เขียนถึง “หนังสั้น 21” เท่าที่ได้ดู (2)

ย้ายรัง (ติณห์นวัช จันทร์คล้อย)

ย้ายรัง

ในแง่ “ความเป็นหนัง” แบบ “เพียวๆ” หนังสารคดีเรื่องนี้อาจไม่โดดเด่นทรงพลังมากนัก

แต่ผมชอบสิ่งที่ “ย้ายรัง” พยายามนำเสนอ นั่นคือ การฉายภาพให้เห็นถึง “กระบวนการแทบทุกส่วน” ของการทำหนังสารคดี เพื่อตอบโจทย์ทางสังคมและโจทย์ขององค์กรที่มอบเงินทุนสนับสนุน

หากพิจารณาลงลึกไปในแต่ละเสี้ยวส่วน “ย้ายรัง” อาจไม่ได้มีอะไรใหม่หรือเตะตาแบบสุดๆ เช่น การเผยให้เห็นตัวตน-วิธีคิดของคนทำหนัง/กิจกรรมเพื่อสังคม หรือ การให้บรรดาซับเจ็คท์ในหนังได้มีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์เรื่องราว ก็มีหนังสารคดีเรื่องอื่นทำกันมาจนเกร่อแล้ว

หรือเอาเข้าจริง ในตอนจบที่ฉายให้เห็นผลลัพธ์ของโครงการพัฒนาที่หนังสารคดีเรื่องนี้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ก็ออกจะดู “แปลกๆ” และ “ผิดที่ผิดทาง” ด้วยซ้ำ

แต่พอเอาทุกส่วนของหนังมาเขย่ารวม-ประกอบเข้าด้วยกัน ผมกลับรู้สึกค่อนข้างโอเคกับมัน

เพราะนอกจากจะได้เห็นการพยายามขับเคลื่อนอะไรบางอย่างจากจุดเริ่มต้นไปสู่บทสรุป (ในระดับหนึ่ง) อย่างสอดคล้อง เป็นลำดับขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลต่อกันแล้ว

เรายังได้เห็นภาวะลักลั่นย้อนแย้งบางประการซ่อนแฝงอยู่ด้วย (ซึ่งเป็นเสน่ห์ชวนฉุกคิดดี) อาทิ หนังเปิดเรื่องราวด้วยสถานการณ์ตึงเครียด เมื่อชาวบ้านคนจนเมืองในชุมชนแห่งหนึ่งมีความขัดแย้งกับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ จากปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่อาศัย แต่อีกด้าน หนังก็สรุปปิดท้ายเอาไว้ว่ามีองค์การมหาชนหน่วยงานหนึ่ง (ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐในอีกรูปแบบหนึ่ง) ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ และหนังก็กำลังบอกเล่าเรื่องราวในนามขององค์การมหาชนแห่งนั้นอยู่

อาญิง แซ่จาง (เกียรติศักดิ์ กิ่งแก้ว)

อาญิง

เรื่องราวในภาพรวมของหนังสารคดีเรื่องนี้อาจจะ “ไม่ใหม่” แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ถ้าทำให้ถึง เรื่องราวประเภทนี้ก็สามารถตรึงใจคนดูไว้ได้เสมอ รวมถึงในกรณีของ “อาญิง แซ่จาง” ซึ่งมีองค์ประกอบบางส่วน (ในแง่การถ่ายทำ) ที่ไม่น่าจะดึงดูดให้คนดู “อิน” กับหนังได้ง่ายนัก แต่พอถึงจุดสำคัญจริงๆ หนังก็ยังจัดการคนดูได้อย่างอยู่หมัดพอสมควร

หนังสารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องของสตรีวัยกลางคนจากดอยสูงภาคเหนือ ที่เดินทางไปทำงานถึงสุดขอบแดนใต้ ชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงคนนี้ไม่เดือดร้อน เธอไม่ใช่ “บุคคลไร้สัญชาติ” ด้วยซ้ำ แต่เธอต้องกลายสถานะเป็น “บุคคลเถื่อนไร้ตัวตน” ด้วยความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลบางอย่าง และการต้องติดต่อกับระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาก็ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อไร้จุดสิ้นสุด

ในแง่เนื้อหา หนังนำเสนอประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจดี คือ สุดท้าย การแก้ไขปัญหาข้างต้นก็ต้องอาศัยพลังของระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนบางอย่าง

หรือกล่าวได้อีกอย่างว่าระบบราชการที่ซับซ้อนเชื่องช้าจะทำงานรวดเร็วทันใจขึ้น ไม่ใช่เพราะมีชาวบ้านไปติดต่อทวงถาม แต่ระบบนี้จะเวิร์ก ต่อเมื่อมีคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ/สังคมสูงส่งพอสมควร และเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง เดินทางไปถึงที่ว่าการอำเภอ เพื่อทำหน้าที่เป็นปากเสียงประสานงานแทนชาวบ้าน

ในแง่เทคนิคการถ่ายทำ-เล่าเรื่อง “อาญิง แซ่จาง” เหมือนจะเดินสวนทางกับ “ย้ายรัง” อยู่พอสมควร เพราะในขณะที่หนังสารคดีเรื่องก่อนหน้าฉายให้เห็นถึงกระบวนการทำหนังที่ค่อนข้างครบถ้วนกระบวนความ แต่หนังเรื่องนี้กลับถ่ายทอดให้ผู้ชมได้รับรู้เลยว่าคนทำกำลังผลิตหนังเรื่องนี้ด้วย “เงื่อนไขข้อจำกัด” หรือ “ความบกพร่องขาดแคลน” บางประการ

ทั้งความขาดแคลนทางด้านอุปกรณ์-เทคนิค (ภาพและเสียง) และข้อจำกัดในแง่ที่หนังไป (แอบ) ถ่ายทำในสถานที่ราชการ จนไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์บางอย่างได้อย่างครบถ้วนเป็นทางการ

(แต่ก็มีบางซีนที่หนังจงใจจะรักษาระยะห่างของตัวเองเอาไว้ในข้อจำกัดบางประการ เช่น ตอนที่คนทำหนังติดตามอาญิงไปเคารพหลุมศพของคนรัก -อยู่ห่างๆ- ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีเลยทีเดียว)

บางครั้ง ความขาดแคลนดังกล่าวได้ส่งผลให้หนังไร้พลังลงอย่างน่าเสียดาย แต่ในบางคราว ความขาดแคลนบางด้านก็อาจช่วยขับเน้นให้คนดูได้ตระหนักถึงความบกพร่องโอกาสหรือการดำเนินชีวิตอันแหว่งหวิ่น ที่ซับเจ็คท์ในหนังต้องเผชิญหน้ามาอย่างยาวนาน จนช่วยทวีพลังให้แก่หนังสารคดีเรื่องนี้ได้เช่นกัน

สวรรคาลัย (อภิชน รัตนาภายน)

สวรรคาลัย

คนทำหนังเรื่องนี้เข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์-บรรยากาศในโรงพยาบาลศิริราชเมื่อช่วงบ่าย-ค่ำ วันที่ 13 ตุลาคม 2559

“สวรรคาลัย” สามารถจับเอาอารมณ์โศกเศร้าตกตะลึงของผู้คนจำนวนมากมาได้ ผ่านสายตาแหลมคมของผู้สังเกตการณ์

อย่างไรก็ดี จุดที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจมากๆ ในหนัง ก็คือ พร้อมๆ กับการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้ามวลใหญ่ หนังสารคดีเรื่องนี้ยังสามารถจับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางประการ เอาไว้ได้ด้วย

เช่น การจับภาพคนที่มานั่งในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ยังไม่มี “ข่าวความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่” ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เราจึงจะได้เห็นอากัปกิริยาที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปของคนเหล่านั้น จากการมีลักษณะทีเล่นทีจริง กังวลสลับผ่อนคลาย ไปสู่ภาวะตึงเครียด และโศกเศร้าในท้ายที่สุด

การจับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ตรงจุดนี้ได้นี่แหละ ที่ทำให้เราตระหนักว่าความสูญเสียซึ่งเกิดขึ้นนั้น ส่งผลสะเทือนต่อปัจเจกบุคคลแต่ละรายอย่างลึกซึ้งเพียงใด

ขณะเดียวกัน ผมชอบที่หนังจับภาพของ “เด็กเล็กๆ” ที่อยู่ในโรงพยาบาลศิริราชอยู่เป็นระยะๆ โดยเด็กที่ยังอายุน้อยมากๆ บางคน อาจไม่สามารถเปล่งแสดงความรู้สึกโศกเศร้าออกมาได้อย่างเอ่อท้นเทียบเท่าผู้ใหญ่ใกล้ๆ ตัว

แต่การดำรงอยู่ของเยาวชนเหล่านี้ ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความสูญเสียเช่นนั้น ย่อมมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่จะค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากยุคสมัยของความเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.