เผยแล้ว! วันอวสาน “เทพสามฤดู”
อัพเดตข้อมูลใหม่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561
อินสตาแกรม lakornpurnbanthai_official เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า “เทพสามฤดู” (2560) จะออกอากาศตอนสุดท้ายในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561
เท่ากับว่า “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นนี้ ซึ่งแพร่ภาพตอนแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จะออกอากาศรวมทั้งสิ้น 69 ตอน
สอดคล้องกับการที่ “สามเศียร” ขึ้นข้อความประชาสัมพันธ์ระหว่างแพร่ภาพ “เทพสามฤดู” ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ ว่าตอนจบของละครเรื่องนี้จะออกอากาศในวันเสาร์หน้า
อย่าพลาดชมตอนจบ!
ละครจักรๆ วงศ์ๆ สุดล้ำ “มิติมหัศจรรย์” กลับมารีรันอีกครั้งทางยูทูบ
ช่องยูทูบสามเศียรกำลังนำละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “มิติมหัศจรรย์” (2537) มารีรันใหม่
นี่เป็นผลงานสร้างชื่อของพรชิตา ณ สงขลา ปริญญา ปุ่นสกุล (ผู้ล่วงลับ) และฉัตรมงคล บำเพ็ญ
จึงได้โอกาสสำหรับแฟนเก่าๆ ในการรำลึกความหลัง หรือถ้าใครเป็นแฟนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ก็ขอแนะนำให้ไปหาชมกันทางยูทูบครับ
สำหรับผม “มิติมหัศจรรย์” เป็นละครพื้นบ้าน/จักรๆ วงศ์ๆ ที่ “แปลกใหม่” และ “แหวกแนว” มากๆ เรื่องหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย ด้วยเหตุผล-องค์ประกอบหลายประการ อาทิ
หนึ่ง นี่เป็นละครที่สร้างมาจากนิยายกึ่งแฟนตาซีกึ่งเทพนิยายร่วมสมัย โดย จุฑารัตน์ ไม่ใช่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมวัดเกาะ วรรณคดีไทย หรือตำนานมุขปาฐะอื่นๆ
(แม้ดาราวิดีโอ/ดีด้า/สามเศียร จะเคยใช้บริการนักประพันธ์มาเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ขึ้นใหม่ โดยไม่ดัดแปลงจากวรรณกรรมดั้งเดิมตรงๆ แต่บทละครประเภทนั้นก็ยังมีลักษณะเป็นนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ทำนองเดียวกับวรรณกรรมวัดเกาะอยู่ มิได้มีลักษณะเป็นนวนิยายกึ่งแฟนตาซีกึ่งเทพนิยาย เช่นดังกรณี “มิติมหัศจรรย์”)
สอง นี่น่าจะเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร เพียงเรื่องเดียว ที่มีฉากโลกมนุษย์ยุคร่วมสมัยปรากฏอยู่
(ลักษณะเด่นข้อนี้ อาจทำให้หลายคนอาจนึกถึงละครแนวแฟนตาซีบางเรื่องของค่ายกันตนา แต่ผลงานเหล่านั้นก็เทน้ำหนักไปที่ความเป็นแฟนตาซี -โดยมีกลิ่นไอจักรๆ วงศ์ๆ- มากกว่าจะเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ เจือกลิ่นแฟนตาซี ดังกรณีของ “มิติมหัศจรรย์”)
สาม มิติทาง “พื้นที่” และ “เวลา” ภายในละคร “มิติมหัศจรรย์” นั้นน่าสนใจมิใช่น้อย
ถ้าดูเผินๆ บางคนจะนึกว่า “มิติเทพนิยาย” ในเรื่อง คือ “อดีต” และ “มิติโลกมนุษย์ยุค 2537” คือ “ปัจจุบัน”
อย่างไรก็ดี ทั้งสองมิติดังกล่าวในละครเรื่องนี้มิได้แบ่งแย่งกันด้วย “เวลา” เท่านั้น แต่ทั้งคู่ยังดำรงอยู่ ณ “พื้นที่” ที่แตกต่างกันด้วย
พื้นที่ใน “มิติเทพนิยาย” ก็มีอดีตและปัจจุบันของตนเอง (เช่น พระอังคารนั้นจุติมาเกิดเป็นคนธรรมดา แต่มิใช่ใน “มิติโลกมนุษย์ปี 2537” หากเป็นคนในยุคปัจจุบันของ “มิติเทพนิยาย” แห่งเดิม)
ขณะที่ “มิติโลกมนุษย์” ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวเองเช่นกัน โดยเทพและผู้คนในมิติ “เทพนิยาย” สามารถมาเกิดใหม่ (ข้ามพื้นที่-ข้ามมิติ-ข้ามเวลา) ใน “โลกมนุษย์ปี 2537” ได้ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ในมิติชนิดหลัง สามารถหลุดเข้าไปในช่วงเวลาปัจจุบันของ “มิติเทพนิยาย” เพื่อรำลึกถึงอดีตชาติของตนเองซึ่งเคยวนเวียนอยู่บนสรวงสวรรค์ในมิติแห่งนั้น
นับว่า “มิติมหัศจรรย์” นำเสนอแนวคิดเรื่อง “พื้นที่” และ “เวลา” เอาไว้อย่างสลับซับซ้อนและชวนฉุกคิด (ใครอ่านส่วนนี้ไม่รู้เรื่อง แนะนำให้ไปดูคลิปละครรีรัน 555)
สี่ นี่เป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทยเรื่องแรกๆ ซึ่งมีความพยายามชัดเจน ที่จะนำเสนอภาพสวรรค์และเหล่าเทวดาออกมาในบรรยากาศ “เทพนิยายกรีก”
ห้า ซีจีใน “มิติมหัศจรรย์” ถือว่า “ล้ำสมัย” และ “สวย” มากใน พ.ศ.นั้น (ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบกับละครโทรทัศน์ประเภทอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน)
เช่นเดียวกับการใช้เพลง “มหัศจรรย์แห่งรัก” ของศิลปินหัวสมัยใหม่อย่าง Z-MYX (สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์) มาประกอบละคร กระทั่งเพลงดังกล่าวกลายเป็นเพลงประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ไพเราะมากที่สุดเพลงหนึ่ง
(โดยส่วนตัว ผมรู้จัก Z-MYX เพราะละครเรื่องนี้)