โดยส่วนตัว รู้สึกว่าท่ามกลางภาวะชุลมุนวุ่นวาย แวะโน่นแวะนี่ไปเรื่อยๆ หนังมันนำเสนอ “ข้อขัดแย้ง” หรือ “การเทียบเคียง” ในหลากหลายประเด็นดี
ในจำนวนนั้น “ประเด็นขัดแย้ง/การเทียบเคียง” เท่าที่ตัวเองรู้สึกว่าน่าสนใจ น่าสนุก และค่อนข้างอิน ก็คือ
หนึ่ง
ข้อขัดแย้งระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น/ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างความหลากหลาย (ไม่ว่าจะดิบเถื่อนถึงขีดสุดขนาดไหน) กับ ข้อห้ามเรื่องการเหยียด หรือเรื่องการล่วงละเมิดกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ตั้งแต่ที่จำแนกด้วยอายุ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ (พูดง่ายๆ คือ เรื่องความถูกต้องทางการเมือง)
ประเด็นนี้ หนังฉายภาพให้เห็นถึงการพยายามจะขยับขยายขอบเขตของงานศิลปะ ตลอดจนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันอาจนำไปสู่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างขึ้น หรือวุฒิภาวะที่สูงขึ้นของสังคมโดยรวม ในการอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย (ทั้งในทางวัฒนธรรม ไปจนถึงทางสุขภาพกาย-ใจ)
แต่ขณะเดียวกัน ในการนี้ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะก็จะไม่ได้เป็นแค่ “ภัณฑารักษ์” อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นทั้งเจ้าของโปรเจ็คท์สินค้าบางอย่าง คนขายของ เซเล็บ ซึ่งมีตัวมีตน หรือมีส่วนร่วมกับผลงานที่ถูกจัดแสดงยิ่งกว่าศิลปินเจ้าของผลงานเสียอีก
เช่นเดียวกัน เมื่อทางทีมงานพิพิธภัณฑ์ต้องการจะโปรโมทนิทรรศการใหม่ของตน “สื่อมวลชน” ที่พวกเขาเชิญมาร่วมงาน ก็มิได้เป็น “นักข่าวสายศิลปวัฒนธรรม” อะไรทำนองนั้น แต่เป็นหนุ่มนักทำไวรัลคลิปสองคน ซึ่งคลิปของพวกเขาจะส่งผลกระทบสำคัญต่อพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ในเวลาต่อมา
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ การพยายามขยายขอบเขตดังกล่าวของงานศิลปะและการทำหน้าที่สื่อ ยังพัวพันโดยมิอาจแยกขาดจากการเหยียดหรือการล่วงละเมิดกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม
ภัณฑารักษ์หนุ่มใหญ่ใช้อำนาจผ่านสถานภาพที่ได้เปรียบบางอย่าง ในเกมเซ็กส์ซึ่งเขาร่วมเล่น/ต่อรองกับสาวอเมริกัน
เพราะความหน้ามืดตามัว ภัณฑารักษ์คนเดิมพยายามตามหาโทรศัพท์มือถือที่ถูกลักขโมยไป ซึ่งมีสัญญาณเครื่องปรากฏขึ้น ณ แฟลตที่อาศัยของเหล่าคนยากจน ด้วยวิธีการที่บ้าบอเหลือเชื่อ จนเขามีกรณีขัดแย้ง/บาดแผลค้างคาใจกับเด็กน้อยที่น่าจะมีเชื้อสายมุสลิม (น่าสนใจว่า ผู้ที่เป็นต้นคิดให้ภัณฑารักษ์ก่อเรื่องราวนี้ขึ้น คือ ลูกน้องผิวดำของเขา)
และก็เป็นอีตาภัณฑารักษ์นี่แหละ ที่ไม่เคยสนใจไยดีกับคนจรจัดยากจนผู้ร้องขอความช่วยเหลือเจือจุนตามท้องถนนซักเท่าไหร่ สวนทางลิบลับกับคอนเซ็ปท์ของงานศิลปะชิ้นใหม่ในพิพิธภัณฑ์ที่เขาดูแลอยู่
รวมถึงไฮไลท์สำคัญตอนท้าย คือ คลิปโปรโมทนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่ใช้ “เด็กฝรั่งผมทอง” มาแสดงเป็นเหยื่อของสถานการณ์บางอย่าง ซึ่งฉายให้เห็นถึงความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับข้อคำนึงถึงเรื่องความถูกต้องทางการเมืองอย่างชัดเจน
ระหว่างดูหนังเรื่องนี้ ผมจะนึกถึง Hidden อยู่นิดๆ เป็นครั้งคราว แต่สุดท้าย ก็รู้สึกว่า The Square เดินทางมาไกลกว่าหนังเรื่องนั้นพอสมควร ตามยุคสมัยและปัญหาทางสังคม-การเมือง (ในทวีปยุโรป) ที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
(อย่างน้อย จุดหนึ่งที่น่าสนใจใน The Square ก็คือ ภาวะที่พลเมืองชั้นสองในสังคมไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนกลุ่มนี้ประกอบด้วยหลายเสี้ยวส่วน มีทั้งส่วนที่ปรับตัวเข้าหาชนชั้นนำในสังคมได้ และส่วนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ตรงชายขอบ แล้วเข้ามาก่อกวน/ปะทะกับคนระดับบน/ในศูนย์กลางอำนาจชั่วครั้งคราว)
สอง
การเทียบเคียงระหว่างคุณค่าสูงส่งของ “งานศิลปะ” กับ ภาวะสาธารณ์ของ “สื่อสมัยใหม่” โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต/โซเชียลมีเดีย
พร้อมๆ กับการพูดถึงข้อขัดแย้งประการแรก หนังก็กล่าวถึงการเทียบเคียงในประเด็นที่สองไปด้วยพร้อมๆ กัน
(เช่น กรณีไวรัลคลิป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทั้งข้อขัดแย้งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับความถูกต้องทางการเมือง และรอยต่อระหว่างงานศิลปะกับการสื่อสารในยุคโซเชียลมีเดีย)
ที่น่าสนใจ คือ หนังทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคู่ตรงข้ามที่ต่างขั้วกันหรือไม่ก็ตาม “งานศิลปะในพิพิธภัณฑ์” และ “สื่อใหม่ในอินเตอร์เน็ต” ล้วนมีพลัง มีทุน มีกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจะสนับสนุน และมีด้านอัปลักษณ์ของตัวมันเอง คล้ายคลึงกัน
ถ้าพลังและภาวะอัปลักษณ์ของ “สื่อใหม่” ปรากฏผ่านไวรัลคลิปอื้อฉาวช่วงท้ายเรื่อง
พลังและภาวะอัปลักษณ์ของ “ศิลปะชั้นสูง” ก็สำแดงตนผ่านปฏิกิริยาที่แขกผู้มีเกียรติ/ผู้สนับสนุนในแวดวงศิลปะชั้นสูง มีต่อการแสดงยั่วล้ออารมณ์และความถูกต้องทางการเมืองของ “โอเลก”
เช่นเดียวกัน การแสดงของ “โอเลก” และปฏิกิริยาโต้กลับของบรรดาชายใส่สูทผูกหูกระต่าย ยังแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของเสรีภาพและความอดทนอดกลั้นได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่ามีจุดติดขัดอะไรบ้างหรือไม่? ระหว่างนั่งชมหนังรางวัลปาล์มทองคำปีล่าสุดจากประเทศสวีเดนเรื่องนี้
ส่วนตัว ผมมีจุดงงๆ อยู่สองข้อ
ข้อแรก คือ จนตอนนี้ผมก็ยังแอบสงสัยว่าทำไมคุณภัณฑารักษ์และลูกน้องผิวดำจึงจัดการเรื่องโทรศัพท์มือถือถูกขโมยด้วยวิธีการที่เลยเถิดได้ถึงขนาดนั้น? 555
(ถ้าให้เดา นั่นอาจเป็นภาวะแปลกแยกตัวใครตัวมันจนเคว้งคว้างทำอะไรไม่ถูกเมื่อเจอปัญหาง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ของผู้คนในมหานครระดับ global city หรืออีกทางหนึ่ง นั่นก็อาจเป็นปัญหาของวิถีชีวิตที่แทบจะปลอดจากเจ้าหน้าที่รัฐตัวเป็นๆ อาทิ ตำรวจ)
อีกข้อ คือ คงมีหลายคนรู้สึกว่าหนังมีอาการรุ่มร่ามอยู่พอสมควร สำหรับผม ผมเห็นว่าหนังใช้ตัวละครเปลืองไปนิด
ถ้าใครได้ดูหนังแล้ว ก็คงพบว่า The Square ประกอบไปด้วยส่วนเสี้ยวเรื่องราวต่างๆ จำนวนมาก โดยแต่ละเสี้ยวส่วน ที่นำไปสู่ประเด็นข้อถกเถียง/ขัดแย้งอันแตกต่าง (หรือสอดคล้อง) กันไป ก็จะมีตัวละครสมทบรายเล็กรายน้อยปรากฏขึ้น
ผมยังรู้สึกว่าตัวละครสมทบบางรายสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่ง (หรือทำหน้าที่เกินเลยจากส่วนเสี้ยวที่ตนเองมีบทบาทจำเพาะอยู่) เพื่อหนังจะได้ลดทอนตัวละครเล็กๆ น้อยๆ รายอื่นออกไปบ้าง
แต่ดูเหมือนผู้กำกับจะเลือกจำกัดตัวละครมากมายเหล่านั้นไว้ในส่วนเสี้ยว/หน้าที่เฉพาะของพวกเขา และไม่พยายามควบรวมตัวละครหรือตัดทอนใครออกไป
เช่น เพื่อจะกล่าวถึงความขัดแย้งหรือสายสัมพันธ์ระหว่างภัณฑารักษ์ฐานะดีกับกลุ่มคนยากจน/คนชายขอบ/คนผิวสีในสังคม
ขณะที่ตัวละครภัณฑารักษ์อันเป็นศูนย์กลางของหนังมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว แต่ตัวละครคู่ตรงข้ามกลับมีทั้งหนุ่มผิวสี/สาวมุสลิมในพิพิธภัณฑ์ เด็กชายมุสลิมในแฟลตคนจน และแก๊งแว้นมอเตอร์ไซค์หน้าแฟลต (ไม่รวมถึงคนยากจนจรจัดอีกมากหน้าหลายตาที่ปรากฏกายบนจอภาพยนตร์แบบผ่านมาแล้วก็ผ่านไป)
ซึ่งตัวละครบางรายก็ถูกทิ้งขว้างออกไปอย่างง่ายๆ และน่าเสียดาย หลังจากหมดสิ้นบทบาทสั้นๆ ของตนเอง อาทิ เจ้าหน้าพิพิธภัณฑ์ที่เป็นสาวมุสลิม และแก๊งมอเตอร์ไซค์