ศัตรูที่รัก และ/หรือ สายสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยที่ไม่จบสิ้น
Bangkok Nites เล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย
สายสัมพันธ์ในหนังถูกบอกเล่าผ่านความสัมพันธ์ของสามัญชนคนเล็กคนน้อย ตลอดจนวัฒนธรรมชายขอบต่างๆ (ทั้งด้านสว่างและด้านมืด) มันเป็นทั้งความรัก ความพลัดพราก ความสมานฉันท์ และรอยบาดแผล
หรืออาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ในหนัง ถูกนำเสนอออกมาในเชิง “ศัตรูที่รัก”
ด้านหนึ่ง นี่ก็เป็นหนังสารภาพบาปจากมุมมองของญี่ปุ่น หนังไม่ได้พูดถึง “บาปใหญ่” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากพูดถึงผลลัพธ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น นั่นคือ “บาป” ที่ญี่ปุ่น (และไทย) ร่วมก่อในช่วงสงครามเย็น เรื่อยมาถึง “บาป” อันเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเซ็กส์ในยุคร่วมสมัย ซึ่งนับเป็นการกดขี่ขูดรีดอีกรูปแบบหนึ่ง (ตามมุมมองของคัตสึยะ โทมิตะ ผู้กำกับ)
[หนังยังไปไกลกว่านั้น ด้วยการวิพากษ์ (มรดกของ) ลัทธิล่าอาณานิคมในอดีต ผ่านบรรดาตัวละครฝรั่งที่อีสาน เช่น ผู้ชายนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสขี้เมาหยำเปที่ย่ำแย่ห่วยแตกกว่าผู้ชายญี่ปุ่นจนๆ ซะอีก ซึ่งประกาศขณะมึนเมาอย่างเต็มภาคภูมิว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นอาณานิคมของเขามาก่อนทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีแม่เล้าแหม่มที่บาร์เล็กๆ ในหนองคาย ซึ่งเป็นตัวละครที่แปลกใหม่มากๆ สำหรับโลกของหนังพูดภาษาไทย/หนังว่าด้วยสังคมไทย]
อย่างไรก็ดี การสารภาพบาปดังกล่าวดำเนินไปเคียงคู่กับความสัมพันธ์หลากรูปหลายหน้า ที่มิได้แบ่งมิตรแยกศัตรูโดยชัดเจน แม้คนทำหนังจะตั้งใจสารภาพถึงการกดขี่ขูดรีดที่ตนควรมีส่วนรับผิดชอบ ทว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดาตัวละครในหนัง ก็มิได้เป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งกดขี่ขูดรีดอีกฝ่ายหนึ่งจนโงหัวไม่ขึ้น ตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นต่างสานสายสัมพันธ์ผ่านการ “แลกเปลี่ยน (บาดแผล)” และ “เยียวยา” ซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่มีบทสรุปหรือข้อยุติใดๆ อย่างชัดเจน นี่คือสายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ก็ไม่มีวันสมบูรณ์แบบ ต่างฝ่ายต่างกระทำ (และถูกกระทำ) ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ท่ามกลางรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผันแปรและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
ไทยศึกษาสไตล์ญี่ปุ่น
เวลาร่วม 3 ชั่วโมงของ Bangkok Nites อาจทำให้หนังญี่ปุ่นเรื่องนี้ดูคล้ายจะเป็นหนังยาว
