“แพรดำ” หนังไทย พ.ศ.2504 ได้รับเครื่องหมาย “Official Selection 2020 Cannes Classics”

ภาพโปสเตอร์ “แพรดำ” ฉบับฉายครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2504 – เพจเฟซบุ๊กหอภาพยนตร์

“แพรดำ” (Black Silk) หนังอาชญากรรม-ชีวิต แฝงด้วยปรัชญาพุทธศาสนา กำกับโดย “รัตน์ เปสตันยี” ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2504 และเพิ่งได้รับการบูรณะ-ทำต้นฉบับใหม่ในระบบ 4K โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการโดยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ให้เป็นผลงานที่อยู่ในสาย “คานส์ คลาสสิกส์” ประจำ ค.ศ.2020

แต่เนื่องจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้ได้ถูกเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 “แพรดำ” ฉบับบูรณะใหม่ จึงจะไปฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะได้รับการติดเครื่องหมาย “Official Selection 2020 Cannes Classics”

“แพรดำ” เป็นหนังในตระกูลฟิล์มนัวร์เรื่องแรก ๆ ของเมืองไทย นำแสดงโดย “รัตนาวดี รัตนาพันธ์” (พรรณี ตรังคสมบัติ – บุตรสาวของ “รัตน์ เปสตันยี”) ในบท “แพร” หญิงหม้ายลูกติดที่สวมชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สามีผู้ล่วงลับ

ความสัมพันธ์ระหว่าง “แพร” กับ “ทม” (ทม วิศวชาติ) คนคุมไนต์คลับ ได้ชักนำเธอให้เข้าไปพัวพันกับแผนการหลอกลวงและเหตุฆาตกรรม

แพรดำ” มีความโดดเด่นในด้านสุนทรียศาสตร์ของภาพและศิลปะการสื่อความหมาย รวมทั้งการผสานแนวทางของหนังตะวันตกเข้ากับวิธีคิดและองค์ประกอบแบบไทย โดยหนังเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เมื่อ 59 ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.2559 “สันติ-วีณา” ภาพยนตร์จาก พ.ศ.2497 ผลงานการกำกับของ “ทวี ณ บางช้าง” (มารุต) และอำนวยการสร้างโดย “รัตน์ เปสตันยี” คือ หนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกเข้าฉายในสาย “คานส์ คลาสสิกส์” ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

อย่างไรก็ตาม “สันติ-วีณา” ถือเป็นภาพยนตร์เก่าที่ทางหอภาพยนตร์ได้ทำการบูรณะร่วมกับ L’Immagine Ritrovata แล็บบูรณะภาพยนตร์ชื่อดังจากประเทศอิตาลี ขณะที่ “แพรดำ” คือผลงานลำดับแรกสุดที่ได้รับการบูรณะและจัดทำต้นฉบับใหม่ในระบบดิจิทัล 4K ด้วยเครื่องมือและบุคลากรของหอภาพยนตร์

ขอบคุณข้อมูลจาก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.