หนึ่ง
“Ema” คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “พาโบล ลาร์เรน” ผู้กำกับชาวชิลี ที่มีผลงานสร้างชื่อ อาทิ “No” หนังว่าด้วยกระบวนการรณรงค์ก่อนการลงประชามติโค่นล้มเผด็จการ “ปิโนเชต์” และ “Jackie” ภาพยนตร์ชีวประวัติของ “แจ็กเกอรีน เคนเนดี้”
หลังจากดู “Ema” จบ (หนังจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ MUBI อีกราวครึ่งเดือน) ผมรู้สึกว่าลาร์เรนเก่งดี ที่สามารถหยิบฉวยเรื่องการเต้น เพศสภาพ ชนชั้น สถาบันครอบครัว ฯลฯ มาขยำรวมกัน แล้วปรุงแต่งองค์ประกอบหลายหลากเหล่านั้นออกมาเป็นหนังที่ดูสนุก มีประเด็นชวนฉุกคิด-หนักแน่น ทั้งยังส่งสารทางการเมืองอันแหลมคมแปลกใหม่
สอง
จุดแรกสุดที่ผมประทับใจ ก็คือ บทบาท-หน้าที่ของตัวละครนำอย่าง “เอม่า”
“เอม่า” คือ “ตัวป่วนระบบ-ระบอบ-สังคม” ทว่ารูปแบบ “การป่วน” ของเธอกลับมีมิติสลับซับซ้อน กล่าวคือ ด้านหนึ่ง เธอมีภาพลักษณ์เป็น “ผู้ลอบทำลาย” ทรัพย์สินสาธารณะด้วยนาปาล์ม (ซึ่งอีกนัยหนึ่ง พฤติกรรมทำลายล้างเช่นนี้ได้นำไปสู่การสานผูกเงื่อนปมอะไรบางอย่างขึ้นมา) แต่อีกด้าน “เอม่า” ก็มุ่งมั่นพยายาม “สร้างสรรค์ครอบครัว” (เครือข่ายสายสัมพันธ์ทางสังคม/ภราดรภาพ) ในรูปแบบและด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่แหวกต้านจารีตปทัสถานดั้งเดิมอย่างแปลกประหลาดและร้ายกาจ
ด้วยเหตุนี้ “ตัวป่วน” เช่น “เอม่า” จึงมีสถานะเป็นทั้ง “ผู้สร้าง” และ “ผู้ทำลาย” โดยเราคงไม่สามารถเรียกขานพฤติกรรมของเธอว่าเป็น “การต่อต้าน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ (และดูเหมือนเธอก็จะไม่ค่อยอินหรือเชื่อในคอนเซ็ปท์เรื่อง “การต่อต้าน” แบบปัญญาชนสักเท่าไหร่)
สาม
จุดถัดมาที่ทำให้ผมประทับใจหนังเรื่องใหม่ของ “พาโบล ลาร์เรน” ก็คือ ที่ผ่านมา ผลงานทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่พยายามจะส่งสารว่า “คนชั้นล่าง” หรือ “คนชายขอบ” ของสังคมนั้นมี “ภูมิปัญญา” ในแบบฉบับของตนเอง มักจะหลีกหนีกับดักของการประกอบสร้าง “ตัวละครคนชั้นล่าง/คนชายขอบ” ให้กลายสภาพเป็น “ปัญญาชน” ไปไม่ค่อยพ้น
แม้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นักทำหนังชาวชิลีได้สร้างตัวละคร “สาวนักเต้นข้างถนน” ที่ใช้ชีวิตในชุมชนย่านท่าเรืออย่าง “เอม่า” ให้เป็นบุคลผู้มี “ตรรกะ” ที่แม่นยำและไปสุดทางมากๆ
แต่ “ตรรกะ” ของ “เอม่า” นั้นหล่อหลอมขึ้นมาจากความดิบ ความเลว ความเถื่อน ความเห็นแก่ตัว ความมัวเมาในกามารมณ์ ความรัก ความมีมนุษยธรรม ความเป็นแม่ และความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างคนรัก-มิตรสหายอันยุ่งเหยิงไร้ระบบระเบียบ
