บันทึกถึง The Florida Project และ Lady Bird

The Florida Project

1. ชอบและสนใจเรื่องราวแนว “ประชาชนชาวแฟลต” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยสนุก-สะเทือนใจมากๆ

หลังดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ไปพักนึง ก็นึกถึงประเด็นที่จาร์วิส ค็อคเกอร์ แห่ง Pulp เคยวิจารณ์อัลบั้ม Parklife ของ Blur และหนังเรื่อง Natural Born Killers ของโอลิเวอร์ สโตน เอาไว้ราวๆ ว่า เพลงและหนังเหล่านั้นเป็นการถ้ำมองคนชั้นล่างจากสายตาผู้อุปถัมภ์ของอภิสิทธิ์ชน (หรือเป็นการพยายามพูดแทนคนชั้นล่างด้วยน้ำเสียง/วิธีมองโลกแบบอภิสิทธิ์ชน)

เพราะจริงๆ แล้ว พวกคนที่อาศัยอยู่ในแฟลตการเคหะของอังกฤษ มันไม่ได้โหวกเหวก โวยวาย ต่อสู้ ด้วยท่าที วิธีคิด และคำพูดแบบปัญญาชนคนชั้นสูง เหมือนที่พวกเอ็งร้องในเพลงหรือเล่าในหนังหรอก แต่มันก็กัดฟันสู้แบบดิบๆ เถื่อนๆ หยาบๆ เหี้ยๆ ตามวิถีชีวิตของมันนั่นแหละ

(ที่มา http://www.nme.com/blogs/nme-blogs/pulps-different-class-at-20-an-oral-history-of-the-era-defining-album-that-propelled-jarvis-and-co-t-760461)

ความเห็นของค็อคเกอร์นั้นสอดคล้องเต็มๆ กับเนื้อหาอันเข้มข้น จริงจัง หนักหน่วงใน The Florida Project

The-Florida-Project-1

เด็กๆ ในหนังอาจมีแง่มุมบริสุทธิ์ สดใส อ่อนเยาว์ แต่อีกด้าน หน่อเนื้อแห่งความดิบ เถื่อน หยาบ ตลอดจนวิธีการสู้กลับแบบสุนัขจนตรอก ก็ถูกปลูกฝังลงไปในจิตใจและการดำเนินชีวิตของพวกเขาเรียบร้อยแล้ว

2. ชอบรายละเอียดหลายๆ อย่างเกี่ยวกับลักษณะพื้นที่/สถาปัตยกรรมของแฟลต ที่ส่งผลต่อ (ย้อนแย้งกับ) ชีวิตของคนผู้อยู่อาศัย

แน่นอน สีสันของอาคารแฟลตที่โดดเด่น ประหนึ่งสวนสนุก/ดินแดนจินตนาการในเทพนิยาย นั้นสวนทางกับชีวิตของคนพักอาศัยที่นั่นแบบสุดๆ

ความสัมพันธ์จากเพื่อนสนิท (รับภาระเลี้ยงดูลูกแทนกันได้/แบ่งปันอาหารจากที่ทำงานมาให้) ที่กลายมาเป็นศัตรูคู่ตบคู่อาฆาตระหว่างผู้เช่าห้อง 323 กับ 223 (ห้องชั้นบนกับชั้นล่างที่อยู่ในแนวดิ่งเดียวกัน) ก็เป็นอะไรที่โดนใจมากๆ (ผมชอบฉากท้ายๆ ที่ฮัลลีย์กระทืบเท้าอย่างบ้าคลั่งลงพื้นห้อง เพื่อหวังจะระบายความแค้นเคืองลงไปยังศัตรู/อดีตเพื่อนรักที่นอนอยู่ห้องข้างล่าง)

[ผมค่อนข้าง “อิน” กับความสัมพันธ์ที่แปลกแยกระหว่างห้องชั้นบนกับห้องชั้นล่างของแฟลตแบบในหนังเรื่องนี้ -แต่ด้วยมูลเหตุที่ผิดแผกกัน- หลายปีก่อน ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในแฟลตแห่งหนึ่งที่ต่างประเทศราวหนึ่งปี ไม่กี่เดือนผ่านไป ก็พอจะทราบข่าวน่าตกใจว่ามีเพื่อนบ้านแถวชั้นล่างกระทำอัตวินิบาตกรรมในห้องพักของเธอ แต่ผมไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลย -กระทั่งเหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนที่จะต้องย้ายออกจากแฟลตแห่งนั้น- ว่าสถานที่ที่เพื่อนบ้านคนดังกล่าวปลิดชีพตนเอง ก็คือ ห้องพักด้านล่างชั้นถัดไปที่อยู่แนวดิ่งเดียวกันกับห้องผมแบบเป๊ะๆ พูดง่ายๆ คือ ผมนอนอยู่เหนือสถานที่ที่มีคนปลิดชีวิตตัวเองอยู่เกือบปี โดยไม่เคยรับรู้เลยว่าสายสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างตนเองกับผู้ตายนั้น มันใกล้ชิดเกินกว่าที่ผมคาดคิดเอาไว้มาก นี่คือ “ความน่ากลัว” ประการหนึ่ง อันเกิดจากภาวะแปลกแยกระหว่างประชาชนชาวแฟลต]

