โปรแกรมดุ๊ก 2
การตายของหิ่งห้อย (จิรัฐติกาล พระสนชุ่ม และ พสิษฐ์ ตันเดชานุรัตน์)
เหมือนดังที่มิตรสหายท่านหนึ่งบอกเอาไว้ว่า หนังสารคดีเรื่องนี้มีความสอดคล้องกับข่าวคราวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ที่พระภิกษุร่างจิ๋วสูงไม่ถึง 100 ซม. ถูกบังคับให้สึกโดยคำสั่งของพระผู้ใหญ่ ซึ่งอ้างเหตุผลเรื่องพระธรรมวินัย
“การตายของหิ่งห้อย” เล่าเรื่องราวคล้ายๆ กันของชาย ผู้อาจมีอาการ “ผิดแปลก” บางอย่าง จนแตกต่างจากคนปกติธรรมดาทั่วไป แต่เขากลับชอบไปขลุกตัวช่วยงานวัด และสุดท้าย ก็อยากบวชเป็นพระ
สำหรับใครที่ไปทำบุญ ไปงานศพ ตามวัดวาอารามต่างๆ อยู่เสมอๆ คนประเภทเดียวกับ “ซับเจคท์” ของหนังสารคดีเรื่องนี้ มักถูกพบเห็นได้ในวัดหลายๆ แห่ง
แต่สิ่งที่พวกเราไม่ค่อยรู้ก็คือ ชีวิตเบื้องหลังเบื้องลึกของเขา
“การตายของหิ่งห้อย” ทำให้เห็นว่า “ซับเจคท์” ของตนเอง ไม่ใช่คนเร่ร่อน ไร้หลักแหล่ง แต่มีครอบครัวที่ดี มีการศึกษา (จบปริญญาตรี จากมหามกุฎราชวิทยาลัย) และรู้เรื่องราวเกี่ยวกับลำดับชั้นทางสังคม (เปรียบเทียบตำแหน่งเจ้าคณะตำบลกับกำนันได้อย่างคมคาย) หรือเอ่ยถึงความแตกต่างระหว่างนิกายของคณะสงฆ์ได้อย่างน่าทึ่ง แถมยัง “ถ่ายหนัง” ได้ด้วย
ผมชอบฉากที่ตัวซับเจคท์และแม่ เข้าไปปรึกษาที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลเรื่องการบวช แล้วฝ่ายหลวงปู่นั่นแหละที่อ่านทบทวนพระธรรมวินัยแบบลังเล ไม่แน่ใจ ผิดกับชาย ผู้ถูกมองว่าอาจไม่สามารถออกบวชได้ ที่ท่องบทสวดหรือเอ่ยเรื่องศาสนาบางอย่างออกมาอย่างมั่นใจ (แม้จะมีจุดลังเลคลุมเครือในตอนท้าย)
ผมเสียดายที่หนังมีลักษณะ “รวบรัด” ไปนิดในช่วงท้ายๆ และอาจตัดจบเร็วไปหน่อย แต่โดยรวมแล้ว นี่คือหนังสารคดีที่น่าประทับใจทีเดียว
Anonymous in Bangkok (สินีนาฎ คะมะคต)
หนังนำเสนอเรื่องเล่า (ทางเสียง) ของสตรีขายบริการรายหนึ่งในกรุงเทพฯ เปรียบเทียบไปกับภาพ cityscapes ในแง่มุมต่างๆ ของเมืองหลวง
น่าเสียดาย ที่ตัวเรื่องเล่ามันดีเลยแหละ (ผมชอบช่วงที่ผู้หญิงคนนี้อธิบายว่างานขายบริการทางเพศมันดีกว่างานออฟฟิศยังไงบ้าง) แต่พอเอามาผสานกับตัวภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวโดยตรง มันกลับยังหาจุดแหลมคมลงตัวแบบ “เป๊ะๆ” ไม่เจอซะทีเดียว
