“Bangkok Dystopia” (ปฏิพล ทีฆายุวัฒน์)
หนังเล่าเรื่องราวในค่ำคืน/เช้ามืดที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557
จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อมีผู้โดยสารสองรายถูกเชิญ (ไล่) ลงจากรถเมล์ เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกส่งผลให้รถเมล์สายนี้ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขาและเธอต้องการได้ทัน
ผู้โดยสารคนแรกเป็นหญิงสาวผิวเข้มตาคม อายุน่าจะราวๆ 20 ต้นๆ หรือใกล้ 20 เธอมีบุคลิก การแต่งกาย และสีหน้าแววตาที่ช่ำชองและกร้านโลกพอสมควร
พอลงจากรถเมล์ หญิงสาวพยายามโทรศัพท์เรียกให้แฟนขี่มอเตอร์ไซค์มารับ แต่เสียงจากปลายสายคล้ายจะปฏิเสธ
ผู้โดยสารคนที่สองเป็นเด็กหนุ่มที่น่าจะเพิ่งเริ่มเรียน ม.ปลาย เขามีแววตาใสซื่อบริสุทธิ์ จนคล้ายจะมีคำถามและความสงสัยใคร่รู้ต่างๆ ผุดพรายออกมาจากดวงตาคู่นั้น
เด็กหนุ่มบอกว่าเพิ่งเขาไปติววาดรูปช่วงเย็น และพอเลิกเรียนก็ยังไม่อยากกลับบ้าน จึงเตร็ดเตร่อยู่ข้างนอกอีกสักพัก จนถูกไล่ลงจากรถเมล์ในท้ายที่สุด
เมื่อหนึ่งสาวหนึ่งหนุ่มเดินเท้าไปเรื่อยๆ จากริมคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงบริเวณวัดสระเกศ แต่ยังหารถกลับบ้านไม่ได้ ทั้งคู่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ผกผันต่างๆ
ไฮไลท์ในช่วงต้นของหนัง น่าจะอยู่ตรงฉากที่หญิงสาวหาญกล้าทะเลาะเบาะแว้งกับทหารชั้นผู้น้อยนายหนึ่ง ซึ่งแสดงท่าทีข่มขู่ดูหมิ่นเธอและเด็กหนุ่ม
ภาวะปฏิปักษ์เช่นนั้นจบลงด้วยการที่หญิงสาวสามารถล่วงละเมิด “แหล่งที่มาของอำนาจสูงสุด” บนร่างกายทหารผู้นั้น
ระหว่างทาง คนดูจะได้รับรู้ถึงปัญหาความตึงเครียดในชีวิตครอบครัว (คนชั้นกลาง) ของเด็กหนุ่ม แต่กลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหญิงสาวเพื่อนร่วมทางมากนัก
จนช่วงท้ายๆ นั่นแหละ ที่เราจะได้เข้าใจตัวละครรายนี้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่เด็กหนุ่มและหญิงสาวจะอำลาจากกันท่ามกลางภาวะกระอักกระอ่วนบางประการ
ขณะที่ร่องรอยความสูญเสียบางอย่างได้ปรากฏเกลื่อนกลาดเต็มท้องถนนในช่วงเช้าหลังคืนแรกของการประกาศกฎอัยการศึก
“Bangkok Dystopia” ไม่ใช่หนังการเมืองแบบชัดเจน แต่ผู้กำกับคือปฏิพลเลือกนำสถานการณ์ทางการเมืองมาประกอบสร้างเป็นบริบทรายล้อมสองตัวละครนำได้อย่างพอเหมาะพอเจาะและเปี่ยมชั้นเชิง
เด็กหนุ่มและหญิงสาวในเรื่อง ต่างมีสถานะเป็นปัจเจกบุคคลที่ประสบปัญหาชีวิตจิปาถะแตกต่างกันไป ด้วยวิถีและเป้าหมายชีวิต ตลอดจนวิธีการมองโลก ที่ผิดแผกจากกัน
อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ต่างเป็นสมาชิกของครอบครัว/สังคม ที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากรากฐานความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมคล้ายๆ กัน และได้รับผลกระทบจาก (จุดตั้งต้นของ) ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 พร้อมๆ กัน
หนังสั้นเรื่องนี้ถือเป็นบทบันทึกว่าด้วยสังคมร่วมสมัยชิ้นเยี่ยม ที่ฉายภาพของความโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง อารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ แบบดิบๆ เท่ๆ ของคนหนุ่มสาว
