“อานเญส วาร์ดา” ผู้กำกับหญิงวัย 89 ปี ผู้ถือกำเนิดที่ประเทศเบลเยี่ยม และเป็นคนทำหนังสตรีเพียงรายเดียวในขบวนการ “เฟรนช์ นิว เวฟ” ของฝรั่งเศส เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศ ในงาน Governors Awards เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
นับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สตรีรายแรกที่ได้รับรางวัลสาขานี้
ก่อนหน้านี้ วาร์ดาเคยกล่าวในเชิงตัดพ้อถึงการมอบรางวัลเกียรติยศดังกล่าวอยู่บ้าง ว่าตนเองได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จบ่อยครั้งมากๆ ในระดับสามเดือนต่อหนึ่งรางวัล
“ฉันแก่แล้ว พวกเขาก็เลยไม่รู้ว่าจะให้อะไรกับฉันดี” วาร์ดากล่าวและว่า “มันน่าหัวร่อมาก ที่แม้จะมีชื่อเสียง แต่ฉันยังคงยากจนอยู่ ทั้งยากจนกลุ่มคนดู และยากจนรายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศ รางวัลที่ได้จึงเป็นเหมือนการปลอบขวัญมากกว่า”
“ลูกสาวฉันบอกว่าฉันควรเดินทางมารับรางวัลนี้ที่สหรัฐ แต่มันเป็นแค่งานชายขอบของออสการ์ มันไม่ได้จัดมอบในเดือนกุมภาพันธ์ แต่มอบกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ฉันคิดว่านี่มันเป็นรางวัลออสการ์สำหรับคนยากจน” ผู้กำกับหญิงระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นรับรางวัลจริงๆ บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความชื่นมื่น
“ฉันเคยได้รับรางวัลมามากมาย แต่ที่นี่คือฮอลลีวูด เมกกะของวงการภาพยนตร์ ที่ซึ่งฉันได้รับรางวัลที่สำคัญที่สุด” วาร์ดากล่าวตอนหนึ่ง ขณะขึ้นไปรับรางวัลบนเวที ก่อนจะปิดท้ายพิธีการอย่างประทับใจ ด้วยการร่วมเต้นรำกับ “แองเจลิน่า โจลี่” นักแสดงหญิงชื่อดัง ที่ขึ้นมาประกาศเกียรติคุณของเธอ
ทั้งนี้ การมอบรางวัลออสการ์เกียรติยศในงาน Governors Awards ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งอีกนัยหนึ่ง นี่คือการถูกเขี่ยออกมาจากการถ่ายทอดสดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ในช่วงต้นปี
ในระยะหลังๆ สถาบันศิลปวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกามักมอบรางวัลเกียรติยศให้แก่บรรดาคนทำหนัง ที่ไม่เคยเฉียดกรายเข้าใกล้รางวัลออสการ์ปกติมาก่อน ดังเช่นวาร์ดาที่ไม่เคยแม้แต่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์
ซึ่งตัวเธอเองก็พูดด้วยความรู้สึกแปลกประหลาดใจว่า “ฉันไม่เคยคิดว่าคนในฮอลลีวูดจะชอบงานของฉัน”
ขณะที่ “จอห์น ไบลีย์” ประธานสถาบันฯ ระบุว่า “วาร์ดาคือมรดกของขบวนการเฟรนช์ นิว เวฟ เธออาจไม่ค่อยชอบคำนี้ เพราะเธอยังคงเป็นคนทำหนังที่มีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น แต่อย่างไรเสีย วาร์ดาก็ถือเป็นมรดกที่ยังมีลมหายใจของประวัติศาสตร์หน้านั้น”
วาร์ดาเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นช่างภาพนิ่ง ก่อนจะมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตอย่าง “La Pointe Courte” ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นจุดกำเนิดของเฟรนช์ นิว เวฟ ทั้งยังมีผลงานอันเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักหนังหรือคอหนังเทศกาลอีกมากมาย อาทิ “Cléo from 5 to 7” “Vagabond” และ “The Beaches of Agnès”
ภาพยนตร์ของวาร์ดามักถูกประเมินว่ามีลักษณะที่แหกคอกและแหวกแนวจากผลงานของเพื่อนคนทำหนังกลุ่มเฟรนช์ นิว เวฟ รายอื่นๆ ตลอดเส้นทางการทำงานอันยาวไกล เธอทดลองทำมาแล้วทั้งภาพยนตร์ฟิกชั่น, หนังสารคดี, หนังสั้น และศิลปะจัดวาง
วาร์ดาเคยกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการทำหนังฟิกชั่นกับสารคดีเอาไว้ว่า “เมื่อฉันทำหนังฟิกชั่น แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสามัญชน ฉันก็ต้องเขียนบท ฉันมีแนวความคิดของตัวเอง ฉันต้องจัดเรียงบทสนทนา ภาพยนตร์แนวฟิกชั่นคือหนังของฉัน แต่เมื่อฉันทำหนังสารคดี ฉันมีหน้าที่ต้องรับใช้ผู้คน ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้น”
ยิ่งกว่านั้น วาร์ดายังถือเป็นคนทำหนังเพศหญิงรุ่นบุกเบิก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่สตรีรุ่นหลังๆ โดยเมื่อครั้งที่เริ่มสร้างสรรรค์ผลงานภาพยนตร์ เธอประมาณการว่าในประเทศฝรั่งเศส มีคนทำหนังผู้หญิงอยู่เพียงสามคนเท่านั้น อย่างไรก็ดี จุดตั้งต้นในการทำหนังของวาร์ดาไม่ได้อยู่ที่เรื่องเพศสภาพเสียทีเดียว
“ตอนเริ่มทำหนัง จุดที่ฉันสนใจไม่ใช่เรื่องความเป็นผู้หญิง แต่เพราะฉันต้องการทำหนังที่มีลักษณะถึงรากถึงโคน ทว่า ปัจจุบัน ผู้กำกับภาพยนตร์จำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ในฝรั่งเศส คือ ผู้หญิง เรามีผู้กำกับหนังและผู้กำกับภาพที่เป็นสตรีในจำนวนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ฉันขอบอกว่าที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ก็เพราะพวกเราพยายามผลักดันแนวคิดที่ว่า พวกเธอสามารถทำหนังได้ มันไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าพวกเธอไม่มีศักยภาพในการทำงานประเภทนี้ ผู้หญิงสามารถทำงานทุกส่วนในกระบวนการสร้างภาพยนตร์ เพราะพวกเธอมีความฉลาดและเข้มแข็ง” วาร์ดา กล่าว
ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของวาร์ดา คือ “Faces Places” ซึ่งเธอกำกับร่วมกับ “เจอาร์” ศิลปินหนุ่มแนวสตรีทวัย 34 ปี
ในหนังเรื่องนี้ คู่หูต่างเพศ ต่างวัย ต่างแนวทางการทำงานสองคน ออกเดินทางไปยังย่านชนบทของประเทศฝรั่งเศส เพื่อพบปะกับผู้คนธรรมดาสามัญจำนวนมาก แล้วรับฟังเรื่องเล่าของพวกเขา ก่อนจะทำการถ่ายภาพพอร์เทรทขนาดใหญ่ของคนเหล่านั้น เพื่อนำไปแปะติดตามอาคารสถานที่ต่างๆ
“เราพยายามที่จะแจ่มใส โลกใบนี้มันช่างสับสนวุ่นวาย เราตัดสินใจที่จะไม่พูดถึงความอลหม่านดังกล่าวไปมากกว่านี้” วาร์ดาพูดถึงคอนเซ็ปท์รวมๆ ของหนังเรื่องล่าสุด และว่า “บางทีเราก็ร่าเริง บางครั้งเราชอบที่จะยิ้มแย้ม บางคราว เราก็รักผู้คนทั้งหลายเหลือเกิน และเราก็อยากให้พวกคุณรักพวกเขาเช่นเดียวกัน”
รวมคมคิดของวาร์ดา
“ฉันไม่อยากถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับคนที่มีอำนาจ แต่ฉันสนใจในบรรดาขบถ หรือผู้คนที่พยายามต่อสู้เพื่อชีวิตของพวกเขาเองมากกว่า”
“ฉันไม่เคยทำหนังที่เล่าเรื่องราวของชนชั้นกระฎุมพี ฉันปรารถนาที่จะอุทิศตนให้แก่การเล่าเรื่องราวของกรรมกรท่าเรือ, ชาวประมง, คนไร้บ้าน, ชนชั้นแรงงาน หรือผู้คนที่เข้าไม่ถึงอำนาจ นอกจากนี้ ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ฉันพยายามจะบอกกับผู้หญิงคนอื่นๆ ว่า ได้โปรดออกมาจากห้องครัว แล้วมาสร้างเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมกันเถอะ”
“มันเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดว่า ‘อานเญส เราขอมอบรางวัลให้คุณ’ แต่พอฉันย้อนถามไปว่า ‘แล้วเงินทำหนังล่ะอยู่ที่ไหน?’ ก็ไม่มีคำตอบใดๆ หวนกลับมา ที่บ้านฉันมีสิงสาราสัตว์อยู่เต็มไปหมด ทั้งเสือดาว, หมี, หมา และสิงโต จากแทบทุกประเทศในทวีปยุโรป ฉันขอบคุณมากๆ นะ ที่ให้รางวัลเหล่านี้มา แต่ทำไมพวกคุณไม่ให้เงินทุนมาสนับสนุนการทำหนังเรื่องต่อไปของฉันล่ะ”
“(คำถาม – คุณเคยเป็นช่างภาพก่อนมาเป็นคนทำหนัง อยากทราบว่าคุณคิดอย่างไรกับคนรุ่น ‘อินสตาแกรม เจเนอเรชั่น’?)
“รูปภาพต่างๆ ได้ถูกทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและถูกลดมูลค่าลงไป นี่คือผลลัพธ์ของพัฒนาการทางสังคม เมื่อตอนฉันเป็นสาวๆ ฉันชื่นชอบงานจิตรกรรม ฉันเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์สองครั้งต่อสัปดาห์ แล้วก็พบว่ามันเป็นสถานที่อันร้างไร้ผู้คนอยู่เสมอ ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน ที่นิทรรศการแสดงผลงานของโกยาและปิกัสโซถือเป็นกิจกรรมการออกสังคมในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะฉันพยายามที่จะมองความเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกใบนี้ ในแง่มุมที่เป็นบวก ฉันเห็นด้วยกับสิ่งที่อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยระบุเอาไว้ทำนองว่า เมื่อคุณกำลังพินิจพิเคราะห์โลก คุณต้องมองมันในแง่ร้าย แต่หากคุณกลายสภาพมาเป็นคนลงมือปฏิบัติงาน คุณก็จำเป็นต้องมองอะไรในแง่ดีเข้าไว้”
ที่มาเนื้อหา
http://variety.com/2017/film/awards/agnes-varda-faces-places-governors-awards-2017-1202606838/
ที่มาภาพประกอบ
เพจเฟซบุ๊ก Agnès Varda Officiel
https://www.instagram.com/agnes.varda