(มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 พฤษภาคม 2558)
เมื่อปีที่แล้ว ผมเขียนบทความชื่อ “Common People : หนึ่งในเพลงว่าด้วยความขัดแย้งทาง “ชนชั้น” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” โดยเป็นการแปล-เรียบเรียงเนื้อหาจากบทความในนิตยสารดนตรี “NME” ของอังกฤษ ซึ่งยกย่องให้เพลงดังกล่าวติดอยู่ในอันดับที่ 6 จากรายชื่อ “500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”
ล่าสุด สื่อต่างประเทศเพิ่งนำเสนอเกร็ดย่อยๆ น่าสนุก อันเกี่ยวเนื่องกับเพลงเพลงนี้
เลยขออนุญาตนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง
เพลง “Common People” ของวง “พัลพ์” เป็นหนึ่งในเพลงฮิตยุค 1990 ของบรรดาวัยรุ่นบนเกาะอังกฤษ ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของวัฒนธรรมดนตรีแบบ “บริต ป๊อป”
เนื้อเพลงที่เขียนโดย “จาร์วิส ค็อกเกอร์” นักร้องนำและสมาชิกแกนหลักของวง เล่าเรื่องราวของสาวนักเรียนนอกชาวกรีก ซึ่งได้มาพบเจอกับหนุ่มอังกฤษ (ที่น่าจะมาจากชนชั้นแรงงาน) ใน “เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ” วิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งกรุงลอนดอน
เธอกล่าวกับเขาว่า เธออยากใช้ชีวิตแบบ “สามัญชน” คนอังกฤษ เธออยากกินอยู่หลับนอนกับ “สามัญชน” คนอังกฤษ เช่นเขา
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในเพลงกลับคลี่คลายไปสู่จุดที่ว่า หญิงสาวนักเรียนนอกชาวกรีกผู้ร่ำรวยรายนั้น ย่อมไม่สามารถลดตัวลงมาใช้ชีวิตแบบชนชั้นล่างได้ในความเป็นจริง
ความเป็นจริงที่ระเบิดปะทุขึ้นพร้อมกับอารมณ์เกรี้ยวกราดของสามัญชนชาวอังกฤษ ผู้ร่ำร้องขับขานบทเพลง
ค็อกเกอร์ให้สัมภาษณ์หลังจากเพลง Common People โด่งดัง และกลายเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของวงการดนตรีสหราชอาณาจักรว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเนื้อร้องของเพลงนี้ มาจากประสบการณ์ขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์ของวิทยาลัยเซนต์ มาร์ตินส์
ในสองสัปดาห์แรกของภาคการศึกษาที่ 2 ทางวิทยาลัยจะจัดให้มีตารางสอนพิเศษซึ่งเรียกว่า “ครอสส์โอเวอร์” เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนสามารถสับเปลี่ยนไปเรียนสาขาวิชาอื่นๆ นอกเหนือวิชาเอกของพวกตน
เด็กฟิล์มอย่างค็อกเกอร์เลือกไปทดลองเรียนวิชาประติมากรรม ในชั้นเรียนนั้น เขาได้พบเจอกับนักศึกษาสาวชาวกรีกรายหนึ่ง แล้วสาวกรีกคนดังกล่าวก็เข้ามาบอกกับค็อกเกอร์ว่า เธออยากใช้ชีวิตเหมือน “สามัญชน” คนธรรมดาทั่วไป
อีกไม่กี่ปีต่อมา ประสบการณ์ที่ว่าได้ถูกแปรสภาพกลายเป็นเพลงฮิตที่สุดของพัลพ์
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาค้างคาในวงการเพลง ก็คือ แท้จริงแล้ว นักศึกษาสาวชาวกรีกที่จาร์วิส ค็อกเกอร์ ได้พบปะพูดคุย คือใครกันแน่?
