ความทรงจำเกี่ยวกับ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง”

รวมศรัณยู

หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ผู้ถือเป็นดาราสำคัญรายหนึ่ง สำหรับคนรุ่นๆ ผม (ที่อายุเกือบ 40 ปี) ขึ้นไป

ผมก็ได้ย้อนรำลึกความหลังเกี่ยวกับนักแสดงผู้นี้ ผ่านโพสต์จำนวนมากมายของมิตรสหายในโซเชียลมีเดีย

ผมได้รำลึกถึงละครทีวี เช่น บ้านทรายทอง-พจมาน สว่างวงศ์ (2530) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2532) รัตติกาลยอดรัก (2532) วนาลี (2533) วนิดา (2534) ซึ่งเป็นผลงานที่เคยผ่านตาในวัยประถม แต่กลับจดจำรายละเอียดต่างๆ แทบไม่ได้แล้ว (รวมถึงศักยภาพในฐานะนักแสดงของศรัณยู ซึ่งปรากฏในผลงานเหล่านี้)

ผมยังได้ระลึกถึงเก้าอี้ขาวในห้องแดง (2527) ที่ไม่เคยดูแบบเต็มๆ แต่ชอบเพลงประกอบและไตเติ้ลของละครมากๆ ผมเพิ่งรู้ว่าศรัณยูแสดงละครทีวีเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี (2529) ซึ่งความทรงจำเดียวที่ผมมีเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ คือ ฉากปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในตอนจบ เช่นเดียวกับที่ผมจดจำได้เพียงเนื้อเพลง “เมื่อตะวันยังคงส่องแสง เราจะสิ้นเรี่ยวแรงสิ้นหวังจะได้ไฉน” ซึ่งใช้ประกอบละครอวสานเซลส์แมน (2530)

ขณะที่ต้องยอมรับว่าในช่วงวัยรุ่น ผมเคยยี้ “ละครช่อง 7” จนมองข้ามน้ำเซาะทราย (2536) ทวิภพ (2537) และมนต์รักลูกทุ่ง (2538) ไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าผมสามารถจดจำอะไรเกี่ยวกับ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ได้บ้าง ณ ทันทีที่ทราบข่าวการเสียชีวิตของเขา

นี่คือเรื่องราวจำนวนหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวโดยฉับพลัน

สตางค์

ผมชอบหนังไทยเรื่อง “สตางค์” (2543) ของ “บัณฑิต ฤทธิ์ถกล” ซึ่งศรัณยูรับบทเป็น “โรจน์” อดีตผู้ดีนักเต้นรำที่ตกอับ-พิการช่วงสงคราม และต้องพึ่งพาคนรักที่ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ

สำหรับผมนี่น่าจะเป็นผลงานระดับ “มาสเตอร์พีซ” (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็คือ ภาพยนตร์ที่มีความกลมกล่อมลงตัว) เรื่องท้ายๆ ของ “อาบัณฑิต”

ศรัณยู สตางค์

ฉากจำฉากหนึ่งของศรัณยูในหนังเรื่องนี้ ก็คือฉากในตอนใกล้จบที่เขาถูกยิง แล้วร่างก็หมุนคว้างเริงระบำ ก่อนจะสิ้นชีวิตในอ้อมกอดหญิงคนรัก

สุริโยไท

ผมชอบฉากการปะทะฟาดฟันกันด้วยสายตาระหว่าง “พระเฑียรราชา” (ศรัณยู) กับ “พระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ในตอนจบของหนังเรื่อง “สุริโยไท” โดย “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล”

ในภาพยนตร์แห่งสยามประเทศเรื่องนั้น ผมยังชอบแววตาเศร้าๆ ละล้าละลัง ปนวิตกกังวลของตัวละคร “พระเฑียรราชา” ซึ่งอันที่จริง ผมรู้สึกสะดุดใจกับแววตาเช่นนี้ มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ศรัณยูสวมบทเป็น “โรจน์” ใน “สตางค์”

พระเฑียรราชา

สำหรับผม บทบาทที่น่าจดจำในโลกภาพยนตร์ของศรัณยู จึงเป็นบทบาทของบุรุษผู้ยืนอยู่ตรงพรมแดนอันคลุมเครือระหว่างการประสบชัยชนะกับความพ่ายแพ้ ระหว่างการมีความฝัน ความหวัง และปรารถนาอันแรงกล้า กับการตกอยู่ในความกลัว ความอ่อนไหว และความอ่อนแอ

ธเนศ วรากุลนุเคราะห์

ป๊อปอาย

บางคนน่าจะเคยรับรู้มาก่อนว่าศรัณยูเป็นน้องชายแท้ๆ ของ “ธเนศ วรากุลนุเคราะห์” (เหตุที่นามสกุลต่างกัน เพราะศรัณยูถูกญาติขอตัวไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม) ขณะที่อีกหลายคนก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้กระทั่งเมื่อคืนวาน

เท่าที่ลองทบทวนความทรงจำของตัวเอง ผมน่าจะรู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกสมัยเรียน ม.ต้น แต่จำไม่ได้แน่ชัดแล้วว่าใครเป็นคนบอกผม (ระหว่างใครสักคนในโรงเรียนสวนกุหลาบ -ซึ่งศรัณยูเป็นศิษย์เก่า- กับใครบางคนที่ผมไปพบเจอพูดคุยนอกโรงเรียน)

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันอีกครั้ง ตอนที่ศรัณยูมากำกับละครทีวี “เทพนิยายนายเสนาะ” (2541) ให้กับค่ายมิวสิค บั๊กส์ เพื่อออกอากาศทางช่อง 3 ซึ่งระหว่างโปรโมทละคร ธเนศในฐานะผู้ควบคุมการผลิต และศรัณยู ก็ได้เปิดเผยเรื่องราวที่พวกเขาเป็นพี่น้องท้องเดียวกันออกสื่อ

ธเนศ ฉลาดเกมส์โกง

น่าสนใจว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่พวกเราแทบจะลืมเลือนบทบาทการแสดงเด่นๆ ของศรัณยูไปแล้ว แต่ธเนศกลับหวนมาแจ้งเกิดในฐานะนักแสดงฝีมือเยี่ยมได้อย่างสวยงามอีกหน ผ่านภาพยนตร์ อาทิ “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” และ “ฉลาดเกมส์โกง”

น้ำพุ

ผมชอบละครเรื่อง “น้ำพุ” (2545) ของศรัณยู ซึ่งมีรูปลักษณ์-วิธีการนำเสนอหลายๆ อย่างที่ล้ำสมัยในยุคนั้น

นี่น่าจะเป็นหมุดหมายแรกๆ ที่บ่งชี้ว่านักแสดงคนนี้ “มีของ” ในฐานะผู้กำกับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครทีวี)

เจ้าสาวของอานนท์

ศรัณยูเคยร้องเพลง (ประกอบละคร) มาไม่น้อย แต่เพลงของเขาที่ผมจดจำได้แม่นยำที่สุด ทั้งเนื้อร้องและทำนอง (ประพันธ์โดย “วิรัช อยู่ถาวร”) คือ “รักนิรันดร์” จากละครเรื่อง “เจ้าสาวของอานนท์” (2531)

ทั้งๆ ที่ผมลืมรายละเอียดอื่นๆ ของละครไปเกือบหมดแล้ว

ศรีอโยธยา

ผลงานลำดับท้ายๆ ของศรัณยูในฐานะนักแสดง ที่ผมติดตามดูอย่างต่อเนื่องจริงจัง ก็คือ ซีรีส์ “ศรีอโยธยา” สองซีซั่น โดย “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล”

พระเจ้าบรมโกศ

น่าแปลกใจที่ตัวละคร “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ซึ่งสวมบทโดยศรัณยู ก็ยังคงถูกห่อหุ้มด้วยความเศร้า ความทุกข์ และความลังเล ไม่ต่างอะไรจากตัวละคร “พระเฑียรราชา/สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”

การเมือง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานะ-ภาพลักษณ์ของศรัณยูในช่วง 15 ปีสุดท้ายของชีวิต นั้นผูกพันอย่างแยกไม่ขาดจากบทบาท ท่าที ความคิด และแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา

ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหมดจะถูกประเมินค่าด้วยผลลัพธ์ ณ ปัจจุบัน และผลต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า ในนามของ “ประวัติศาสตร์”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.