แต่พอได้นั่งชมจริงๆ ก็พบว่าหนังสามารถบรรจุประเด็นนู่นนี่มากมายไว้ในความยาว “เพียงแค่” 3 ชั่วโมง จนน่าทึ่ง
ไล่ตั้งแต่ประเด็นความขัดแย้งยุคสงครามเย็น มรดกของลัทธิล่าอาณานิคม อุตสาหกรรมทางเพศตั้งแต่ใจกลางกรุงเทพฯ ถึงชายขอบประเทศไทย โรคเอดส์ กัญชา-ยาเสพติด ภาคอีสาน ผีจิตร ภูมิศักดิ์ วิญญาณทหารป่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค ภูมิภาคอินโดจีน ขบวนการขบถปลดแอก (ที่เสพยา พกปืน ร้องฮิปฮอป และเที่ยวป่า) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของวัยรุ่นสหประชาชาติแห่งประชาคมอาเซียน เพลงลูกทุ่ง หมอลำ เพลงเพื่อชีวิต ฯลฯ
องค์ประกอบเหล่านี้ถูกนำมาผสมผสานปนเปกันในหนังหนึ่งเรื่องอย่างน่าสนใจ แน่นอน ผลลัพธ์ที่ออกมามีทั้งจุดที่ดีมาก สนุกมาก และจุดที่ออกจะเบลอร์ๆ มั่วๆ นิดหน่อย
วิธีการจับจ้องมองสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในลักษณะนี้ ชวนให้นึกถึงงานไทยศึกษา/ภูมิภาคศึกษา สไตล์นักวิชาการญี่ปุ่น ที่ทำงานหนัก และหลายครั้ง มักมีลักษณะครอบคลุมเป็นสหวิทยาการ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทอดทิ้งการลงพื้นที่ไปทำความรู้จักชาวบ้าน
(ดังที่ตัวละครญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งท้ายสุด น่าจะกลายเป็นตัวร้ายเพียวๆ เพียงรายเดียวในเรื่อง พูดกับมิตรสหายของเขา -ระหว่างสังสันทน์กันที่ซอยธนิยะ- เอาไว้ทำนองว่า ถ้าอยากรู้จักสังคมไทย ต้องหาเวลานั่งรถทัวร์ออกไปต่างจังหวัดบ้าง)
แน่นอนว่าคนทำหนังเรื่องนี้ได้ทำการรีเสิร์ชข้อมูลต่างๆ ที่เขานำมาบอกเล่าผ่านสื่อภาพยนตร์ อย่างหนักหน่วงเข้มข้นไม่น้อย
แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าผู้กำกับอาจทำการบ้านบางเรื่องบางประเด็นผ่านหนังสือ/ชุดข้อมูลที่ค่อนข้างเก่านิดนึง (เช่น แกอาจไปอ่านหนังสือในยุค 90 หรืออะไรทำนองนั้น) ดังจะเห็นได้จากประเด็น “เอาท์ๆ” ที่โผล่ขึ้นมาบ้างประปราย เช่น เรื่องภัยคุกคามจากการติดเชื้อเอชไอวีในหมู่สตรีค้าบริการ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สถานภาพของ “สงครามเย็น” ในหนัง ก็มีความสับสนพร่าเลือนชวนมึนงงอยู่พอสมควร
แม่นางเอกที่อีสานนั้นเหมือนจะเป็นอดีตเมียของทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม (ซึ่งแลดูผิดบริบท ถ้าพิจารณาว่าเธอมีอายุราว 50 กว่าๆ ในปี 2560)
นอกจากนี้ จากการพูดคุยกันของบรรดาตัวละครทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นที่ตกค้างอยู่ ณ ซอยธนิยะ สมรภูมิของพวกเขาก็มีความกำกวมอยู่ไม่น้อย บางตอน บทสนทนาก็บ่งชี้เหมือนกับว่าพวกเขาอยู่ในกัมพูชา ช่วงที่ “เขมรแดง” เรืองอำนาจ แต่บางตอน ก็ระบุเหมือนกับว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาเหล่านี้คือกองกำลังญี่ปุ่นที่เข้าไปช่วยฟื้นฟูพัฒนากัมพูชา หลังการรวมชาติช่วงทศวรรษ 1990 (ซึ่งข้อหลังนี้ น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด)
