สถานะของเพลง “ไกล” ในปลายทศวรรษ 2530
ไม่ว่าจะนิยามเพลง “ไกล” ว่าเป็นผลงานแนวโปรเกสซีฟร็อก โอเปร่าร็อก ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่
ทว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันก็คือผลงานเพลงดังกล่าวคือการเปิดตัว “มาโนช พุฒตาล” ในฐานะนักดนตรี-นักแต่งเพลงฝีมือยอดเยี่ยม ประดุจนาวาที่นำพาเขาโดยสารข้ามมาจากอีกฟากฝั่งทางวิชาชีพ อันได้แก่ การเป็นพิธีกรรายการดนตรี นักจัดรายการวิทยุ หรือนักวิจารณ์
“ไกล” เข้ามาสร้างความแหวกแนวให้แก่อุตสาหกรรมเพลงไทยในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2530 ด้วยเนื้อหาเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง คมคาย ชวนขบคิด และด้วยความยาว (เกือบ 24 นาที) เกินมาตรฐานเพลงตามท้องตลาดทั่วไป
แม้แนวทางดนตรีที่ปรากฏในเพลงนี้จะจัดเป็นวิถี “โอลด์สกูล” และไม่ได้เป็นงาน “อัลเตอร์ฯ” ตามสมัยนิยมยุคนั้นก็ตาม
เพลง “ไกล” คือก้าวย่างแรก ซึ่งนำไปสู่ก้าวย่างที่สองคือคอนเซ็ปท์อัลบั้มชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า”
โดยเพลงอย่าง “หมอผีครองเมือง” และ “ลำธาร” ก็คือส่วนเสี้ยวในบทเพลงดั้งเดิมที่ถูกนำมาขยายต่อเติมและพัฒนาจนกลายเป็นเพลงใหม่ที่มีชีวิตมีบทตอนของตัวเอง
ขณะที่ “ไกลรำลึก” ก็อาจเป็นคล้ายภาคต่อสั้นๆ (ที่ยังไม่จบ?) ของ “ไกล”
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทั้ง “ไกล” และ “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” ล้วนเป็นผลงานเพลงที่น่าจดจำในทศวรรษ 2530 และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนฟังกลุ่มเล็กๆ อย่างนิ่งลึก ท่ามกลางความรุ่งโรจน์ของค่ายเพลงป๊อปยักษ์ใหญ่สองค่าย และสีสันหวือหวาของกระแสดนตรีอินดี้
“ไกล” : แรกฟัง
โดยส่วนตัว ต้องยอมรับว่าผมฟังเพลง “ไกล” ในฐานะ “บทเพลงปลุก/ปลอบความหวัง” ตลอดมา เป็นเวลากว่าสองทศวรรษ
แม้เนื้อหาของเพลงจะขึ้นต้นด้วยเรื่องราวของ “วันสุดท้ายที่น่าเวทนา” และไร้ความหวัง
แม้พี่ซัน มาโนช ผ่านเสียงร้องแหบเสน่ห์ของ “กฤตยา จารุกลัส” จะเฆี่ยนโบยเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยถ้อยคำพร่ำบ่น อาทิ
“ภาระอันหนักหนา หาใครช่วยแบกหาม ได้แต่แหงนหน้าถามฟ้า
คำสั่งจากแดนสวรรค์ แข่งขัน ดุจเข่นฆ่า ก้าวข้ามหัวใครมา
ฉันจึงมาหา ที่มาของสายน้ำ สายน้ำแห่งความหมาย
ต่อสู้อย่างอดทน ดิ้นรนจนแทบตาย ยังฉันยังไม่พบสิ่งใด”
หรือ
“เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายไปไม่ถึง เซื่องซึมและสิ้นหวัง
ฉันเห็นโลกแปลกหน้า ยาพิษในอาหาร สุสานบนถนน
คนบ้าถือกงล้อ เด็กน้อยถือปืนผา อาสาสู้ศึกร้าย
เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายก็หลงทาง ได้แต่หวังเพียงกลับบ้าน”
และแม้เรื่องราวของบทเพลงจะพาเราดั้นด้นไปเผชิญหน้ากับ “หมอผีครองเมือง” ผ่านสภาวะ
“คนจนยิ่งจน ยากจนเพราะคนร่ำรวย ร่ำรวยเพราะคนยากจนสร้างให้รวย
คนดีต้องตาย เพราะเหล่าร้าย พวกเหล่าร้าย เขียนกฎหมาย ให้คนร้ายเป็นคนดี
หลายสิ่งที่เป็น แต่ที่เห็น เป็นภาพลวง เป็นภาพหลอน เฉกเช่นหนอนกลายเป็นเกลือ”
ทว่าอย่างน้อยที่สุด การเดินทางไกลของเพลงเพลงนี้ก็ยังนำพาเราไปสัมผัสกับปัญญา เหตุผล ความดีงาม การแบ่งปัน และชัยชนะตามประสา “เพลงการเมืองยุคหลัง 2535” ดังปรากฏผ่านเนื้อร้องท่อนที่ว่า
