บันทึกถึง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2”

(เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์)

หนึ่ง

ขอเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่ค่อยชอบก่อน

ประการแรก รู้สึกว่าโครงสร้างเรื่องราวในภาคนี้มันคมชัดเป็นระบบน้อยลง

เมื่อกรอบโครงความคิดที่เคยแข็งแกร่งของหนังคล้ายจะอ่อนแอลงหรือไม่ถูกเน้นย้ำ

การถ่ายทอดภาพรวมหรือภาพแทนของหมู่บ้าน/ชุมชน/สังคมอีสานร่วมสมัยในมุมมองเชิงวิพากษ์ ซึ่งโดดเด่นมากๆ ในสองภาคแรก จึงเลือนรางลงไปด้วย

ประการต่อมา เห็นด้วยว่านี่คือหนังภาค “2.2” ไม่ใช่ “3” เพราะหนังใช้เวลามากพอสมควรในการเล่าเรื่องราวที่ย้อนกลับหรือทับซ้อนคาบเกี่ยวกับหลายเหตุการณ์ในภาค “2.1”

โดยส่วนตัวแอบรู้สึกว่าการออกสตาร์ทประเด็นใหม่ๆ ของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” นั้นเริ่มต้นช้าไปนิด

สอง

เมื่อ “ไทบ้านฯ 2.2” ไม่เน้นโครงสร้างหรือภาพกว้าง นี่จึงเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวผ่านการลงรายละเอียดชีวิตของบรรดาตัวละครหลักๆ ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคล/กลุ่มคนรายย่อยๆ

เรื่องราวของบางคน/บางกลุ่มเข้มข้นดี แต่เรื่องราวของบางคน/บางกลุ่มก็จมหายไปจนน่าเสียดาย

คู่ที่ผมค่อนข้างผิดหวังและรู้สึกว่ามีมิติน้อยลง คือ “เฮิร์บกับเจ๊สวย”

เฮิร์บ

ในภาค 2.1 เหมือนเฮิร์บจะเก็บงำปัญหาลึกลับบางอย่างอยู่ในใจ แต่ภาคนี้หนังกลับไม่เฉลยหรือกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติม หนังใส่ประเด็นความเข้าใจผิด/โลกทัศน์ที่แตกต่างระหว่างเขยฝรั่งกับสาวหมวยอีสานเข้ามา ทว่าก็ทำให้มันจางหายลงไปแบบง่ายๆ (อย่างไรก็สาม ฉากล่างูสิงไปฝากเมียนั้นดีมากๆ) พร้อมลงเอยอย่างค่อนข้างแฮปปี้ด้วยการคลอดลูก

เอาเข้าจริง เรื่องราวว่าด้วย “สามสหายขี้เมา” ไม่มีงานการทำหน้าร้านเจ๊สวยกับคนบ้าอย่าง “โรเบิร์ต” ยังมีมิติ มีอารมณ์ดราม่า และมีปมปัญหาเรื่องความรู้สึกผิดบาป ที่เข้มข้น-น่าสนใจกว่าคู่ “เฮิร์บและเจ๊สวย” เสียอีก

สามสหาย

“ป่อง” ยังเป็นตัวละครที่ผมรักและผูกพันที่สุด

ผมดีใจที่ได้เห็นชะตากรรมอันไม่สวยหรูของ “สโตร์ผัก” ซึ่ง (เกือบจะ) ล้มเหลว

ฝันฟุ้งเฟื่องของ “ป่อง” กลายเป็นฝันร้าย

หนุ่มอีสานลูกผู้ใหญ่บ้านที่จบปริญญาจากกรุงเทพฯ กลายเป็นคนช่างคิดช่างฝัน เจ้าไอเดีย แต่ทำอะไรไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน (ไม่ practical) และเริ่มรู้จักคำว่าแพ้

ป่อง

อย่างไรก็ดี ผมค่อนข้างเสียดายที่หนังคลี่คลายปัญหาให้ “ป่อง” ด้วยการพามันซมซานกลับไปหาพ่อผู้ใหญ่และครอบครัว (นี่มัน “บักป่อง” นะเว้ย ไม่ใช่ “อี้ เลือดข้นคนจาง”) และเสกให้ธุรกิจที่เพิ่งล้มเหลวของ “ป่อง” ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาแบบหน้าตาเฉย (และฟลุ้กๆ) ด้วยอิทธิฤทธิ์เฟซบุ๊ก (ก่อนที่มันจะโดนพี่มาร์กและทีมงานหลอกให้บูสต์โพสต์ในขั้นตอนต่อไป 555)

“จาลอด” เหมือนจะสูญเสียบท “พระเอก” ไปโดยสมบูรณ์

ในหนังภาค 2.2 เขายังเป็น “ผู้ช่วยนักธุรกิจ” ของ “ป่อง” เป็นตัวละครสมทบเมื่อประกบกับ “พระเซียง” แม้แต่เวลาเข้าฉากกับ “มืด” บทบาท-แอคชั่น-อารมณ์ของ “บักมืด” ก็ยังแลดูเข้มข้นรุนแรงฉูดฉาดกว่า

แต่จุดน่าสนใจ คือ การดำรงอยู่ของ “จาลอด” ในธุรกิจสโตร์ผักของ “ป่อง” นั้น เป็นดังปากเสียงของชาวบ้านท้องถิ่น ที่ไม่เคยออกไปไหนไกลจากชุมชน ไม่ได้เป็น “คนอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง”

จาลอด

ทว่า “จาลอด” และพี่ๆ น้าๆ อาๆ หลวงพี่ และหลวงปู่อีกมากมายหลายคน เป็นคนที่ทำงาน ลงแรง เสียเหงื่อจริงๆ

คนลงแรงเหนื่อยอย่าง “จาลอด” นี่เอง ที่กล้าเอ่ยเตือนว่าบางสิ่งที่ “ป่อง” คิดฝันว่ามันดี มันใช่นั้น “มันไม่ใช่และไม่เวิร์ก”

หลายคนจับจ้อง “พระเซียง” กับฉากปัญหาที่ทำให้หนังเกือบไม่รอดเงื้อมมือกรรมการเซนเซอร์

ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ถูกตัดออกไปนั้นลดทอนพลังดราม่าในฉากไคลแมกซ์ช่วงท้ายภาพยนตร์ลงพอสมควร

แต่ผมยังอยากจะยืนยันว่า “ภาพพระร้องไห้กอดโรงศพอดีตคนรัก” เป็นอะไรที่ “ขี้ปะติ๋ว” มากๆ หากเทียบกับ “ใจความสำคัญ” ที่ “พระเซียง” ครุ่นคิดเอื้อนเอ่ยมาตลอดทั้งเรื่อง

นั่นคือจุดใหญ่ใจความที่ว่า พุทธศาสนา/วัด/พระ ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหา/ความทุกข์ทางโลกย์ให้แก่ฆราวาสได้

นี่คือปัญหาท้าทายที่ “พระเซียง” เน้นย้ำอยู่เสมอ ทั้งกับน้องๆ เด็กๆ ยามไปเทศน์ที่โรงเรียน ย้ำกับตัวเองเมื่อคิดถึงคนรักเก่า และเอ่ยสารภาพกับเพื่อนฝูงหลังสึกออกมาแล้ว

พระเซียง

ใจความดังกล่าวคือสิ่งที่อำนาจรัฐควรหวาดหวั่นมากกว่าเหตุการณ์เล็กๆ เรื่อง “พระร้องไห้”

เพราะความเห็นความรู้สึกของ “พระเซียง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกขนาดใหญ่ ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมมี/รู้สึกร่วมกัน ตั้งแต่ชาวบ้านต่างจังหวัดถึงคนเมืองจำนวนไม่น้อย

สาม

พระเซียง จาลอด ป่อง

มีประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นบ่อยๆ ใน “ไทบ้านฯ 2.2” และผมรู้สึกชอบมากๆ นั่นคือ ตัวละครในหนังเรื่องนี้นั้น “ทำผิด/คิดผิด” กันมากมายหลายครั้ง

“ป่อง” ประเมินแผนธุรกิจของตนเองผิดพลาด “พระ/ทิดเซียง” ยังคงทำผิดกับ “ปริม” สม่ำเสมอ “บักมืด” ก็มีพฤติกรรมเกเรจนทำผิดในหลายเรื่อง “สามสหาย” ทำผิดกับ “โรเบิร์ต” “เจ๊สวย” ก็อาจคิดผิดที่เชื่อยายข้างบ้าน “ไอ้อ้วน” ที่พยายามช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจากรักสามเส้าระหว่าง “หัวหน้าห้อง” “สิงห์” และ “มืด” ก็กำลังช่วยเพื่อนด้วยคำขู่ซึ่ง “ผิด” หนักกว่าเดิมในเชิงหลักการ 555

จุดน่าสนใจข้อแรกต่อประเด็นนี้ คือ หนังไม่พยายามแสวงหาความชอบธรรมให้แก่การทำผิดของเหล่าตัวละคร

ประมาณว่าคนทำผิดก็คือคนทำผิด ไม่ใช่ทำผิดเพราะมีเหตุผลที่ถูกต้อง/ฟังขึ้นซ่อนอยู่เบื้องหลัง มนุษย์เราผิดพลาดมืดบอดกันได้ทุกคน โดยที่ชีวิตดีๆ แย่ๆ ยังคงดำเนินต่อไป (และเราไม่อาจลงทัณฑ์ “คนทำผิด” ด้วยการลดทอน “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขา)

จุดน่าสนใจต่อมา คือ เหมือนตัวละครเกือบทั้งหมดจะไม่ได้สำนึกผิด/เอ่ยขอโทษในสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมา (อาจจะยกเว้นกรณี “สามสหาย” ที่พยายามตามหาตัว “โรเบิร์ต” ก่อนจะเตะตูดมันป้าบนึง หรือฉากที่ “มืด” บอกว่าพี่ชายเช่น “จาลอด” คือคนที่รักเขามากที่สุด แต่มันก็ไม่ได้ขอโทษในสิ่งที่เคยก่อความฉิบหายเอาไว้)

ที่สำคัญ ทุกคนยังเดินหน้าทำในสิ่งที่ “อาจจะผิด” ต่อไปเรื่อยๆ เช่น “ป่อง” ที่พยายามหาเงินทุนก้อนใหม่ หลังธุรกิจได้ยอดไลก์เยอะแยะในโซเชียลมีเดีย หรือที่ “มืด” พูดกับ “ทิดเซียง” (ซึ่งยังไม่รู้จะทำอะไรต่อ) ราวๆ ว่า คนเลวยังไงก็เป็นคนเลว

พูดง่ายๆ ว่าไม่มี “ไม้บรรทัดจริยธรรม” มาคอยกำกับ/ตรวจสอบ/เทียบวัด “คุณงามความดี” ของตัวละครในหนังเรื่องนี้

สี่

ไทบ้าน 2.2

ผมเคยเสนอว่าแนวคิด “บ้าน-วัด-โรงเรียน” หรือสถานภาพของ “ตัวแทนอำนาจรัฐ” ต่างๆ นั้น ได้ถูกหนังในจักรวาล “ไทบ้าน” หยิบมาดัดแปลง เคลื่อนย้าย เขย่า หยอกล้อกันอย่างมันมือและอารมณ์

ท่ามกลางโครงเรื่องที่หละหลวมขึ้น หนังภาค 2.2 ยังคงกล่าวถึงรัฐและตัวแทนอำนาจรัฐ ในฐานะของตัวแสดง/องค์กรที่ค่อนข้างจะไม่มีบทบาทและไร้น้ำยา

คุณค่าหรือความหมายในทางสังคมของ “วัด” ก็ถูก “พระ/ทิดเซียง” ทำลายลงจนย่อยยับ

ตลอดทั้งเรื่อง เราเห็นบทบาทของ “ครูแก้ว” ใน “ครัวเรือน” ไม่ใช่ใน “โรงเรียน” มิหนำซ้ำ “จาลอด” ยังยุกึ่งหยอกให้ “มืด” หยุดเรียน และไปต่อย ผอ.

หมอปลาวาฬ

“หมอปลาวาฬ” (คนเดิม) มีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกฉวยใช้มาช่วยโปรโมทธุรกิจสโตร์ผัก

และเมื่อ “หัวหน้าห้อง” เจอปัญหารักสามเส้า เธอก็ถูกลดสถานะลงเป็นเพียง “อีขี้ข้า-อีลูกน้อง”

หัวหน้าห้อง

เราเห็น “ตำรวจหนุ่ม” หนึ่งนาย มาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่เกือบเจ๊งของ “ป่อง” ไม่มี “ทหาร” ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ (กางเกงลายพรางตอนท้ายๆ น่าจะเป็นของผู้ช่วยสัปเหร่อ)

พลานุภาพที่น่าเกรงขามเพียงประการเดียวของตัวแทนอำนาจรัฐในหนังภาคนี้ คือ การหว่านเงินแบบ “ประชานิยม” (หรือจะ “ประชารัฐ” ก็ได้ 555) ของแม่บุญทุ่มอย่าง “ครูแก้ว”

ครูแก้ว

ที่ทั้งซื้อตู้เย็นให้บ้านแฟน (โดยใช้เงินพ่อ), ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้น้องชายแฟนขี่ไปจีบสาว, จ้างลูกศิษย์ไปโรงเรียน และเผลอๆ อาจจะซื้อรถเก๋งให้แฟนขับในอนาคต

ทั้งหมดนั้นคือการอุปถัมภ์สงเคราะห์ครอบครัวแค่หน่วยเดียว ผ่านสายสัมพันธ์/ความสนิทเสน่หาส่วนตัว แต่ไม่ได้สร้างโอกาสให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวงกว้างในระดับชุมชน

ห้า

เมื่อ “รัฐราชการ” ไม่มีน้ำยา แล้วความหวัง/อนาคต/ความเปลี่ยนแปลงของคนหรือชุมชนอีสานใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” นั้นถูกฝากไว้กับผู้ใด (นอกจากตัวเอง)?

บุคคลกลุ่มแรกคือ “นักการเมือง” ที่มาพร้อมกับความหวัง

สิริพงศ์

ในที่สุด “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” นายทุนและผู้อำนวยการสร้าง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็ปรากฏกายเป็นนักแสดงรับเชิญของ “ไทบ้านฯ 2.2”

“สิริพงศ์” รับบทเป็นว่าที่นายทุนคนใหม่ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจกิจการสโตร์ผักของ “ป่อง”

เขาคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ขาดหายไปในภาพความคาดหวังของ “คนอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง” ของ “หนุ่มสาวอีสานผู้เปี่ยมฝัน” ของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ

เขาคือเจ้าของเงินตราก้อนใหม่ ผู้ร่วมทุนรายใหม่ ผู้มอบโอกาสในการประกอบวิชาชีพแบบใหม่ๆ ซึ่งมิใช่ผู้อุปถัมภ์สงเคราะห์สไตล์ “ครูแก้ว”

(จริงๆ แล้ว แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ป่อง” กับ “จาลอด” ในบางมิติ ก็วางฐานอยู่บนการเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ”)

นอกจอภาพยนตร์ “สิริพงศ์” คืออดีตว่าที่เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเพิ่งย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เพื่อลงสนามเลือกตั้งต้นปีหน้า

บุคคลกลุ่มที่สองที่มาพร้อมกับอนาคตของ “จักรวาลไทบ้าน” คือ “ผี” และ “สัปเหร่อ”

ฉากท้ายสุดของหนังภาค 2.2 บ่งบอกว่าหมู่บ้านในภาพยนตร์แห่งนี้กำลังเคลื่อนคล้อยเข้าสู่สถานการณ์/ยุคสมัยที่มีสิ่งลี้ลับ อำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีกรรม-ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เป็นแกนกลาง

หมู่บ้านแห่งนี้จะต้องเผชิญหน้ากับ “ผี” และ “หมอผี” ซึ่งย้อนแย้งกับ “ความเป็นอีสานสมัยใหม่” อันเป็นแก่นแกนหลักของหนังสามภาคที่ผ่านมา

จักรวาลไทบ้าน