ไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในรอบปฐมทัศน์ประเทศไทย ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม แต่มีโอกาสไปนั่งดู “Ten Years Thailand” ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา (วันเดียวกับที่หนังผ่านเซนเซอร์พอดี)
บันทึกชิ้นนี้เลยอาจจะไม่ได้กล่าวถึงงานฉายหนัง “Ten Years Thailand” ในฐานะกิจกรรมทางการเมือง ณ วันปลดล็อกการเมืองปลายปี 2561 ก่อนการเลือกตั้งต้นปี 2562 แต่คงพูดถึงมันในฐานะ “หนัง -การเมือง- ไทย” เรื่องหนึ่ง (แถมด้วยปฏิกิริยาบางอย่างจากคนดูต่างชาติ)
ขออนุญาตเขียนถึงหนังสั้นแต่ละตอน ก่อนจะสรุปภาพรวมของ “Ten Years Thailand” ทั้งเรื่องในหัวข้อสุดท้าย ดังนี้
“Sunset” โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์
โครงเรื่องว่าด้วยความรักความสัมพันธ์ “ร่วมชนชั้น-ภูมิภาค” ระหว่าง “พลขับทหารเกณฑ์” ที่ติดสอยห้อยตามนายมาตรวจสอบ-เซนเซอร์ผลงานศิลปะ กับ “พนักงานทำความสะอาดสาว” ในแกลเลอรี่ นั้นนับว่าน่าสนใจ
อาทิตย์ถ่ายทอดเรื่องราวจากโครงสร้างที่แข็งแรงออกมาได้สนุก ขำขัน อุ่นๆ กรุ่นๆ กำลังดี
หนังไม่ได้แสดงเจตนาจะก้าวข้าม “ความขัดแย้งสองขั้ว” อย่างเด่นชัด ขณะเดียวกัน ก็มิได้จงใจจะรวบรวมพลังของคนเล็กคนน้อยเพื่อตอกกลับผู้มีอำนาจรัฐอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ผมออกจะรู้สึกแปลกประหลาดและอึดอัดนิดๆ กับท่าทีบางประการของหนัง ซึ่งพยายามจะอธิบาย “ความยากลำบากใจ” ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทหาร ไปพร้อมกับการขายความไร้สาระ ความกร่าง แบบไม่ได้เรื่องได้ราวของนายตำรวจ
(แต่ไม่แน่ใจว่านั่นคือประสบการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นกับศิลปินบางรายและแกลเลอรี่บางแห่งหรือเปล่า?)
“Catopia” โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
หนังพูดถึง “โลกประหลาด” ที่ถูกยึดครองโดย “มนุษย์แมว” ณ ที่นั้น ยังมี “มนุษย์จริงๆ” หลงเหลืออยู่ เขาหลบซ่อนแอบแฝงอัตลักษณ์ของตนเองอย่างแนบเนียนมาได้หลายปี ก่อนจะหลุดเผยมันออกมาระหว่างเข้าช่วยเหลือ “มนุษย์แมวเพศหญิง” ซึ่งกำลังโดนล่าแม่มดและรุมประชาทัณฑ์
โจทย์ด้านโปรดักชั่นที่วิศิษฏ์เลือกนั้นจัดว่า “ยาก” แต่เทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพ “มนุษย์หัวแมว” ก็ทำออกมาได้ดีไม่มีจุดติดขัด
ผมชอบภาวะ “ลักลั่นย้อนแย้ง” ในการดำรงอยู่อย่างแปลกแยกจากสังคมแมวของตัวละครนำ ที่หนังถ่ายทอดเอาไว้ กล่าวคือ ด้านหนึ่ง เหล่า “มนุษย์แมว” ก็ปฏิบัติหรือมองเห็นเขา ราวกับเขาเป็นพวกเดียวกับมัน แต่อีกด้าน ผู้ชมภาพยนตร์ก็จะตระหนักได้ว่าตัวละครรายนี้เป็น “มนุษย์ธรรมดา” มิใช่ “มนุษย์หัวแมว” (พูดอีกอย่าง วิศิษฏ์กำลังพยายามผลักให้คนดูเข้าไปตกที่นั่งเดียวกับตัวละครนำ)
นี่คือปริศนาว่าถึงที่สุดแล้ว ตัวละครนำของ “Catopia” ปลอมตัวอย่างไรจนหลุดรอดสายตา “มนุษย์แมว” มาได้เนิ่นนาน หรือในความเป็นจริง พวก “มนุษย์แมว” ก็แชร์โลกทัศน์แบบเดียวกับผู้ชมในโรงภาพยนตร์ (แง่นี้ คนดูอาจกลายเป็นหนึ่งใน “มนุษย์หัวแมว”) และทราบดีว่าเขาไม่ใช่พวกมัน เพียงแต่เสแสร้งกลบเกลื่อนความสงสัยเอาไว้
ถ้าหนังตอนของวิศิษฏ์จะมี “จุดอ่อน” อยู่บ้าง นั่นก็เห็นจะเป็นพล็อตเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก (คนดูสามารถล่วงรู้บทสรุปก่อนหน้าหนังจะเฉลย) เนื้อหาไม่สลับซับซ้อน ตามแนวทางการทำงานยุคหลังของผู้กำกับ ที่หันเหตนเองมาสู่การสร้างภาพยนตร์-เขียนนิยายในตระกูล “ไลท์โนเวล” เต็มตัว
ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมวงกว้างและแฟนๆ ของวิศิษฏ์ จะพอใจกับตัวตนแบบนี้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน?
เมื่อสิ่งที่ถูกบรรจุไว้ในหีบห่ออันฉูดฉาด น่าทึ่ง ตระการตา คือ เนื้อหาสาระที่กระชับ ชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่อาจไม่ลุ่มลึก ถอนรากถอนโคนแบบสุดๆ
“Planetarium” โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล
นี่คือหนังตอนที่เตะตา, ต้องใจ และแปลกประหลาดสุดใน “Ten Years Thailand”
หนังเล่าเรื่องราวภายใน “สังคมค่ายลูกเสือ” ที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งแลดูเป็นคุณป้าใจดีมีคุณธรรม พร้อมด้วยเหล่าลูกเสือวัยเยาว์ใส่แว่นมาดเนิร์ดจำนวนมาก พยายามเฝ้าสอดส่องและคอยจัดระเบียบพฤติกรรมของผู้คน
หากใครฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ พวกเขาจะถูกจับกุมและโดนส่งตัวออกไปสู่จักรวาลอันไกลลิบลับ เพื่อเข้ารับการปลูกฝังความคิด จัดระเบียบร่างกาย ให้กลายเป็นประชากรลูกเสือคนใหม่ หรือ “เด็กดี” ภายใต้ระบอบอำนาจเดิม
ก่อนหน้านี้ จุฬญาณนนท์เคยทดลองนำเสนอ/หยอกล้อจักรวาลทัศน์หรือแนวคิดเรื่องไตรภูมิแบบไทยๆ ด้วยรูปแบบที่อิงแอบหรือได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง-นิยายวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาแล้ว ในวิดีโออาร์ตบางชิ้นของเขา
ซึ่งบางครั้ง ผมก็รู้สึกว่าจุฬญาณนนท์เดินทาง “ไปไกลโพ้น” เกินควร แต่พอมาเล่นกระบวนท่าคล้ายๆ กันในโปรเจ็คท์ Ten Years งานของเขากลับออกมาเวิร์ก ชวนครุ่นคิด และมีอารมณ์ขันร้ายกาจกำลังดี
จุฬญาณนนท์อธิบายกับคนดูที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ว่า “จักรวาล” ในหนังของเขา ไม่ใช่ “จักรวาลแบบวิทยาศาสตร์” เสียทีเดียว แต่มันมีความโน้มเอียงจะเป็น “จักรวาลวิทยาแบบพุทธ” มากกว่า
(เช่นเดียวกับ “พีระมิดนีออน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานวัดมากกว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ใดๆ)
ในภาพกว้าง หนังสั้นตอนนี้จึงพูดถึงการปะทะ/หลอมรวมกันระหว่างจักรวาลวิทยาสองแบบ
อย่างไรก็ดี “Planetarium” ไม่ได้พาผู้ชมออกเดินทางไปสู่จักรวาลอันกว้างใหญ่เท่านั้น แต่หนังสั้นตอนนี้ยังย้ำเตือนว่า สุดท้ายแล้ว อำนาจที่เหมือนจะอยู่ห่างไกล สามารถคล้อยเคลื่อนเข้ามากดทับครอบคลุมร่างกายของเราอย่างแนบชิดและนุ่มนวลเพียงใด ผ่าน “วัตถุสิ่งของ” ตลอดจนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์บางชนิด
“Song of the City” โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
นี่เป็นหนังเรียบง่าย ดูเพลินๆ และมีลักษณะผสมผสานระหว่างเรื่องแต่งกับสารคดีในสไตล์ “อภิชาติพงศ์”
ยิ่งกว่านั้น หนังสั้นตอนนี้ยังถ่ายทำในสวนสาธารณะกลางเมืองขอนแก่น จนคล้ายเป็นส่วนต่อขนาดย่อมๆ ของ “รักที่ขอนแก่น” หนังยาวเรื่องหลังสุดของผู้กำกับ
หนังถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างตัวละครหลากกลุ่ม หลายภูมิหลัง ซึ่งต่างมีปัญหา มีสภาพชีวิต ณ ปัจจุบัน มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีต ที่ผิดแผกกันไป
ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ดำเนินเคียงคู่ไปกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสวนสาธารณะ
ทว่าสิ่งที่ยังยืนหยัดตั้งตรงอยู่อย่างมั่นคง ประหนึ่งศูนย์กลางของจักรวาล ท่ามกลางสรรพชีวิตและสภาพแวดล้อมอันไหลเลื่อนเคลื่อนไหว ก็คือ อนุสาวรีย์และภาพประติมากรรมนูนต่ำเชิดชูเกียรติคุณของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” อดีตนายกรัฐมนตรี และชุดบทเพลงที่ขับกล่อมโสตประสาทของเรามาตลอดชั่วอายุขัย
อภิชาติพงศ์คล้ายกำลังนำเสนอภาพรวมของสังคมไทย (ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ด้วยสถานการณ์ย่อยๆ ในพื้นที่เฉพาะเล็กๆ ซึ่งปรากฏผ่านหนังตอนนี้
สารจากเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำชาวไทยอาจมีความเฉพาะเจาะจงเกินไปในมุมมองของคนดูระดับสากล เช่น มีผู้ชมฝรั่งที่สิงคโปร์ตั้งคำถามขึ้นว่าอนุสาวรีย์ในหนังคืออนุสาวรีย์ของใคร? และเขามีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย?