“อยากบอกให้รู้ความดียังมีอยู่ วางจิตรับรู้เข้าใจด้วยเหตุผล
ดื่มดับกระหาย สายน้ำของทุกผู้คน หยุดความสับสน เลือกหนทางเดิน
สัจธรรมจริงแท้ มั่นคงดำรงอยู่ ปัญญาความรู้เท่าทันความเศร้าหมอง
ดื่มเถิดเพื่อนผอง สายน้ำของการแบ่งปัน ร่วมกันสร้างฝันบนพื้นฐานความจริง”
และ
“วิถีเหตุผล พาหลุดพ้น ฤทธิ์เวทมนตร์ หมอผีร้าย สูญสลายในพริบตา”
ก่อนหน้านี้ หากมีใครบอกว่าเขารู้สึกหมดสิ้นความหวัง ซึมเศร้า ไร้ทางออกในชีวิต หลังจากฟังเพลงของมาโนช ผมก็อาจนึกถึงเพลง “ไกลรำลึก” มากกว่า “ไกล”
“ไกล” : ฟังใหม่หลังโศกนาฏกรรม
ผมรู้สึกสะเทือนใจใหญ่หลวง เมื่อได้ทราบข่าวว่ามี “เพื่อนร่วมสังคม” “เพื่อนร่วมประเทศ” “เพื่อนร่วมชาติ” “เพื่อนร่วมโลก” “เพื่อนมนุษย์” ท่านหนึ่งตัดสินใจปิดฉากชีวิตของตนเอง ทั้งเพราะความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจในยุคโควิดแพร่ระบาดและความโกรธแค้นที่มีต่อผู้นำประเทศ (หรืออาจร่วมด้วยความกดดันอื่นๆ)
โดยห้วงคำนึงหรือการไตร่ตรองสะท้อนคิดท้ายๆ ของเธอ คือ การทบทวนย้อนรำลึกถึงเนื้อหาบางส่วนของเพลง “ไกล”
สิบกว่าชั่วโมงที่ผ่านมา ผมจึงลองนั่งฟังเพลงเพลงนี้ “ใหม่” ซ้ำๆ อีกหลายรอบ เพื่อสำรวจตรวจตราถึงมิติแห่งโศกนาฏกรรมที่อาจแฝงเร้นอยู่ในบทเพลง
แล้ว “ความเศร้า” บางอย่างก็ปรากฏขึ้นในการรับรู้ของผม (ซึ่งอาจจะเป็นคนละ “ความเศร้า” กับที่เพื่อนผู้นั้นสามารถสัมผัสหยั่งถึงได้)
“ผมสงสัยอยู่ว่า ทำไมจึงเป็นตัวของตัวเองไม่ได้
เป็นอย่างสัตว์ป่าสักตัว สัตว์โทน อยู่ตามลำพังในป่า หิวก็กิน เหนื่อยก็นอน
ไม่ต้องกินสิ่งที่ไม่อยากกิน ไม่ต้องนอนในที่ที่ไม่อยากนอน
ไม่ต้องเชื่อในเรื่องที่ไม่อยากเชื่อ”
ผมมักรู้สึกอยู่เสมอมาว่าคำพูดส่งท้ายเพลงของพี่ซัน มาโนช นั้นทรงพลังอย่างยิ่งในการส่งมอบความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและอิสรภาพบางประการให้แก่ผู้ฟัง
ผมเพิ่งเกิดคำถามในใจเมื่อสักครู่นี้เองว่าภาวะ “สัตว์โทน” ที่ถูกกล่าวถึงช่วงท้ายเพลง “ไกล” นั้นสื่อถึงความมีอิสระและปราศจากพันธะจองจำทางสังคม ใน “วิถีทางตามธรรมชาติ” ของสิ่งมีชีวิต
หรือมันอาจหมายถึง “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” ไม่มีศักดิ์ ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีปากเสียง ไม่มีตัวตนในสังคมการเมือง เป็นชีวิตที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ทรงอำนาจ และไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งจากรัฐและสังคมกันแน่?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภาวะ “สัตว์โทน” ดังกล่าวอาจเป็นทั้งสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่น่าพึ่งปรารถนาโดยตัวของมันเอง?
ไม่ต่างอะไรกับความโรแมนติกของห้วงยาม “ปลดปล่อยตนเองไปตามลำธารเปลี่ยว” ซึ่งมิอาจแยกขาดจากความรู้สึก “โดดเดี่ยวคนเดียว เหลียวมองดูรอบกาย โดดเดี่ยวเดียวดาย กระหายพบเพื่อนร่วมทาง โลกที่อ้างว้าง เส้นทางที่ไกล”
ไม่ว่าเราจะตีความหรือเข้าใจเพลง “ไกล” ตรงกันหรือไม่ ผมขออุทิศงานเขียนชิ้นนี้ให้แก่ “เพื่อน” ผู้เลือกจะ “ปลดเปลื้องภาระอันหนักหนา” และยุติ “การเดินทางไกล” ของตนเองลง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563