The Guardian สัมภาษณ์ “อภิชาติพงศ์” ว่าด้วยความย้อนแย้งในสังคมไทย และอาการ “หัวปะทุ” ของเจ้าตัว
เว็บไซต์ The Guardian เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “The man with the exploding head: the director inspired by his medical condition” (บุรุษผู้มีอาการหัวปะทุ: แรงบันดาลใจที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้รับจากภาวะป่วยไข้ของเขา) ซึ่ง “ฮันนาห์ เอลลิส-ปีเตอร์เซน” ไปสนทนากับ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวไทย
บล็อกคนมองหนังขออนุญาตสรุปสาระสำคัญหลักๆ ของบทสัมภาษณ์ข้างต้น มานำเสนอดังต่อไปนี้
หนึ่ง
อภิชาติพงศ์เพิ่งได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Artes Mundi prize ประจำปี 2018 นี่คือรางวัลซึ่งมอบให้แก่บุคลากรในแวดวงศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร
สอง
เอลลิส-ปีเตอร์เซน ฉายภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ตลอดจนโลกทัศน์ของอภิชาติพงศ์เอง นั่นคือ ภาวะขัดกันระหว่างความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ กับระบบเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ในโลกสมัยใหม่
“ถึงแม้ว่าผมจะพยายามทำความเข้าใจโลกด้วยมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ผมก็ไม่สามารถสลัดอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อว่ามีวิญญาณต่างๆ วนเวียนอยู่รอบตัวเรา ออกไปได้” อภิชาติพงศ์กล่าวและว่า “ผมรู้สึกว่าเมื่อตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขียวขจี ผมจะสามารถสื่อสารกับต้นไม้ทั้งหลาย สื่อสารกับความทรงจำของผืนป่า และสื่อสารกับตัวเอง ได้อยู่เสมอ”
เอลลิส-ปีเตอร์เซน ระบุว่า ไม่เพียงเท่านั้น ภายในสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคู่ตรงข้ามมากมาย
ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติแบบโบราณ ซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่กับภาวะทุนนิยมสมัยใหม่ชนิดเข้มข้น
การเป็น “สยามเมืองยิ้ม” ซึ่งถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร ขณะที่บางพื้นที่ของประเทศ เช่น ภาคอีสานยังมี “บาดแผล” อันเกิดจากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ตกค้างอยู่
ไปจนถึงสภาพการณ์ที่คนไทยราว 95% นับถือศาสนาพุทธ แต่กลับมีพระสงฆ์ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตฉ้อโกงทรัพย์สินจำนวนมหาศาล หรือมีพระสงฆ์ที่ถือกระเป๋าหลุยส์วิตตองขณะโดยสารเครื่องบินส่วนตัว ประเด็นอื้อฉาวเหล่านี้ล้วนย้อนแย้งกับแนวคิดต่อต้านลัทธิวัตถุนิยม ซึ่งถูกเชื่อว่าดำรงอยู่ในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา
อภิชาติพงศ์อธิบายว่าหนังของเขาพยายามปอกเปลือกความขัดแย้งต่างๆ อันแสนซับซ้อนในสังคมไทย แล้วนำเสนอมันออกมาอย่างนุ่มนวลแต่ไม่ประนีประนอมยอมความ
“ในประเทศนี้ มันเต็มไปด้วยสัจจะ ความเป็นจริง หลายระดับชั้นมากๆ” อภิชาติพงศ์อธิบายและกล่าวต่อว่า “(ในบางด้าน) บ้านเมืองพัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว แต่พอมาถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศนี้มีการปราบปรามคนเห็นต่าง แต่ขณะเดียวกัน มันก็เปี่ยมล้นความมีชีวิตชีวา ผมรู้สึกลุ่มหลงในความลักลั่นดังกล่าว”
สาม
ระยะหลัง อภิชาติพงศ์มักนำเสนอภาวะ “หลับใหล” ในภาพยนตร์ของตนเอง เพราะเขามองว่านั่นคืออาณาเขตแห่งการต่อต้านขัดขืน ที่อำนาจเซ็นเซอร์ของรัฐไม่สามารถก้าวล่วงเข้ามาได้
สี่
ระหว่างพัฒนาโครงการภาพยนตร์เรื่อง “Memoria” ซึ่งจะไปถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบียและนำแสดงโดย “ทิลดา สวินตัน” อภิชาติพงศ์ค้นพบว่าตนเองป่วยเป็นโรค “หัวปะทุ” โดยมีอาการได้ยินเสียงดังมากมายในหัวและมองเห็นแสงสว่างวาบยามตื่นนอน
ผู้กำกับรางวัลปาล์มทองคำค่อยๆ แปรอาการเจ็บป่วยให้กลายเป็นองค์ประกอบในภาพยนตร์เรื่องใหม่ เขาไปสัมภาษณ์พูดคุยกับบรรดาหมอและนักจิตวิทยา แล้วเริ่มสนใจในแนวคิดว่าด้วยบาดแผลทางใจ, ความเจ็บปวดรวดร้าว และความทรงจำ
ห้า
อย่างไรก็ตาม อภิชาติพงศ์ยังไม่หมดหวังกับประเทศไทยเสียทีเดียว
เขาหวังที่จะริเริ่มขบวนการผลิตภาพยนตร์สารคดีในบ้านเกิดเมืองนอน
เขายังอยากที่จะทำหนังสยองขวัญแนวฆาตกรโรคจิต และบางที อาจจะรีเมกหนังเรื่อง Grizzly (1976) ซึ่งเป็นผลงานที่อภิชาติพงศ์ชื่นชอบมากที่สุด หากเทียบกับงานเรื่องอื่นในภาพยนตร์ตระกูลนี้
ทว่าในทางการเมือง อภิชาติพงศ์ยังไม่เชื่อว่าจะมีอะไรดีขึ้นหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เขาบอกว่าประชาชนต่างยอมแพ้ในเรื่องนี้ และมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นเหมือนตัวตลก
“ห้าปีที่แล้ว ผมยังมองโลกในแง่บวกมากๆ แต่ตอนนี้ ผมกลับไม่มีความหวังมากนักต่ออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของตัวเอง”
“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย” นี่คือข้อสรุปสั้นๆ ของอภิชาติพงศ์
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.kickthemachine.com/downloads/index.html