1.
เป็นการดูรอบสองที่โรงหนังศรีศาลายา หลังจากเคยดูเมื่อครั้งที่หนังเวอร์ชั่นนี้เข้าฉาย ณ House RCA เมื่อหลายปีก่อนโน้น
การฉายที่ศรีศาลายาเหมือนจะมีปัญหาเรื่องระบบเสียงหน่อยนึง เวลาตัวละครที่รับบทโดย “นิรุตติ์ ศิริจรรยา” พูด (ประโยครูปแปลกๆ ด้วยเสียงที่อยู่ในลำคอ) จึงค่อนข้างฟังลำบากอยู่พอสมควร
2.
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าตัดปัญหาเรื่องเสียงออกไป ผู้ชมยังสัมผัสได้ถึง “พลังเต็มเปี่ยม” ของหนังเรื่องนี้
ต้องยอมรับว่า “ทวิภพฉบับสุรพงษ์” นั้น เป็นหนังไทยที่ “ทะเยอทะยาน” จริงๆ
ทั้งในแง่การกล้าลงทุนสร้างหนังแบบนี้ (แต่ผลตอบรับกลับสวนทางกับทุนสร้างแบบสุดๆ) ซึ่งถ้ามองจากยุคปัจจุบัน คงไม่มีใครกล้าทุ่มทุนให้หนังพีเรียด อลังการงานสร้าง และมีประเด็นเคร่งเครียดจริงจัง ในทำนองนี้อีกแล้ว
(ยุคนั้น ส่วนหนึ่ง ผู้สร้างอาจยังอยากลองเสี่ยงเพื่อต่อยอดความสำเร็จจาก “บางระจัน” และร่วมวิ่งไปบนลู่ใกล้ๆ กับ “สุริโยไท”)
อีกส่วนหนึ่งซึ่งต้องยอมรับว่าเป็น “จุดยิ่งใหญ่” มากๆ ของหนังเรื่องนี้ คือ การกล้าหาญนำเสนอ “ภาพแทน” ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี คือ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมถึงพระปิ่นเกล้า
3.
เอาเข้าจริง ทวิภพฉบับนี้ (และเวอร์ชั่นนี้) มันแทบไม่ใช่หนัง Fiction เลยด้วยซ้ำ แต่มีลักษณะค่อนไปทาง Essay Film มากกว่า
ถ้าใครคาดหวัง “ดราม่า” คาดหวัง “การเร้าอารมณ์” จากมัน เลยอาจไม่ได้รับสิ่งเหล่านั้นกลับบ้านไป
หนังไม่มี “นักแสดง” ที่สวมบทบาทได้ดีหรือน่าประทับใจเป็นพิเศษ (แต่พวกเขาจะน่าจดจำเป็นช็อตๆ ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของ Mise-en-scène มากกว่า)
นักแสดงทุกคนจึง “พูด/แสดง” ในสิ่งที่คนทำ (ผู้กำกับและคนเขียนบท) ต้องการจะพูดหรือโชว์ข้อมูลที่พวกตนได้ศึกษาค้นคว้ามาและเชื่อถือ
อีกแง่หนึ่ง นักแสดงใน “ทวิภพฉบับสุรพงษ์” ย่อมถือเป็น “ร่างทรงแทบจะสำเร็จรูป” ของคนทำ
สภาวะเช่นนี้นำไปสู่ทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อไม่ดี”
แน่นอน ผมยังคง “ยี้” บทพูดและการแสดงที่จงใจเสียดสีเรื่อง “คนไทยยุคหลังอ่านหนังสือปีละ 6 บรรทัด”
นอกจากนี้ มันจะมีบทพูดบางส่วนที่ฟังดู “ตลก” ไม่ค่อยเป็นภาษาคน เช่น ตอนที่ตัวละครพูดถึง “โอกาส” ที่จะฆ่าหรือไม่ฆ่ากงสุลโอบาเรต์ หรือตอนมณีจันทร์เพิ่งกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วนอนงัวเงียบนรถ
แต่ขณะเดียวกัน ผมกลับชอบลักษณะการพูดจาแปลกๆ ของบรรดาตัวละครในหนังอยู่ไม่น้อย เราจะเห็นได้ว่าในหลายจังหวะ ตัวละครจะชอบพูดจาซ้ำไปซ้ำมา ย้ำทวนประโยคเดิม 2-3 หน เหมือนคนมีอาการย้ำคิดย้ำทำ
พอกลับมาดูหนังรอบล่าสุด ผมดันสนุกและขำๆ กับจังหวะการพูดแบบนี้ (ข้อนี้ไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้ว นี่เป็นลักษณะการพูดในชีวิตปกติของคนทำด้วยมั้ย?)
4.
ข้อหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตัวเอง “พลาด” คือ ผมจำไม่ได้ว่า “ทวิภพฉบับสุรพงษ์ เวอร์ชั่นฉายโรงปกติ” กับ “หนังฉบับ Director’s cut” นั้น มีท่าทีแตกต่างกันต่ออุปมาว่าด้วย “ประวัติศาสตร์กับสายน้ำ”
ผมเป็นคนหนึ่งที่รำคาญไอ้ประโยคเก่งของขุนอัครเทพวรากร ที่ว่า “ข้าเกิดที่แม่น้ำสายนี้ และข้าก็จะขอตายที่แม่น้ำสายนี้” มากๆ และนำไปล้อเลียนตามที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ ด้วยความรู้สึกซึ่งอิงมาจากความคิดที่ว่า
แหมยังกะมึงสามารถเอาเท้าเหยียบลงไปบนแม่น้ำสายเดิมได้ถึงสองครั้งอย่างงั้นนี่
แต่ตอนดูหนังฉบับ Director’s cut หนแรก ผมจำแทบไม่ได้เลยว่าตัวละครในหนังที่มีปัญหาและตั้งคำถามจริงจังกับวรรคทองอันนี้ คือ มณีจันทร์
จนมาดูอีกครั้งที่ศรีศาลายา ผมจึงพบว่า เออ! เมนี่เธอเถียงเรื่องนี้ไว้ดีมากๆ ในทำนองว่า
สรุปแล้ว คนอย่างฉันควรจะอยู่ตรงไหนของสายน้ำกันวะ?
หรือเมื่อสายน้ำมันล่องไหลไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วมนุษย์เราควรจะยืนหยัดอยู่ตรงอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต?
ข้อถกเถียงนี้จะเชื่อมโยงถึงประเด็นถัดไปด้วย
5.
ผมเพิ่งมาตระหนักชัดๆ ว่า ทวิภพฉบับที่ตัดโดยสุรพงษ์เอง นำเสนอการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสยามกับลัทธิล่าอาณานิคม ผ่านมุมมองสามแบบ (ผ่านชายสามคนที่หลงรักมณีจันทร์)
ขุนอัครเทพฯ จะออกแนวขวาทื่อๆ เกลียดฝรั่งชัดเจนสุด (แต่ไม่ถึงกับปฏิเสธฝรั่งในระดับ 100%) สลับซับซ้อนน้อยที่สุด รักษาจิตวิญญาณของนิยายไว้มากที่สุด (เผลอๆ จะเป็น “สายเหยี่ยว” กว่าพระเอกในนิยายด้วยซ้ำ) และแน่นอน มันต้องเป็นพระเอก 555
ฟรองซัวส์ ซาเวียร์ ควรจะเป็นคนที่มองสยามหรือเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์เกี่ยวกับสังคมสยามจากสายตาเจ้าอาณานิคมมากที่สุด แต่หนังก็ทำให้ตัวละครรายนี้มีภูมิหลังซับซ้อนกว่านั้น คือ กำหนดสร้างให้เขามีสายเลือดสยามอยู่ในตัวด้วย (สืบทอดจากบรรพบุรุษในสมัยสมเด็จพระนารายณ์) เขาจึงไม่มีอาการเหยียดสยามว่าเป็นสังคมที่ไม่ศิวิไลซ์หรือป่าเถื่อน ไม่ได้มองสยามด้วยสายตาเจ้าอาณานิคม แต่มองโลกผ่านสายตาที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม โดยเห็นว่าคนในทุกสังคมนั้นเท่ากัน และต่างมีอารยธรรมด้วยกันหมดทิ้งสิ้น
จริงๆ ผมมีปัญหากับการเพิ่มภูมิหลังให้ซาเวียร์อยู่นิดๆ กล่าวคือ ทำไมฝรั่งในยุคอาณานิคมจะมองโลก (เอเชีย/ตะวันออก) ด้วยสายตาที่แอนตี้ลัทธิล่าอาณานิคมไม่ได้? ทำไมฝรั่งยุคโน้นจะมองโลกแบบทวนกระแสจากกระแสความคิดหลักของสังคมตนเองไม่ได้?
