“อวสานซาวด์แมน” ได้รับรางวัลที่สวิส ผู้กำกับกล่าวรำลึก “ชัยภูมิ ป่าแส” บนเวที

“อวสานซาวด์แมน” หนังสั้นของ “สรยศ ประภาพันธ์” (นักบันทึกเสียงประกอบในภาพยนตร์อินดี้ไทย-อาเซียนหลายเรื่อง) ที่ก่อนหน้านี้เดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง เพิ่งได้รับรางวัลชมเชยจากเทศกาลหนังสั้นนานาชาติ Kurzfilmtage Winterthur ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในคำกล่าวหลังขึ้นรับรางวัลบนเวทีของสรยศ ได้มีการรำลึกถึง “ชัยภูมิ ป่าแส” นักกิจกรรมทางสังคม-นักทำหนังสั้นชาวลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ชัยภูมิ ป่าแส

“เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอนักทำหนังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักบันทึกเสียงประกอบภาพยนตร์ด้วย ได้ถูกยิงเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งกล่าวหาว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด

“แต่เมื่อพวกเราขอร้องให้มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมที่ถูกบันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิด พวกเขากลับไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของพวกเรา

“แน่นอน ผมยังคงจะทำหนังสั้นเรื่องนี้ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อเรื่องน่าเศร้านั้นได้บังเกิดขึ้นมา ผมจึงตัดสินใจใส่เสียงลั่นกระสุนปืนประกอบลงไปในหนัง เพื่อย้ำเตือนถึงสิ่งที่พวกเขากระทำกับพวกเรา”

สรยศเปิดเผยข้อความดังกล่าวผ่านสเตตัสภาษาอังกฤษ ที่เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวและตั้งค่าเข้าถึงเป็นสาธารณะ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าปรับปรุงมาจากคำกล่าวบนเวทีรับรางวัล

อวสานซาวด์แมน

เมื่อครั้งที่ “อวสานซาวด์แมน” ถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดของเทศกาลภาพยนตร์เวนิส เว็บไซต์ของเทศกาลได้เผยแพร่เนื้อหาย่อของหนังสั้นเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“เสียงของผู้คนมักเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยเพิกเฉยอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเสียงประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งมักไม่ค่อยถูกสนใจไยดีโดยบรรดาผู้ชม ในหนังเรื่องนี้ ตัวละครที่เป็นนักบันทึกเสียงสองคนกำลังทำงานมิกซ์เสียงในขั้นตอนท้ายสุดให้แก่หนังสั้นเรื่องหนึ่ง น่าตั้งคำถามว่าจะมีใครบ้างไหมที่ได้ยินสรรพเสียงเหล่านั้น?”

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยแนวคิดเบื้องหลังในการทำหนังสั้น “อวสานซาวด์แมน” ของสรยศ ซึ่งเขาระบุว่า

“เสียงคือส่วนประกอบสำคัญในภาพยนตร์ ซึ่งช่วยแต่งแต้มเรื่องราวลงบนชีวิต แต่ผมมักพบว่าคนดูหนังชอบส่งเสียงดังสอดแทรกขึ้นมาในโรงภาพยนตร์ จนดูเหมือนว่ามีคนไม่มากนักที่จะสนใจฟังสุ้มเสียงซึ่งผมบันทึกเอาไว้ ยิ่งกว่านั้น ผมยังอาศัยอยู่ในสถานที่ ที่เสียงของตัวผมเองไม่ได้ถูกรับฟังแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำหนังเรื่องนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อส่วนตัวว่าเสียงในภาพยนตร์นั้นมีสถานะสำคัญ ไม่ต่างกันกับเสียงของประชาชน”

ขอบคุณเนื้อหาและภาพบางประกอบจาก Sorayos Minimal Prapapan

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.