ปรับปรุงจากบทความ เขียนถึง “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” และ “มะลิลา” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 ธันวาคม 2560
ตามความเห็นส่วนตัว “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ถือเป็นผลงานระดับ “ดี” ของเป็นเอก แต่ไม่ได้ “ดีที่สุด”
ถ้าให้เปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับฯ คนเดียวกัน หนังเรื่องนี้คล้ายจะมีลักษณะร่วมกับ “ฝนตกขึ้นฟ้า” อยู่ไม่น้อย หากพิจารณาจากแก่นแกนความคิดหลักที่ถูกนำเสนอผ่านหนังทั้งสองเรื่อง ซึ่งว่าด้วยการดิ้นรนหลบหนีและเปลี่ยนแปลงตนเองของ “คนสีเทา” ตัวเล็กๆ กับการแผ่ขยายอิทธิพลอันไพศาลของโครงสร้างอำนาจขนาดใหญ่
หนังเล่าเรื่องของดารานางร้ายละครโทรทัศน์ชื่อดังที่ใช้ชีวิตคู่อย่างไม่ค่อยมีความสุขนักกับสามีเศรษฐีฝรั่ง ผู้อุทิศตนให้แก่ลัทธิความเชื่อประหลาด
ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างดาราหญิงกับสามีต่างชาติและเจ้าลัทธิค่อยๆ ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เธอตัดสินใจว่าจ้างหนุ่มลูกครึ่งฐานะขัดสน ซึ่งพบเจอกันโดยบังเอิญที่โรงพยาบาล ให้เข้ามาช่วยเคลียร์ปัญหา
ก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะพัวพันยุ่งเหยิงจนสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
ถ้าให้สรุปประเด็นอย่างรวบรัด ผมตีความว่า “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กำลังพูดถึงสายสัมพันธ์/ความขัดแย้งระหว่าง “รูปแบบที่หลากหลายและการพลิกผันของเรื่องเล่า” กับ “โครงสร้างอันแข็งตัวของอำนาจ”
หนังพยายามหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ถ้าเรา (คนเล็กๆ ผู้ต้องการจะทดลองเล่าเรื่องของตัวเอง) ลองพลิกมุมมอง สลับสับเปลี่ยนตัวละคร หรือเคลื่อนย้ายฉากหลังของเรื่องราว จนก่อเกิดเป็นเรื่องเล่าลื่นไหลหลากชนิดเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้มีอำนาจ
การทดลองดังกล่าวจะส่งผลให้โครงสร้างอำนาจที่แลดูแข็งแกร่งตายตัวสั่นคลอนหรืออ่อนแอลงบ้างหรือไม่?
โจทย์ใหญ่ของ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ถูกขับเคลื่อนด้วยระลอกสถานการณ์พลิกผันจำนวนมาก
หนังมีอะไรหลายจุดที่ชี้ชวนให้คนดูนึกถึงผลงานเรื่องก่อนๆ ของเป็นเอก ตั้งแต่ “กิมมิก” เล็กๆ น้อยๆ จนถึงลักษณะการนำพาเรื่องราวให้เลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ ผ่านความบังเอิญ ความสะเพร่า ความน่าชวนหวัว ตลอดจนความไม่น่าเชื่อถือ (แต่สนุกสนานตามสมควร)
ใครที่ชอบ “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” และ “เรื่องตลก 69” คงเพลิดเพลินกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก
ตัวละครที่มีเสน่ห์มากๆ รายหนึ่งใน “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กลับไม่ใช่เหล่าตัวละครหลัก แต่เป็น “แม่ผู้ป่วยหนัก” ของนักฆ่าลูกครึ่ง ที่ดำรงอยู่คู่เคียงกับอารมณ์ตลกร้าย และ “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์” ภายในหนัง
เป็นตัวละครนักฆ่าหนุ่มต่างหากซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบแปลกๆ ไม่น่าเชื่อถือมากมาย แต่พอนำตัวละครรายนี้ไปประกบทาบกับสามีฝรั่งของนางเอก ภาพเปรียบเทียบเช่นนั้น กลับสามารถทำให้เรามองเห็นความหลากหลายของ “ฝรั่ง” ในเมืองไทย ได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับตัวละครเจ้าลัทธิประหลาด หรือ “เดอะ โฮลี่ วัน” (เจ้าคณะ) เท่าที่จับได้จากบทสนทนาช่วงต้นเรื่อง ดูเหมือนว่าทีแรกสุด ผู้กำกับฯ คงอยากจะใช้เขาเป็น “ภาพแทนของพระสงฆ์จริงๆ” เลยด้วยซ้ำ
แต่หนังก็ค่อยๆ คลี่คลายสถานการณ์ให้ตัวละครรายนี้เป็นเพียงเจ้าลัทธิฆราวาส โดยมีรายละเอียดหนักแน่นบางประการมาช่วยรองรับสถานะดังกล่าวในตอนจบ
อีกจุดเด่นหนึ่งที่มักปรากฏในภาพยนตร์ของเป็นเอกเสมอมา คือ การเลือกใช้นักแสดงหญิงได้อย่างเก่งกาจ
“ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” มิได้มีแค่ดาวร้ายละครทีวีที่รับบทโดย “พลอย เฌอมาลย์” เป็นตัวละครนำหญิงผู้โดดเด่นรายเดียว และนอกจาก “แม่ของนักฆ่าลูกครึ่ง” ผู้โผล่มาขโมยซีนนิดๆ หน่อยๆ แล้ว ยังมีตัวละคร/นักแสดงหญิงลึกลับอีกหนึ่งราย ซึ่งจะปรากฏกายขึ้นพร้อมบทบาทสำคัญมากในช่วงท้าย
ตัวละครหญิงคนนี้ทำให้ผมคิดถึงบทบาทของ “พรทิพย์ ปาปะนัย” ใน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” และ “พลอย” เพราะพวกเธอต่างเป็นตัวละครระดับรองที่มีโอกาสออกจอในเวลาไม่มากนัก
ทว่า บุคลิกลักษณะและฝีมือการแสดงของตัวละคร/นักแสดงหญิงเหล่านี้กลับน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง
องค์ประกอบที่น่าเสียดายใน “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” คือ บรรดาตัวละครสมทบเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ได้มีเสน่ห์เฉพาะตนหรือไม่มีอารมณ์ตลกหน้าตายซื่อๆ ใสๆ เหมือนนักแสดงสมทบที่น่าประทับใจในผลงานชิ้นแรกๆ ของเป็นเอก
แม้ผู้กำกับฯ จะพยายามสร้างตัวละครประเภทนี้ขึ้นมาอีกครั้งในหนังเรื่องล่าสุดก็ตาม
เช่นเดียวกับเรื่องเพลงประกอบ ที่หลายครั้ง เป็นเอกมักเลือกสรรบทเพลงของศิลปินผู้ไม่ค่อยโด่งดัง (อาทิ อารักษ์ อาภากาศ และ จ๊อบ บรรจบ พลอินทร์) มาใส่ในหนังของตนเองได้อย่างแพรวพราวเหมาะเจาะ
แต่คุณสมบัติข้อที่ว่ากลับมิได้ฉายส่องออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้