บันทึกหลังการชม “Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย”

เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์!

เมื่อวานไปดูหนังไทยเรื่อง “Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” ของ “ตั๊ก บงกช เบญจรงคกุล” โดยรวมอาจไม่ได้ชอบหนังมาก แต่ก็รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินระหว่างนั่งดู จากหลายๆ องค์ประกอบในภาพยนตร์ ที่บางส่วนก็ดี บางส่วนก็แปลก บางส่วนก็ฮา และบางส่วนโดนใจตัวเองเป็นการส่วนตัว

ของแถมก่อนดูหนัง

(ก) ก่อนจะเข้าไปดูหนัง เจอ “แอม ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ” มาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ โรง พร้อมกับสามี น่าเสียดายที่หลายปีหลัง เธอไม่ได้แสดงภาพยนตร์อีกเลย ทั้งที่สมัยเล่นหนังให้พงษ์พัฒน์ เธอก็ทำได้ดีอยู่ แล้วโดยบุคลิกภาพ เธอก็มีความพิเศษบางอย่าง คือ ไม่ใช่คนที่มีออร่าโดดเด้งแบบดารา/ซุปตาร์ซะทีเดียว แต่เป็นคนที่มีความเก๋-ขาวสว่าง ควบคู่กลมกลืนไปกับการมีบุคลิกแบบสาวออฟฟิศธรรมดา

(ข) ระหว่างดูหนังตัวอย่าง/หนังโฆษณา จู่ๆ ก็มีสิ่งที่น่าจะเป็นตัวอย่างหนังเรื่องหนึ่งถูกฉายขึ้นมา นักแสดงนำชาย คือ “กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา” และน่าจะไปถ่ายทำกันที่นิวยอร์ก ตัวภาพเคลื่อนไหวถูกคลอด้วยเพลง “ในคืนที่เราเจอะเจอกันครั้งแรก” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ตลอดเวลา

ถ้ามันเป็นตัวอย่างหนังอย่างที่เข้าใจในตอนแรก นี่ก็เป็นตัวอย่างหนังที่อืด เอื่อย น่ารำคาญมาก จนเกิดความรู้สึกเบื่อๆ เอียนๆ แต่พอความยาวของมันเกินเลยมาตรฐานของหนังตัวอย่างไปไกล จึงเริ่มเอะใจว่า เอ๊ะ! หรือนี่มันเป็นมิวสิควิดีโอวะ? แล้วก็พบว่าใช่จริงๆ เพราะมันเป็นการคัฟเวอร์เพลง “ในคืนที่เราเจอะเจอกันครั้งแรก” โดย “วิน Sqweez Animal” และวง “กระทิงดำ” ในโปรเจ็กท์ BOYd50th

27540390_10159980999535029_3382337573703997832_n

MV ตัวนี้มีชื่อว่า “The Lost Hour” พูดถึงความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวชาวไทยคู่หนึ่ง ณ ช่วงเวลาที่หายไป เมื่อสหรัฐอเมริกาปรับเวลาย้อนกลับหลัง 1 ชั่วโมง ช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นผลงานการกำกับของ “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ”

โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ถ้ามองในฐานะ MV เรื่องราวของมันก็ยังโหวงๆ ขาดๆ ยังไงชอบกล ถ้ามองในฐานะภาพเคลื่อนไหวที่อยู่ท่ามกลางหนังตัวอย่าง/หนังโฆษณาจำนวนมาก ก่อนจะชมหนังยาวในโรงภาพยนตร์ ผมก็คิดว่ามันกินเวลาคนดูเยอะเกินไป

แต่นี่ก็ถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ ที่มีการนำมิวสิควิดีโอมาฉายโชว์ในโรงภาพยนตร์ก่อนหน้าหนังยาว

เอาล่ะที่นี้มาพูดถึง “Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย” กันดีกว่า

