คริส เบอร์รี่ นักวิชาการภาพยนตร์ศึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหนังเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์จีน แห่งคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร เพิ่งเขียนบทความถึงหนังที่เขาได้รับชมในเทศกาล ฟาร์ อีสต์ ฟิล์ม เฟสติวัล อูดิเน่ ครั้งที่ 20 ณ ประเทศอิตาลี เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Senses of Cinema
โดยในบทความดังกล่าว มีเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งเบอร์รี่กล่าวถึง “ฉลาดเกมส์โกง” และ “เพื่อนฉัน…ฝันสลาย” (Sad Beauty) หนังไทยสองเรื่องที่เขาได้ดูในเทศกาล
นักวิชาการอาวุโสผู้นี้ชี้ว่าหนังไทยทั้งคู่เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสาน “ตระกูลทางภาพยนตร์” (genre) ที่หลากหลายลงในหนังเรื่องเดียว
โดย “ฉลาดเกมส์โกง” ของนัฐวุฒิ พูนพิริยะ พูดถึงความขัดแย้งทางชนชั้นผ่านปัญหาเรื่องระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม หนังพยายามแบ่งแยก “ความถูก” และ “ความผิด” ออกจากกันอย่างชัดเจน
สำหรับเบอร์รี่ จุดเด่นของหนังเรื่องไทยนี้ คือ การผสมผสานตัวละครและบรรยากาศแบบภาพยนตร์แนว “ไฮสกูล” เข้ากับโครงสร้างเรื่องราวของหนังในตระกูล “โจรกรรม”
ซึ่งนำไปสู่การเร้าอารมณ์ผู้ชมได้ในหลายช่วงตอน
ขณะเดียวกัน นักวิชาการแห่งคิงส์ คอลเลจ เขียนถึง “เพื่อนฉัน…ฝันสลาย” ของบงกช เบญจรงคกุล (คงมาลัย) เอาไว้อย่างน่าสนใจ
กล่าวคือ แม้หนังจะมีฉากหน้าเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมและเรื่องราวแนว “โร้ดมูฟวี่” แต่ระหว่างการดำเนินเรื่องกลับมีลักษณะของภาพยนตร์ตระกูลอื่นๆ สอดแทรกเข้ามาอย่างหลากหลาย
ทั้งแนวทางแบบ “เมดิคัล เมโลดราม่า” เมื่อตัวละครนำหญิงรายหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง พ่วงด้วยความเป็นหนัง “สยองขวัญ” ยิ่งกว่านั้น วิธีการเล่าเรื่องแบบ “สัจนิยม” ยังผลักดันผู้ชมให้ไปประสบพบเจอกับอารมณ์แตกตื่นชวนเหวอสุดขีด ซึ่งสถานการณ์ทำนองนี้มักไม่ค่อยปรากฏในหนังที่เลือกจะจำกัดตนเองเอาไว้ใน “ตระกูลภาพยนตร์” ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
คริส เบอร์รี่ ตบท้ายถึงหนังไทยเรื่องหลังว่า ผู้กำกับคือบงกชนั้นเลือกวิธีการที่สุ่มเสี่ยง แต่ผลตอบแทนที่ได้ กลับคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง