“คริส ชีลด์ส” จาก Film Comment ชวนคนในวงการภาพยนตร์นานาชาติหลายๆ ราย มาพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกนักแสดงให้แก่หนังที่ไม่ใช้ “นักแสดงมืออาชีพ” มาสวมบทบาทเป็นตัวละคร แต่กลับสรรหาคนธรรมดาทั่วไปมารับบทเหล่านั้นแทน
หนึ่งในบุคลากรที่ชีลด์สพูดคุยด้วย ก็คือ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ผู้ช่วยผู้กำกับในหนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ซึ่งเพิ่งมีผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่อง “หมอนรถไฟ” ของตนเองไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา)
สมพจน์บอกว่าเขาทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกนักแสดงให้แก่หนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์ สำหรับในหนังยาวเรื่องล่าสุด “รักที่ขอนแก่น” นั้น นอกจากนักแสดงนำสองคนแล้ว ตัวละครที่เหลือล้วนสวมบทบาทโดยนักแสดงสมัครเล่นที่ใช้ชีวิตจริงอยู่ในจังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของผู้กำกับ อันเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังทั้งเรื่อง เพราะทีมงานต้องการนักแสดงที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนผู้คนธรรมดาทั่วไป ซึ่งพวกเราสามารถพบเห็นได้ในวิถีชีวิตประจำวัน
ปัจจัยสำคัญที่สุด ซึ่งตัดสินว่านักแสดงสมัครเล่นรายใดจะได้รับการคัดเลือกมาร่วมเล่นหนังของอภิชาติพงศ์ ก็คือ “ความเป็นธรรมชาติ” ของพวกเขา และการมีสัญชาตญาณที่ดีพอจะ “ด้นสด” ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างลื่นไหล
สมพจน์เปิดเผยว่าในกระบวนการแคสติ้ง ทีมงานจะจู่โจมผู้มาคัดตัวเป็นนักแสดงด้วยการสุ่มโยนคำถามมั่วๆ ใส่พวกเขา หรือทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอะไรบางอย่างที่เหนือการคาดเดา
“ยกตัวอย่างเช่นเราอาจถามเขาว่า ‘ที่ไปเที่ยวทะเลกับวิมลมาเมื่ออาทิตย์ก่อนเป็นยังไงบ้าง? ผมได้ยินว่าเธอยังอยู่ในช่วงพักฟื้นจากการรักษามะเร็งใช่มั้ย?’ จากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับคนชื่อวิมลก็จะถูกแต่งเติมเสริมต่อโดยคนที่มาแคสติ้ง”
สมพจน์อธิบายว่า คำถามตั้งต้นทำนองนั้นช่วยทำให้เรามองเห็นว่าผู้มาคัดตัวแต่ละคนจะสนองตอบต่อคำถามที่คาดไม่ถึงด้วยวิธีการเช่นใด และพวกเขาและเธอจะสามารถแต่งเติมเสริมสร้างเรื่องราวของ “วิมล” ให้มีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไหน
ซึ่งอภิชาติพงศ์เคยบอกเอาไว้ว่า กระบวนการคัดเลือกแบบนี้จะทำให้เราประจักษ์ว่าใครคือคนที่โกหกได้เก่งที่สุด
สมพจน์เล่าว่าทีมงานจะบันทึกภาพผู้มาแคสติ้ง ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาแนะนำตัว เรื่อยไปจนถึงตอนที่พวกเขาเริ่มทดลองทำการ “แสดง” เพราะต้องการพิจารณาว่าคนเหล่านั้นจะสามารถรักษา “ความคงเส้นคงวา” เอาไว้ได้หรือไม่
“โดยปกติ คนทั่วไปมักจะมีอาการตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาต้องเริ่มต้นด้นสดกับบทบาทการแสดงที่ได้รับ พลังงานในตัวพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เราต้องการคนที่สามารถรักษาระดับอารมณ์เอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ จนเราไม่อาจบอกได้ว่าเรื่องที่เขาเล่าให้พวกเราฟังนั้น เป็นความจริงหรือสิ่งหลอกลวง”
อีกข้อหนึ่งที่ทีมงานคัดเลือกนักแสดงในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มักนำมาพิจารณาประกอบ ก็คือ ผู้จะมาร่วมแสดงในหนังเรื่องนั้นๆ สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนนักแสดงคนอื่นๆ ได้ดีเพียงใด
เพราะการจะทำหนังสักเรื่องหนึ่งนั้น เราต้องมองไปที่ภาพรวมและการทำงาน “ร่วมกัน” เป็นสำคัญ
จุดนี้อาจส่งผลให้กระบวนการคัดเลือกนักแสดงมีความยืดเยื้อเกินคาด อาทิ ในหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด” ซึ่งกว่าทีมงานจะหานักแสดงที่เหมาะสมมารับบทเป็นตัวละคร “ทหาร” ได้ ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าหนึ่งปีเลยทีเดียว