แต่เรา (คนสยาม/คนไทย) ต้องประกอบสร้างให้ฝรั่งคนนั้นมันมี “ความเป็นไทยทางสายเลือด” ซะก่อน มุมมองของมันถึงจะเปลี่ยนไป
ซึ่งการใส่สายเลือด/คุณลักษณะทางชีววิทยาเข้าไปในตัวซาเวียร์ เพื่อเขาจะได้มองเห็นสยามว่าเป็นสังคมที่เท่าเทียมกับ “ตะวันตก” ก็คือ วิธีคิดแบบเจ้าอาณานิคม/มานุษยวิทยายุคแรกเริ่มในมุมกลับนั่นเอง
ตัวละครที่เจ๋งสุด (และเอาเข้าจริง ผมหมั่นไส้มากที่สุด) คือ หลวงราชไมตรี หมอนี่แหละคือคนที่มองสังคมสยามด้วยสายตาแบบ “เจ้าอาณานิคมภายใน” คือ มอง/เหยียดว่าพวกชาวบ้านเอาแต่เล่นสนุก ไม่แอคทีฟ ไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามจากภายนอก ไม่แสวงหาความรู้ (มีแต่ชนชั้นนำอย่างพวกข้าฯ เท่านั้น ที่ทำงานหนักในการพยายามทัดทาน “อำนาจตะวันตก”)
ที่สำคัญ ผมยังรู้สึกว่าถ้าหลวงราชไมตรี พี่แกวิจารณ์ชาวบ้านสยามในยุคร่วมสมัยกับตนอย่างหนักหน่วงถึงเพียงนี้ แล้วเขาและมิตรสหายจะตกอกตกใจกึ่งประณามเรื่องที่อนุชนรุ่นหลังอ่านหนังสือน้อยกันทำไมวะ? 555
ไปๆ มาๆ ชนชั้นนำสยามที่มีความรู้ทันสมัย บุคลิกแลดูเป็น “สายพิราบ” อย่างหลวงราชไมตรี จึงมีความเป็นเจ้าอาณานิคมยิ่งกว่าฝรั่งอย่างฟรองซัวส์ ซาเวียร์ เสียอีก
ผมรู้สึกว่า “ทวิภพฉบับ Director’s cut ของสุรพงษ์” นั้นแบ่ง/ซอย/ซ้อนเลเยอร์สามชั้นตรงส่วนนี้ ผ่านตัวละครหลักสามคน ได้เคลียร์และเจ๋งดี
(ในเวอร์ชั่นปกติ บทพูดวิเคราะห์ชาวบ้านในสังคมสยามโดยหลวงราชไมตรีจะหายไป เช่นเดียวกับ มุมมองที่มีต่อสยามแบบละเอียดๆ และภูมิหลังชีวิตของฟรองซัวส์ ซาเวียร์)
ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับความลังเลใจของมณีจันทร์ที่มีต่ออุปมาว่าด้วย “ประวัติศาสตร์และสายน้ำ”
เพราะการจะเลือกผู้ชายคนไหน ก็คือการเลือกว่าตนเองจะยืนอยู่ตรงจุดใดของประวัติศาสตร์/สายน้ำ หรือเลือกว่าตนเองจะเผชิญหน้ากับ “มหาอำนาจต่างชาติ” อย่างไรนั่นเอง
น่าเสียดาย ที่นักเรียนนอก บุคลิกเหมือนจะเป็นฝรั่ง อย่างเมนี่ ดันเลือก “ขุนอัครเทพฯ”
6.
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทวิภพฉบับนี้เป็น “หนังโปรชนชั้นนำ” หรือ “งานเอียงขวาด้วยท่าทีปัญญาชน”
แม้จะเห็นได้ชัดว่าหนังสร้างทางเลือกให้แก่ตัวเองเอาไว้เยอะแยะหลากหลาย
คือ หนังจะไปทาง/ถกเถียงกับ “ธงชัย วินิจจะกูล” ก็ได้ จะไปทาง/ถกเถียงกับ “งานสายหลังอาณานิคม” ก็ได้
แต่ท้ายสุด คนทำเขาก็ยังพอใจกับการแสดงตนออกมาด้วยท่าทีในราวๆ “ไกรฤกษ์ นานา”
ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด
นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า “ทวิภพฉบับสุรพงษ์” คือ หนังไทยเรื่องสำคัญ
โอเค ว่านี่เป็นหนังที่มีจุดน่าวิพากษ์มากมาย
แต่ก็เพราะคนทำหนังเรื่องนี้มีลูกบ้า ลูกทะเยอทะยานมากๆ ไง เราถึงสามารถวิพากษ์งานของเขาได้อย่างเมามัน 555