จิตร ภูมิศักดิ์ และ/หรือ หงา คาราวาน
หนึ่งในตัวละครสมทบที่โผล่มาแว้บๆ (หลายแว้บ) แต่ขโมยซีนได้ตลอดอย่างน่าตลก (ร้าย) ก็คือ “ผีจิตร ภูมิศักดิ์” ที่รับบทโดย “หงา คาราวาน”
ตอนอ่านพบข้อมูลว่าผู้กำกับเลือกใครมารับบทเป็น “ผีจิตร” ผมแอบผิดหวังและรู้สึกว่ามันน่าจะ “ผิดฝาผิดตัว” อย่างยิ่ง
แต่พอได้มาดูหนังจริงๆ อาการ “ผิดฝาผิดตัว” ที่ปรากฏ กลับกลายเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์ “หงาในปัจจุบัน” ได้อย่างคมคายซะงั้น
เพราะพร้อมๆ กับที่ “กวี/นักคิด/วีรชนปฏิวัติ” อย่าง “จิตร” กลายเป็นผีที่ไม่น่ากลัวและค่อนข้างน่าตลกขบขัน ในสายตาตัวละครรายรอบที่เป็นชาวบ้านอีสาน และในสายตาคนดูเบื้องหน้าจอภาพยนตร์ “หงา” ก็มิใช่ “ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต/เพลงปฏิวัติ” คนเดิมเช่นกัน
ประเด็นหลักสำคัญดังกล่าวถูกคลี่เผยออกมาในประโยคแรกๆ ที่ “ผีจิตร” เอ่ยปากพูดจากับพระเอกหนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่น ที่ร่อนเร่พเนจรไปจังหวัดหนองคาย
อีกหนึ่งประเด็นที่ล้อไปกับเรื่องตัวตนอันผันแปรของบรรดานักปฏิวัติ คือ แม้แต่บทกวี “คาวกลางคืน” ของจิตร ที่ถูกนำมาใช้สอยในหนังเรื่องนี้ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมทางเพศ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาตั้งฐานทัพสหรัฐ (จักรวรรดินิยมอเมริกา) ในไทยเมื่อยุคสงครามเย็น ก็กลับยิ่งทำให้ภาพลักษณ์นักปฏิวัติของจิตรแลดูกำกวมมากขึ้น เพราะเนื้อหาของกวีนิพนธ์ชิ้นดังกล่าวมีลักษณะอนุรักษนิยมสูงทีเดียว หากพิจารณาจากแว่นของยุคปัจจุบัน
[ส่วนนี้ ขอนอกเรื่องนิดนึง คือ ตัวผู้กำกับบอกว่าเพราะเขาสนใจเพลงเพื่อชีวิต เขาจึงค้นคว้าหาข้อมูลจนได้รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ นี่ทำให้ผมนึกถึงนักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่ง แกเป็นพี่ผู้ชายสวมแว่นสายตาผิวขาวร่างเล็กๆ สมัยผมเรียนปริญญาตรี และไปนั่งเรียนวิชาของภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. อยู่หลายตัว ก็มักเจอแกไปซิทอินด้วย วันหนึ่ง หลังเลิกเรียน ผมแวะไปดูเทปที่ร้านน้องท่าพระจันทร์ ก็เจอพี่ญี่ปุ่นคนนี้ยืนดูเทปอยู่เหมือนกัน แต่ขณะที่ผมมองหาพวกเทปเพลงของศิลปินในคลื่นแฟทเรดิโอ พี่เขากลับตั้งหน้าตั้งตาหาเทปเพลงเพื่อชีวิตอยู่ น่าแปลกที่จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของนักวิชาการญี่ปุ่นคนนี้ (เหมือนเคยได้ยินคนเรียกชื่อแกหนนึง แต่ไปๆ มาๆ ก็ลืม) ไม่รู้ด้วยว่าแกศึกษาเรื่องอะไร เขียนงานประเด็นไหน ทว่าผมดันเจอแกอยู่เป็นระยะๆ หนล่าสุด ที่เจอหน้าแก ก็คือ ในงานพระราชทานเพลิงศพ “เสนีย์ เสาวพงศ์”]
พญานาคอันมหัศจรรย์ธรรมดา
หนังสอดแทรกตำนาน “พญานาค” เข้ามา ในภาวะที่ศรัทธาของมหาชนชาวอีสานซึ่งมีต่อ “พญานาค” กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ ช่วงไม่กี่ปีให้หลัง
การปรากฏกายของ “พญานาค” ใน Bangkok Nites เป็น magic moment ในหนังแน่ๆ แต่มันก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นภาพงดงามของความศรัทธาสูงส่งในค่ำคืนอันแสนพิเศษ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละเฉพาะบุคคล (นักบวชอาวุโส) อันหาได้ยากยิ่ง เหมือน magic moment ของปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคใน “15 ค่ำ เดือน 11”
ทว่าการปรากฏกายของพญานาคกลางแม่น้ำโขงภายใต้ระยับแดดแวววาว เบื้องหน้าหญิงสาวชาวบ้าน (ที่ทำงานค้าบริการทางเพศ) บนเรือโดยสาร ดูจะเป็นภาวะสัจนิยมมหัศจรรย์ มันเป็นความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิถีชีวิตสามัญปกติธรรมดา เป็นมนต์มายาที่คอยเยียวยาบาดแผลในใจของคนเล็กๆ ผู้ต้องต่อสู้เคี่ยวกรำกับโลกอันสามานย์
“ทหาร” และความแปลกแยก
หนังเรื่องนี้พูดถึง “ทหาร” ในแง่มุมค่อนข้างลบ
ตัวละครหลายรายได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวอันแตกสลายของนางเอก หรือพระเอกเอง ที่เคยเป็นทหารราบในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมาก่อน แต่หลังปลดประจำการ ชีวิตก็ไม่ได้ดีงามอะไรนัก
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจก็คือ น้องชายลูกครึ่งฝรั่ง (คนละพ่อ) ของนางเอก ที่มีความใฝ่ฝันอยากจะสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพของรัฐ (ไม่ใช่วิญญาณทหารป่าวิ่งไปวิ่งมาที่พระเอกพบเห็น)
นางเอกไม่อยากให้น้องชายไปเป็นทหาร ครอบครัวญาติมิตรของเธอที่อีสานก็ไม่อยาก เหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง ก็คือ ถ้าถูกส่งไปชายแดนใต้แล้วเกิดอันตรายขึ้นจะทำไง?
นี่เป็นความสัมพันธ์ที่แปลกแยกระหว่างสามัญชน/คนอีสานกับ “ทหาร” ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่แนบแต่ไม่แน่นของคู่รักญี่ปุ่น-ไทยในหนัง
ทว่าเมื่อน้องชายนางเอกอยากเป็นทหารจริงๆ ทุกคนก็ไม่สามารถห้ามปรามความปรารถนาของเขาได้ โดยที่ยังไม่ต้องคิดว่าทางเลือกในชีวิตเขาช่างจำกัดจำเขี่ยสิ้นดี ระหว่างการไม่ “บวช” ก็ไปเป็น “ทหาร” แล้วเอาเข้าจริง “สองทางเลือก” นี้ ก็ไม่ใช่ชอยส์ที่เท่าเทียมกันด้วย เพราะต่อให้คุณบวช เมื่อถึงคราวเกณฑ์ทหาร คุณก็ต้องไปเกณฑ์อยู่ดี (กลุ่มตัวละครวัยรุ่นที่ลาวยังมีทางเลือกในเชิงพื้นที่และการใช้ชีวิตมากกว่าเสียอีก)
การเป็น “ทหาร” สำหรับน้องชายนางเอก จึงอาจเป็นทั้งความปรารถนาและเส้นทางที่มิอาจหลีกเลี่ยง ไม่ว่าใครๆ จะรู้สึกแปลกแยกกับมันเพียงไหนก็ตาม
พี่คนดี
น่าแปลกดี ที่เรามีโอกาสได้ยินนางเอกพูดหลายครั้งว่าวิธีการเลือกคู่ของเธอ คือ การพิจารณาว่าผู้ชายคนนั้นเป็น “คนดี” หรือไม่?
แต่เธอก็ไม่เคยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ดี” นั้น “ดี” ยังไง?
แล้วในโลกของหนังเรื่องนี้ มีใครเป็น “คนดี” บริสุทธิ์บ้าง?
บ่อยครั้ง เรามักรู้สึกว่าวาทกรรม “คนดี” คือเครื่องมือที่ใช้ทิ่มแทงคนชนบท คนเล็กคนน้อย ที่มีจำนวนมากกว่าในทางการเมือง (รวมถึงคนอีสานด้วย)
อย่างไรก็ตาม ตัวละครคนอีสานที่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตเป็นสาวกรุงเทพฯ และไม่ยอมพูดอีสานขณะอยู่กรุงเทพฯ ก็ใฝ่ฝันถึง “พี่คนดี” เช่นเดียวกัน
นี่เป็นอีกความย้อนแย้งชวนขบคิดที่ปรากฏใน Bangkok Nites
เฉดสีของคนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ
แทบทุกคนที่ได้ดูคงจับประเด็นได้ว่าบรรดาตัวละครของ Bangkok Nites นั้นมีลักษณะเป็นพวกชายขอบซ้อนชายขอบ หรือ loser ซ้อน loser ไปเรื่อยๆ
นี่คือเรื่องราวของผู้ชายชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีที่ทาง/ตัวตน/ฐานะในบ้านเกิดเมืองนอน ครั้นพอมาแสวงโชคในต่างแดน ก็ยังต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคนอื่นๆ หรือเครือข่ายอำนาจที่ใหญ่โตกว่า
อีกด้านหนึ่ง นี่คือเรื่องราวของหญิงสาวชาวอีสาน ที่ต้องเข้ามาทำมาหากินหาเลี้ยงครอบครัวในมหานคร ด้วยการประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ หญิงสาวอีสานที่เหมือนจะอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายญี่ปุ่นห่วยๆ อีกต่อหนึ่ง
มีตัวละครเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมายในหนัง ที่มีชะตากรรมไม่ต่างกับชายหญิงคู่นี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในประเด็นใหญ่ข้างต้น ก็คือ บทสนทนาบางช่วงในหนัง ที่บรรดาคนญี่ปุ่นในเมืองไทย/กรุงเทพฯ ได้แบ่งแยกกันเอง ว่าพวกโน้นเป็น “ญี่ปุ่นสุขุมวิท” พวกนี้เป็น “ญี่ปุ่นธนิยะ” (สองกลุ่มนี้คล้ายจะไม่ค่อยถูกกัน) และบางรายอย่างพระเอกอาจจะย่ำแย่ยิ่งกว่านั้น เพราะหมอนี่เป็นญี่ปุ่นที่น่าจะอยู่อาศัยย่าน “ฝั่งธน”
น่าสนใจว่าพวกคนญี่ปุ่นใน กทม. เขาแบ่งแยกกันยังไงบ้าง? จากปัจจัยอะไรบ้าง? แล้วเหยียดกันแบบไหน? ซึ่งหนังไม่ได้อธิบายรายละเอียดเอาไว้ (ไม่รู้จะคล้ายๆ กับการแบ่งแยกกันระหว่าง “คนจีน” ในอังกฤษหรือไม่? ที่พวกฮ่องกง ซึ่งมาก่อนและเป็นฝรั่งมากกว่า จะแสดงอาการเหยียด รำคาญ ยี้พวกทางจีนแผ่นดินใหญ่)
เนื้อหาหลังจากนี้อาจจะสปอยล์พอสมควรครับ!
หนังต่อต้านสงคราม
คัตสึยะ โทมิตะ ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเขาทำหนังเรื่องนี้เพื่อต่อต้านสงคราม น่าสนใจว่าหนังไม่ได้ทำเพียงแค่วิพากษ์ผลลัพธ์ของสงคราม (ทั้งลัทธิล่าอาณานิคมและสงครามเย็น) เท่านั้น แต่วิธีการเล่าเรื่องของหนังก็มีท่าทีปฏิเสธความรุนแรงอย่างชัดเจน
จริงๆ แล้ว หนังดาร์กๆ เรื่องนี้ มีหลายช่วงตอนที่สามารถหันเหไปสู่สภาวะความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อได้ (ถ้าให้ “พี่ต้อม เป็นเอก” กำกับ มันต้องมีฆ่ากันและมีคนตายแน่ๆ 555) เช่น ตอนลูกพี่พระเอกเริ่มหงุดหงิดที่พระเอกไปทำงานในลาวแล้วหายตัวจนติดต่อไม่ได้ หรือตอนที่เศรษฐีญี่ปุ่นส่งนักสืบมาแอบตามดูความสัมพันธ์ของเมียเก็บคนไทยกับชายญี่ปุ่นซอมซ่อยากจน ฯลฯ
แต่สุดท้าย หนังก็ไม่มีเหตุรุนแรงหรือเหตุการณ์ฆ่ากันตายเกิดขึ้น (ยกเว้นถ้าเราตีความไปไกลๆ ว่าฉากเสพยา คือ ความรุนแรงชนิดหนึ่ง) กระทั่งฉาก “ซื้อปืน” ก็เผลอๆ น่าจะเป็นจินตนาการ/สัญลักษณ์ มากกว่าจะเป็นสถานการณ์จริงในภาพยนตร์ด้วยซ้ำ
ซีนที่เป็นความขัดแย้งแรงสุดในหนังเรื่องนี้ อาจได้แก่ฉากที่ผู้หญิงกลางคืนสองกลุ่มตบตีกัน
เมายาตอนท้าย
ผมตีความว่าช่วงท้ายๆ ของ Bangkok Nites นั่นน่าจะเป็นเหมือนกระแสสำนึก/จินตนาการ/ความฝัน/ภาวะเมายาร่วมกัน (หรือซ้อนทับกัน) ของสองตัวละครนำอย่างพระเอกนางเอก
ผมรู้สึกว่าช่วงที่ทั้งสองคนไปเที่ยวพัทยาด้วยกันออกจะเป็นภาวะเมายา กึ่งจริงกึ่งฝัน การไปถึงพัทยาอาจไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากทั้งคู่พลัดพรากกันที่อีสาน หากเป็นการรำลึกย้อนไปถึงวันชื่นคืนสุขระลอกแรกที่ชายญี่ปุ่น-สาวไทยเคยคบหากัน และเคยไปเที่ยวที่พัทยาด้วยกัน แล้วต่างแยกทางกันไป (ก่อนจะกลับมาเจอกันอีกหนที่ธนิยะ จนนำไปสู่การผจญภัยครั้งใหม่ในหนังเรื่องนี้) แต่การที่อีตาพระเอกใส่เสื้อยืดสกรีนคำว่า LAOS ก็ชวนให้ตีความได้สองทางว่าเขาและนางเอกอาจไปพัทยาหลังกลับมาจากอีสาน/ลาว หรือเป็นการย้อนเวลากลับไปยังอดีต ที่เขาใส่เสื้อ LAOS ไปพัทยา โดยยังไม่เคยไปเยือนอีสานและลาวมาก่อน
เช่นเดียวกัน การเปิดเผยของนางเอกว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ณ ริมชายหาด ก็ชวนให้ตีความได้หลายแง่ นางเอกอาจพูดความจริง (ผ่านการแสดงแข็งๆ) นางเอกอาจเล่นเกม/โกหกพระเอกในความสัมพันธ์แบบชั่วครั้งชั่วคราวระหว่างเขาและเธอ หรือจริงๆ แล้ว นี่อาจเป็นจิตใต้สำนึกของนางเอก ที่หมกมุ่นเสียใจกับการได้รับทราบข่าวร้ายว่าเพื่อนที่บ้านเกิดของเธอติดเชื้อเอชไอวี แถมเพื่อนร่วมงานที่ กทม. บางคน ก็มีวี่แววจะติดโรคเช่นกัน (แต่ตัวเธอเองอาจไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ?)
และดังที่กล่าวไปแล้ว ผมเชื่อว่าฉากไปซื้อปืนของพระเอกก็ดูจะมีหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ (การมุ่งหน้าสู่สายเหยี่ยว มุ่งหน้าสู่การเป็นนักล่าอาณานิคมผ่านอุตสาหกรรมขายบริการทางเพศ ซึ่งมีความรุนแรงประหนึ่งการก่อสงคราม -ตามความเห็นของโทมิตะ-) ซะมากกว่า แถมตอนคิวแอนด์เอ พี่ผู้กำกับก็ approve การตีความของผู้ชมคนหนึ่ง ที่เห็นว่าการซื้อปืนของพระเอกนั้นเชื่อมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกองทัพของรัฐบาลญี่ปุ่น ไปโน่นเลย
ทำไปทำมา เส้นเรื่องของ “โลกความจริง” ในช่วงท้ายของหนัง อาจเริ่มต้นจากการแยกทางกันระหว่างพระเอกนางเอกที่อีสาน แล้วพระเอกก็เข้าสู่การเป็นแมงดาเต็มตัว ส่วนนางเอกก็เลิกอาชีพค้าบริการทางเพศแล้วกลับไปบ้านเกิด (อาจเพราะเธอเบื่อหน่ายวิถีชีวิตแบบเดิม, อาจเพราะเธอจะกลับไปดูแลน้องๆ ดูแลเพื่อนที่ป่วย หรืออาจเพราะเธอติดเชื้อเอชไอวีเสียเอง)
สามหรือสองชั่วโมง?
ผู้กำกับเปิดเผยว่าหนังเวอร์ชั่นเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในไทยอาจจะถูกตัดให้สั้นลงเหลือแค่ราวๆ สองชั่วโมง (จากความยาวเต็มๆ ประมาณสามชั่วโมง) เพื่อความเหมาะสมเรื่องรอบฉาย
น่าสนใจว่าถ้าจะต้องตัดหนังออก คนตัดจะตัดส่วนไหนออกไป ตัดแง่มุมการเมือง? ตัดเรื่องราวของผีจิตร? ตัดเรื่องอาณานิคม/สงครามเย็น? หรือตัดรายละเอียดในธนิยะ?
ผมยังค่อนข้างเชื่อว่าหนังเวอร์ชั่นสองชั่วโมงคงเลือกจะธำรงแก่นเรื่องเกี่ยวกับธนิยะ-อุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศ และสายสัมพันธ์คลุมเครือระหว่างพระเอก-นางเอกเอาไว้
แต่บางที ทางเลือกเช่นนี้อาจนำหนังไปสู่ปัญหาอีกแบบ คือ หนังอาจถูกเล่นงานในประเด็นสิทธิสตรี การสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้แก่ผู้หญิงไทยอะไรทำนองนั้น
เพราะแม้แต่ในการฉายที่หอภาพยนตร์ ก็ยังมีคนดูผู้หญิงบางท่านที่แสดงความไม่พอใจหนังในแง่มุมนี้แบบสุดๆ โดยแทบไม่คำนึงเลยว่าประเด็นเรื่องสตรีค้าบริการเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งในอีกหลายหลากมุมของหนัง หรือเป็นเพียงอุปลักษณ์/นิทานเปรียบเทียบ ซึ่งช่วยส่องสะท้อนชุดปัญหาที่มันกว้างใหญ่กว่าเรื่องเซ็กส์/เรื่องขายบริการทางเพศ
จริงๆ แล้ว การเป็นหนังยาวสามชั่วโมงที่มีประเด็นนู่นนี่ยิบย่อยเต็มไปหมด อาจสร้างความปลอดภัย (แบบกำกวมและงงๆ) ให้แก่ Bangkok Nites ได้มากกว่า
ภาพประกอบจาก http://www.bangkok-nites.asia/en/press (c) Bangkok Nites Partners 2016
1 Comment