ทั้งหมดนี้คืออารมณ์ความรู้สึกและสัญชาตญาณที่แฝงฝังกระจัดกระจายอยู่ในตัวตนและวิถีชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งดูจะไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงปะติดปะต่อ หรือเป็นเหตุเป็นผลต่อกันมากนัก ทว่ามันกลับนำไปสู่ผลลัพธ์อันทรงพลังและสามารถทำความเข้าใจได้ ณ เบื้องท้ายสุด
นี่เป็น “ตรรกะ” ที่คนเป็นทนายความ (แม้จะมีความคิด-การดำเนินชีวิตเปิดกว้างในระดับหนึ่ง) คนเป็นพนักงานดับเพลิง (ที่ยังเชื่อว่าการสร้างสถาบันครอบครัวคืออารยธรรมและวัฒนธรรม) หรือคนออกแบบท่าเต้น (ที่เป็นเหมือนนักท่องเที่ยว-ปัญญาชนคนนอก) อาจจะพอปรับตัวปรับใจรับสภาพกับผลลัพธ์ของมันได้อยู่บ้าง
แต่เอาเข้าจริง พวกเขาคงไม่มีทางเข้าอกเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้ง ถึงวิถีทาง-วิธีคิดของคนชั้นล่าง/คนชายขอบผู้หนึ่ง ที่พยายามจะผลัก “ตรรกะพิลึกพิลั่น” ชุดนี้ ให้ค่อยๆ พัฒนา-ก่อรูปกลายมาเป็นระบบปฏิบัติการที่มีสัมฤทธิผลในโลกความจริง
สี่
สิ่งที่ดำเนินคู่ขนานไปกับการสร้างครอบครัววิถีใหม่ของ “เอม่า” ก็คือ การรวมกลุ่มเต้นเรเกตอนกับเพื่อนๆ ร่วมชนชั้นของเธอ
“แกสตอง” สามีนักออกแบบท่าเต้นของ “เอม่า” นั้นเคยดูหมิ่นกิจกรรมการเต้นรำข้างถนนดังกล่าว ในทำนองว่านี่เป็นเรื่องไร้สาระเปล่าประโยชน์ หลบหนีความจริง และไม่มีพลังในการต่อสู้
ทว่าสิ่งที่ค่อยๆ ปรากฏในภาพยนตร์ กลับตรงกันข้าม
ในแง่ศิลปะ “เอม่า” และผองเพื่อน แสดงให้เห็นว่าการเต้นเรเกตอนนั้นมีอิสระลื่นไหลและมีชีวิตชีวากว่าการเต้นที่มีลักษณะเป็น performance art ซึ่งออกแบบโดย “แกสตอง”
ในแง่พลานุภาพทางการเมือง ความพยายามดิ้นรนของ “เอม่า” ที่ได้รับแรงหนุนจากเครือข่ายเพื่อนๆ นักเต้นข้างถนน ก็ไปได้ไกลและมีสัมฤทธิผลในโลกความจริงมากกว่าวิธีการเผชิญหน้าปัญหาแบบ “แกสตอง”
ไม่ว่าจะประเมินเธอในฐานะ “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้ทำลาย” ก็ตาม
ห้า
ประเด็นสุดท้ายที่อยากทดลองเสนอก็คือ “Ema” เป็นหนัง/ซีรี่ส์ร่วมสมัยอีกเรื่องหนึ่ง ที่พูดถึงสถานะความเป็น “พ่อ/แม่” ของคนรุ่นใหม่ในโลกยุคปัจจุบันได้น่าสนใจดี
แม้หนังจะเริ่มต้นด้วยการเปิดฉากให้ “เอม่า” และคนรุ่นเธอคล้ายจะเป็น “พ่อแม่” ที่ล้มเหลว คือ ให้กำเนิดลูกของตนเองไม่ได้ และเป็นพ่อแม่บุญธรรมที่บกพร่อง
ทว่าหนังไม่ได้หยุดเรื่องราวอยู่ตรงปัญหาการไม่สามารถเป็น “พ่อแม่” ของคนรุ่นนี้ แต่กลับท้าทายผู้ชมว่าพวกเธอและพวกเขาอาจมีวิธีการลงมือก่อร่างสร้างครอบครัวและสืบพันธุ์ (reproduction) แบบใหม่ๆ ที่ซับซ้อน หลากหลาย ขยายกว้าง กลับหัวกลับหาง และยืดหยุ่นกว่าเดิม
นี่คือภาพแทนของครอบครัว/ชุมชน/สังคม ที่ก้าวล้ำทะลุทะลวงเกินความคาดคิด ประสบการณ์ชีวิต และเส้นขอบฟ้าทางภูมิปัญญาของผู้ทรงอำนาจและผู้มีความรู้จำนวนมาก
1 Comment