ไปพร้อมๆ กับการเผยเค้าลางของโครงสร้างทางอำนาจขนาดมหึมาที่ครอบคลุมกักขังตัวละครนำทั้งสองเอาไว้ จนมองแทบไม่เห็นอนาคตภายภาคหน้า
“พิราบ” (ภาษิต พร้อมนำพล)
นี่เป็นหนังการเมืองแบบชัดๆ ที่เล่าเรื่องราวภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยงานสร้างที่ไม่ขี้เหร่เลย
“พิราบ” ถือเป็น “หนัง 6 ตุลา” อีกเฉดสีหนึ่ง ที่แม้จะไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตรงๆ แต่ก็ไม่ได้นำพาตัวเองให้หลุดลอยข้ามพ้นไปจากบริบท “6 ตุลา” จนไกลลิบ
หากเปรียบเทียบกับหนังยาวที่มาก่อน เช่น “คนล่าจันทร์” หรือ “ดาวคะนอง” “พิราบ” คล้ายจะจัดวางตัวเองให้อยู่บนสถานการณ์ก่อนหน้าการต่อสู้ในป่าและการออกจากป่าของหนังเรื่องแรก และกระบวนการผลิตความทรงจำในอีกหลายทศวรรษต่อมาโดยหนังเรื่องที่สอง
หนังสั้นเรื่องนี้เลือกจะเล่าถึงสถานการณ์หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านกระบวนการที่รัฐค่อยๆ ผลักไสให้นักศึกษาคนหนึ่งตัดสินใจออกเดินทางเข้าไปต่อสู้ในป่า
หรืออาจสรุปความได้ว่า หนังตั้งต้นตัวเองไว้ตรงร่องรอยความสูญเสียหลังวันที่ 6 ตุลา แล้วจบตัวเองลงตรงการเดินทางไปถึงชายป่าแถบอีสานใต้ของตัวละครนำ
ถ้าพิจารณาในแง่ของความเป็นหนังการเมือง “พิราบ” ก็มีเนื้อหาที่เข้มข้นจริงจัง แต่ไม่ล่อแหลมเกินไป เมื่อหนังเลือกจำกัดเนื้อหาของตนเองไว้ที่ “กระบวนการเข้าป่า” ของปัจเจกชนรายหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องเล่าในสเกลเล็กย่อยระดับนั้นจะไม่ส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อผู้ชม เพราะตอนจบอัน “เปิดกว้าง” ไปสู่การต่อสู้ที่คนดูไม่มีโอกาสได้เห็นในจอ (ราวกับการต่อสู้หรือความขัดแย้งครั้งนั้นยังไม่ปิดฉากจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ) กลับทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ “พิราบ” ยังมีฉากดราม่าระหว่างแม่กับลูกที่ดีมากๆ
แม้จะมีหลายองค์ประกอบที่สามารถชักจูงหนังเรื่องนี้ไปสู่ “ความเชย” หรือ “ความล้าสมัย” ได้ง่ายๆ เช่น บทสนทนาหรือเนื้อหาในเสียงบรรยายของตัวละครนำ
แต่ด้วยความจริงจังจริงใจในการนำเสนอ และการเก็บรายละเอียดบางด้านได้อย่างน่าทึ่ง (นี่น่าจะเป็นหนัง/ละครไทยที่พยายามพูดถึงขั้นตอนและวิธีการ “การเดินทางจากเมืองเข้าสู่ป่า” อย่างจริงจังและละเอียดลออที่สุด)
“พิราบ” จึงมีศักยภาพสูงพอ ที่จะทำให้คนดูเชื่อและเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดตัวละครนำต้องเลือกทางเดินชีวิตเช่นนั้น ณ ช่วงเวลานั้น
“สดใสวันบัวบาน” (พริมริน พัวรัตน์)
เมื่อคราวเทศกาล “หนังสั้น 20” มีหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจค่อนข้างมาก คือ “แปะอิ่น” (เคยเขียนถึงไว้ในลิงก์นี้)
มาถึงเทศกาลปีนี้ คนทำหนังสารคดีเรื่องนั้น คือ “พริมริม พัวรัตน์” มีผลงานได้กลับมาฉายในรอบสุดท้ายอีกครั้ง (แต่อยู่นอกสายประกวด คือ สาย “Thailand 4.0”)
คราวนี้ พริมรินหันมาทำหนังเล่าเรื่อง ถ่ายทอดวิถีชีวิตของ “บัว” หญิงสาววัยมัธยมฯ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่
“บัว” คล้ายจะมีปัญหาชีวิตรุมล้อมไปหมด ทั้งเรื่องที่พ่อไปทางแม่ไปทาง ส่วนเธอต้องอยู่บ้านกับพี่ชายที่ติดเกมคอมพิวเตอร์
เมื่อไปโรงเรียน บัวคล้ายจะมีความสุขกับการเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมนาฏศิลป์ แต่ลึกๆ แล้ว ก็เหมือนเธอจะมีปมในใจบางอย่าง ว่าทำไมตนเองถึงไม่ได้เป็น “ตัวเอก” ในการแสดงเสียที
แม้กระทั่งตอนขึ้นแสดงระบำไก่ชน เธอก็ยังต้องรำเป็นไก่ที่ถูกชนจนพ่ายแพ้
ย้อนไปที่สายสัมพันธ์ระหว่างบัวกับผู้ให้กำเนิด ซึ่งซับซ้อนน่าสนใจมาก
ในหนัง เราจะได้เห็นบัวและพี่ชายนั่งรถทางไกลจากกระบี่ไปอยุธยา เพื่อเยี่ยมพ่อซึ่งทำงานอยู่ที่นั่น พ่อของบัวมีภรรยาใหม่ คนดูจะได้มองเห็นฉากบัวแสดงอาการหงุดหงิดไม่พอใจใส่พ่อและคู่รัก (แต่ขณะเดียวกัน พ่อผู้แลดูห่างเหิน กลับรู้เรื่องราวในชีวิตประจำวันของลูกค่อนข้างละเอียด)
ในทางกลับกัน บัวกับแม่ก็เชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก เราไม่เห็นบัวได้พบปะกับแม่ตัวเป็นๆ แม่ไม่ได้มาดูบัวแสดงนาฏศิลป์ แม่ของบัวแทบไม่มีตัวตนในหนังเรื่องนี้
ไปๆ มาๆ พ่อที่คล้ายจะเหินห่างในตอนแรกจึงมีปฏิสัมพันธ์กับลูกสาวชัดเจนกว่าแม่ ที่แค่ส่งเสียงผ่านสายโทรศัพท์มาพูดคุยกับลูก
อย่างไรก็ดี ชีวิตของบัวที่เต็มไปด้วยจุดพร่องหรือความไม่สมบูรณ์แบบกลับดำเนินไปโดย “รื่นรมย์” พอสมควร หนังแสดงให้เห็นว่าเด็กสาวยังพร้อมจะก้าวเดินต่อไปอย่างมีความหวังบนเส้นทางข้างหน้าที่คงมีหลุมบ่อปรากฏกีดขวางเป็นระยะๆ
จุดนี้เป็นความเก่งของคนทำ เพราะผมรู้สึกว่าด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่หนังปูเอาไว้นั้น อาจชักนำให้ “สดใสวันบัวบาน” กลายเป็นหนังที่เศร้าตรมระทมทุกข์ได้อยู่ตลอดเวลา
แต่พริมรินกลับใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และกำกับนักแสดงนำได้อยู่มือ จนสามารถพลิกโทนให้หนังของเธอ กลายเป็นภาพยนตร์ของคนมีปัญหาชีวิตที่ยังคงมองโลกด้วยสายตาสดใสในมุมบวกอยู่เสมอ
รายละเอียดข้อหนึ่งที่ผมชอบมากในหนัง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบัวกับเพื่อนสนิทร่วมโรงเรียน/ชมรม ที่ด้านหนึ่ง ทั้งสองก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน (เมื่อบัวติดฝน กระทั่งกลับบ้านเองลำบาก เพื่อนคนนี้ก็ร้องขอให้พ่อของเธอช่วยขับรถไปส่งบัว แถมพ่อเพื่อนกับพ่อบัวดันเป็นเพื่อนเก่ากันอีกต่างหาก) แต่อีกด้าน บัวก็เหมือนจะอิจฉาเพื่อนคนเดียวกันนี้อยู่นิดๆ ในเรื่องการรำ
ผมรู้สึกว่าความสัมพันธ์กึ่งมิตรกึ่งศัตรูทำนองนี้ มันจะเกิดขึ้นได้กับเพื่อนสมัยประถม-มัธยม แต่พอเราโตขึ้นมามีเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน สถานะ “มิตร” หรือ “ศัตรู” ก็ดูเหมือนจะแยกขาดออกจากกันชัดเจนขึ้น
ข้อสุดท้ายที่ทำให้ผมรู้สึกดีเป็นพิเศษ ได้แก่ ตัวละครซึ่งเป็นคนขับรถพาบัวและพี่ชายไปหาพ่อที่อยุธยา นั้นคือลุงที่ชื่อว่า “แปะอิ่น”
“แปะอิ่น” ในหนังเรื่องนี้ เป็นลุงที่คอยแวะเวียนมาดูแลหลานๆ ที่อยู่กันลำพังเพียงสองคน
ไม่แน่ใจว่า “แปะอิ่น” คนนี้ จะเป็นคนเดียวกับ “แปะอิ่น” เจ้าของร้านโชห่วยผู้ต้องดูแลคุณแม่วัยชรา ในหนังสารคดีเรื่องที่แล้วของพริมรินหรือไม่?
วิป (fff) (นนทจรรย์ ประกอบทรัพย์)
เอาจริงๆ ผมอาจไม่ได้เข้าใจสารของหนังเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งมากนัก
และไม่แน่ใจว่า ตัวหนังเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบของอะไรที่ใหญ่โตกว่าเรื่องบาดแผลของหญิงสาวคนหนึ่ง หลังเธอประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มพร้อมกับแฟนหนุ่มหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ถ้านนทจรรย์ต้องการจะพูดถึงเรื่องอะไรที่ใหญ่กว่าเหตุการณ์ในหนังจริงๆ ผมก็รู้สึกว่าการเล่นกับประเด็น “บาดแผลบนร่างกาย” นั้น เป็นอุปลักษณ์ที่น่าสนใจและอินเทรนด์ดี
ส่วนหนึ่งคงเพราะตัวเองเพิ่งได้อ่าน “ร่างของปรารถนา” นิยายของอุทิศ เหมะมูล ซึ่งตั้งใจชัดเจน ที่จะพูดถึงการเมืองและความขัดแย้งระดับชาติผ่านประเด็นร่างกายของปัจเจกบุคคล
แต่ถึงประเด็น “บาดแผลบนร่างกาย” ดังกล่าว จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเชิงโครงสร้างอันใหญ่โตซับซ้อนใดๆ ผมก็ยังรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถนำเสนอให้เห็นถึงภาวะหมกมุ่นวิตกกังวลกับเงื่อนปม (เล็กๆ) บางประการ ออกมาได้สนุก แปลก และชวนเหวอดี
นอกจากนี้ “วิป (fff)” ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องช่วยยืนยันว่า “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” นั้นเป็นดาราหญิงรุ่นใหม่ที่มีเสน่ห์/ออร่าและมีฝีมือน่าจับตาจริงๆ
โปรดเลือกคำตอบที่ถูกต้อง (สรยศ ประภาพันธ์)
หนังสนุกๆ ที่เล่นกับความย้อนแย้งระหว่างคำถาม-ตัวเลือกคำตอบจากข้อสอบโอเน็ต กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้คน (และสัตว์บางชนิด) ในสังคมไทยร่วมสมัย
โดยรวมแล้ว ผลงานชิ้นนี้ของสรยศเป็นหนังบ้านๆ ที่ดูได้เพลินๆ ด้วยอารมณ์ขันเชิงตลกร้าย ซึ่งจิกกัดตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ยันเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว
หนังเรื่องนี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษภายใต้เงื่อนไขสองข้อ คือ
(1) เมื่อมีเพียงเทศกาลหนังสั้นที่ฉายผลงานซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยปราศจากกิจกรรมการฉายหนังมาราธอน
และ (2) เมื่อความสามารถทางด้านโปรดักชั่นของบุคลากรในแวดวงหนังสั้นไทยร่วมสมัยนั้นพัฒนาไปไกลมาก
แน่นอนว่าผลงานสไตล์บ้านๆ ดิบๆ แต่มีประเด็นแหลมคมพอสมควร ย่อมกลายเป็นหนังส่วนน้อยของเทศกาลดังกล่าว
“โปรดเลือกคำตอบที่ถูกต้อง” คือ ตัวอย่างหนึ่งของผลงานส่วนน้อยประเภทนั้น