ผมยังชอบ ฮ. ที่บินเวียนวนผ่านไปผ่านมา ซึ่งเหมือนจะน่าตื่นเต้น เหมือนจะอลังการ เหมือนสวนสนุก จนน่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่เอ! นี่มันคือการเฝ้าระวัง อันเกิดจากความหวาดระแวงของรัฐที่มีต่อคนจนย่านนี้หรือเปล่า?

แล้วก็ชอบที่ในเชิงรายละเอียดแล้ว The Magic Castle มันเหมือนจะไม่ใช่ “แฟลต” โดยตรง แต่เป็นคล้ายโรงแรม/อพาร์ตเมนต์ราคาถูกที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ไปพร้อมๆ กับปล่อยให้คนชั้นล่างๆ เข้ามาสิงสู่อยู่อาศัย (ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกมั้ย?)

อีกหนึ่งจุดเล็กๆ ที่ดูๆ ไป แล้วนึกแว้บขึ้นมาได้ ก็คือ เออ! ห้องพักใน The Magic Castle นี่มันไม่มีครัวนะ (ซึ่งก็คล้ายๆ กับ “อพาร์ตเมนต์” ของบ้านเรา) แต่ในกรณีเมืองไทย คนเช่าห้องพักราคาถูกยังพึ่งพาพวกร้านอาหารตามสั่งตามตรอก ซอก ซอย ถนนได้ค่อนข้างสะดวก ทว่า คนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ซึ่งปราศจากครัว นี่เหมือนจะต้องล่อฟาสต์ฟู้ดกันเป็นหลัก (เช่นเดียวกับครอบครัวของตัวเอกในหนัง)

thefloridaproject-quadposter

3. อีกข้อนึงที่น่าสนใจ คือ กลายเป็นว่าคนระดับล่างสุดในสังคมของหนังเรื่องนี้ (สามารถเรียกว่า underclass ได้เลยด้วยซ้ำ) คือ คนขาว ขณะที่คนดำหลายคนกลับมีหน้าที่การงานเป็นหลักเป็นแหล่ง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า หรือมีสถานภาพ/อำนาจเหนือกว่า (จุดน่าสนใจประการหนึ่ง ได้แก่ ในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาจัดการปัญหาครอบครัวของตัวละครนำ/คนขาวจนตรอกในตอนท้ายนั้น มีบางรายเป็นคนผิวดำด้วย)

[จุดนี้ ทำให้ระลึกถึงย่านที่ตัวเองเคยใช้ชีวิตอยู่ตอนไปเรียนหนังสือเมืองนอกอีกเช่นกัน ผมทราบก่อนเดินทางไปถึงว่ามหาวิทยาลัยและหอพักของตนเป็น “ย่านคนดำ” และก็เผลอทึกทักไปเรียบร้อยว่าคนดำน่าจะเป็นคนระดับล่างสุดของชุมชนย่านนั้น ซึ่งปรากฏว่าผิดคาด เพราะคนที่ทำงานอำนวยการ/ธุรการตามสถานที่ต่างๆ แถบนั้น ล้วนเป็นคนดำซะส่วนใหญ่ มีพวกแขกพวกคนเอเชียยึดครองงานบริการ และะกลายเป็นว่าถ้าเราเห็นขอทานมานั่งขอเศษเหรียญริมฟุตบาทหรือเห็นขี้เมาหยำเปยามค่ำคืน คนเหล่านั้นล้วนเป็นคนขาวเกือบทั้งสิ้น]

4. แต่จริงๆ บทสรุปของหนังก็เป็นทางสองแพร่งไม่น้อย คือ ผมค่อนข้างเชื่อว่าถ้ามูนีอยู่กับแม่ต่อไป ชีวิตเธอคงไม่ดีขึ้น และมีแนวโน้มจะเดินซ้ำรอยแม่ตัวเองในระยะยาว แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้ารัฐเข้ามาแทรกแซง/ช่วยเหลือ แล้วนำเธอไปอยู่กับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงกว่า ชีวิตของเธอจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า? (เธอจะปรับตัวปรับใจได้แค่ไหน? หรือเธอต้องเผชิญหน้ากับอะไรอื่นอีก?)

florida2

ฉะนั้น ฉากดิสนีย์แลนด์ตอนจบมันเลยคลุมเครือ แต่ก็อธิบายความสับสนลังเลตรงจุดนี้ได้ดีและทรงพลังมาก

