ดูใหม่ “October Sonata”

เพิ่งได้ดู “October Sonata รักที่รอคอย” รอบล่าสุด ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ นี่น่าจะเป็นการดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกในทศวรรษ 2560 ของผม หลังจากที่ผมวนเวียนดูมันอยู่รอบแล้วรอบเล่าเมื่อหนังเข้าฉายตอนปี 2552 และอีกหลายปีถัดมา

พอมานั่งชมผลงานชิ้นเอกของ “สมเกียรติ วิทุรานิช” อีกครั้งในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระลอกใหม่ของการเมืองไทยพอดี ผมก็เกิดข้อสังเกต-คำถามใหม่ๆ ขึ้นมาราว 2-3 ประเด็น

หนึ่ง

คงเป็นเพราะได้มาดูหนังในวัยที่เพิ่มมากขึ้น (และอาจผนวกด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่แน่ชัดนัก) ผมเพิ่งรู้สึกชัดเจนว่า “October Sonata” นั้นมีความเป็น “allegory” หรือ “นิทานเปรียบเทียบ” (บางคนใช้คำว่า “อุปมานิทัศน์”) อยู่สูงมาก

กระทั่งเราอาจมองหนังทั้งเรื่องเป็น “นิทานเปรียบเทียบล้วนๆ” เรื่องหนึ่งเลยด้วยซ้ำ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว บางที “October Sonata” อาจมิได้เป็นหนังรักโรแมนติกที่เจือกลิ่นหรืออ้างอิงบริบททางการเมืองยุค 2510-2520 ทว่านี่คือกระบวนการใช้งานหนังรักเรื่องหนึ่ง (เผลอๆ สายสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนำชาย-หญิงอาจไม่ได้เรียกว่า “ความรัก”) ในฐานะที่มันเป็นภาพแทน/ตัวสับหลอก เพื่ออำพรางเป้าประสงค์แท้จริงของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งต้องการสื่อแสดงนัยยะของการต่อสู้และส่งต่ออุดมการณ์ทางการเมือง

นอกจากนี้ ผมยังเพิ่งสัมผัสได้ว่า “October Sonata” นั้นให้น้ำหนักกับเรื่อง “อุดมคติ” ไว้สูงมาก

ช่วงชีวิตกว่าทศวรรษของ “แสงจันทร์” ดำเนินไปเพราะการมีอุดมคติหรือการเฝ้าใฝ่ฝันถึง “รวี”

และหลังจากต่อสู้รณรงค์เคลื่อนไหวทั้งในเขตเมือง ชนบท และป่าเขา “รวี” ก็ทุ่มเทพลังชีวิตเฮือกสุดท้าย เพื่อธำรงรักษาเศษเสี้ยวอุดมคติที่ยังคงหลงเหลือติดค้างอยู่ในตัวเขา และเติมเต็มอุดมคติอันยิ่งใหญ่ของ “แสงจันทร์”

เมื่อผมได้ดูหนังเรื่องนี้ใหม่ๆ ในช่วงอายุ 20 ปลายๆ และกำลังมีพลังร้อนแรงกระตือรือร้นท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองจากปลาย 2540 ถึงต้น 2550

ผมมีแนวโน้มจะตีความหรือเข้าใจเรื่องราวและพฤติกรรมของตัวละคร ในฐานะ “ปฏิบัติการ” ในโลกความเป็นจริง โดยละเลยมิติทางด้านอุดมคติหรือลักษณะการเป็นนิทานเปรียบเทียบโดยสมบูรณ์ของมันไปอย่างน่าเสียดาย

สอง

ผู้ชมหลายราย รวมถึงผมด้วย คงค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่าตัวละครหลักที่ “จริง” มากๆ เพียงรายเดียวใน “October Sonata” ก็คือ “ลิ้ม”

อย่างไรก็ตาม พอมาดูหนังรอบใหม่ในปี 2563 เราอาจตั้งคำถามได้ว่ากลุ่มคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ยังต้องการ “เถ้าแก่ลิ้ม” อยู่หรือไม่? และในทางกลับกัน “เถ้าแก่ลิ้ม” จะยังน่ารักมีมิตรจิตมิตรใจกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เหมือนเดิมหรือเปล่า?

เนื้อหาช่วงท้ายของ “Ocotober Sonata” นั้นคือการฉายภาพสภาวะประนีประนอมคืนดีกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ในภาคประชาสังคมไทย ในกรณีนี้ ได้แก่ นายทุนกับฝ่ายซ้าย/ประชาธิปไตย (โดยหนังได้ตัดตัวตน-บทบาทแบบชัดๆ ของ “รัฐไทย” ออกไป) ซึ่งสภาพสังคมการเมืองดังกล่าวก็ดำรงอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงกลาง 2540 ก่อนยุคแอนตี้ทักษิณ

สิ่งที่ชวนคิดก็คือนับแต่ความขัดแย้งใหญ่ปลาย 2540 – ต้น 2550 มาจนถึงปัจจุบัน นายทุน-คนชั้นกลางประเภท “เถ้าแก่ลิ้ม” จะยังคงดำรงตนเป็น “ตัวกลาง” ในการประนีประนอมทางการเมือง หรือเป็นทั้ง “ลูกที่ดี” ว่านอนสอนง่ายของครอบครัวขนาดใหญ่ที่เรียกว่ารัฐไทย และเป็น “คุณพ่อน้อยๆ” ที่คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนนักคิดนักเขียนปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยยุคหลังสงครามเสื้อสี ไปพร้อมๆ กัน ได้อยู่หรือไม่?

ในทางตรงกันข้าม ก็น่าถามว่าบรรดาคนรุ่นใหม่ที่กำลังออกมาต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนนในทศวรรษ 2560 ยังต้องการ “คุณพ่อรู้ดีรายย่อยๆ” เช่น “ลิ้ม” อยู่อีกหรือเปล่า?

สาม

ท่ามกลางการรื้อสร้างความหมายของ “ประวัติศาสตร์การเมืองเดือนตุลา” ที่มีทั้งการฟื้นฟูบางเรื่องราวที่เคยถูกกดทับปิดบังจนเงียบหายไป และการลืมเลือนตัดทิ้งหลายสิ่ง/บุคคลที่เคยปรากฏบทบาทโดดเด่น ผมยังอยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังตื่นตัวทางการเมือง ได้มาลองชม “October Sonata” และตีความ-วิพากษ์วิจารณ์มันตามมุมมอง-ประสบการณ์ของพวกเขา

แน่นอนว่าเนื้อหาของหนัง (ซึ่งออกฉายตอนปี 2552) นั้นไม่ได้ “ไปไกล” ทัดเทียมกับ “ความฝันล่าสุด” ของเหล่านักต่อสู้รุ่นปัจจุบัน แต่ก็มีสปิริตหลายๆ อย่างในหนังเรื่องนี้ ที่น่าจะเชื่อมร้อยกับพลังความเชื่อของคนรุ่นหลังๆ ได้

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับการส่งมอบอุดมการณ์หรือการยืนหยัดในอุดมคติของตนเองแล้ว หนังยังกล่าวถึงความท้าทายในการกล้าลงมือทำอะไรใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์อุดมคติที่ตนเองมี และเพื่อเปิดทางไปสู่ความเป็นไปได้ชนิดอื่นๆ (เช่น เธอต้องลองอ่าน “สงครามชีวิต” ให้จบเสียก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าเธอยังอยากเป็น “เพลิน” อยู่หรือไม่, เธอต้องลองเขียนหนังสือไปก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่าเธอจะสามารถเป็นนักเขียนได้หรือเปล่า รวมถึงฉากลองปิดไฟหน้ารถเพื่อจะได้เห็นแสงหิ่งห้อยยามค่ำคืนอันสุดแสนคลาสสิกและโรแมนติกด้วย)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.