(มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 พฤศจิกายน 2558)
ระหว่างการร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ประจำปี 2015 ทางผู้จัดงานพยายามเชิญชวนให้สื่อมวลชนต่างชาติที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน หาโอกาสเข้าชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ถูกจัดฉายในเทศกาล โดยเฉพาะหนังญี่ปุ่นสามเรื่อง ซึ่งถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดหลัก
ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนั้น บวกกับหนังอีกหนึ่งเรื่องที่อยู่ในสายการประกวดสำหรับภาพยนตร์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
จึงอยากนำเกร็ดน่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

หนังเรื่องแรกที่ได้ชม คือ “7 Days” ผลงานการกำกับของ “ฮิโรบูมิ วาตานาเบะ” ซึ่งจัดเป็นหนังที่โดดเด่นมากเรื่องหนึ่ง ในบรรดาภาพยนตร์ราวสิบเรื่อง ที่ผมมีโอกาสได้ดูในเทศกาล แม้จะมิได้อยู่ในสายการประกวดหลักก็ตาม
7 Days เป็นภาพเคลื่อนไหวขาว-ดำ ไร้บทสนทนาโดยสิ้นเชิง ที่มีลักษณะคล้ายหนังสารคดีบันทึกภารกิจประจำวันอันเรียบเรื่อยในรอบหนึ่งสัปดาห์ ของหลานชายตัวอ้วนๆ หน้าโหดๆ (รับบทโดยตัวผู้กำกับเอง) ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคุณย่าที่นั่งหลับเกือบตลอดทั้งวัน (รับบทโดยย่าวัย 98 ปี ของผู้กำกับ)
หนังจับภาพชายหนุ่มทำงานบ้าน นั่งกินข้าวกับย่า แล้วเดินเท้าไปทำงานยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ก่อนจะมีรายละเอียด (รวมถึงแก๊กตลก) เล็กๆ น้อยๆ ถูกแทรกเสริมเข้ามา เมื่อจำนวนวันเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการที่ภาพกิจวัตรซ้ำเดิมบางอย่างถูกตัดทอนลงไป
เสียง/ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่รับผิดชอบโดย “ยูจิ วาตาเบะ” โปรดิวเซอร์และน้องชายของผู้กำกับ ก็มีความโดดเด่นมาก คือ มีทั้งเพลงคลาสสิกแบบตะวันตก, เพลงพื้นบ้านญี่ปุ่น รวมถึงเสียงธรรมชาติ ซึ่งถูกนำมาใช้ถ่ายทอดหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก อันแปรผันตามภาพในจอที่เปลี่ยนแปลงไป
หนังที่อาจไม่มีเนื้อเรื่องให้จับต้องได้มากนัก แต่มอบประสบการณ์สุดพิเศษในโรงภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าฉายในสายเจแปนีส ซีเนมา สแปลช ทว่า น่าเสียดายที่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ ติดมือ

เรื่องที่สอง เป็นหนังญี่ปุ่นที่ได้เข้าฉายในสายการประกวดหลัก เรื่อง “Sayonara” ผลงานการกำกับของ “โคจิ ฟุกาดะ” ซึ่งจุดเด่นสำคัญสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ การมี “แอนดรอยด์” เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ
หนังกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นในภาวะที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิด จนกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้คนจึงต้องพากันทยอยอพยพออกนอกประเทศ
แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่ตกค้างอยู่ในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบในทางชาติพันธุ์ หรือผู้เคยก่อคดีอาชญากรรมมาก่อน รวมถึงตัวละครหลัก ซึ่งเป็นสาวฝรั่งผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ที่อพยพลี้ภัยมายังญี่ปุ่น (ตาม “ความทรงจำ” ของหญิงสาว หลังนโยบายแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้สิ้นสุดลง คนขาวก็ตกเป็นเหยื่อถูกไล่ล่าบ้าง จนครอบครัวของเธอต้องอพยพมาที่เอเชีย)
ชีวิตของตัวละครรายนี้ดำเนินไปอย่างซ้ำซาก จำเจ ไร้ซึ่งความหวัง เธอเป็นคนป่วยมีโรคประจำตัวและรอวันตาย ซึ่งมี “แอนดรอยด์” เป็นมิตรคอยเคียงข้าง แม้เธอจะมีแฟนเป็นคนเชื้อสายเกาหลีในญี่ปุ่น แต่สุดท้าย เขาและครอบครัวก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศ เพื่ออพยพหนีภัยนิวเคลียร์ และตัดสินใจทิ้งเธอเอาไว้ข้างหลัง
Sayonara พยายามพูดถึงประเด็นน่าสนใจหลายข้อ ทั้งเรื่องความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับแอนดรอยด์ เช่น การหลงลืมของมนุษย์กับการถูกป้อนความจำ (อย่างไม่มีวันลืม) ของแอนดรอยด์ ฯลฯ, การแบ่งแยกกันเองในหมู่มนุษย์ รวมถึง การถ่ายทอดรสนิยมและความใฝ่ฝันระหว่างกัน ของมนุษย์กับแอนดรอยด์
ดูคล้าย 7 Days กับ Sayonara จะมีลักษณะสอดคล้องกันประการหนึ่ง นั่นคือ หนังนำเสนอภาพการใช้ชีวิตประจำวันไปแบบเหงาๆ ว่างเปล่า เดียวดาย และไร้จุดหมายปลายทาง
ไม่แน่ใจว่า ความสอดคล้องดังกล่าวบ่งบอกอะไรถึงวิธีคิดของคนญี่ปุ่นร่วมสมัยหรือไม่?