อย่างไรก็ดี มีช่วงท้ายๆ เรื่อง ที่ผู้หญิงเจ้าของเรื่องก็ยังส่งเสียงเล่าเรื่องราวของตัวเองไป ขณะที่หนังก็จับภาพไปที่สตรีคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่คนเดียวตรงหน้าซอยหรือไม่ก็ตึกแถวเก่าๆ แห่งหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่า ผู้หญิงคนนั้นคือใคร? เธออาจเป็นอีกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าเลยก็ได้ หรืออาจเป็นผู้หญิงเจ้าของเรื่องหรือเปล่า? แต่ผมรู้สึกว่าไอ้ความคลุมเครืออย่างนี้มันมีเสน่ห์ดี ทว่า มันกลับปรากฏออกมาในหนังไม่บ่อยครั้งนัก
ม้าทรง (อภิชน รัตนาภายน และ วัชรี รัตนะกรี)
น่าสนใจมากๆ ที่ตัว “คนทรง” ในหนัง มีอีกบทบาทหนึ่งในชีวิตประจำวันเป็น “ครู” แถมยังเป็นครูที่สอนภาษาไทยให้แก่นักเรียนชาวต่างชาติด้วย เธอจึงมีความรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ต้องถือเป็นบุคลากรระดับ “ครีม” หากเทียบกับบุคลากรสาขาอื่นๆ ของแวดวงการศึกษาไทย
สมัยเด็กๆ ผมจะได้ยินเรื่องราวเชิงกอสซิปในโรงเรียนประถมฯ เกี่ยวกับครูสองท่านที่ว่ากันว่าเป็น “ร่างทรง” ท่านหนึ่งเป็นร่างทรงของเทพเจ้าอินเดีย อีกท่านเป็นร่างทรงของเทพเจ้าจีน แต่ผมก็ไม่เคยเห็นแกประทับทรงจริงๆ จังๆ สักหน
“ม้าทรง” จึงช่วยเติมเต็มจินตนาการตรงจุดนั้น ว่า “ครู” ที่ประทับทรงนี่ เขามีวิถีชีวิต มีโลกทัศน์ และอธิบายการดำเนินชีวิตของตนเองอย่างไร และชีวิตที่สวิทช์ไปๆ มาๆ ระหว่างโลกสองแบบของเขา มันมีความไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
หนังมี impact กับผมพอสมควร อย่างน้อย หลังดูเสร็จ ผมก็ออกมาเสิร์ชหาชื่อ “ขุนนิทรรศน์ชนะศึกสงคราม ณ ถลาง?” ซึ่งคุณครูใน “ม้าทรง” บอกว่าเป็นต้นตระกูลของแก ทางกูเกิ้ล
ปรากฏว่าหาไม่พบครับ 555
แปะอิ่น (พริมริน พัวรัตน์)
นี่เป็นหนัง “ดี” ที่ไม่ถึงกับ “ดีมาก”
แล้วถ้าผมยังอยู่ในวัยซัก 10 ปลายๆ ถึง 20 กลางๆ ยังแรงๆ ร้อนๆ ผมอาจไม่ได้ชอบ “แปะอิ่น” มากนัก
แต่พอมาดูหนังเรื่องนี้ในวัย 30 กลางๆ เริ่มเบื่อๆ เหนื่อยๆ ปลงๆ กับบางด้านของชีวิตพอสมควร ผมกลับรู้สึกว่า “เรื่องราว” ในหนังมันดีและอิ่มเอมมากๆ เลย
คือ ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบ “หนังสารคดีเรื่องแปะอิ่น” มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ผมชอบ “เรื่องเล่าแวดล้อมชีวิตของแปะอิ่น” ที่หนังนำเสนอ
และอินพอที่จะเห็นพ้องกับคนทำหนังว่า ผู้ชายธรรมดาๆ เจ้าของร้านโชห่วยเล็กๆ และต้องดูแลแม่วัยชรา อย่างแปะอิ่นนี่แหละ ที่สามารถเป็น “ต้นแบบในการดำเนินชีวิต” ให้แก่คนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้ โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกติดตาติดใจกับเหตุการณ์เล็กๆ สองช่วงในหนัง
