ปรับปรุงแก้ไขจากบทความใน มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 พฤษภาคม 2558
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง “Mad Max : Fury Road” ของผู้กำกับอาวุโสวัย 70 ปี “จอร์จ มิลเลอร์”
หนังเรื่องนี้ “มัน” มากสมคำร่ำลือ เป็นความมันจากสถานการณ์ไล่ล่าของกลุ่มตัวละคร ที่พลิกผันหรือขับเคลื่อนไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างทางบ้าง อยู่แทบตลอดเวลา จนเกือบไม่มีเวลาหยุดพัก
น่าสนใจว่า ความสนุกแทบทั้งหมดทั้งมวลของหนังไม่ได้อยู่ที่ “ความเปลี่ยนแปลง” มากเท่ากับ “ความผันผวนปรวนแปร” ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ใช่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมิได้พูดถึงประเด็นเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” เอาไว้เลย
แถมยังพูดได้น่าสนใจมากๆ เสียด้วย
ขออนุญาตเริ่มต้นด้วยจุดเด่นเล็กๆ ข้อหนึ่ง ที่ผมรู้สึกว่าเป็น “เอกลักษณ์” ของ Mad Max ภาคนี้ นั่นคือ คนทำหนังแทบไม่พิรี้พิไรกับชะตากรรมของตัวละครเอาเลย
ตัวละครคนไหนต้องตายก็คือตาย พอตายแล้วก็ตัดไปสถานการณ์อื่น ความตายทำให้พวกเขาและเธอหมดสิ้นบทบาทลง แล้วหายไปจากหน้าจอและการรับรู้ของคนดู
โดยไม่มีความพยายามจะทำให้ตัวละครเหล่านั้นค้างคาอยู่ในความรู้สึกความทรงจำของตัวละครที่ยังหลงเหลือ รวมทั้งคนดูในโรงภาพยนตร์ (แม้แต่ตัวละคร “ผี” ที่ตามหลอกหลอน “แม็กซ์” (ทอม ฮาร์ดี้) พระเอกของเรื่อง ก็ยังไม่ใช่ตัวละครจากหนังภาคนี้)
วิธีการฆ่าตัวละครอย่างไม่อ้อยอิ่ง เลือดเย็น และสิ้นเยื่อขาดใยเช่นนี้ ชวนให้นึกถึงหนังจีนชอว์ บราเดอร์ส ละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้า รวมถึงนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง
ดูเหมือนจะมีเพียงแค่ตัวละคร “ฟิวริโอซ่า” (ชาร์ลิซ เธอรอน) กับคุณยายที่ชอบเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์พืชเท่านั้นกระมัง ที่หนังพยายามประคับประคองชีวิตเอาไว้ ไม่ให้ตายจากไปอย่างง่ายดาย
มาถึงประเด็นสำคัญข้อแรกที่ทำให้ผมรู้สึกสนุกสนานกับหนังเรื่องนี้มาก
กล่าวคือ ดูคล้ายคนทำหนังจะให้ภาพว่า การก่อสงคราม ตลอดจนการระดมอาวุธหนักเข้าห้ำหั่นกัน ที่ดำเนินไปตลอดภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงมากนัก
การสาดกระสุนอย่างคั่งแค้นภายในหนัง ไม่ได้ส่งผลให้ใคร (อย่างน้อยก็ตัวละครหลักสำคัญๆ) ตายโดยทันทีเสียทีเดียว เพราะบทจะมีใครตาย มันก็ฆ่ากันได้ง่ายกว่านั้น โดยอาศัยความกล้า ความบ้าระห่ำ ความดิบเถื่อน เป็นหลัก
หาใช่ความใหญ่โตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของบรรดาตัวอาวุธหรือยานพาหนะไม่
ไปๆ มาๆ การทำสงครามและการระดมสรรพาวุธ กลับมี “หน้าที่” ในการโชว์ความอลังการของเครื่องไม้เครื่องมือ หรือการโชว์ความอลังการของการเคลื่อนพล (ทำให้คิดถึงท่อนหนึ่งของบทสวดมนต์ตอนเด็กๆ ที่กล่าวบรรยายการเคลื่อนทัพของพญามารไว้อย่างสละสลวยว่า “รุมพลพหลพยุหปาน” แม้ว่าพระสมุทรจะไม่ทะนองมาก็ตาม เนื่องจาก “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรหายากในโลกของหนังเรื่องนี้)
ตัวอย่างชัดเจนประการหนึ่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงลักษณะ “อลังการดาวล้านดวง” ในการทำสงคราม ก็คือ ตัวละครคุณพี่มือกีตาร์พ่นไฟมหากาฬโคตรเท่ ที่คนดูจำนวนมากต่างเทใจให้อย่างล้นหลาม
คุณพี่มือกีตาร์ “เสื้อแดง” รายนี้ ไม่ได้มีหน้าที่รบราฆ่าฟันกับใครแต่อย่างใด ทว่า แกมีหน้าที่โหมประโคมบทเพลง-แสดงกายกรรมประกอบพิธีกรรมการยกทัพ
(และเอาเข้าจริง คนดูก็แทบจะไม่เคยได้ยินฝีมือการโซโล่กีตาร์ของแกแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยด้วยซ้ำ เพราะพอพี่แกเริ่มจะลงมือโซโล่ สำเนียงดนตรีอึกทึกครึกโครมจากวงมโหรีหรือตัวพิธีกรรมการแสดงในภาพใหญ่ ก็ส่งเสียงดังกลบเสียงกีตาร์เดี่ยวๆ ไปจนหมดสิ้น)
อาจกล่าวได้ว่า การทำสงคราม และการประกาศศักยภาพผ่านการระดมกำลังสรรพาวุธใน Mad Max ภาคนี้ มีค่าเท่ากับ การประกอบพิธีกรรม หรือการแสดงอันหรูหรา โอ่อ่า ตระการตา ของผู้มีอำนาจ
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการ “แสดง” อำนาจ อย่างมิต้องสงสัย แต่ก็ไม่แน่นักว่า ความหรูหราโอ่อ่าดังกล่าวจะนำไปสู่การควบคุมคนได้อย่างมีประสิทธิผล หรือเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ
เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าผู้บัญชาการ เสนาธิการ หรือแม่ทัพ กลายเป็นพวก “กลวงเปล่า” ความหรูหราโอ่อ่าตระการตาก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจากเครื่องบ่งชี้ความไร้น้ำยาของผู้กุมอำนาจและอาวุธไว้ในมือ
ขณะเดียวกัน ความโอ่อ่าตระการตาเช่นนั้น ยังช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมกองทัพของบางประเทศจึงต้องการซื้ออาวุธทันสมัย ราคาแพงๆ กันอย่างไม่รู้จักพอ ทั้งที่เมื่อหาซื้อมาแล้ว ก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หรือไม่ได้เอาไปใช้รบรากับใคร
ทั้งนี้ ก็เพราะอาวุธเหล่านั้นถูกซื้อเข้ามา เพื่อใช้ “แสดง” อำนาจนั่นเอง
หลายคนคงเห็นตรงกันว่า ประเด็นหลักที่หนังเรื่องนี้ต้องการสื่อสาร คือ ประเด็น “อำนาจกับการต่อต้าน”
(ผู้ชมบางท่านอาจเจาะลึกลงไปถึงประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างชายกับหญิง หรือการเมืองเรื่องเพศสภาพ แต่ผมขออนุญาตไม่ลงลึกถึงประเด็นดังกล่าวในที่นี้)
และนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญข้อสอง ที่ทำให้ผมรู้สึก “อิน” กับ Mad Max ภาคล่าสุด
