6 เพลงในความทรงจำ จากอัลบั้ม “Rhythm & Boyd”

วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ จะมีคอนเสิร์ต “BOYdKO50th #1 RHYTHM & BOYd THE CONCERT” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระอายุครบ 50 ปี ของ “บอย โกสิยพงษ์” และเนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปี ของอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรกสุดของบอย

ถ้านับตามข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์โดยทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ต ก็เท่ากับว่าอัลบั้มชุดดังกล่าวได้ออกวางแผงตั้งแต่ปี 2537 สอดคล้องกับข้อมูลบนปกเทปเองที่ตีพิมพ์ว่างานชุดนี้ผลิตใน ค.ศ.1994 (หรือ พ.ศ.2537)

แต่ผมคิดว่าอัลบั้มชุดนี้น่าจะวางแผงราวปี 2538 (สมัยผมเรียน ม.2) ภายหลังกระแสความโด่งดังจากอัลบั้มชุดแรกของ “โมเดิร์นด็อก” เมื่อปี 2537 ขณะผมเรียน ม.1

ที่ผมจำเรื่องนี้ได้ เพราะสมัย ม.1 ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่คลั่งไคล้โมเดิร์นด็อกเอามากๆ แล้วพอเราได้ยินพี่ป๊อดไปร้องเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ให้พี่บอย ในมินิอัลบั้มที่มีแค่เพลง “รักคุณเข้าแล้ว” “คลั่ง” และ ท่อนอินเทอร์ลูดของ “ลมหายใจ” (เวอร์ชั่นพี่รัดเกล้า) พวกเราก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่อัลบั้มเต็มของพี่บอยจะวางแผงเสียที

แต่สุดท้าย อัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ก็ไปวางจำหน่ายตอนเราเรียน ม.2 ซึ่งผมกับเพื่อนคนนั้นไม่ได้อยู่ห้องเดียวกันอีกแล้ว

ผมจำได้ว่าช่วงเที่ยงวันหนึ่งของปี 2538 ผมเจอหน้ามันหน้าตึกเรียน แล้วรีบบอกว่าอัลบั้มเต็มของบอยวางแผงแล้ว ให้รีบไปซื้อซะ เพราะมีพี่ป๊อดร้องให้หลายเพลงอยู่

IMG_2750

พอเช็กข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ก็พบว่าผลงานชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2538 จริงๆ

เอาแหละ ทีนี้จะมาว่ากันถึงเรื่องเพลงที่ผมชอบมากๆ จากอัลบั้มชุดดังกล่าว

จนถึงปัจจุบัน มีเพลงจากผลงานชุดนั้นจำนวน 6 เพลง ที่ยังติดอยู่ในความทรงจำของผม ได้แก่

รักคุณเข้าแล้ว

แน่นอนนี่เป็นเพลงเอกเพลงแรก ที่ทำให้คนฟังเพลงไทยได้รับรู้ถึงการทำงานร่วมกันของพี่บอยกับพี่ป๊อด ตัวเพลงนั้นโด่งดังก่อนอัลบั้มเต็มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” เสียอีก เพราะถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณา แถมยังมีมินิอัลบั้ม “บอยด์” ซึ่งบรรจุ “รักคุณเข้าแล้ว” สามเวอร์ชั่น ออกมาวางจำหน่ายเรียกน้ำย่อย ก่อนหน้าอัลบั้มเต็ม

จำได้ว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ผมรู้จัก (หมายถึงคนตั้งแต่รุ่นอายุ 30 ปลายๆ ถึง 50 ต้นๆ ณ ปีนั้น) ไม่ค่อยปลื้ม “รักคุณเข้าแล้ว” แบบบอย และลีลาการร้องของป๊อดมากนัก

บางคนไม่ชอบพี่ป๊อดตั้งแต่ได้เห็นการแสดงอันแหวกแนวของเขากับโมเดิร์นด็อกในรายการทไวไลท์โชว์ ยิ่งพอได้มาฟังการร้องเพลงลูกกรุงคลาสสิคด้วยน้ำเสียงลากเลื้อยแบบริธึ่มแอนด์บลูส์เข้าให้อีก ความรู้สึกแปลกแยกที่มีต่อพี่ป๊อด (และพี่บอย) ก็เลยแผ่ขยายไปกันใหญ่

ผมไม่แน่ใจว่าอารมณ์ความรู้สึกร่วมแง่ลบแบบนั้นมันค่อยๆ จางหายไปเมื่อไหร่? แต่เท่าที่จำได้ ในอีกไม่กี่ปีถัดมา มีผู้ใหญ่ที่ผมรู้จักคนหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบพี่ป๊อดสมัยโมเดิร์นด็อกชุดแรกและเพลงจากอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” เอามากๆ เผลอฮัมเพลง “ห่างไกลเหลือเกิน” (เพลงเด่นจากอัลบั้มเต็มชุดที่สองของพี่บอย ซึ่งได้พี่ป๊อดมาช่วยขับร้องเช่นเดิม) ออกมาให้ผมได้ยิน

อคติที่แกเคยมีกับพี่บอย-พี่ป๊อดคงเหือดหายไปตั้งแต่ช่วงนั้น

คืนนี้

นี่อาจไม่ใช่เพลงที่โด่งดังสุดๆ จากอัลบั้มชุดนั้น แต่เชื่อว่าถ้าใครได้ฟัง “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” แบบครบทุกเพลง พวกเขาคงต้องตกหลุมรักเพลงสามหน้าเอที่ชื่อ “คืนนี้”

ทั้งเพราะท่วงทำนองที่ติดหู เสียงกีต้าร์เท่ๆ ท่อนพูดบ่นพึมพำที่หาฟังไม่ได้จากเพลงไทยยุคนั้น และที่สำคัญ เสียงร้อง/วิธีการร้องเพลงของ “พี่น้อย” หรือ “กฤษดา สุโกศล แคลปป์” ที่แหวกจารีตของนักร้องชายยุคทศวรรษ 2530 อย่างสิ้นเชิง

หลายปีต่อมา ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เมื่อได้เห็นการเปิดตัวของวง “พรู” ที่มีพี่น้อยเป็นนักร้องนำ ในงาน “เบเกอรี่ เดอะ คอนเสิร์ต” (น่าสนใจว่า วิธีการร้องเพลงสมัยทำงานกับพรูนั้นมีความผิดแผกแตกต่างจากสมัยที่พี่น้อยเริ่มร้องเพลงให้พี่บอยอยู่พอสมควร)

ฤดูที่แตกต่าง

แม้อัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” จะปูทางมาด้วยการถูกพูดถึงในวงกว้างพอสมควรของ “รักคุณเข้าแล้ว” แต่จู่ๆ “ฤดูที่แตกต่าง” ก็กลายเป็นเพลงที่ค่อยๆ เข้ามาขโมยซีน และแทบจะมีสถานะเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของอัลบั้ม จนต้องมีการผลิตอีพี “ฤดูที่แตกต่าง” หลายเวอร์ชั่นออกตามมา (นี่เป็นแนวทางการตลาดที่โดดเด่นมากๆ ในยุคเริ่มต้นค่ายเบเกอรี่ มิวสิค)

“ฤดูที่แตกต่าง” คือเพลงที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความรัก ซึ่งมีคำร้องติดปาก และท่วงทำนองไพเราะติดหู ในยุคที่เพลงป๊อปไทยร้อยละ 99 จากสองค่ายใหญ่ล้วนเป็นเพลงรัก และถึงแม้จะมีการเขียนเพลง “ไม่รัก” ออกมาโดยบรรดาทีมนักแต่งเพลงมืออาชีพ แต่ผลงานเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยอาการเกร็งและความเชย จนไม่มีคุณสมบัติเพลงฮิต-เพลงเพราะ

พร้อมๆ กับการเป็นที่รู้จักของ “ฤดูที่แตกต่าง” นักร้องดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง “นภ พรชำนิ” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในวงการเพลงไทย ซึ่งเขาจะกลายเป็นขุนพลสำคัญของค่ายเบเกอรี่และเลิฟอีสในเวลาต่อมา

มีเรื่องตลกส่วนตัว คือ สมัย ม.ต้น ผมมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ชอบงานของบอยเช่นกัน แต่เพื่อนคนนี้จะพูดจาแบ่งวรรคตอนแบบแปลกๆ หนึ่งในความแปลกที่มันเคยเอ่ยออกมา ก็ได้แก่ การเรียกชื่อคนร้องเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” ว่า “นภพร ชำนิ” อยู่นานเป็นเทอม

เจ้าหญิง

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “เจ้าหญิง” คือผลงานที่ไพเราะและทรงเสน่ห์มากๆ อีกหนึ่งเพลง ในอัลบั้มชุดแรกของพี่บอย ยิ่งกว่านั้น เพลงเพลงนี้ยังช่วยขับเน้นให้เห็นศักยภาพการเป็นนักร้องชั้นยอด (หลากหลายแนวทางและเปี่ยมพลังงาน) ของพี่ป๊อด

ผมเข้าใจว่าหลังภาวะฮิตกระจายจากอัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก และออร่าที่เปล่งประกายออกมาในฐานะเสียงร้องหลักๆ ของอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” พี่ป๊อดเองคงประสบกับทางแยกสำคัญเหมือนกัน ว่าเขาควรจะเดินไปบนเส้นทางสายศิลปิน/นักแต่งเพลง ร่วมกับผองเพื่อนในวง หรือเลือกจะมาเป็นนักร้องเสียงเอก ที่รับงานได้หลากแนวหลายสไตล์

น่าสนใจว่าพี่ป๊อดเลือกเดินบนทางสายแรก ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายแนวทางการทำงานของตนเอง เมื่อมีอายุมากขึ้น และโมเดิร์นด็อกมิใช่วงดนตรีสำหรับคนฟังเพลงในวงกว้างระดับแมสอีกต่อไป

ดอกไม้

ถ้า “เจ้าหญิง” ช่วยตอกย้ำถึงศักยภาพการเป็นนักร้องที่ยอดเยี่ยมของพี่ป๊อด “ดอกไม้” ก็ช่วยเน้นย้ำถึงสถานะนักร้องน่าจับตาของพี่นภ

ณ พ.ศ.2538 เพลง “ดอกไม้” นั้นมีลักษณะแหวกแนวคล้ายคลึงกับเพลง “คืนนี้” นั่นคือ ทั้งสองเพลงถูกขับร้องโดยนักร้องชาย (แต่) ด้วยสำเนียง (เสียงเล็กเสียงน้อย) ที่กระเดียดมาทางผู้หญิง

สำหรับเด็กวัย 13-14 ปี ที่เพิ่งฟังเพลงอย่างจริงจังมาราว 2-3 ปี อย่างผม เสียงร้องของพี่น้อยและพี่นภนับเป็นอะไรที่เท่ เก๋ แปลกใหม่ แบบสุดๆ

จะเก็บเธออยู่ในใจเสมอ

แล้วก็มาถึงเพลงที่เจ้าของอัลบั้มอย่างพี่บอยขับร้องเอง ซึ่งแกก็ทำหน้าที่ได้ดีตามสมควร

อย่างไรก็ตาม เพลง “จะเก็บเธออยู่ในใจเสมอ” สำหรับผม มีคุณสมบัติพิเศษประการอื่นอีกหนึ่งข้อ นั่นคือ มันเป็นเพลงเพราะๆ เล่นง่ายๆ ร้องง่ายๆ

ขอเพียงคุณเป็นคนร้องเพลงพอได้ ถ้าคุณนำเพลงนี้ไปขับร้อง ไม่ว่าจะในบรรยากาศการล้อมวงเล่นกีต้าร์โปร่งรอบกองไฟ หรือในร้านคาราโอเกะ ยังไงซะ เพลงก็จะออกมาไพเราะอย่างน่าทึ่ง

นี่คือคุณลักษณะของ “เพลงป๊อปที่ดี” ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้แก่ผู้แต่ง คือ พี่บอย นั่นเอง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ผมจะไปร่วมฟัง-ร่วมร้องเพลงเหล่านี้ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.