จุดที่ชอบมาก
ผมชอบวัตถุดิบหลักของหนังสารคดีเรื่องนี้ นั่นคือการไปตามติดชีวิตการหาเสียงเมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ของหมอชลน่าน ศรีแก้ว หมอบัญญัติ เจตนจันทร์ หมอภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ เพื่อนนักเรียนแพทย์ศิริราช ซึ่งหันมาทำงานการเมืองคล้ายๆ กัน แต่ต่างพรรค
ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับ/ผู้บันทึกเรื่องราว คือ คุณหมอเดชา ปิยะวัฒน์กูล จะตั้งใจหรือไม่ แต่ไปๆ มาๆ การตามติดสามคุณหมอนักการเมือง ได้นำไปสู่ผลลัพธ์สามแบบบนจอภาพยนตร์
หนังประสบความสำเร็จในการฉายภาพหมอชลน่านออกมาเป็นมนุษย์สามัญ (แบบลูกผู้ช้ายลูกผู้ชาย) ผู้เคยผ่านการสูญเสียสำคัญในวัยเยาว์ ผู้คลุกคลีใกล้ชิดเข้าถึงชาวบ้านด้วยสื่อกลางเช่นสุราและซองงานศพ ผู้เป็นมนุษย์ที่อาจไม่ได้มีแง่มุมความคิด/ทัศนคติชีวิตดีงามราวพระเอกไปเสียทุกเรื่อง (ผมคิดว่าเนื้อหาพาร์ตนี้จะนำไปสู่ข้อถกเถียงมากพอสมควร ทั้งต่อตัวซับเจ็คท์คือหมอชลน่าน หรือต่อตัวผู้ถ่ายทำคือหมอเดชา)
หนังทำหน้าที่ได้น่าพอใจในการฉายภาพหมอบัญญัติ ผ่านสถานะนักการเมืองผู้มีอดีตเป็น “นายแพทย์” ซึ่งเคยประสบกับทางแพร่งของวิชาชีพ
ถ้าใครหวังจะมาดู “ภาพยนตร์สารคดีการเมือง” ที่ฉายภาพการต่อสู้ขับเคี่ยวผ่านการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น หนังเรื่อง “ชะตาธิปไตย” ก็เล่าเรื่องราวในแง่มุมนี้ได้อย่างสนุกถึงอารมณ์ เมื่อกล่าวถึงความพยายามในการหวนคืนสภาผู้แทนราษฎรของหมอภูมินทร์ ที่เคยเป็นคนแรกของรุ่นซึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.
จุดน่าเสียดาย
“ชะตาธิปไตย” ถ่ายทำกันเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งมาตรฐานโปรดักชั่นโดยเฉลี่ยยังไม่ดีและง่ายเหมือนในปัจจุบัน หนังจึงมีปัญหาพอสมควรเรื่องการบันทึกเสียง แม้ว่าน่าจะผ่านการปรับปรุงในขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นมาบ้างแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวยังดำรงอยู่ (ซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษเลยกลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ในกรณีที่รับฟังเสียงพูดของซับเจ็คท์ได้ไม่ชัดเจนนัก)
อีกประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือ ผมรู้สึกว่าหนังใช้ดนตรีประกอบเยอะแยะฟุ่มเฟือย ชนิดแทบไม่มีจุดหยุดพัก ดังนั้น ในหลายๆ ซีน เสียงดนตรีจึงดังมากลบเสียงพูดของซับเจ็คท์ที่ฟังไม่ค่อยชัดอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ปัญหาเรื่องเสียงยังปรากฏในวอยซ์โอเวอร์ช่วงเปิด-ปิดเรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นเสียงพูดของคุณหมอเดชาเอง เรื่องเนื้อหาสาระที่เสียงบรรยายเหล่านั้นพยายามสื่อออกมาคงเป็นอีกประเด็นถกเถียงหนึ่ง ว่าใครเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร
แต่ต้องยอมรับ ณ เบื้องต้น ก่อนว่า คนดูส่วนใหญ่อาจจับใจความสำคัญของเสียงวอยซ์โอเวอร์ที่จม-ไม่ชัดดังกล่าว ได้อย่างยากลำบาก
ส่วนที่หายไป
“ส่วนที่หายไป” ในที่นี้มีอยู่สองส่วน ส่วนแรก คือ บริบทที่ขาดพร่องไปจาก “ชะตาธิปไตย” อย่างน่าเสียดายและน่าตั้งคำถาม ส่วนที่สอง คือ ข้อจำกัดของภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งที่บันทึกถ่ายทำกันเมื่อ 8 ปีก่อน ท่ามกลางบริบทปัจจุบันอันผันแปร
ส่วนแรกที่ผมเห็นว่าเกือบจะล่องหนจาก “ชะตาธิปไตย” ไปอย่างไม่น่าเชื่อ คือ แม้หนังสามารถบอกเล่าสถานการณ์การเลือกตั้ง 2554 โดยเชื่อมโยงกับบริบทรายล้อมข้ออื่นๆ เช่น จุดเริ่มต้นของเหตุน้ำท่วมใหญ่ หรือ กรณีพิพาทเขาพระวิหาร ได้อย่างน่าสนใจ
แต่หนังกลับแทบไม่แตะต้องเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2552-53 อย่างจริงจัง ทั้งที่ระลอกเหตุการณ์ดังกล่าวมีความผูกพันลึกซึ้งกับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น
(หนังเกริ่นถึงเรื่องราวปี 52-53 นิดหน่อย ผ่ายวอยซ์โอเวอร์ตอนต้นเรื่อง และเราอาจสัมผัสความคุกรุ่นหรือบรรยากาศร้าวลึก ได้จากปฏิกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ของบรรดาสามัญชนรอบกายสามคุณหมอ)
ส่วนที่สองซึ่งคงกล่าวโทษ “ชะตาธิปไตย” ไม่ได้ คือ สถานการณ์การเมืองจากปี 2554 มาถึงปี 2562 นั้นเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล
ส่งผลให้เมื่อเรามานั่งดู “หนังสารคดีการเมือง” จาก 8 ปีที่แล้ว ในห้วงเวลาปัจจุบัน เราจะพบความไม่ร่วมสมัยและคำถามที่ตอบไม่ได้ล่องลอยอยู่มากมาย
ทำไมรัฐประหารปี 2557 จึงเกิดขึ้น?
“นักการเมืองตลาดล่าง” เช่น หมอชลน่าน กลายมาเป็นดาวสภาคนสำคัญได้อย่างไร?
หมอภูมินทร์ ในฐานะนักการเมืองพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ผู้หาเสียงว่าสามารถทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้) ยังเป็น “คนเดิม” อยู่หรือไม่ เมื่อย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ?
เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ของหมอบัญญัติ?
แล้วพรรคอนาคตใหม่โผล่ขึ้นมาจากไหน?
ฯลฯ
นี่ย่อมไม่ใช่คำถามที่ “ชะตาธิปไตย” ต้องตอบให้ได้ทั้งหมด แต่ควรเป็นภารกิจตกทอดไปยังหนังสารคดีไทยเรื่องอื่นๆ และคนทำหนังไทยรายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน