฉายภาพแทนของชีวิตครอบครัวที่แตกสลายและกลับไม่ได้ไปไม่ถึง, ฉายภาพการเล่นเกมการเมืองระหว่างคู่สมรส ตลอดจนความมึนงงสับสนของลูก ที่ถูกยื้อยุดอยู่ระหว่างเกมอำนาจดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ “ครอบครัว” ใน “A World of Married Couple” จึงไม่ใช่สายใย ความผูกพัน พันธะ ความรับผิดชอบ ระหว่างคนสองคน ซึ่งอาจขยายต่อไปสู่สมาชิกคนอื่นๆ

หากเป็นแหล่งปะทะสังสรรค์และประลองอำนาจระหว่างหญิงชาย ที่เวียนวนอยู่กับกิเลส ตัณหา ปรารถนา และราคะ

สอง

ระหว่างดู “A World of Married Couple” ผมแอบนึกถึงหนังชิลีเรื่องล่าสุดที่ได้ดูอย่าง “Ema” อยู่เป็นระยะ

ขณะที่ “Ema” พยายามสร้างภาพแทนของ “ครอบครัว/ภราดรภาพ” ในเชิงอุดมการณ์ (“ครอบครัวในอุดมคติ”) ซึ่งถักทอขึ้นมาจากสายสัมพันธ์อันกว้างขวาง ขยับขยาย และซับซ้อน จนเกินกว่าความสัมพันธ์ในแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” (และ “ลูกเดียว”) โดยมีจุดหมายเพื่อตัดข้ามชนชั้น-เพศสภาพ และต่อต้านระเบียบ-ระบอบอำนาจ-ค่านิยมแบบเดิมๆ

ema 1

ภาพแทนของ “ครอบครัว (ชนชั้นกลางระดับสูง)” ในซีรี่ส์เกาหลีเรื่องดัง กลับวางพื้นฐานอยู่บนสายสัมพันธ์ที่ต้องการความชัดเจนไม่สลับซับซ้อน และทางสองแพร่งซึ่งไม่มีจุดกึ่งกลาง เช่น จะรักหรือไม่รัก จะเลิกหรือไม่เลิก จะไปต่อหรือหยุด จะสืบสานหรือตัดขาด

แม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสายสัมพันธ์ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยความซับซ้อนลังเลสงสัยตามประสามนุษย์ธรรมดาสามัญก็ตาม

world-1130x580

น่าสนใจว่าตัวละครส่วนใหญ่ใน “A World of Married Couple” ล้วนต้องการความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวที่ชัดเจนกระจ่างแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครรุ่นอาวุโส ตัวละครผู้หญิง (ที่เป็นทั้งฝ่ายกระทำและถูกกระทำ) หรือกระทั่งตัวละครเด็กชายวัยมัธยม

ขณะเดียวกัน การเกาะยึดกับสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน และการพยายามปะผุ รื้อฟื้น หรือสร้างความหมายใหม่ให้แก่ความสัมพันธ์เดิมที่แตกร้าวไปแล้ว กลับถูกผลักไสให้กลายเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของผู้ชาย/ผัว/พ่อที่ล้มเหลวไปเสียหมด

ความทะเยอทะยานในเชิงอุดมการณ์ของ “Ema” จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือความผิดเพี้ยนจากมาตรฐานจริยธรรมของครอบครัวชนชั้นกลางใน “A World of Married Couple”

สาม

ในอีกด้านหนึ่ง “A World of Married Couple” ก็เป็นซีรี่ส์ที่วิพากษ์วงการแพทย์อย่างแหลมคมพอสมควร

นี่คือเรื่องราวของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวคนเก่ง ที่มีปัญหาเรื่องครอบครัว และต้องได้รับการเยียวยาดูแลจากจิตแพทย์

ช่วงต้นๆ เรื่อง เราสามารถตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์ของ “หมอจี” ได้เยอะแยะ ทั้งเรื่องการใช้คนไข้ไปทำงาน “สีเทา” เพื่อแลกกับการยอมจ่ายยาที่หมอไม่ควรสั่งพร่ำเพรื่อ หรือในประเด็นการเสียชีวิตของแม่ “อีแทโอ” ก็ต้องยอมรับว่าลูกสะใภ้เช่น “หมอจี” มีส่วนต้องรับผิดชอบ (อาจบอกว่าเธอ “ฆ่า” แม่ยายทางอ้อมได้ด้วยซ้ำ) รวมทั้งการเล่นชู้กับเพื่อนบ้าน

CW34_3A

เรายังได้เห็นการชิงดีชิงเด่นในโรงพยาบาล โดยสถานพยาบาลไม่ได้เป็น “พื้นที่ทางสังคม” ที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของคนเป็น “หมอ”

แต่ “หมอ” ระดับผู้บริหารโรงพยาบาล ยังจำเป็นจะต้องเข้าไปขอรับเงินสนับสนุนจากเหล่านายทุน ขณะที่ “หมอ” ระดับเล็กๆ ซึ่งหวังจะเจริญก้าวหน้า ก็ต้องรู้จักคบค้าสมาคมกับชนชั้นนำหรือเครือข่ายสังคมกลุ่มอื่นๆ

“หมอ” จึงเป็นได้ทั้ง “คนป่วย” “คนผิด” เป็น “คนเล่นการเมือง” หรือ “คนมีผลประโยชน์ในทางธุรกิจ”

“สาร” ทำนองนี้มีความสำคัญมากสำหรับสังคมในยุคโควิด-19 เมื่อสาธารณชนมีแนวโน้มจะเชื่อฟังความเห็นทุกๆ อย่าง (ทั้งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณสุขโดยตรงและไม่ใช่) ของบุคลากรทางการแพทย์

สี่

kim-hee-ae-han-so-hee

เวลาเห็น “หมอจีซอนอู” ปะทะบทบาทกับ “ยอดาคยอง” จะแอบรู้สึกว่ากำลังนั่งชม “รัชนู บุญชูดวง” เผชิญหน้ากับ “วทันยา วงษ์โอภาสี”

(ขอสารภาพว่า โดยส่วนตัว ผมชอบผู้หญิงหน้าตาแบบ “หมอจี/รัชนู” มากกว่า “ดาคยอง/มาดามเดียร์” 555)

นักแสดงอีกคนที่ผมชอบมากๆ ก็คือ “ซออีซุก” ผู้รับบทภรรยาประธานชเว และผู้นำของสมาคมสตรีแห่งโกซาน

จริงๆ ผมแอบประทับใจเธอมาตั้งแต่ตอนรับบทเป็น “มาโก” เทพเจ้าหญิงหลายรูปลักษณ์/หลากบุคลิกใน “Hotel del Luna”

seo yi sook

กระทั่งมาร่วมแสดงใน “A World of Married Couple” ผมจึงตระหนักชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “ซออีซุก” นั้นมีบุคลิกเป็นสุภาพสตรีเปี่ยมบารมี ซึ่งแลดูจะมีทั้ง “พระคุณ” กับ “พระเดช” อยู่ในตัวเอง

บทภรรยาประธานชเวเป็นเหมือนคนที่มองเห็นความเป็นไปทุกอย่างในสงครามครอบครัว/คู่รักที่บังเกิดขึ้น เธอไม่ได้วางตัวเป็นกลาง แต่เลือกข้างและแอบเล่นเกมอยู่เงียบๆ แบบไม่ต้องไปบีบเค้นคาดคั้นตัวเองหรือใครๆ อย่างสุดขั้ว ทว่าก็มิได้เป็นคนสยบยอมเฉื่อยชาหรือไหลล่องตามกระแสอย่างสิ้นเชิง

มนุษย์มนาในโลกความจริง ก็มักจะเล่นเกมอำนาจในแนวทางเดียวกับภรรยาประธานชเวนี่แหละ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.