ปิดฉาก “ตำนานพระนเรศ”

(มติชนสุดสัปดาห์ 24-30 เมษายน 2558)

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน มีโอกาสได้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6” ตอน “อวสานหงสา” ซึ่งถือเป็นภาคปิดท้ายของหนังชุดนี้ ที่ท่านมุ้ย หรือ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทุ่มเทอุทิศเวลาในการสร้างรวมทั้งหมดทุกภาค ร่วมหนึ่งทศวรรษครึ่ง

ไปชมในฐานะคนดูที่รู้สึกสนุกกับหนังสองภาคแรกอยู่ไม่น้อย ก่อนจะผิดหวังกับภาค 3 รวมทั้งไม่ได้ชมหนังภาค 4 กับ 5 (ถ้าจำไม่ผิด เหมือนเคยดูภาค 4 ผ่านๆ ที่ไหนสักแห่ง แต่สุดท้ายก็ดูไม่จบ)

ก่อนตีตั๋วเข้าชมตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ภาคสุดท้าย ได้ยินเสียงบ่นจากหลายคนว่าเทคนิคคอมพิวเตอร์ กราฟิก หรือ ซีจี ของหนังภาคนี้ อยู่ในระดับ “แย่มาก”

เมื่อไปดูก็พบว่า ในหลายๆ ฉาก เทคนิคการทำซีจีอยู่ในระดับที่ “แย่มากจริงๆ” แย่โดยที่ไม่ได้เปรียบเทียบกับหนังฮอลลีวู้ดทุนยักษ์ทั้งหลาย แต่แย่เมื่อเปรียบเทียบกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ภาคก่อนหน้านี้ (อย่างน้อยก็ภาค 1-3 ที่ผมมีโอกาสได้ดู) หรือแย่กว่าหนังไทยทุนสร้างหลักสิบล้านหลายต่อหลายเรื่อง

บางคนเปรียบเทียบถึงขนาดว่า ซีจีตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ภาค 6 แย่ในระดับเดียวกับละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7

ซึ่งข้อนี้ ผมขออนุญาตเถียงสักเล็กน้อย ในฐานะแฟนจักรๆ วงศ์ๆ คนหนึ่ง

กล่าวคือ ละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่นั้นวางฐานตัวเองอยู่บนเรื่องเล่าแบบแฟนตาซี ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ไม่จริง” หรือ “ไม่สมจริง” อยู่แล้วโดยพื้นฐาน

ดังนั้น ถ้าซีจีที่ไม่เนียนพอแบบจักรๆ วงศ์ๆ สามารถดำเนินคู่กับเนื้อเรื่องว่าด้วยโลกแฟนตาซีที่ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลนัก อย่างพอกล้อมแกล้มไปได้ ผู้ชม (ฟรี) ก็คงพอรับได้อยู่

แต่สำหรับกรณีของภาพยนตร์ชุด “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แม้ท่านมุ้ยจะขึ้นต้นชื่อหนังด้วยคำว่า “ตำนาน” หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า พยายามจะแยกหนังออกจาก “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”

อย่างไรเสีย ตลอด 5 ภาคที่ผ่านมา (รวมถึงเมื่อคราวสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท”) หนังชุด/กลุ่มนี้ก็นำเสนอตัวเองเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ซึ่งพยายามสร้าง “ภาพแทน” ที่ “สมจริง” ในระดับหนึ่ง

แม้จะมิได้ “สมจริง” ในประเด็นถกเถียงใหญ่ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น พระมหาอุปราชาตายเพราะถูกฟันหรือถูกปืนยิง, สามารถมีการชนไก่ในวังพม่าได้ไหม, มณีจันทร์เป็นลูกบุเรงนองจริงหรือเปล่า ฯลฯ

แต่เป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมในเชิงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้านโปรดักชั่น ว่า คนยุคโน้น เขาแต่งตัวออกรบกันอย่างนั้น เขาใช้อาวุธกันอย่างนี้ หรืออาณาจักรโบราณต่างๆ มันยิ่งใหญ่ “จริงๆ”

ทว่า เมื่อซีจีในหลายฉากของหนังภาคสุดท้าย เต็มไปด้วยความ “ไม่สมจริง” เสียแล้ว ความชอบธรรมที่ท่านมุ้ยพยายามสรรค์สร้างมาตั้งแต่ครั้งสุริโยไท ก็สูญสิ้นลงไปเกือบหมด จนน่าเสียดาย

อนึ่ง ผมเข้าใจว่า ด้วยเหตุผลหลายประการ หนังภาค “อวสานหงสา” น่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือมีทุนสร้างที่น้อยลงมากพอสมควร (เผลอๆ จะน้อยที่สุด ในบรรดา 6 ภาค?) ด้วยเหตุนี้ สเกลและความประณีตในงานสร้างจึงลดระดับลงเกือบหมด

ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ กราฟิก ที่ด้อยคุณภาพลง แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิด นอกจากฟุตเทจที่เหลือจากห้าภาคแรก ฟุตเทจส่วนที่ถ่ายเพิ่มใหม่เพื่อหนังภาค 6 โดยเฉพาะ ก็น่าจะเป็นการถ่ายเจาะด้วยมุมกล้องแคบๆ ถ่ายอย่างไม่ใช้คนเยอะ และไม่ได้ถ่ายฉากใหญ่ๆ

(จนส่วนหนึ่ง ต้องพยายามใช้เทคนิคพิเศษเข้าช่วย กระทั่งเกิดปัญหาเรื่องซีจีคุณภาพแย่ตามมา เพราะเงินที่ใช้ทำคอมพิวเตอร์ กราฟิก ก็คงมีไม่มากเช่นกัน)

ดังจะเห็นได้ว่า หนังเลือกใช้วิธีการให้ตัวละครบางรายพูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ แทนที่จะนำเสนอเหตุการณ์นั้นเป็นภาพเคลื่อนไหว หรือมีการเอ่ยถึงตัวละครสำคัญบางคนผ่านบทสนทนา มากกว่าจะนำเสนอให้เห็นภาพหรือรูปร่างหน้าตาของตัวละครนั้นๆ

เชื่อว่า ถ้าเป็นยุคถ่ายทำสุริโยไท หรือตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ 2-3 ภาคแรก ท่านมุ้ยจะต้องใช้ทุนและลงแรงถ่ายฉากเหล่านี้อย่างละเอียดยิบอลังการแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องคุณภาพงานสร้างออกไป หนังภาคปิดท้ายของ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ก็พูดถึงเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย

นั่นคือ พร้อมๆ กับที่นำเสนอภาพความล่มสลายของหงสาวดีและพระเจ้านันทบุเรง ท่านมุ้ยก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะนำเสนอภาพพระนเรศในช่วงปัจฉิมวัย ในฐานะมนุษย์ปกติธรรมดาคนหนึ่ง ผู้มีทั้งความแค้นและการให้อภัย, ผู้มีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดในบางเรื่องราว และผู้ต้องเผชิญหน้ากับวันเวลาแห่งความร่วงโรยโดยมิอาจหลีกเลี่ยง

อย่างน้อย ภาพยนตร์ภาคนี้ก็บอกเป็นนัยว่า อยุธยาไม่ประสบความสำเร็จในการตีตองอู และการตัดสินใจยกทัพไปตองอูของพระนเรศก็ถูกทักท้วง (แม้จะไม่เป็นผล) จากพระเอกาทศรถและพระราชมนู

แม้สุดท้าย ท่านมุ้ย ในฐานะคนทำหนัง จะเลือกหนทางประนีประนอม ด้วยการหาทางออกให้ศึกระหว่างอยุธยาและตองอูยุติลง ผ่านการอโหสิกรรมให้แก่พระเจ้านันทบุเรงโดยพระนเรศก็ตาม

นอกจากนี้ ท่านมุ้ยยังนำเสนอ “ห่วง” ที่พระนเรศทรงมีในใจได้อย่างคมคาย นั่นคือ ความห่วงใยในอนาคตของมเหสี “มณีจันทร์” และ “พระโอรส” ซึ่งกำลังจะถือกำเนิด ที่ดำรงอยู่เคียงคู่กับความห่วงใยในเสถียรภาพทางการเมืองของพระอนุชา อย่างพระเอกาทศรถ

ซึ่งหนังก็พยายามหาหนทางคลี่คลายปมปัญหาดังกล่าวให้นุ่มนวลและประนีประนอมที่สุด ทว่า ปมที่หนังทิ้งค้างเอาไว้ กลับกลายเป็นคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจคนดูจำนวนไม่น้อย

เช่น หลังจากผมดูหนังเรื่องนี้จบ ผมลงลิฟต์มาพร้อมกับครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วยคุณแม่สูงอายุ และลูกอายุราว 30 ขึ้นไป อีก 3 คน ปรากฏว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งข้อสงสัยกัน ก็คือ ตกลงแล้วลูกพระนเรศมีตัวตนจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง พระองค์มีชะตากรรมเช่นไร กระทั่งคนเป็นลูกชายต้องพยายามเสิร์ชหาข้อมูลดังกล่าวจากอินเตอร์เน็ตในสมาร์ตโฟนโดยทันทีทันใด

อีกฉากหนึ่งที่ผมประทับใจมากๆ ในหนัง คือ ฉากที่แสดงการปะทะกันระหว่างแนวคิดที่ใช้อธิบายอาการประชวรของพระนเรศ ตลอดจนอาการล้มป่วยของเหล่าแม่ทัพ นายกอง ทหารแห่งกองทัพอยุธยา

ฉากดังกล่าวฉายภาพให้พระสงฆ์ ผู้มีบุคลิกเหมือนจะเชี่ยวชาญคาถาอาคม บาทหลวงฝรั่ง และธิดาเจ้าเมืองเมาะตะมะ มาให้เหตุผลของอาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันออกไป

พระสงฆ์ให้คำอธิบายในเชิงไสยศาสตร์หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ, บาทหลวงบอกว่าสามารถรักษาอาการเจ็บไข้ได้ด้วยการกรีดข้อมือถ่ายเลือดผู้ป่วย ส่วนธิดาเจ้าเมืองเมาะตะมะ เท้าความว่า พวกมอญมักป่วยด้วยอาการเช่นนี้ในช่วงนี้ของทุกปี เพราะฤทธิ์ของยุง ดังนั้น ต้องนำไม้ชนิดหนึ่งมาเผาเพื่อป้องกันยุง

ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและวัฒนธรรมอันหลากหลาย ที่ท้ายสุด ก็หลีกหนี “สัจธรรม” สูงสุดไปไม่พ้น

ขอปิดท้ายด้วย “นัดจินหน่อง” หนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นมากๆ ในหนังภาคนี้ และดูเหมือนท่านมุ้ย ตลอดจนอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าและผู้เขียนบทร่วม จะพยายามปูพื้นบางอย่างให้ตัวละครรายนี้มาตั้งแต่ภาค 2

แต่แล้ว “นัดจินหน่อง” กลับถูกทิ้งหายไปเฉยๆ ก่อนหวนคืนมามีบทบาทอีกครั้งในภาคสุดท้าย จนแทบจะกลายเป็นพระรองใน “อวสานหงสา” เลยด้วยซ้ำ

นี่ยังไม่นับว่า บุคลิก สีหน้า แววตาของ “น.ท.จงเจต วัชรานันท์” ผู้รับบทบาทนี้นั้น ดูมีประกายหรือเสน่ห์ความเป็นดารามากกว่านักแสดงนำอย่าง “ผู้พันเบิร์ด” หรือ “ท่านโฆษกต๊อด” เสียอีก

และเท่าที่เคยฟังจากรายการวิทยุซึ่งอาจารย์สุเนตรจัดร่วมกับ คุณวีระ ธีรภัทร รวมถึงการลองค้นข้อมูลคร่าวๆ จากอินเตอร์เน็ต ก็พบว่าชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้นี้น่าจะนำไปทำเป็นหนังได้สนุกดี

คนที่เป็นทั้งนักรบและกวีเอก คนที่ชอบสตรีอายุมากกว่าผู้มีศักดิ์เป็นอาของตัวเอง พระเจ้าตองอูที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เพราะหันไปร่วมมือทางการเมืองกับทหารโปรตุเกส ก่อนจะปิดฉากชีวิตด้วยการถูกประหาร

พูดแล้ว ก็น่าลุ้นให้ท่านมุ้ยสร้างภาพยนตร์ “ตำนานนัดจินหน่อง” ขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง (ล้อเล่นนะครับท่าน ฮ่า ฮ่า ฮ่า)


(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({});

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.