“ลิฟท์แดง” : หนังว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไปไกลกว่าเรื่องความรุนแรง

(ที่มา นิตยสารไบโอสโคป เมื่อหลายปีก่อน)

“ลิฟท์แดง” หนังสั้นตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “มหา’ลัยสยองขวัญ” ส่งผลให้ผู้กำกับคู่อย่าง บรรจง สินธนมงคลกุล และ สุทธิพร ทับทิม ได้รับรางวัลหน้าใหม่น่าจับตาประจำปี 2552 จากนิตยสารไบโอสโคปไปครอบครอง

หนังสั้นตอนนี้ไม่ได้มีความน่าสนใจอยู่ตรงการได้รับรางวัลดังกล่าวเพียงเท่านั้น แต่ประเด็นที่หนังนำเสนอก็มีความโดดเด่น จนอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นหนังไทยว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีประเด็นผิดแผกแต่น่าสนใจเป็นที่สุด

ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ มีหนังไทยที่มีเนื้อหาหรือท้องเรื่องอ้างอิงอยู่กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘โคลิค เด็กเห็นผี’ (พ.ศ.2549) และ ‘เชือดก่อนชิม’ (พ.ศ.2552) หรืออาจนับรวมถึง ‘อย่าลืมฉัน’ หนังสั้นรางวัลรัตน์ เปสตันยี ประจำปี 2546 ของ มานัสศักดิ์ ดอกไม้ ด้วยก็ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะหนังยาวแนวผี/สยองขวัญ หรือหนังสั้นการเมืองที่มีชั้นเชิงการเสียดสีอันคมคาย ล้วนพูด/อ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยพยายามขับเน้นไปที่เหตุการณ์ความรุนแรงนองเลือดทั้งสิ้น (ทั้งที่เป็นภาพของเหตุการณ์สังหารหมู่อันโหดเหี้ยมซึ่งเกิดขึ้นจริง, ภาพจำลองของเหตุการณ์ดังกล่าว และภาพจินตนาการในเชิงอุปลักษณ์เปรียบเทียบ)

แม้มิอาจปฏิเสธได้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้มีความกล้าหาญและคงช่วยกระตุ้นให้คนดูหันมาใส่ใจกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง เราก็อาจจะได้พบกับคำถามบางประการที่ถูกโยนย้อนกลับมายังหนังกลุ่มนี้เช่นกัน

นักมานุษยวิทยาอย่าง ยุกติ มุกดาวิจิตร เคยตั้งคำถามชวนฉุกคิดไว้ในบทความ “’6 ตุลา’ สัญลักษณ์ของความรุนแรง ความรุนแรงของสัญลักษณ์” ในรัฐศาสตร์สาร ปีที่ 19 ฉบับที่ 3 (2539) ซึ่งรวบรวมบทความจากงานสัมมนาวิชาการความรุนแรงในสังคมไทย ‘รำลึก 20 ปี 6 ตุลา’ ว่า หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ของขบวนการนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาฯ นั้น ก็พยายามนำเสนออย่างขับเน้นถึงภาพความรุนแรงน่าสะเทือนใจที่นักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งอาจถือเป็นการแสดงภาพประวัติศาสตร์ออกมาในรูปของการต่อสู้ที่รุนแรงและมีนัยยะทาง ‘ทหารนิยม’ ไม่ต่างอะไรกันกับลักษณะความรุนแรงที่ถูกนำเสนอในแบบเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ยุกติเสนอว่า หากพิจารณาในแง่นี้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์กรณี 6 ตุลาฯ ของขบวนการนักศึกษาจึงใช้อารมณ์ไม่น้อยกว่าเหตุผล ใช้ความรุนแรงในลักษณะหนึ่งพอๆ กับปฏิเสธความรุนแรง และมีตรรกะบางอย่างคล้ายๆ ชาตินิยมโดยรัฐ แม้การพยายามนำเสนอความรุนแรงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับนี้อาจกำลังสะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างอยู่ก็ตาม

คำถามของยุกติอาจเป็นคำถามที่หนังไทยซึ่งนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หลายต่อเรื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่สามารถมอบคำตอบให้ได้เช่นกัน (ยกเว้นในกรณีของ ‘ฟ้าใส ใจชื่นบาน’ ที่นำเรื่อง 6 ตุลาฯ มายำเล่นอย่างสนุกสนานจนเฮฮาไร้สาระไปเลย ทว่าหนังเรื่องนั้นก็มีนัยยะแห่งความรุนแรงซ่อนแฝงอยู่ไม่น้อย)

แต่สำหรับ ‘ลิฟท์แดง’ แล้ว หนังสั้นตอนนี้กลับไม่ได้พูดถึงเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผ่านการกระหน่ำภาพความรุนแรงเข้าใส่คนดู ทว่าเนื้อหาของหนังกลับพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ดูเหมือนจะไปไกลกว่าการมุ่งขับเน้นไปที่เหตุการณ์นองเลือดอันน่าหวาดกลัวและเศร้าสะเทือนใจ

ลิฟท์แดงตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า หาก ‘หลานสาว’ ของ ‘ฆาตกรตัวจริง’ ผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วต้องมาเจอกับ ‘ผี’ นักศึกษาที่ถูกฆ่าในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เรื่องราวดังกล่าวจะคลี่คลายไปในลักษณะเช่นไร

