(เปิดเผยเนื้อหา)
หลังดูซีรี่ส์เกาหลีอันโด่งดังอย่าง “Itaewon Class” จบลง ก็มีเรื่องวนเวียนอยู่ในหัวผมประมาณ 4-5 ประเด็น ดังรายละเอียดต่อไปนี้

วัฒนธรรม “ลูกพี่”
ตั้งแต่ต้นจนจบ ค่านิยมหลักประการหนึ่งที่ซีรี่ส์เรื่องนี้นำเสนอก็คือ “วัฒนธรรมลูกพี่” (ในแบบเอเชียตะวันออก?)
จนสามารถกล่าวได้ว่าการแข่งขันกันทางธุรกิจในระบบทุนนิยมผ่านกลไกตลาดหุ้นก็ดี การแสดงอำนาจบารมีแบบ “นักเลง” หรือ “พี่” (อาเฮีย) ก็ดี การใช้อิทธิพลนอก-ในระบบกฎหมายก็ดี ล้วนถูกห่อคลุมไว้ด้วย “วัฒนธรรมลูกพี่” ทั้งหมด
เพียงแต่อำนาจบารมีของ “ลูกพี่” คนหนึ่งนั้นเสื่อมถอยลง สวนทางกับอำนาจบารมีของ “ลูกพี่” อีกคน ที่กำลังพุ่งแรงเจิดจ้า
การบริหารแบบ “เถ้าแก่”
ไม่ว่าจะเป็นไอซีหรือชางกา ทั้งสองบริษัทล้วนดำเนินกิจการแบบยึด “เถ้าแก่” (ซึ่งก็คือ “ลูกพี่” นั่นแหละ) เป็นศูนย์กลาง แล้วฉาบหน้าด้วยความเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์
ความล้มเหลวของ “ชางแดฮี” พิสูจน์แล้วว่าบริษัทไม่สามารถเดินไปต่อได้ด้วยระบบบริหารงานแบบ “เถ้าแก่” ขณะที่ชัยชนะของ “พัคแซรอย” ก็เป็นเพียงความสำเร็จในเฟสแรก ซึ่งก่อให้เกิดคำถามนอกเหนือจากเนื้อหาของซีรี่ส์ตามมาว่า แล้วไอซีที่ควบรวมชางกาเข้ามาด้วยมันจะเป็นอย่างไรต่อไป?
แค่ “เถ้าแก่พัค” กับ “ลูกน้องคนสนิท” กลุ่มเดิม ที่บุกเบิกร้านอาหารเล็กๆ มาด้วยกัน แล้วกลายสภาพมาเป็นคณะผู้บริหารกิจการใหญ่โต จะเอาบริษัทอยู่หรือไม่? (ในเงื่อนไข เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัทไม่ได้มีเอาไว้กระทืบคนหรือขับเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตรอย่างเดียวนะเว้ย 555)
อีกทั้งต้องไม่ลืมด้วยว่า “โชอีซอ” ที่ว่ากันว่าเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ไอคิวอัจฉริยะ ก็ยังไม่เคยเอาชนะผู้บริหารกลุ่มเดิมของชางกาได้ด้วยศักยภาพของตัวเองแบบเต็มๆ กระทั่ง “อีโฮจิน” ที่เป็นเหมือนมันสมองในการลงทุนของ “พัคแซรอย” ก็ยังพลาดนู่นพลาดนี่ตั้งเยอะแยะ

มีรัก ไม่มีเซ็กส์
“Itaewon Class” เป็นซีรี่ส์เกาหลีอีกเรื่อง ที่พูดเรื่องความรักกะหนุงกะหนิง พูดเรื่องมิตรภาพ พูดเรื่องการสร้างตัว พูดเรื่องการแข่งขันทำมาหากิน โดยไม่แตะต้องเรื่องเซ็กส์ รวมถึงการมีสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างคู่รัก
กลายเป็นว่าคนกลุ่มสุดท้ายที่เคยมีความสัมพันธ์แบบนั้น อาจเป็น “ชางแดฮี”, พ่อของ “พัคแซรอย” และอดีตสายสืบ ที่แต่งงาน (บางคนมีเมียนอกสมรสด้วย) และมีลูก (น่าสนใจว่า ซีรี่ส์เลือกจะไม่แสดงตัวตนของภรรยาของผู้ชายเหล่านี้เลย ยกเว้นกรณีอนุภรรยาของ “ประธานชาง”)
ผู้หญิงวัย 40 กว่าๆ อย่าง “หัวหน้าคัง” ก็เหมือนจะไม่เคยมีความรัก ไม่เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใคร กระทั่งมาเจออดีตนักสืบ (ซึ่งก็ดูจะเป็นการเริ่มๆ จีบกันเท่านั้น)
“พัคแซรอย” ไม่เคยจูบใคร (แต่ถูกแอบจูบ) มาจนถึงตอนอายุ 30 กว่าๆ และมีความเป็นไปได้ว่าหมอนี่อาจไม่เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงคนไหน ด้วยความหมกมุ่นจริงจังเจ้าคิดเจ้าแค้นของเขา ก่อนจะเพิ่งมารู้จักรัก “อีซอ” ในช่วงท้าย (หลังจากทำแค่ลูบหัวเธอด้วยความเอ็นดูมาตลอด)