Lady Bird

พอดูใกล้ๆ กับ The Florida Project เลยทำให้ได้มองเห็นภาพจิ๊กซอว์บางเสี้ยวส่วนของสังคมอเมริกันที่น่าสนใจดี (แม้มันอาจไม่ได้เชื่อมโยง/ประสานกันอย่างแนบแน่นสนิทลงล็อกซะทีเดียว – แต่แอบคิดเหมือนกันว่า ถ้ามูนีถูกรับไปเลี้ยงดูโดยครอบครัวอื่น โตขึ้นมาเธออาจมีชีวิตประมาณมิเกลหรือเปล่า? คือ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ต้องดิ้นรนกับปัญหาอีกชุด/ระดับหนึ่ง)

ถ้า The Florida Project เล่าเรื่องราวของคนชนชั้นล่างๆ Lady Bird ก็คงเล่าเรื่องราวว่าด้วยปัญหาและการดำเนินชีวิตของคนชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริกา ผ่านมิติเรื่องการเติบโตเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่น ครอบครัว เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพจิต ช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มย่อยๆ (ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำกัน) ในชนชั้นเดียวกัน

Lady-Bird-2 (1)

จุดที่ชอบหรือรู้สึกเชื่อมโยงกับหนัง คือ

1. ผมพบว่าตัวละครนำในหนังน่าจะเป็นวัยรุ่นเจนใกล้ๆ กันกับตัวเอง (1 ปี หลัง 9/11 เธอกำลังจะเข้ามหาลัย ส่วนผมเรียนปี 2 ตอนเกิดเหตุการณ์) ซึ่งนั่นก็คงอิงมาจากชีวิตจริงของเกรตา เกอร์วิก ผู้กำกับ

2. รู้สึกว่าหนังจับภาพ/แต่งหน้าน้องเซียร์ชา โรแนน ได้น่าสนใจและแปลกตาดี คือ มองด้านหนึ่ง ก็ดูเธอสวย มีเสน่ห์เตะตากว่าเด็กสาวทั่วไป แต่อีกด้าน เธอก็ยังมีสิว มีริ้วรอยอะไรเขรอะๆ ตามใบหน้าเนื้อตัว แบบเด็กวัยรุ่นธรรมดาๆ

3. รู้สึกว่ารายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวนางเอกน่าสนใจมาก

lady-bird-2

เริ่มจากพ่อแม่ที่อายุเยอะ มีลูกตอนอายุ 40 อัพ (เข้าใจว่าในปี 2002 แม่มีอายุ 60 พ่อคงใกล้ๆ กัน ขณะที่ลูกสาวอายุ 18) แล้วก่อนจะมีลูกของตัวเอง พวกเขาก็ดันรับเด็กเชื้อสาย “ต่างชาติ” มาเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม

(ต้องยอมรับว่าผมยังสับสนกับเชื้อชาติของมิเกล -พี่ชายบุญธรรมของนางเอก- อยู่พอสมควร ตอนได้ยินชื่อ ก็นึกว่าคงเป็นเม็กซิกัน แต่พอเห็นหน้า ก็คิดว่าออกแนวคนเอเชีย พอลองไปค้นประวัตินักแสดงที่มารับบท เขาก็ดันเป็นคนออสเตรเลียที่มีพ่อแม่เป็นมาเลเซีย ซึ่งมีนามสกุลออกแนวยุโรปใต้เสียอีก 555 ผมจึงตีความเอาเองว่ามิเกลในหนังน่าจะเป็นเด็กเชื้อสายเอเชีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงผลพวงจากสงครามเวียดนามที่ดำรงอยู่ภายในสังคมอเมริกัน อันมีนัยยะล้อ/เทียบเคียงไปกับสภาพสังคมสหรัฐหลัง 9/11 ตามท้องเรื่องพอดี)

นอกจากนี้ การที่พี่ชายบุญธรรมของนางเอกเอาแฟนสาวผิวสีพนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตมาอยู่บ้าน (ทั้งคู่เจาะหน้าเจาะตา) โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ ก็น่าสนใจ

4. แน่นอน หนังเรื่องนี้พยายามชูภาพลักษณ์แง่บวกในการเป็นเบ้าหลอมความหลากหลาย/ความเป็น “ครอบครัวใหญ๋” ของสังคมอเมริกันนั่นแหละ เพียงแต่รายละเอียดเรื่องราวและปมขัดแย้งที่หนังนำมาใช้โปรแง่มุมดังกล่าว มันมีชั้นเชิงและสนุกเพลิดเพลินอยู่พอสมควร

บางฉากที่ผมชอบ ก็เช่น ฉากที่นางเอกไม่ยอมให้พ่อขับรถไปส่งหน้าโรงเรียน (เพราะอายฐานะของตัวเอง) แล้วก็ฉากที่นางเอกกับแม่ระเบิดอารมณ์ใส่กันตอนท้ายๆ โดยพ่อซึ่งซึมเศร้าตกงาน กำลังนั่งเล่นเกมไพ่อยู่หน้าจอคอม หรือฉากนางเอกโวยเหยียดพี่ชายและแฟนเรื่องเจาะหน้าเจาะตาก็ดี (แล้วผู้กำกับก็เยือกเย็นพอที่จะค่อยๆ ปล่อยให้สถานการณ์ตึงเครียดในครัวเรือนคลี่คลายไป มากกว่าจะบีบคั้นจนแตกสลายรวดร้าว)

5. อีกจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าหนังมีเสน่ห์ ก็คือ การวางคาแรกเตอร์ให้พวกเพื่อนสนิท-คู่ควงของนางเอก

ladybird

ทั้งจูลี่ สาวอ้วน (น่าจะ) เชื้อสายเม็กซิกัน ที่ร้องเพลง-เล่นละครเวทีก็เก่ง เรียนก็เก่งกว่านางเอกด้วยซ้ำ แต่พอจบมัธยม เธอกลับไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยโดยทันที

หรือแดนนี่ ที่มีปมขัดแย้งเรื่องเพศสภาพของตัวเองกับความเป็นไอริช/คาธอลิกของครอบครัว

ส่วนทิโมธี ชาลาเมต์ ที่รับบทเป็นไคลน์นั้น ระหว่างนั่งดูหนัง ผมก็รู้สึกว่าคาแรกเตอร์นี้มันจะซ้อนๆ กับตัวละครเอลิโอ ใน Call Me by Your Name พอสมควร แต่ไคลน์ก็มีเสน่ห์ในแบบของมันอยู่ ผมชอบบุคลิกสองด้านของไคลน์ ที่ด้านหนึ่ง เป็นพวกช่างคิด ช่างอ่าน (คล้ายจะ) เก็บตัว ออกแนวปัญญาชน อินดี้ บุปผาชน ทวนกระแสนิดนึง (เช่น ไม่เชื่อเรื่องเงินตรา ระแวงโทรศัพท์มือถือ) แต่อีกด้าน มันก็เป็นไอ้หนุ่มปาร์ตี้เจ้าสำราญ ผู้มีพฤติกรรมฟันสาวๆ ไปเรื่อย

6. อีกประเด็นหนึ่ง ที่น่าจะเป็นประเด็นหลักของหนัง และผมรู้สึกว่ามันเป็นลักษณะสำคัญของสังคมอเมริกัน คือ ความเป็นไปได้ที่คนคนหนึ่งจะใช้ชีวิต เรียน ทำงาน เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในรัฐ/เมืองเดียวตลอดไป (ส่วนหนึ่งมาจากความใหญ่โตของประเทศ)

ซึ่งมันก็บ่งชี้ถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมดีพอในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ลักษณะเด่นข้อนี้ก็คงบอนไซคนจำนวนมากให้ติดอยู่ในโครงสร้างและแนวโน้มความเป็นไปได้แบบเดิมๆ ตลอดชีวิตเหมือนกัน

สำหรับตัวละครในหนังและคนอเมริกันอีกเป็นจำนวนมาก การเดินทางข้ามรัฐ ข้ามฟากประเทศ หรือการไปต่างประเทศ จึงเป็นอะไรที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ ท้าทาย และคาดเดาไม่ได้เอามากๆ (พอๆ กับการวิ่งเข้าไปในดิสนีย์แลนด์ของหนูๆ สองคน ใน The Florida Project)

The Florida Project กับ Lady Bird

เมื่อดูหนังสองเรื่องนี้จบลง ทำให้ผมนึกได้ว่าเวลาพูดถึงปัญหาชนชั้นที่ปะทุขึ้นในสังคมอเมริกัน มันมักจะเชื่อมโยงคนชนชั้นกลาง/ล่างเข้ากับการถูกตรึง/ไปไม่พ้นจากพื้นที่หนึ่งๆ

(การได้โอกาสเดินทางไปให้พ้นจากพื้นที่เดิมๆ ต่างหาก ที่ทำให้ความขัดแย้งตึงเครียดอันเกิดจากปัญหาชนชั้นค่อยๆ สลายเจือจางลง ดังกรณีนางเอกของ Lady Bird)

ประเด็นนี้ อย่างน้อยน่าจะแตกต่างกับกรณีของเมืองไทย ที่ปัญหาชนชั้น/ความแตกต่างทางสถานภาพด้านสังคม-เศรษฐกิจของผู้คน มันจะปรากฏชัดขึ้น เมื่อมีการปะทะกันผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐาน (เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.