กระทั่งผู้ชมคนไทยเอง ถ้าใครที่ไม่ทราบประวัติชีวิตและความสนใจส่วนบุคคลของอภิชาติพงศ์ ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่รู้จักเมืองขอนแก่น
พวกเขาก็ย่อมงุนงงได้ง่ายๆ ว่าอนุสาวรีย์ในหนัง (ซึ่งไม่ได้มีคำอธิบายประกอบ –ทั้งที่เป็นตัวอักษรและเสียงพูด- อย่างชัดเจน) คือ ภาพแทนของใคร?
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ผมชอบภาวะอีหลักอีเหลื่อระหว่างความสถาวรแน่นิ่งของอนุสาวรีย์แห่งบุคคลผู้เป็นต้นธารของผู้นำเผด็จการทหารแบบไทยๆ กับพลวัตความเปลี่ยนแปลงนานัปการที่หมุนวนอยู่รายรอบ ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเล็กคนน้อย
ขณะเดียวกัน อภิชาติพงศ์ก็ยังหยอกล้อกับเรื่องยากๆ เช่น “เพลงชาติ” ได้อย่างมีอารมณ์ขันแพรวพราวเช่นเคย
ประเทศไทยที่ปราศจาก “อนาคต”
คนที่ได้ดูหนังย่อมสังเกตเห็นว่า หนังสั้นทุกตอนใน “Ten Years Thailand” แทบมิได้มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ “อนาคต” ในแง่ของ “ความเปลี่ยนแปลงที่จะบังเกิดขึ้น ณ ภายภาคหน้า”
ตรงกันข้าม ผู้กำกับทั้งสี่รายคล้ายกำลังแสดงความห่วงใยถึงภาวะปัจจุบันของประเทศไทย (Thailand Now) หรือกระทั่งผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งค่อยๆ กลายสภาพเป็นอาการป่วยไข้ยากเยียวยาของประเทศไทยในวันนี้มากกว่า
“เวลา” ใน “Ten Years Thailand” จึงไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงไปสู่วิวัฒนาการหรือความเสื่อมทรุดแบบใดแบบหนึ่ง
ทว่า “เวลา” ในหนังนั้นเดินเป็นวงกลม ซึ่ง “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” ต่างวนเวียนกลืนกลายซ้อนทับกันไม่รู้จบ จนแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยสรุป “Ten Years Thailand” คือ หนังที่มีแนวโน้มจะคิดและพูดถึง “ปัจจุบัน” และ “อดีต” ของสังคมไทย ในฐานะอุปสรรค หลุมพราง และเงาทอดยาวที่ยากก้าวข้าม
ในแง่รูปแบบ ขณะที่อาทิตย์และอภิชาติพงศ์เลือกเล่าเรื่องราวด้วยลักษณะ “สมจริง” วิศิษฏ์และจุฬญาณนนท์กลับเลือกหนทางอันแตกต่าง ผ่านลักษณะ “เหนือจริง”
ในแง่เนื้อหา ขณะที่อาทิตย์และวิศิษฏ์เลือกกล่าวถึงชะตากรรมและสายสัมพันธ์ระหว่างคนตัวเล็กๆ ซึ่งคล้ายจะสังกัดอยู่ในฝักฝ่ายทางการเมืองอันตรงกันข้าม
จุฬญาณนนท์และอภิชาติพงศ์กลับอธิบายโลกภายใต้อิทธิพลแห่งจักรวาลทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาล ที่คอยกดทับความคิด-ชีวิต-ภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของคนเล็กคนน้อยทั้งหลายเอาไว้
แน่นอนที่สุด “อนาคต” คือ ภาพที่แทบไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ หนังไม่มีคำตอบชัดๆ ว่า เมืองไทยในอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร?
จนสามารถอนุมานได้ว่าในมุมมองของคนทำหนังทั้งสี่ราย “อนาคต” ของประเทศไทย ก็คงไม่ต่างอะไรจาก “ปัจจุบัน” ที่ดำรงอยู่ และ “อดีต” ที่ยังไม่ยอมผ่านพ้นไปไหน