กระทั่ง “ชางกึนวอน” ที่ดูเป็นเพลย์บอย นี่ก็ไม่แน่นักว่าจะเคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครจริงๆ เผลอๆ เขาอาจมีอาการหลงรัก “โอซูอา” ข้างเดียวแบบหัวปักหัวปำก็ได้
เช่นเดียวกับ “หัวหน้าโอ” ที่พลาดโอกาสในการสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “พัคแซรอย” ครั้งแล้วครั้งเล่า (และอาจเพิ่งเริ่มมามีความหวังเมื่อได้เจอเชฟหนุ่มหล่อตอนอีพีสุดท้าย)
แม้แต่ “ชเวซึงควอน” ที่แลดูเป็นนักเลงหัวไม้ผ่านการต่อสู้มาโชกโชน ก็ดันอ่อนด้อยประสบการณ์ในการเที่ยวกลางคืนเสียอย่างนั้น หรืออาจไม่เคยมีสัมพันธ์อะไรกับใคร จะว่าเขามีแนวโน้มลงเอยกับ “มาฮยอนอี” ก็ยังไม่แน่ใจสักเท่าไหร่
ไม่รวมถึง “ชางกึนซู” ที่แห้วจาก “โซอีซอ” และ “คิมโทนี่” ที่เลิกกับแฟนในช่วงปลายๆ เรื่อง
ยุคสมัยที่มีแต่ “ลูก” ไม่มี “พ่อ”
นอกจากเรื่อง “วัฒนธรรมลูกพี่” และการบริหารองค์กรธุรกิจแบบ “เถ้าแก่” แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ซีรี่ส์เรื่องนี้พูดถึงอย่างชัดเจน ก็คือความสัมพันธ์หรือการส่งมอบพันธกิจระหว่างพ่อ-ลูก
ซึ่งมีทั้งกรณีที่พ่อมีอำนาจ แต่ลูกไม่สามารถสืบทอดอำนาจดังกล่าวได้ และกรณีที่พ่อคือผู้ (เหมือนจะ) พ่ายแพ้ ส่วนลูกกลายมาเป็นผู้ชนะ
แต่น่าสนใจว่าพอมาถึงรุ่นลูก (ชาย) ซึ่งอายุ 30 กว่าๆ กันแล้ว คนเหล่านี้กลับมีสถานะเป็น “ลูก” อยู่วันยังค่ำ เพราะพวกเขายังไม่มีครอบครัวลูกเต้าของตัวเอง (บางคนเพิ่งเริ่มรักเป็น บางคนก็ต้องติดคุก)
ดังนั้น สำหรับคนเจนเนอเรชั่น “พัคแซรอย” เป็นต้นไป การส่งมอบมรดก/ทรัพย์สิน/อุดมการณ์จากพ่อไปสู่ลูกจึงอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญสูงสุด ซึ่งในอีกแง่หนึ่ง มันก็อาจเปิดโอกาสให้บริษัทอย่างไอซี-ชางกา ได้กลายเป็นบริษัทมหาชนจริงๆ เสียที
ทุกคนแทบไม่เปลี่ยนแปลง
น่าสนใจว่าแม้กรอบเวลาของซีรี่ส์เรื่องนี้จะยาวนานถึง 15 ปี แต่บุคลิกลักษณะทางกายภาพของตัวละครทั้งหลายกลับเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก (มีแค่ “หัวหน้าโอ” ที่เปลี่ยนจากผมสั้นเป็นผมยาว หรือ “ประธานชาง” ที่แก่ตัวลงชัดเจนในตอนท้ายเรื่อง)
ตรงนี้ เข้าใจว่าคนทำคงต้องการสื่อถึงความไม่เปลี่ยนแปลงในทางความคิดจิตใจของบรรดาตัวละครหลัก
อย่างไรก็ตาม ที่น่าตลกคือ แม้กระทั่งตัวละครเด็ก ลูกสาวของคุณสายสืบ ก็ยังไม่ยอมเจริญเติบโต (มีฉากหนึ่งที่ซีรี่ส์ตัดข้ามเวลาไปถึง 4 ปี แต่น้องคนนี้ –ซึ่งควรจะเริ่มเข้าสู่วัยสาว- กลับยังมีรูปหน้าคงเดิมและรูปร่างเท่าเดิมอยู่เลย จนต้องมีการกลบเกลื่อนปัญหาดังกล่าว ด้วยการกำหนดให้ตัวละครผู้ใหญ่พูดคุยกันว่าเธอตัวโตขึ้นเยอะ)
เสียดายกาแฟ
อันนี้เป็นเรื่องแซวแถมท้าย – ระหว่างดู “Itaewon Class” ผมจะรู้สึกเสียดายมากเวลามีฉากพวกตัวละครเข้าไปนั่งคุยกันในร้านกาแฟ เพราะส่วนใหญ่พวกเขามักดื่มกาแฟไม่ค่อยหมดแก้ว ยิ่งน้อง “โชอีซอ” นี่ พอเอะอะไม่พอใจใครก็รีบเดินออกจากร้านอย่างหุนหันพลันแล่น แล้วทิ้งกาแฟเย็นไว้ค่อนแก้วอยู่เสมอ (มิหนำซ้ำ น้องยังเคยเอากาแฟร้อนราดใส่ศัตรูของคนรักอีกต่างหาก)