ภาพยนตร์เรื่องถัดมา คือ “Foujita” ผลงานของผู้กำกับอาวุโสชาวญี่ปุ่น “โคเฮอิ โอกุริ” ที่ได้เข้าฉายในสายการประกวดหลักเช่นกัน
โอกุริ ได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังยอดฝีมือ ที่นานปีจะผลิตภาพยนตร์ออกมาสักเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เขากลับเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม รวมถึงเคยได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่คานส์และเบอร์ลินมาแล้ว
ในหนังเรื่องล่าสุด โอกุริเล่าเรื่องราวชีวิตบางส่วนเสี้ยวของ “ซึกุฮารุ ฟุจิตะ” จิตรกรเอกชาวญี่ปุ่น ที่สร้างชื่อจากการนำเอาเทคนิคการใช้หมึกแบบญี่ปุ่นไปผสมผสานกับงานจิตรกรรมตะวันตก
ช่วงปลายทศวรรษ 1910 ถึงตลอดทศวรรษ 1920 ฟุจิตะ เดินทางไปทำงานสร้างชื่อเสียง ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า และพบรักกับหญิงต่างชาติที่ฝรั่งเศส จากนั้น เขาร่อนเร่ไปใช้ชีวิตในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนจะกลับสู่ประเทศบ้านเกิด ในฐานะปรมาจารย์ทางด้านศิลปะ ผู้วาดภาพแนวโฆษณาชวนเชื่อ รับใช้จักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ตอนท้ายของหนัง บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ฟุจิตะหลบภัยสงครามไปใช้ชีวิตในเขตชนบท ร่วมกับภรรยาชาวญี่ปุ่น จนกระทั่งหลังสงครามสิ้นสุด ซึ่งเขาตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสอีกหน และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์
ภาพยนตร์เรื่อง Foujita เป็นดังการเรียงร้อยภาพพอร์ทเทรตจำนวนมาก เพื่อนำเสนอชีวิตแต่ละช่วงของจิตรกรเอก อย่างไรก็ดี ช่วงชีวิตเหล่านั้นไม่ได้ถูกเชื่อมโยงหรือปะติดปะต่อเข้าหากันอย่างเรียบเนียนเสียทีเดียว หากมีช่องว่างหรือรายละเอียดบางส่วนที่ถูกละไว้ไม่พูดถึง
ขณะเดียวกัน งานด้านภาพของหนังก็มีความสวยงามอย่างยิ่ง จนหลายช็อตเป็นเหมือนงานจิตรกรรมชั้นยอด ซึ่งถูกเจือด้วยบรรยากาศเหนือจริงและสัจนิยมมหัศจรรย์ อันเปี่ยมเสน่ห์

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย เป็นหนังผีชื่อ “The Inerasable” ผลงานการกำกับของ “โยชิฮิโร นากามุระ” ที่อยู่ในสายการประกวดหลักเหมือนกัน
โดยส่วนตัว ผมไม่แน่ใจว่า หนังเรื่องนี้ถือเป็น “หนังดี” หรือไม่ เพราะในหลายๆ ช่วง หนังก็มีจังหวะที่ล้นเกิน หรือมีจังหวะตลกแบบการ์ตูนๆ เจือปนอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือ “หนังผี” ที่น่ากลัวและท้าทายขนบดั้งเดิมมากๆ เรื่องหนึ่ง
หนังเปิดฉากด้วยเรื่องราวของนักเขียนหญิง ผู้คอยรับจดหมายบอกเล่าประสบการณ์การเจอวิญญาณจากคนทางบ้าน เพื่อนำมาแต่งเติมเสริมต่อเป็นนิยายลงในนิตยสาร
แล้วหนังก็มุ่งโฟกัสไปยังเคสหลัก ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงสาวนักศึกษาสถาปัตย์ ที่เจอเสียงแปลกๆ ในห้องเช่า นักเขียนจึงร่วมมือกับคนต้นเรื่อง เพื่อสืบหาที่มาของเสียงแปลกๆ ดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่า พอตามไปตามมา เรื่องก็ชักจะยุ่งเหยิงหนักขึ้นและเกี่ยวพันกับผู้คนมากหน้าหลายตา ในต่างพื้นที่และยุคสมัย
