(มติชนสุดสัปดาห์ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2558)
เพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง “2538 อัลเทอร์มาจีบ” ผลงานการกำกับฯ ของ ยรรยง คุรุอังกูร ซึ่งมีหน้าหนังดึงดูดคนวัย 30 อัพอยู่ไม่น้อย
เนื่องจากหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาว่าด้วยการย้อนเวลากลับไปหา “วัฒนธรรมย่อย” อย่างดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟ เมื่อปี พ.ศ.2538
หลังดูหนังเสร็จ คงต้องกล่าวว่า “2538 อัลเทอร์มาจีบ” เป็นภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพระดับกลางๆ
คือ มีทั้งส่วนที่ดี เช่น การแสดงของ พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ในบทของ “ส้ม”, เพลงประกอบ ที่คง “เพราะ” สำหรับคนดูบางกลุ่ม ตลอดจนแก๊กเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านเพจเจอร์หรือโทรศัพท์สาธารณะที่สูญหาย (หรือเกือบจะสูญหาย) ไปแล้วในยุคปัจจุบัน และส่วนที่ไม่กลมกล่อมลงตัวสักเท่าไหร่ อาทิ บทภาพยนตร์ รวมถึงรายละเอียดในเชิงโปรดักชั่น
ขณะที่พล็อตหลักของหนัง ว่าด้วยเรื่องของ “ก้อง” เด็กหนุ่มอายุไม่ถึง 20 ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งย้อนเวลากลับไปยังสองทศวรรษก่อน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตคู่ให้แก่พ่อแม่ของตนในอนาคต ก็ไม่ได้มีความแปลกใหม่อะไรมากนัก มิหนำซ้ำ ยังมีรูโหว่อยู่บ้างพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า มีองค์ประกอบ 2-3 ข้อของ “2538 อัลเทอร์มาจีบ” ที่น่าสนใจและชวนขบคิดต่อ ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
ขอเริ่มต้นด้วยประเด็นเรื่อง “การย้อนเวลา” ภายในหนัง ซึ่งมีตรรกะไม่แน่นอน ไม่แจ่มชัด อยู่บ้าง จนส่งผลให้เรื่องราวในตอนท้าย ที่ “ก้อง” ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่าง “ปัจจุบัน” กับ “อดีต” มีความสะดุดติดขัดอยู่ไม่น้อย รวมทั้งทำให้โครงเรื่องโดยรวมเกิดปัญหาลักลั่นบางประการ
เช่น ถ้า “ก้อง” สามารถย้อนเวลาไปช่วยพ่อแม่แก้ปัญหาชีวิตคู่ได้จริงๆ จนทั้งสองให้กำเนิดเขาออกมา พ่อแม่ในวัย 30 ปลายๆ – 40 ต้นๆ ก็น่าจะจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ทำไมลูกตัวเองถึงหน้าตาเหมือนกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเคยแวบเข้ามาในชีวิตของพวกเขาเมื่อ 20 ปีก่อน ทว่า หนังไม่ได้เคลียร์ปริศนาตรงนี้แต่อย่างใด
หรือกรณีของ “ส้ม” ตัวละครที่เกือบๆ จะเป็น “มือที่สาม” ในความรักระหว่างพ่อกับแม่ของ “ก้อง” จนอาจส่งผลให้พระเอกในเรื่องไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา
น่าสนใจว่า ชะตากรรมของ “ส้ม” นั้นมีหนทางสองแบบซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับว่าการเข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงอดีตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ส้ม” เสียใหม่ของ “ก้อง” นั้น จะมีสัมฤทธิผลหรือไม่
แม้ในตอนจบของหนัง จะสร้างบทสรุปปลายเปิดไว้ว่า การแทรกแซงดังกล่าวอาจประสบผลสำเร็จ แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน (และตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา) พ่อของ “ก้อง” ก็ยังจดจำอดีตเกี่ยวกับ “ส้ม” ในเวอร์ชั่นแบบที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ
อย่างไรก็ดี ความไม่ชัดเจนลงตัวหรือความลักลั่นในประเด็นเรื่อง “การย้อนเวลา” ของหนังเรื่องนี้ กลับนำไปสู่ประเด็นอื่นที่น่าสนใจตามมา นั่นคือ หนังอาจแสดงให้เห็นโดยไม่ได้ตั้งใจว่า พ่อกับแม่ของ “ก้อง” ในวัยเกือบๆ จะถึงหรือขึ้นต้นด้วยเลข 4 นั้น “หลงลืม” หรือพยายามลบเลือนอดีตบางอย่างในชีวิตของตนเอง
ไม่ว่า “อดีต” นั้นจะเป็นการมีตัวตนของ “ก้อง” ในปี พ.ศ.2538 หรือ การมีชีวิตอยู่ของ “ส้ม”
กระทั่งวัฒนธรรมดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟ ที่เป็นจุดขายหนึ่งของหนังเอง ก็อาจถูกตัวละครพ่อแม่ของ “ก้อง” ที่เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมย่อยดังกล่าว ลืมเลือนไปแล้วเหมือนกัน
ความปรารถนาจะจดจำอดีตอันงดงามเกี่ยวกับดนตรี “อัลเทอร์ฯ” ของ “ส้ม” และ การหลงเข้าไปรับรู้อดีตของ “ก้อง” จึงดำรงอยู่เคียงคู่กับการ “ลืมเลือน” อดีตบางด้าน ของตัวละครบางคน
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าอภิปราย ก็คือ ดนตรีประกอบของหนังเรื่องนี้ ที่ระดมเอาเพลงอัลเทอร์เนทีฟในยุค พ.ศ.2538 มาใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดคนดูกลับสู่อดีต
สำหรับคนดูที่ชอบและคิดถึงอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์, อัลบั้มชุดแรกของสไมล์ บัฟฟาโล่, งานของ อรอรีย์ จุฬารัตน์, งานของเดอะ มัสต์, งานของสี่เต่าเธอ และงานของพราว เพลงประกอบใน “2538 อัลเทอร์มาจีบ” คงทำให้คุณรู้สึกดื่มด่ำกับเสียงแห่งอดีตได้อย่างงดงามพอสมควร
แต่ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของเพลงเหล่านี้ ก็พลันทำให้เราระลึกได้ว่า วัฒนธรรมการฟังเพลงของวัยรุ่นในยุคปลายทศวรรษ 2530-ต้นทศวรรษ 2540 มีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ได้เกิดค่ายเพลงขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ผลิตงานออกมาท้าทายสองยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ และอาร์เอส ไม่นับสายเพื่อชีวิต ซึ่งยังทรงอิทธิพลอยู่พอสมควร
(ความหลากหลายดังกล่าวส่งผลให้เมื่อมีใครพยายามนำเพลงในยุคนั้นมาขายเป็น “สินค้าโหยหาอดีต” กลุ่มลูกค้าที่ได้จึงเป็นคนกลุ่มย่อยๆ ไม่เหมือนการรำลึกถึงเพลงในยุค 80 หรือปลาย 2520 ถึง 2530 ที่ความหลากหลายเชิงผลิตภัณฑ์ซึ่งมีน้อยกว่า กลับส่งผลให้คนขายของสามารถเข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ได้มากกว่า)
เห็นได้จากการที่หนังเรื่อง “Concrete Clouds ภวังค์รัก” โดย ลี ชาตะเมธีกุล และ “2538 อัลเทอร์มาจีบ” ล้วนรำลึกถึงอดีตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ภาพแทนของดนตรียุคกลาง 90 ในหนังเรื่องแรก (มีตั้งแต่เพลงอาร์เอส เรื่อยไปจนถึง ติ๊ก ชิโร่) กับหนังเรื่องหลังกลับผิดแผกจากกัน
และอาจกล่าวได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมดนตรีในยุคดังกล่าว มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่า “ภาพแทน” สองแบบในหนังทั้งสองเรื่องเสียอีก
ค่ายเพลงอินดี้ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ.2538 ไม่ได้สร้างแต่ศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟล้วนๆ
เพราะในปีนั้น “ฟอร์ด สบชัย” ก็ออกอัลบั้มชุดแรกอันโด่งดังไม่น้อย วงการเพลงบรรเลงซึ่งไม่ใหญ่โตนัก มีโอกาสได้ต้อนรับผลงานชุดแรกของ “บอยไทย” ที่ผสานดนตรีไทยเดิมเข้ากับดนตรีสากลอย่างน่าสนใจ เพลงของ “ฤทธิพร อินสว่าง” ยังขายได้
ทางด้านค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ “ไมโคร” ในยุคไร้ “อำพล ลำพูน” ได้ออกอัลบั้มที่ว่ากันว่าดีที่สุดของวง และ “ทาทา ยัง” กำลังพุ่งผงาดเป็นพลุแตกในฐานะ “สาวน้อยมหัศจรรย์”
ย้อนไปก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ใน พ.ศ.2537 “โมเดิร์นด็อก” ก็ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์โดดเด่นเดียวของวงการเพลง แต่ยังมี “บิลลี่ โอแกน” ที่เดินออกจากแกรมมี่ แล้วมาสร้างความฮือฮากับอัลบั้ม “บิลลี่ บันลือโลก” มีงานเท่ๆ เก๋าๆ ของ “ไทร็อก” ขณะที่ “จรัล มโนเพ็ชร” ยังคงผลิตผลงานสตูดิโอ อัลบั้ม อยู่
ส่วนทางด้านอาร์เอส ก็มีอัลบั้ม “อาร์เอส อันปลั๊ก” หรือ “ร็อกอำพัน” ที่ขายดีสูสีกับงานเพลงแนวเอาใจวัยรุ่นของค่าย
ยังไม่นับวง “คาซอย” ที่สร้างสีสันให้กับรายการทีวีช่วงบ่ายๆ ได้ไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกชอบเป็นพิเศษ ที่ตัวละครคนหนึ่งใน “2538 อัลเทอร์มาจีบ” คือ “อาเจ็ก เจ้าของร้านเทป” พูดถึงศิลปินอย่าง “อัสนี-วสันต์” หรือ “ไมโคร”
รวมทั้งชอบช็อตหนึ่งในหนังที่แสดงให้เห็นว่าแผงเทปของอาเจ็กนั้น มีเทปชุดแรกของ “เสือ ธนพล อินทฤทธิ์” วางเรียงกันเป็นตับ เช่นเดียวกับบทพูดที่กล่าวถึง “ยูโฟร์” และ “ยูเอชที” (แม้มุขที่เล่นประกอบจะไม่ค่อยดีนักก็ตาม)
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟก็เป็นเพียงวัฒนธรรมย่อยแขนงหนึ่ง ในยุคสมัยที่มันถือกำเนิดขึ้นมาและโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาพอสมควร
ขอปิดท้ายด้วยองค์ประกอบเล็กๆ ที่มีความสำคัญไม่น้อยใน “2538 อัลเทอร์มาจีบ” ได้แก่ การพูดถึงประเด็นเรื่องการท้องก่อนแต่งและท้องในวัยเรียน
น่าสนใจว่า เมื่อตัวละครหนุ่มสาววัยนักศึกษาในเรื่อง (เมื่อสองทศวรรษก่อน) ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตครอบครัว แทนที่จะเอาลูกออก ตัวละครรายเดียวที่ออกอาการฮึดฮัดไม่พอใจ ก็คือ พ่อของฝ่ายหญิง ซึ่งผู้เขียนบทกำหนดให้เป็นนายทหารวัยกลางคนยศพันเอก ใน พ.ศ.2538
แต่สุดท้าย “คุณพ่อทหารมาดดุ” ก็จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เมื่อเผชิญหน้ากับการตัดสินใจเด็ดเดี่ยวของคนรุ่นลูก
ดังนั้น แทนที่จะหักปัญหา หรือห้ามความเปลี่ยนแปลง (ซึ่งตนเห็นว่าเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด) ไม่ให้เกิดขึ้น เขากลับต้องทำใจยอมรับมัน และร่วมแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมกับคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งมีส่วนได้เสียกับปัญหา มากกว่าคนรุ่นพ่อแม่
ในช่วงท้าย หนังกล่าวถึงตัวละครคนนี้อ้อมๆ ผ่านบทพูดของตัวละครรายอื่นๆ ว่าเขาได้กลายสถานะจาก “คุณพ่อมาดเข้ม” มาเป็น “คุณตาใจดี” ของหลานชายเสียแล้ว
พอลองมานั่งคำนวณดูเล่นๆ ก็พบว่า ถ้าตัวละคร “คุณพ่อทหารมาดดุ” มีตัวตนอยู่จริง ในปัจจุบัน แกคงเป็นนายทหารเกษียณวัยประมาณ 70 ปี รุ่นราวคราวเดียวกับผู้นำระดับ “พี่ใหญ่” ของ คสช./รัฐบาล พอดี
ทว่า หนังก็เป็นเพียงแค่หนัง และเพลง “เธอคือความฝัน” (ที่ “เธอ” อาจไม่มีอยู่จริง) ก็ยังคงก้องดังอยู่ในหนังเรื่องนี้