1. ในฐานะที่ยังไม่ได้ดู “นางฟ้า” เท่าที่ดูจาก “Sad Beauty” พบว่าตั๊กเป็นคนมี “เรื่อง” จะเล่า แล้วก็สามารถเล่ามันออกมาได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว สนุกสนาน น่าติดตาม ชวบขบคิด (แม้คุณภาพอาจมีตกๆ หล่นๆ แหว่งๆ พร่องๆ ไปบ้าง ตามรายทาง)

ในแง่นี้ ตั๊กจึงเป็น “คนบันเทิง” ที่เติบโตมาทีละขั้น จากเด็กสาวอายุ 15 ที่ได้เล่นหนังประวัติศาสตร์ชาตินิยมรายได้เกินร้อยล้านบาท มาสู่ชีวิตนางเอกที่ระหกระเหิน ดีบ้าง แย่บ้าง แล้วกลายเป็นภรรยามหาเศรษฐี และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ (ไม่ใช่ผู้สร้างละคร ดังที่ -อดีต- นักแสดงหญิงหลายคนนิยมเป็นกัน)

มีดาราหญิงน้อยคนนัก ซึ่งจะเลือก/สามารถเดินบนเส้นทางเช่นนี้

2. ชอบที่เห็นชื่อ “บุญชัย เบญจรงคกุล” เป็นหนึ่งในทีม production designer ของหนังเรื่องนี้ (นอกจากจะเป็น executive producer) ไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้ว แกมีส่วนร่วมทำอะไรบ้างในหน้าที่ดังกล่าว?

3. ชอบการหวนคืนจอภาพยนตร์ไทยอีกครั้งของ “ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์”

26730790_588312948182842_1135019295261159187_n

ตามรสนิยมส่วนตัวของผม (ซึ่งไม่ค่อยอินกับพวกนางเอกละครทีวี/ซีรีส์ยุคปัจจุบัน หรือ BNK48 กระทั่งวี วิโอเลต ที่เห็นคนใกล้ตัวชื่นชอบด้วยอารมณ์อู้หู! กันเยอะ ผมก็เฉยเอามากๆ) ฟลอเรนซ์เป็นคน “สวย” ตามบรรทัดฐานในยุคสมัยหนึ่ง ที่พวกซูเปอร์โมเดลเคยโด่งดังและป๊อปมากกว่าตอนนี้

อีกส่วนหนึ่ง คงเพราะผมกับเธอถือเป็นคนเจนเดียวกัน (ฟลอเรนซ์อายุอ่อนกว่าสองปี)

ในหนังเรื่องนี้ ถึงแม้ฟลอเรนซ์จะรับบทเป็น “โย” ดาราปากร้าย นิสัยไม่ดี ประสาทเสีย เล่นยา แถมยังต้องระเหเร่ร่อนตกระกำลำบากมากมาย แต่ในแง่รูปลักษณ์ ทั้งหน้าตาและรูปร่าง เธอยังมีเสน่ห์อยู่มากๆ เลย

4. ตัวละคร “โย” และ “พิม” เหมือนต่างเป็นตัวแทนของ “ตั๊ก บงกช”

“โย” น่าจะเป็นตัวแทนในแง่สถานภาพการเป็นนางเอกตัวร้ายๆ ของวงการ

สำหรับ “พิม” แม้ตั๊กจะให้สัมภาษณ์ว่าตัวละครรายนี้มีที่มาจากเพื่อนสนิทของเธอที่เสียชีวิตไปตอนอายุ 20 ต้นๆ แต่ผมรู้สึกว่า “พิม” มีบุคลิกลักษณะบางอย่างที่พ้องกับเอกลักษณ์ของตั๊ก เช่น การพูดจา (พูดอะไรตรงๆ ขวานผ่าซาก ด้วยภาษาเชยๆ นิดนึง เช่น ตาเราเป็นอย่างงี้ แกว่าเรายัง “สมควร” ขับรถอีกเหรอวะ?)

sb 3

5. ชอบการเล่นกับแสงสีขาวๆ เจิดจ้า ชวนแสบตา ในชีวิตมายาของโย

อีกจุดที่น่าสนใจ คือ คนทำแตะประเด็นเรื่องการเล่นยาของโยได้เบามือดี โยอาจเล่นยา โยอาจเป็นผู้หญิงเริงราตรี โยอาจมีอาการประสาทหลอนเป็นครั้งคราว