สถานีโทรทัศน์บีบีซีถึงกับเคยทำสารคดีเพื่อพยายามดั้นด้นค้นคว้าหาตัวตนของสตรีคนนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ล่าสุด “ดิ อินดีเพนเดนต์” ได้อ้างอิงรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ “เอเธนส์ วอยซ์” ของประเทศกรีซ ที่ระบุว่า สาวชาวกรีกในเพลง Common People อาจเป็นภรรยาของ “ยานิส วารูฟาคิส” รมว.คลัง คนปัจจุบัน ของรัฐบาลกรีซ
ภรรยาของ รมว.คลัง กรีซ มีชื่อว่า “ดาแน สตราตู” เธอเคยเข้าศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์ มาร์ตินส์ ระหว่างปี ค.ศ.1983-88 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ค็อกเกอร์เข้าเรียนในวิทยาลัยแห่งนั้นพอดี
สตราตูเป็นบุตรสาวคนโตของเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่งในประเทศกรีซ ส่วนแม่ของเธอเป็นศิลปินและประติมากร ส่งผลให้สตราตูเริ่มสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ก่อนจะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาต่อด้านดังกล่าวเป็นการเฉพาะที่เซนต์ มาร์ตินส์
น่าสนใจว่า วารูฟาคิส สามีของสตราตู เป็นนักการเมืองคนสำคัญแห่งพรรคไซรีซา พรรครัฐบาลปัจจุบัน และพรรคการเมืองซ้ายจัดของประเทศกรีซ
นโยบายสำคัญโดดเด่นของพรรคการเมืองนี้ ก็คือ การให้สมาชิกพรรคไม่ผูกเนคไท เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรดา “ชนชั้นกรรมาชีพ”
ถ้าสตราตูคือหญิงสาวชาวกรีกในเพลง Common People จริง บรรดาสื่อมวลชนก็พากันแซวเธอทิ้งท้ายว่า อดีตนักศึกษาสาวชาวกรีกคนนั้น คงได้พบเจอและใช้ชีวิตกับ “สามัญชน” (ฝ่ายซ้าย) เรียบร้อยแล้วสินะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมลองมาอ่านทบทวนหนังสือรวมเนื้อเพลงคัดสรรของค็อกเกอร์ที่ชื่อ “Mother, Brother, Lover” (มารดา, ภราดา และคนรัก) ผมกลับพบว่าการคาดเดาของ “เอเธนส์ วอยซ์” ที่บรรดาสื่ออังกฤษ รวมทั้ง “ดิ อินดีเพนเดนต์” นำมาขยายประเด็นต่อ มีความ “ไม่น่าเชื่อถือ” ประการหนึ่งดำรงอยู่
ในหนังสือเล่มดังกล่าว ค็อกเกอร์เขียนอธิบายเอาไว้ว่า การที่เขาได้พบกับนักศึกษาสาวชาวกรีกในชั้นเรียนประติมากรรม ระหว่างช่วงเวลา “ครอสส์โอเวอร์” ก็ย่อมแสดงว่า นักศึกษาทุกคนในชั้นเรียนนั้น ณ ช่วงเวลานั้น น่าจะไม่ใช่เด็กเอกประติมากรรม รวมทั้งสาวกรีกผู้อยากเป็น “สามัญชน” ด้วย
ขณะที่ข้อมูลในสื่อระบุว่า ดาแน สตราตู จบการศึกษาจากภาควิชาประติมากรรม ที่เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ
สอดคล้องกับที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนไม่น้อย ได้เสนอว่ายังมีสตรีชาวกรีกอีกรายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลง Common People ให้แก่นักร้องนำวงพัลพ์
สตรีรายนั้น คือ “แคทเทอริน่า คานา” ผู้เคยเป็นนักศึกษาของเซนต์ มาร์ตินส์ โดยเธอให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ภาษากรีกที่ชื่อ “ไลโฟ” ว่า ณ วิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งกรุงลอนดอน เธอได้พบกับ จาร์วิส ค็อกเกอร์
แถมยังบอกกับเขาไปว่า เธอต้องการใช้ชีวิตแบบ “สามัญชน” คนอังกฤษ และทำทุกสิ่งอย่างแบบที่สามัญชนทั่วไปบนเกาะอังกฤษกระทำกัน
พอกล่าวถึง “ผู้หญิง” ในเพลง Common People แล้ว ก็ทำให้หวนนึกถึง “ผู้หญิง” อีกคน ที่มีชีวิตอยู่ในอีกหนึ่งเพลงดังของพัลพ์ นั่นคือ “Disco 2000”
Disco 2000 ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม “Different Class” เช่นเดียวกับ Common People ถือเป็นหนึ่งในเพลงที่ช่วยฉายส่องความเป็น “นักเล่าเรื่องชั้นยอด” ของ จาร์วิส ค็อกเกอร์ ได้เป็นอย่างดี
ในเพลงดังกล่าว ค็อกเกอร์เขียนเล่าเรื่องราวของ “ผม” (I) กับเพื่อนผู้หญิงวัยเด็กชื่อ “เดโบราห์” ทั้งคู่ลืมตาดูโลก ภายในระยะเวลาที่ห่างกันเพียงแค่ชั่วโมงเดียว จนแม่ของเขาและเธอต่างกล่าวว่า ทั้งสองคนน่าจะเป็นพี่น้องกัน
บรรดาแม่ๆ ยังมโนไปไกลกว่านั้น ด้วยการพูดแซวเล่นๆ ว่า เด็กหญิงชายคู่นี้จะโตขึ้น แล้วแต่งงานโดยไม่มีวันแยกขาดจากกัน อย่างไรก็แล้วแต่ คำพยากรณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แม้ “ผม” จะเคยคิดอยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ อยู่บ่อยครั้งก็ตาม
ค็อกเกอร์บรรยายไว้ว่า เดโบราห์เป็นเด็กผู้หญิงคนแรกของชั้นเรียนที่เริ่มมีนม เพื่อนผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ “มาร์ติน” ถึงกับเอ่ยปากว่า “เธอเป็นผู้หญิงที่โคตรแจ๋วที่สุด” เช่นเดียวกับเพื่อนผู้ชายรายอื่นๆ ที่ต่างตกหลุมรักเธอ
ยกเว้น “ผม” ที่มีแต่ความสับสนงงงวยอยู่ภายในจิตใจของตนเอง
“ผม” ต้องกลายเป็นประจักษ์พยาน ผู้เฝ้ามองดูบรรดาเด็กผู้ชายวัยเดียวกันพยายามจับเดโบราห์แก้ผ้า โดยที่เขาแทบไม่อยู่ในสายตาของเธอ
เมื่อ “ผม” วิ่งไปร้องเรียกเดโบราห์ที่บ้านหลังเล็กๆ ซึ่งติดวอลเปเปอร์ราคาถูกๆ ของเธอ เธอกลับไม่เคยสังเกตเห็นเขา
เมื่อ “ผม” เดินกลับบ้านคู่กับเดโบราห์ในบางครั้งคราว เขาก็คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าใดๆ ในสายตาเธอ เพราะเธอ “ป๊อป” เกินไปสำหรับเขา
ตัดมา กลางทศวรรษ 1990 “ผม” พยายามจะติดต่อชักชวนเดโบราห์ให้กลับไปร่วมรื้อฟื้นความทรงจำครั้งเยาว์วัยเหล่านั้น
เขานัดเธอให้ไปเจอกัน ณ ลานน้ำพุใจกลางเมืองเชฟฟิลด์ ในปี ค.ศ.2000
ในอนาคตดังกล่าว ถึงแม้เดโบราห์จะแต่งงานไปแล้ว “ผม” ก็ไม่แคร์ เขาเพียงแค่อยากจะพบปะพูดคุยกับเธออีกสักครั้ง ต่อให้เธอหอบลูกตัวน้อยติดมาด้วย เขาก็พร้อมยินยอมแต่โดยดี
เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับ จาร์วิส ค็อกเกอร์ ก็คล้ายคลึงกับเรื่องราวในบทเพลง
(ทว่า “เดโบราห์” ใน Disco 2000 กลับมีชีวิตจริงอันกระจ่างชัดกว่า “สาวกรีก” ใน Common People มากมายนัก)
ค็อกเกอร์ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 1963 (พ.ศ.2506) ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ณ เมืองเชฟฟิลด์ อีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งนอนอยู่บนเตียงถัดไปจากแม่ของเขาก็ให้กำเนิดลูกสาว ที่ต่อมามีชื่อว่า “เดโบราห์ ฟาร์เนลล์”
เขาและเดโบราห์ได้เรียนห้องเดียวกันเสมอในสมัยประถมศึกษา

ต่อมา เดโบราห์ เติบโตกลายเป็นพยาบาลผู้มีชื่อเสียง เมื่อช่วงขึ้นปีใหม่ ค.ศ.2015 เธอมีรายชื่อได้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น “เอ็มบีอี” อันเนื่องมาจากผลงานการสร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดูแลเด็กและเยาวชน ผู้มีอาการเครียดและวิตกกังวลภายในจิตใจ
ช่วงเวลาเดียวกัน เดโบราห์ตัวจริงก็กำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งที่กระดูก เธอสิ้นลมขณะมีวัย 51 ปี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.2014 ทิ้งให้ “โคลิน โบน” สามี (คนที่สอง) ในชีวิตจริงของเธอ ต้องเดินทางไปรับพระราชทานเครื่องราชฯ แทนภรรยา
ไม่ใช่แค่ เดโบราห์ โบน ที่ลาจากโลกนี้ เพราะแม้แต่ลานน้ำพุใจกลางเมืองเชฟฟิลด์ ซึ่งเป็นแหล่งนัดพบสำคัญของผู้คนชาวเมือง และถูกกำหนดให้เป็นจุดนัดพบของ “ผม” และ “เดโบราห์” ในเพลง Disco 2000 ก็ถูกรื้อถอนทำลายทิ้งลงไปแล้วเช่นกัน เมื่อปี ค.ศ.1998 ก่อนหน้าปี ค.ศ.2000 เพียงแค่สองปี
ทว่า “เดโบราห์” ผู้เป็นตัวละครในเพลงดังอีกหนึ่งเพลงของวงพัลพ์ ยังคงมีชีวิตอยู่
อย่างน้อยก็เกือบสองทศวรรษเข้าให้แล้ว