ในหนังสั้นแนวสยองขวัญเรื่องนี้ ผีนักศึกษาผู้ชายรุ่นพี่ได้คอยเดินติดตาม ‘หลานสาวของฆาตกรตัวจริง’ ไปในแทบทุกหนแห่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ขณะเดียวกัน นางเอกของเรื่องก็ยังต้องถูกนักศึกษารุ่นพี่คนหนึ่งคอยติดตามทวงถามความรับผิดชอบจาก ‘ปู่’ ของเธอด้วยอารมณ์อันดุเดือดรุนแรง (ไม่แตกต่างอะไรจากลักษณะของประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับขบวนการนักศึกษาที่ถูกยุกติตั้งคำถาม/วิพากษ์)

นางเอกของ ‘ลิฟท์แดง’ พยายามยืนกรานตอบโต้รุ่นพี่กลับไปอย่างรุนแรงเช่นกันว่า ปู่ของเธอไม่ได้กระทำความผิด, เรื่องในอดีตเป็นเพียงเรื่องของความแตกต่างทางอุดมการณ์ เรื่อยไปจนถึงการตั้งคำถามว่า นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นทำทุกอย่างถูกต้องทั้งหมดจริงหรือ

แล้วอารมณ์ของหนังก็ผันเปลี่ยนแปร เมื่อเธอมีโอกาสเข้าไปในลิฟท์แดง

ฉากที่หลายคนอาจคาดหวังกันว่าจะมีเหตุการณ์สุดสยองขวัญเกิดขึ้นภายในลิฟท์แดงนั้น กลับไม่ได้มีความรุนแรงโชกเลือดเกิดขึ้นมากนัก และมันอาจมีความรุนแรงน้อยกว่าการปะทะคารมระหว่างนางเอกกับรุ่นพี่นักศึกษาภายนอกลิฟท์ด้วยซ้ำไป

แต่สิ่งที่ ‘หลานสาวของฆาตกรตัวจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ ได้ประจักษ์ในลิฟท์ผีสิงก็คือ อารมณ์ความรู้สึกของนักศึกษาที่ต้องพลัดพรากตายจากกันไปในเหตุการณ์การสังหารหมู่ทางการเมืองอันโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เพราะแท้จริงแล้ว ผีนักศึกษาผู้ชายรุ่นพี่ที่คอยติดตามเธอไปแทบทุกหนแห่งในมหาวิทยาลัยนั้น ก็คือดวงวิญญาณที่ยังเฝ้ารอคอยผีนักศึกษาหญิงคนรักของตนเองที่ถูกสังหารอยู่ภายในลิฟท์แดง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เช่นกัน

ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ใน ‘ลิฟท์แดง’ จึงอาจเป็นเรื่องราวของความรู้สึกแห่งการพลัดพรากสูญเสียมากยิ่งกว่าเรื่องความรุนแรงนองเลือด

สิ่งที่ ‘หลานสาวของฆาตกรตัวจริงในกรณี 6 ตุลาฯ’ ต้องร่วมรับผิดชอบ (แม้ว่าเธออาจจะเกิดไม่ทันและไม่รู้เรื่องที่ปู่ของตนเองกระทำ) ก็คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมทำความเข้าใจถึงความรู้สึกพลัดพรากสูญเสีย และการพยายามหาหนทางให้วิญญาณ 2 ดวงที่พลัดพรากจากกันในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการตอกย้ำภาพความโหดร้ายรุนแรงในอดีตทั้งจากมุมมองของฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในหนังสั้นสยองขวัญเรื่องนี้ จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การตอกย้ำความรุนแรง แต่เป็นการพยายามนำพาตัวละครผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฆาตกรตัวจริง (รวมทั้งผู้ดูหนัง ที่ปู่ย่าตายาย, พ่อแม่ ตลอดจนลุงป้าน้าอาของหลายๆ คน ก็อาจเคยสนับสนุนการก่อความรุนแรงเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมมาแล้ว) ไปทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้ได้รับผล กระทบจากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว ด้วยเรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องมีการผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์อันโชกเลือดอย่างมากมายแต่อย่างใด

เพียงแค่นี้ก็เป็นเหตุผลมากเพียงพอแล้วที่จะบ่งชี้ถึงคุณค่าของ ‘ลิฟท์แดง’

โดยไม่จำเป็นต้องมีภาพทหารยิงนักศึกษา (ในเหตุการณ์จริงคือ กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ปฏิบัติการลงมือยิง) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีมติให้ตัดฉากดังกล่าวออกไป รวมทั้งภาพ ‘หลานสาวฆาตกรตัวจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนจนเสียชีวิตโดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง (ซึ่งในด้านหนึ่งก็อาจมีความสำคัญเพราะเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้นางเอกสามารถสานต่อภารกิจของตนเองจนเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันการที่เธอได้กลายเป็น ‘ผี’ จนมีสถานะไม่แตกต่างจากผีนักศึกษารุ่นพี่ ก็ส่งผลให้ ‘การให้อภัย’ ระหว่างผู้ถูกกระทำและฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำมีความเป็นไปได้มากขึ้น) ถูกนำมาเรียงร้อยใส่ในภาพยนตร์แต่อย่างใด

เนื่องเพราะปัจจัยเหล่านั้นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญสูงสุดของหนังสั้นสยองขวัญที่น่าชมเชยเรื่องนี้

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.