แต่ถ้าจะมีส่วนที่ย่ำแย่หนักหนาสาหัสในชีวิตเธอ มันกลับไม่ได้แย่เพราะการเสพยา (ที่แทบจะกลายเป็นวิถีชีวิตสามัญปกติไปแล้ว) มันแย่เพราะอะไรอย่างอื่นมากกว่า

6. ชอบโมเมนต์สวดมนต์ทั้งสองหนของพิม

คือ การสวดมนต์ก่อนจะไปท่องราตรี หลังตรวจพบมะเร็ง และการสวดมนต์หลังเห็นพลุ (ฉลองปีใหม่?) มันดูเป็นความพยายามจะฉายให้เห็นภาวะขัดแย้ง (โศกเศร้ากับสนุก/ปลดปล่อยระบายความทุกข์ และเฉลิมฉลองกับร่วงโรย) อย่างทื่อๆ ซื่อๆ ตรงๆ ดี

แล้วก็ชอบตอนที่พิมแต่งชุดนักศึกษารำไทยอยู่ในห้องพัก โดยมีโยนอนอยู่บนเตียง เข้าใจว่าฟังก์ชั่นของฉากนี้ คงคล้ายๆ กับฉากสวดมนต์นั่นแหละ (ประมาณว่า โดยพื้นฐาน พิมเป็นกุลสตรี เด็กดี เด็กเรียบร้อยนะ แต่อีกด้าน เธอก็มีภาวะกร้านโลก ทั้งจากการคบหากับโยและจากชีวิตครอบครัวของเธอเอง)

แต่ระหว่างดูก็ไม่แน่ใจว่าจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องใส่อะไรแบบนี้เข้ามาในหนัง แม้ผมจะสนุกและขำขันกับมันก็ตามที 55

ที่สำคัญ หลังจากนั้น เราก็ไม่เห็นพิมรำหรือแสดงความข้องเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยอีกเลย 555

7. ชอบฉากฆาตกรรมด้วยมีดมากๆ มันมีลักษณะของความเป็นหนังสั้น หนังอินดี้ทุนน้อย ดิบๆ ง่ายๆ แต่ก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นภาวะหวั่นไหว ประสาทแดก บ้าบอ จัดการปัญหาไม่ได้ ของตัวละครนำสองคนได้ดี (ทีแรกแอบจินตนาการเพ้อๆ ว่าอาจจะมีโมเมนต์แบบแทงไม่เข้า เพราะคนโดนแทงมีรอยสักที่ถูกโคลสอัพอยู่บ่อยๆ 555)

8. ชอบการใส่เพลง “คนขี้เหงา” เข้ามาในช่วงโร้ดมูฟวี่กลางหนัง ระหว่างดูถึงตอนนี้ ก็เริ่มเคลิ้มๆ และนึกถึงคลิปล่าสุดของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ที่เอาเพลงดังกล่าวมาทำใหม่พอดี

ขณะกำลังฮัม “Lonely, Mr.Lonely” อยู่ในใจ จู่ๆ ยัยเด็กสองคนในหนังมันก็ดันลงความเห็นพร้อมกันว่าเพลงนี้มันเศร้าไม่เวิร์กว่ะ เลยกด eject เทปคาสเส็ตจากเครื่องเล่นซะงั้น (รถมันยังมีเครื่องเล่นเทปอยู่!) แล้วหันไปเปิดวิทยุเจอเพลง “ขาหมู” ซึ่งสองคนนี้มันก็แหกปากร้องตาม ชื่นมื่น ชอบใจ กันยกใหญ่

ดีที่ผมเองก็ชอบเพลงนี้ของ “แทตทู คัลเลอร์” อยู่เหมือนกัน

9. แน่นอน ชอบ “ฉากทำลายศพ” ในหนังเรื่องนี้มากๆ และเห็นว่ามันเป็นหนึ่งในสิ่งที่แปลกใหม่-น่าตื่นตาของวงการหนังไทยปีนี้เลยด้วยซ้ำ

sb 2

10. ช่วงกลางเรื่อง บางคนอาจรู้สึกว่าค่อนข้างเตลิดไปไกล แต่ผมกลับชอบประเด็นหลักที่มันพาคนดูไปเจอนะ

นั่นคือสภาวะของความสับสน งงงวย ในทางจริยธรรม ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันอาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กับ “ฝันร้าย/ความผิดบาป” ที่คงหลอนคนชั้นกลางกรุงเทพฯ (จำนวนหนึ่ง) อยู่พอสมควร ในช่วงเกือบๆ ทศวรรษที่ผ่านมา

ฝันร้ายที่ว่า “คุณทั้ง (ร่วม) ฆ่าคน คุณทั้ง (ร่วม) ทำลายศพ คุณทั้งพยายามจะลบลืมเรื่องราว สุดท้าย คุณจะดีลกับมันยังไงวะ?” (ไม่ว่าการฆ่าจะมีชอบธรรมแค่ไหน? และสมเหตุผลเพียงใด? ก็ตาม)

เมื่อเหตุการณ์สุดสยองพ้นผ่านไปแล้ว เมื่อมิตรภาพถูกทดสอบ (มีเหินห่าง มีคืนดี) เสร็จเรียบร้อย เมื่อต่างคนต่างต้องไปเผชิญหน้ากับบททดสอบอื่นๆ ในชีวิตของตัวเอง (พยายามคืนวงการบันเทิงและมีรักใหม่ หรือพยายามรักษาตัวจากโรคร้าย)

แต่บางคนดันสลัด “อดีตบาดแผล” ตรงจุดนั้นได้ไม่หลุด น่าสนใจมากว่าคนสลัดไม่หลุดดันเป็นนางเอกเหลวแหลกเลอะเทอะ (ผู้ไม่ได้เป็นมือฆ่า/มือทำลายหลักฐาน – เป็นแค่ผู้ร่วมกระทำผิด) อย่างโย ขณะที่คนป่วย/คนเพิ่งมีบาดแผลทางครอบครัวอย่างพิม กลับไม่ค่อยรู้สึกรู้สาหรือหวนรำลึกถึงเรื่องโหดร้ายดังกล่าวสักเท่าไหร่

พูดอีกอย่างคือ พิมนิ่ง/เลือดเย็น/โหดกว่าโย

sb 4

11. อีกอย่างที่น่าดีใจ คือ นี่เป็นหนังของผู้กำกับหญิง ที่เดินเรื่องด้วยตัวละครนำหญิงสองคน ส่วนตัวละครผู้ชายที่พอจะโดดเด่นอยู่บ้าง ล้วนมีสถานะเป็นเพียงส่วนเกิน/ส่วนเติมเต็มบางอย่าง บ้างก็ดำรงอยู่เพื่อจะถูกทำลายล้าง, บ้างก็ดำรงอยู่เพื่อช่วยทำลายหลักฐาน/ลบล้างความผิด (ทีแรกนึกว่า “น้าแดง” จะมีบทบาทมากกว่านั้น จากสายตาที่มองโย) หรือบ้างก็ดำรงอยู่เพื่อเป็นคู่นอนของผู้หญิงเซเลบ (แถมดันเป็นผู้ชายใจเสาะกลัวโรงพยาบาลอีกต่างหาก)

12. ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบช่วงท้ายๆ/ตอนจบของหนังหรือไม่ คือ รู้สึกว่ามันถูกครุ่นคิด ถูกออกแบบ มาดีและซับซ้อนพอสมควร (ตามความเห็นส่วนตัว อย่างน้อย ซีนปิดฉากก็คมคายอยู่นะ)

เพียงแต่โดยรวมๆ หนังกลับมีอาการแผ่วปลาย จนสื่อหรือถ่ายทอดอารมณ์ห้วงสุดท้ายออกมาได้ “ไม่ถึง” หรือ “ไม่สุด”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.