นอกจากนั้น ผี (ซึ่งมีจริงแน่ๆ) ยังไม่ได้มีแค่ตนเดียว แต่กลายเป็นว่า ผีหรือคนที่ตายไปแล้ว ก็ตายเพราะถูกผีตัวก่อนหน้าหลอกหลอนจนประสาทเสียอีกต่อหนึ่ง เรื่องราวของเสียงประหลาดในอพาร์ตเมนต์ จึงถูกสืบสาวลากยาวไปถึงรากเหง้าเมื่อราวศตวรรษก่อน (ในอีกแง่หนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็ถือเป็นภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนที่ดูสนุกทีเดียว)
ท่าไม้ตายสำคัญจริงๆ ของ The Inerasable ก็คือ หนังเปิดเรื่องด้วยขนบเดิมๆ ของหนังผีส่วนใหญ่ ที่มักจะทำให้คนดูเชื่อว่าผีถูกผูกติดเชื่อมโยงอยู่กับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (หรืออย่างน้อยก็วัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่ง) อันมีลักษณะเป็นรูปธรรม
แต่สุดท้าย พื้นที่กับผีในหนังเรื่องนี้ กลับไม่ใช่สองสิ่งที่ยึดโยงกันอย่างแนบแน่นเสียทีเดียว ทว่า ผีกลับยึดโยงอยู่กับคำสาปและความผิดบาปเก่าแก่ อันเป็นนามธรรม ที่มีศักยภาพในการหลอกหลอนมนุษย์ โดยทะลุทะลวงข้ามผ่านปัจจัยเรื่องพื้นที่และกาลเวลา
ช่วงก่อนจบ หนังเล่นท่าหลอกอีกตลบหนึ่ง ด้วยการทำให้เรื่องผีมีสถานะเป็นเพียงแค่ประสบการณ์หนึ่งในชีวิต ที่ตัวละครจะต้องเดินข้าม ไปสู่การเปลี่ยนผ่านเติบโตตามช่วงอายุ
แต่แล้วในตอนจบ คนทำกลับบิดผันโครงเรื่องอีกรอบหนึ่ง ด้วยการหันมาสรุปยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงว่า หนังเรื่องนี้คือ “หนังผี” ที่มีเรื่องราวว่าด้วยภูตผีวิญญาณและคำสาปดำมืดเป็นแก่นแกนสำคัญจริงๆ ไม่ได้เป็นแค่หนังที่ใช้ผีเป็น “เครื่องมือ” หรือ “พาหนะ” นำไปสู่สาระสำคัญอื่นๆ
มนุษย์คนแล้วคนเล่าที่ถูกคุกคามจึงขยายวงต่อไปเรื่อยๆ ตามต้นกำเนิดของผีที่สลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับผีหลากเจเนอเรชั่นที่ขยายวงในการหลอกหลอนออกจากพื้นที่และช่วงเวลาเดิมๆ
ส่วนคนที่ย้ายที่อยู่เพื่อหนีผี ก็ยังหนีผีไม่พ้น และต้องเจอผีหลอกต่อไป
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นทั้งสี่เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไป คือ มีทั้งหนังที่มุ่งพิจารณาชีวิตของบุคคลในอดีต มีทั้งหนังที่พูดถึงความผิดบาปในอดีตที่ตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน มีหนังที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในสังคมร่วมสมัย และมีหนังที่กล่าวถึงชีวิตอันน่าหดหู่และวิทยาการในอนาคต
ขณะที่หนังไทย (และผลงานศิลปะร่วมสมัยแขนงอื่นๆ) ส่วนใหญ่ ยังมีประเด็นหลักอยู่ที่การหาวิธีเผชิญหน้ากับความทรงจำ และความงุนงงสับสนกับภาวะปัจจุบัน เพราะคนทำหนัง (หรือศิลปิน) แต่ละราย ก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกันกับคนดูหนัง/คนเสพงานศิลปะจำนวนมาก
ที่ยังไม่แน่ใจและไม่กล้าคาดเดาว่าอนาคตของตนเองและของประเทศจะมีรูปลักษณ์เป็นเช่นใด