เหตุการณ์แรก คือ ตอนที่แปะอิ่นกินข้าว แล้วเหมือนกับข้าวมันไม่อร่อย เพราะที่บ้านปรุงปลาผิดวิธี ซึ่งโดยปกติ ผมรู้สึกว่า “ภาพจำ” หนึ่งของสังคม-วัฒนธรรมภาคใต้ในสายตาคนภาคอื่นๆ ก็คือ อาหารใต้นี่อร่อย รสชาติจัดจ้าน คนใต้ทำอาหารเก่ง ทว่า ภาพของหนังสารคดีที่ถ่ายทำที่จังหวัดกระบี่เรื่องนี้คล้ายจะ “บิด” ภาพจำดังกล่าวไปนิดนึง
เหตุการณ์ที่สอง คือ ตอนที่ “น้องสาว?” ของแปะอิ่นมารับแม่วัย 90 ปี ไปกินข้าว โดยใช้รถป้ายแดง ซึ่งสวนทางกับแปะอิ่นที่ขี่มอเตอร์ไซค์และขับปิ๊กอัพคันเก่าๆ แต่สุดท้าย คนที่เลี้ยงแม่เป็นกิจวัตร ก็คือ แปะอิ่น นี่แหละ ภาพตอนนี้มันเลย “กินใจ” มากๆ ทีเดียว
โปรแกรมดุ๊ก 3
Ghost (วรพจน์ อินเหลา)
ตอนฟังเสียงบรรยายช่วงต้นเรื่อง ผมเอาใจช่วยให้หนังมันกลายเป็นงานเสียดสีคนชั้นกลางในเมือง ที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนในสังคมชนบท
แต่สุดท้าย หนังมันก็ไปอีกทางน่ะนะ
นอกจากนี้ ยังรู้สึกเสียดาย ที่งานถ่ายภาพของหนังมันดีมากๆ เลย แต่ประเด็น-เรื่องราวมัน “ทื่อ” และ “แคบ” เกินไป และ “สลับซับซ้อน” น้อยเกินไป (ยิ่งตอนอ้างไปถึงข้อมูลทีดีอาร์ไอแบบโต้งๆ ยิ่งไปกันใหญ่)
รวมถึงอุปลักษณ์เรื่อง “ผี” ที่ก็ไม่คมเช่นกัน
The Rebirth (ธีรยุทธ์ วีระคำ)
หนังสารคดีเล่าเรื่องราวของผู้หญิงวัย 69 ที่อยู่ตัวคนเดียว หลังเพิ่งสูญเสียสามีวัยชราไป
ผมรู้สึกกับหนังเรื่องนี้คล้ายๆ กับที่รู้สึกกับ “แปะอิ่น”
คือ ถ้าผมเด็กกว่านี้ ผมคงรู้สึกเฉยๆ กับมัน
แต่พออายุมากขึ้น พ่อแม่เราอายุใกล้เคียงกับซับเจคท์ในหนังพอดี ก็จะเริ่มเห็นความดีงาม ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายและปกติธรรมดาของมัน
โดยส่วนตัว ผมชอบการที่ตัวคุณแม่ในหนังแกนับถือพุทธทั้งสองนิกาย คือ ไปสวดมนต์เยียวยาจิตใจตนเองกับมหายานฝ่ายจีน แต่เวลาทำบุญ ก็ไปวัดเถรวาทปกติ
น่าเสียดาย ที่บางส่วนของ “The Rebirth” มีลักษณะเป็นการ “เซ็ต” อย่างเห็นได้ชัดไปนิด “พลังความสด/ความจริงใจ” ของหนัง เลยแลดูอ่อนด้อยกว่า “แปะอิ่น” เล็กน้อย
Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์
(ตามอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์เล่มหน้านะครับ หลังจากนั้น จะนำมาเผยแพร่ในบล็อกต่อไป)
หมายเหตุ ไม่ได้ดูโปรแกรมดุ๊ก 1 ครับ
ขอบคุณภาพจาก Thai Short Film & Video Festival
1 Comment