“มะลิลา”: เพ่งพินิจชีวิตปัจเจก ท่ามกลางความงดงามและความอัปลักษณ์

ปรับปรุงจากบทความ เขียนถึง “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” และ “มะลิลา” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 ธันวาคม 2560

ผมค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เมื่อพบว่าเส้นเรื่องเกี่ยวกับความรัก-สายสัมพันธ์-ความพลัดพรากระหว่าง “เชน” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) กับ “พิช” (โอ อนุชิต) ที่มีสัญลักษณ์สื่อกลาง คือ “การทำบายศรี” มิได้เป็นเส้นเรื่องหลักเส้นเรื่องเดียวของหนัง

“มะลิลา” (ผลงานหนังยาวลำดับที่สองของ “อนุชา บุญยวรรธนะ”) ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองครึ่งอย่างชัดเจน โดยมี “เชน” เป็นตัวละครแกนกลาง เนื้อหาในอีกส่วนหนึ่ง จะเล่าถึงการออกธุดงค์ในป่าของพระบวชใหม่ (เชน) และพระผู้มีอาวุโสกว่า ซึ่งเคยเป็นนายทหารมาก่อน เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมและปลดปลงความทุกข์

“มะลิลา” จึงก่อตัวขึ้นจากหลายองค์ประกอบที่ไม่น่าจะนำมาเขย่ารวมกันได้ ทั้งเรื่องเกย์, บายศรี, พุทธศาสนา, ป่า และกองทัพ ทั้งหมดเพื่อส่องสะท้อนถึงพันธะจากอดีต ปัจจุบันของตัวละคร (และอาจรวมถึงอนาคตของพวกเขา)

malila 3

นอกจากนี้ หนังยังคละเคล้า “ความงดงาม” กับ “ความอัปลักษณ์” ให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

คนดูจะได้เห็นฉากเลิฟซีนสวยๆ และเข้าถึงอารมณ์, เห็นกระบวนการทำบายศรีอันประณีตวิจิตรบรรจง หรือได้สัมผัสกับความเขียวขจีของพื้นที่ป่าในฤดูฝน

ขณะเดียวกัน เราก็จะกลายเป็นประจักษ์พยานของความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ความเสื่อมโทรม คราบอาเจียน เลือด หนอน ซากศพ (มากกว่าหนึ่ง) ของทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนเรื่องเล่าว่าด้วยงูเหลือมโหดร้ายและคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผีปอบ

malila 4

ถ้าพิจารณาว่า “มะลิลา” เป็นหนัง “พุทธศาสนา” (โดยเฉพาะในครึ่งหลัง) ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถถูกจัดให้อยู่ร่วมกลุ่มกับ “ธุดงควัตร” ของ “บุญส่ง นาคภู่” ทั้งในแง่คุณภาพ, โครงสร้างเรื่องราว (การเรียนรู้ฝึกฝนตนเองของพระบวชใหม่), ความสัมพันธ์ของตัวละคร (พระอาจารย์กับพระใหม่ และมายาที่พวกเขายังติดยึด) และพื้นที่ในหนัง (ป่าเขาลำเนาไพร)

จุดต่างสำคัญอาจอยู่ที่ “มะลิลา” พยายามจะเปิดเปลือยให้คนดูได้ตระหนักถึงสภาพความเป็นมนุษย์ (ผู้ยังหลุดไม่พ้นบ่วงทุกข์) ของตัวละคร “พระอาจารย์” อย่างชัดเจนมากกว่า

เพราะใน “ธุดงควัตร” คนดูจะได้ยินเพียงเสียงร้องไห้ ที่สามารถอนุมานว่าน่าจะเป็นเสียงของพระอาจารย์ แต่ใน “มะลิลา” คนดูจะได้เห็นรายละเอียดซึ่งพูดถึงประเด็นเดียวกัน หากซับซ้อนและคมชัดยิ่งขึ้น

อีกจุดที่ส่งผลให้เนื้อหาส่วน “พุทธศาสนา” ของ “มะลิลา” ดูมีอะไรมากขึ้น ก็คือ การใส่รายละเอียดเกี่ยวกับ “ทหาร” ลงไป

ไล่ตั้งแต่ตัวละครพระอาจารย์ที่มีภูมิหลังเป็นทหาร จนถูกคนอื่นๆ เรียกขานว่า “หลวงพี่นายพัน” (หนังแสดงให้เห็นด้วยว่าหลวงพี่ท่านนี้ยังมีความรู้สึกผิดบาปบางประการหลงเหลืออยู่ในจิตใจ แต่มิได้ระบุชัดถึงปูมหลังดังกล่าว)

และการอธิบายว่า “ป่า” ที่พระสองรูปออกธุดงค์นั้นอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่สู้รบ จนมีรถทหารวิ่งผ่าน มีซากศพคนตายถูกนำมาทิ้งขว้างตลอดเวลา

“พื้นที่สู้รบ/พื้นที่ทหาร” ในหนัง อาจมิใช่ “ภาพสะท้อนแท้จริง” ของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนแผนที่ประเทศไทย แต่ผมมองว่าหนังพยายามสร้างฉากหลังตรงส่วนนี้ขึ้นมา เพื่อใช้เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของสังคมไทยทั้งสังคม

สังคมที่ทหารหรือกองทัพยังมีอำนาจอิทธิพลยิ่งใหญ่อยู่ทุกแห่งหน และสังคมที่ความรุนแรงสูญเสียมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ

malila 5

แม้ยังรู้สึกเสียดายนิดๆ ที่ “มะลิลา” ดูจะมุ่งให้ความสำคัญกับการคลี่คลายความทุกข์/ความผิดบาป/บาดแผลส่วนบุคคล มากกว่าจะทดลองขยับหรือเขย่าประเด็นเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น (ซึ่งมีปรากฏให้เห็นรางๆ เป็นฉากหลังในหนัง)

แต่นี่ก็ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่น่าพึงพอใจมากๆ เรื่องหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดลออ พิถีพิถัน เบามือ และเปี่ยมวุฒิภาวะ ผ่านกระบวนการเล่าเรื่องซึ่งเพ่งพินิจพิจารณาอนิจลักษณะ อันดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.