จอร์จ มิลเลอร์ และทีมงานเขียนบทภาพยนตร์ พูดถึงประเด็นการต่อต้านอำนาจไว้ได้อย่างคมคายสมจริง
กล่าวคือ กว่าครึ่งค่อนเรื่อง เหล่าตัวละครเอกเพศหญิงต่างพยายามออกเดินทางไปแสวงหา “โลกใบใหม่” หรือ “โลกใบเก่าก่อน” ที่ดีกว่าระบอบอำนาจปัจจุบัน อันกดขี่ข่มเหงขูดรีดพวกเธอ
ทว่า สุดท้าย “ความเป็นจริง” ที่ถูกแสดงออกผ่านคำแนะนำของผู้ชายเดี่ยวโดดอย่าง “แม็กซ์” ก็โหดร้ายพอ ที่จะชักนำพวกเธอให้จำเป็นต้องเดินทางย้อนกลับไปหาระบอบอำนาจซึ่งกำลังดำรงอยู่
แทนที่จะคลำทางมุ่งหน้าไปสู่อนาคต ซึ่งยังเห็นภาพไม่ชัดเจนและคล้ายว่าจะไร้ความหวัง หลังจากสตรีกลุ่มนี้ต้องผิดหวังเมื่อตระหนักว่าโลกใบเก่าอันเขียวชอุ่มได้สูญสลายไปหมดสิ้นแล้ว มาครั้งหนึ่ง
คนเขียนบทคล้ายจะเสนอว่า สุดท้าย มนุษย์จะสามารถ “เปลี่ยนแปลง” สังคมได้ ก็ด้วยการเข้าไปขลุกอยู่ข้างใน (และพยายามปรับปรุงแก้ไข) ระบอบอำนาจที่กำลังดำรงคงอยู่ มิใช่การหนีออกไปสร้างยูโทเปียหรือทางเลือกใหม่ อันตัดขาดออกจากโลกใบปัจจุบัน
แม้แต่แม็กซ์เอง ในตอนจบ เขาก็เดินกลืนหายเข้าไปในฝูงชน ราวจะบอกเป็นนัยว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อผู้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เข้าไปขลุกตัวอยู่กับทั้งระบอบอำนาจ “ข้างบน” และกลืนกลายไปกับฝูงชนคนสามัญซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ “ข้างล่าง”
ไม่ใช่หนีออกไปผจญภัยหรือตายเอาดาบหน้า เพื่อตามหาดินแดนแห่งอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง “ข้างนอก”
อย่างไรก็ตาม หนังวาดภาพให้การเปลี่ยนแปลงสังคมดำเนินไปอย่างค่อนข้างราบรื่น
สาวน้อย สาวใหญ่ เด็กหนุ่มผู้ป่วยไข้ และชายมาดโหดนักบู๊บ้าระห่ำ จึงสามารถร่วมมือร่วมใจกันเอาชนะผู้กุมอำนาจกลุ่มเดิมได้โดยไม่ยากเย็น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบอบอำนาจใดๆ ในโลกความจริง คงจะไม่ดำเนินไปง่ายดายปานนั้น
ยกเว้นแต่ “ผู้กุมอำนาจ” จะอ่อนแอถึงขีดสุดจริงๆ ณ จุดนี้ Mad Max ภาคใหม่ ฉายภาพความอ่อนแอของผู้มีอำนาจได้อย่างน่าสนใจ เพราะพวกเขาแต่ละคนล้วนมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์นัก บางคนมีเนื้องอกเต็มตัว บางคนต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา บางคนทุพพลภาพ ส่วนบางคนก็โดนเล่นงานจนพิการขณะออกศึก
ครั้นพอทารกผู้ “สมบูรณ์แบบ” บุตรของผู้ทรงอำนาจอย่าง “อิมมอร์ทัน โจ” ถูกนำร่างออกมาจากท้องแม่ เด็กน้อยก็กลับหาชีวิตไม่เสียอีก
ดังนั้น นอกจาก จะเล่าเรื่องแนวบู๊สะบั้นหั่นแหลกได้อย่างถึงอกถึงใจคอหนังแล้ว “Mad Max : Fury Road” ยังเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความกลวงเปล่าตระการตาของสงคราม และหนทางการต่อต้านอำนาจได้อย่างลึกซึ้ง
ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง