หนึ่ง
จำได้ว่าเคยดู Insects in the Backyard ครั้งแรก ในเทศกาลใดเทศกาลหนึ่ง ก่อนที่หนังจะโดนแบน แล้วจากนั้น ก็ไปสนใจเรื่องกระบวนการต่อสู้เพื่อให้หนังเรื่องนี้ได้กลับมาฉาย โดยค่อยๆ ลืมเลือนเรื่องราว จุดเด่น จุดด้อยของตัวหนังไปทีละน้อยๆ กระทั่งจำอะไรแทบไม่ได้เลยในอีก 7 ปีต่อมา
สอง
พอมาดูอีกครั้ง จึงพบว่าหนังมีอะไรหลายอย่างน่าสนใจดี
ข้อแรกเลย คือ พบว่าหนังมี “ความสดดิบ” ที่มาพร้อมกับการ (เพิ่งจะ) ขยับขยายขอบเขตการทำงาน ณ ตอนนั้น ของคนทำ จาก “หนังสั้น” มาสู่ “หนังยาว (อินดี้)”
นี่ทำให้คนดูได้ย้อนไปเห็นถึงข้อจำกัดบางอย่างในขั้นตอนการผลิต ทั้งเรื่องคุณภาพของงานโปรดักชั่น (ภาพ-เสียง) ภาษาภาพสไตล์หนังสั้นเมื่อทศวรรษที่แล้ว ซึ่งใน พ.ศ.นี้ อาจดูเชย (หรือไม่มีเด็กฟิล์มคนไหนตัดหนัง-ถ่ายหนังแบบนี้กันอีกแล้ว) หรือเรื่องการแสดงที่ดูแปลกๆ แปร่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ อยู่ไม่น้อย
สาม
อย่างไรก็ตาม Insects in the Backyard นั้นมีโครงเรื่องที่น่าสนใจมากๆ
หนังเริ่มต้นขึ้นมาด้วยภาวะสับสนพร่าเลือนระหว่าง “กาละ” (เวลา) และ “เทศะ” (พื้นที่) ซึ่งปรากฏผ่านการเดินทาง (ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม) ของตัวละครหลักสามคน
พร้อมๆ กับฉายให้เห็นภาวะซ้ำซากจำเจที่แสดงผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาพปัญหาส่วนบุคคล และความคิดฝันของกลุ่มตัวละครข้างต้น
ก่อนที่หนังจะค่อยๆ นวดและขมวดปมให้พวกเขาและเธอที่ร่อนเร่พเนจรไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในชีวิตที่ผิดแผกแตกต่างกัน ได้กลับมาพบเจอ “จุดร่วม” อะไรบางอย่าง พร้อมๆ กันอีกครั้งหนึ่ง
แต่ใช่ว่าชีวิตของตัวละครทั้งสามจะหวนกลับมาบรรจบกันได้อีกหน
สี่
อีกจุดที่ควรพูดถึง คือ หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในปี 2553 (แถมมีเกร็ดว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปีนั้น โผล่มาให้เห็นนิดๆ หน่อยๆ) และน่าจะเป็นหนังไทยในทศวรรษ 2550 เรื่องแรกๆ/กลุ่มแรกๆ ที่แสดงอาการกระวนกระวายใจเกี่ยวกับ “ปัญหาสายสัมพันธ์ในครอบครัว” ของกลุ่มตัวละครหลักออกมา
ในกรณีของหนังเรื่องนี้ คือ “ธัญญ่า” ไม่สามารถทำหน้าที่ “พ่อ” เหมือนที่ลูกๆ และบรรทัดฐานทางสังคมคาดหวัง แต่สถานะของเธอต้องเลื่อนไถลไปเป็น “พี่สาวคนโต” ของลูกสาวลูกชายแทน
ส่วน “เจนนี่” กับ “จอห์นนี่” ก็หลุดลอยออกไปไกลมากๆ จากการเป็น “ลูก” หรือ “สมาชิกที่ดีของครอบครัว”
ไปๆ มาๆ ผู้ชายของเจนนี่ก็เคยเป็นผู้ชายของธัญญ่ามาก่อน ขณะเดียวกัน ธัญญ่าก็กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องขจัดทิ้ง ในความฝันหรือจิตใต้สำนึกของจอห์นนี่
ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่วัยรุ่นทั้งสองคนทำ (มาหาเลี้ยงชีพ) ยังถือเป็นปฏิปักษ์ต่อ “สถาบันครอบครัว” หรือ “สถาบันการแต่งงาน” เลยด้วยซ้ำ
ขณะที่ “ซาร่า” ผู้เป็นแม่ ก็ไม่มีชีวิตอยู่บนโลกซะอีก แม้เธอจะกลับมาทำหน้าที่ “ศูนย์รวมจิตใจ” ของทุกคนในช่วงท้าย แต่มันก็เป็นอะไรที่คล้ายจะผิดฝาผิดตัวผิดที่ผิดทาง ลอยล่องบางเบา และไม่สามารถสมานจิตใจของทุกคนให้กลับมารวมเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง
ปัญหาดังกล่าวสวนทางสิ้นเชิงกับภาพฝันทั้งหลายหรือสิ่งต่างๆ ที่ธัญญาพยายามจะทำให้เป็นจริงใน “บ้านของเธอ”
บ้านที่สวยงาม เลิศหรู เหมือนจะตามรอยครอบครัวของคนชั้นสูง/คนชั้นกลางระดับสูง (ในจินตนาการ) แต่ก็แลดูน่าตลก โดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่จริงไปพร้อมๆ กัน
ถ้าไปย้อนดูหนังไทยในทศวรรษ 2550 เราจะพบว่ามีผลงาน (โดยเฉพาะหลังจาก Insects) อีกเป็นจำนวนมาก ที่แสดงอาการกระวนกระวายลักษณะเดียวกันออกมา
นั่นอาจเป็นชุดนิทานเปรียบเทียบที่บ่งชี้ถึงอารมณ์ความรู้สึกร่วมอันไม่มั่นคง/อ่อนไหวของสังคมไทย (หรืออย่างน้อยก็คนชั้นกลางในสังคมไทย) ณ ห้วงเวลานั้น
ห้า
พอได้มาดู Insects in the Backyard ในปีนี้ จึงพบว่ามีมรดกบางอย่างจากหนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ คือ “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ที่ตกทอดมาถึงหนังยาวเรื่องหลังๆ ของเธอ (อย่างน้อยก็ “It gets better ไม่ได้ขอให้มารัก” และ “ปั๊มน้ำมัน”)
จนอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ (แม้จะไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก) ว่า ถ้าสมมุติหนังเรื่องนี้ไม่ได้เข้าฉาย แล้วผู้กำกับเกิดตัดสินใจรีเมกมันใหม่ซะเลย ก็น่าเชื่อว่าด้วยประสบการณ์การทำหนังที่มีมากขึ้น เทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น หนังเวอร์ชั่นใหม่อาจกลายเป็นหนังในระดับดีมากๆ เพราะมีตัวเรื่องที่แข็งแรงรองรับอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี Insects in the Backyard (2553) ที่ได้เข้าฉายในปี 2560 ก็ถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการต่อสู้อันยาวนานในทางข้อกฎหมาย
รวมทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นถึงพัฒนาการหรือวิถีเคลื่อนตัวของวงการหนังอิสระไทย ตลอดจนสังคมไทยโดยรวม ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา