
ภาพ “ฟ้าใส” จากเพจเฟซบุ๊ก Miss Universe Thailand 2019
นอกประเด็น
ขอพูดถึงประเด็นที่กำลัง “อินเทรนด์” ในสังคมไทยก่อนสักเล็กน้อย นั่นคือเรื่องการตอบคำถามของ “ฟ้าใส ปวีณสุดา” ซึ่งบางคนบอกว่า “เป็นไทย” เกินไป อยู่ใน “กะลา” เกินไป ส่วนบางคนก็ลากไปถึงบริบทการอยู่ในอำนาจของ “ประยุทธ์/พลังประชารัฐ/คสช.”
แต่เอาเข้าจริง ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลในการตอบคำถามของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ นั้นน่าจะขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของ “ฟ้าใส” เองและทีมงานมากกว่า
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยสอบทักษะการเขียนของ IELTS แนวคำถามของข้อสอบประเภทนั้นก็จะไม่ต่างกับพวกคำถามบนเวทีนางงามจักรวาลระยะหลังมากนัก คือ เป็นประเด็นถกเถียงทางสังคม มีสมมติฐานให้เลือกสนับสนุนสองขั้ว ซึ่ง “สูตร” ที่ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่รู้กันดี ก็มีอยู่ว่าเราต้องบรรยายถึงข้อดี-ข้อด้อยของทั้งสองสมมติฐาน แล้วจึงสรุปความโดยอาจเลือกสนับสนุนสมมติฐานใดสมมติฐานหนึ่ง หรือจะเลือกวางตัว “เป็นกลาง” ก็พอได้
หากเขียนคำตอบตามแนวนี้ โดยไม่มีข้อผิดพลาดร้ายแรงเรื่องไวยากรณ์และการใช้ศัพท์ อย่างไรเสีย คะแนนที่ได้ก็อยู่ราวๆ 6.5-7 เต็ม 9 ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พอดี
ผมคิดว่าการตอบคำถามในประเด็น privacy กับ security ของ “ฟ้าใส” นั้นวางฐานอยู่บนกลยุทธ์ข้างต้น และเธอก็เลือกเล่นกระบวนท่าที่เซฟที่สุด (แน่นอน มันทำให้เธอไม่ได้คะแนนสัมภาษณ์ระดับ 8-9 แต่เธอและทีมงานก็อาจมั่นใจในคะแนนด้านอื่นๆ ของตัวเอง) มากกว่าจะคิดถึงหน้าประยุทธ์ หรือการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ระหว่างยืนสนทนากับสตีฟ ฮาร์วีย์
หรือถ้าจะลากเข้าเรื่องการเมือง ผมก็ไม่ได้มองว่า “ฟ้าใส” เป็นตัวแทนของความไม่รู้ ความเขลา แต่มองว่าเธอเป็นเหมือนคนไทยทั่วไปส่วนใหญ่ ซึ่งเวลาให้พูดถึงหรือดีลกับ “รัฐ” พวกเราก็จะเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่แน่ใจ งุนงง และมีทัศนวิสัยอันพร่าเลือนคลุมเครือ ว่ารัฐคืออะไรกันแน่? รัฐจะทำอะไรกับเรา? รัฐทำงานอย่างไรบ้าง? อำนาจรัฐมีขอบข่ายกว้างขวางขนาดไหน? ฯลฯ
ที่สำคัญที่สุด เราอาจมีผู้หญิงไทยอีกมากมายที่ “เล่นการเมืองกับการตอบคำถามเชิงสังคม” ได้แหลมคมเก่งกาจฉลาดเฉลียวกว่า “ฟ้าใส” แต่สตรีเหล่านั้นก็อาจจะไม่มีศักยภาพในการ “เล่นการเมืองเรื่องเรือนร่าง” หรือไม่ปรารถนาจะเข้าไปเล่นการเมืองในเรื่องดังกล่าว ซึ่งนับเป็นอุปสรรคด่านแรกๆ ที่เหล่านางงามต้องฝ่าฟัน (ก่อนการตอบคำถาม)
บริบท
แม้จะยังไม่ได้ครอบครองมงกุฎนางงามจักรวาลลำดับที่สาม แต่น่าสนใจว่าผลงานของนางงามไทย (มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์) บนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ในครึ่งทศวรรษหลังนั้น อยู่ในเกณฑ์ “ดี”
คือ การเข้ารอบสิบคนสุดท้ายในปี 2015, เข้ารอบหกคนสุดท้าย (รอบห้าคนในปัจจุบัน) ในปี 2016, เข้ารอบห้าคนสุดท้ายในปี 2017 เข้ารอบสิบคนสุดท้ายในปี 2018 และเข้ารอบห้าคนสุดท้ายอีกครั้งในปี 2019
นี่คือผลงานในภาพรวมที่อยู่เหนืออดีตชาติมหาอำนาจของวงการนางงามจากยุคก่อน เช่น เวเนซุเอลา และ อินเดีย
ประเด็นเบื้องต้นที่มองเห็นได้โดยง่าย ก็คือ มันน่าจะเริ่มมี “สูตรสำเร็จ” ซึ่งเป็นรับรู้กันของคนในแวดวงนางงามไทย ว่าต้องทำอย่างไร ผู้เข้าประกวดจากบ้านเราจึงจะประสบความสำเร็จบนเวทีใหญ่ๆ ระดับอินเตอร์
ไม่ใช่แค่การผ่านเข้ารอบลึกๆ ของเวทีที่ “ใหญ่สุด” อย่างมิสยูนิเวิร์สโดยต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาผลงานเฉพาะปีนี้ เราจะพบข่าวนางสาวไทยประจำปี 2562 ไปชนะเลิศบนเวทีมิสอินเตอร์เนชั่นแนล (ว่ากันว่าเป็นเวทีประกวด “อันดับสาม” รองจากมิสยูนิเวิร์สและมิสเวิลด์) ตัวแทนสาวไทยไปชนะเลิศบนมิสซูปราเนชั่นแนล, มิสแกรนด์ไทยแลนด์ได้เป็นรองอันดับ 2 ในการประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล, “ฟ้าใส” ได้เข้ารอบห้าคนสุดท้ายบนเวทีนางงามจักรวาล
และยังเหลือมิสไทยแลนด์เวิลด์ปีล่าสุด ซึ่งกำลังเข้าประกวดมิสเวิลด์อยู่
ถ้ามองคร่าวๆ จากมุมของคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนางงามอย่างใกล้ชิด ดูคล้ายว่า “สูตรสำเร็จ” ข้างต้น จะเดินตามรอยนางงามจากฟิลิปปินส์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะหลัง ตลอดจนสาวงามจากทวีปอเมริกาใต้ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันประสบความสำเร็จบนเวทีต่างๆ
เป็น “สูตรสำเร็จ” ที่แสดงออกผ่านการนำเสนอบุคลิกภาพ ท่วงท่า กิริยา ที่มั่นใจ (ชนิดเล่นเยอะเล่นใหญ่นิดๆ), การตอบคำถามที่ฉะฉานเล่นหูเล่นตาหน่อยๆ (ส่วนจะคมคายหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) รวมถึงการไม่ปิดบังเรื่องการทำศัลยกรรม เป็นต้น
ผลงานที่ดีของนางงามไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า “สูตร” ดังกล่าวนั้น “กดติด” ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่อง “มงสามมาแน่” จึงไม่ใช่การมโนเพ้อพกไปเองของแฟนคลับนางงาม แต่เกิดจากพัฒนาการ, การตกตะกอนทางความคิด, การวางแผนงาน และการดำเนินกลยุทธ์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ขณะเดียวกัน ก็มีประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ประสบความสำเร็จในระดับใกล้เคียงกัน ด้วยแนวทางคล้ายๆ กัน ในกรอบเวลาร่วมสมัยกัน อาทิ อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
แต่ไม่มีใครแน่ใจว่า ความสำเร็จของสาวงามจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะติด “เทรนด์โลก/จักรวาล” ไปอีกกี่ปี ก่อนจะร่วงโรยลงเหมือนดังเช่นนางงามอินเดีย ณ ปัจจุบัน
เข้าประเด็น

หนึ่งในองค์ประกอบของ “สูตรสำเร็จ” ที่ช่วยผลักดันนางงามไทยไปสู่ความสำเร็จระดับนานาชาติ ย่อมเกี่ยวพันกับคุณค่า/มาตรฐาน/การจัดการเกี่ยวกับ “ร่างกาย/เรือนร่าง”
น่าสังเกตว่า “การเมืองเรื่องเรือนร่าง” ของผู้หญิงในวงการบันเทิงไทยระยะหลังๆ นั้น มีความย้อนแย้งแตกขั้วกันออกเป็นสองด้านสองแนวคิดอย่างชัดเจน
ด้านหนึ่ง “สูตรสำเร็จ” บนเวทีการประกวดนางงาม ได้ผลักดันให้โครงสร้างสรีระร่างกายของผู้หญิงในวงการบันเทิงบางส่วนพุ่งทะยานไปอีกระดับ โดยเราอาจพิจารณาจากความสูงของนางงามไทย
ความสูง 175 เซนติเมตรของนางสาวไทยและมิสแกรนด์ไทยแลนด์ รวมถึงความสูง 173 เซนติเมตรของมิสไทยแลนด์เวิลด์ ประจำปีนี้ อาจไม่ผิดแผกแตกต่างจากมาตรฐานที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ราวๆ กลางทศวรรษ 2530 มากนัก
แต่ความสูง 180/181 เซนติเมตรของ “ฟ้าใส” ในฐานะมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 ก็บ่งบอกถึงระลอกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาโดยต่อเนื่อง
เราอาจเคยมีรองนางสาวไทยที่สูงเกิน 180 เซนติเมตร เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน แต่นั่นก็เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นแค่ “ครั้งเดียว” ในรอบหลายทศวรรษ
เป็นไม่กี่ปีหลังนี่เอง ที่ประเทศไทยมีผู้ชนะเลิศบนเวทีการประกวดนางงามระดับชาติ ซึ่งตัวสูงเกิน 180 เซนติเมตร ถึงสองคน คือ “มารีญา” และ “ฟ้าใส”
ขณะเดียวกัน เมื่อลองไปค้นโปรไฟล์ของสาวงามที่ผ่านเข้ารอบห้าคนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปีล่าสุด เราก็จะยิ่งพบปรากฏการณ์น่าสนใจ เพราะนางงามทั้งห้ารายมีความสูง 185, 182, 180, 179 และ 174 เซนติเมตรตามลำดับ (“ฟ้าใส” คือคนตัวสูงลำดับสาม และถ้าย้ายนางสาวไทย, มิสแกรนด์ไทยแลนด์ และมิสไทยแลนด์เวิลด์ มายืนประกบกับเพื่อนๆ นางงามห้าคนนี้ พวกเธอก็จะกลายเป็นคนตัวเล็กเกือบที่สุด/ที่สุด)
ไปๆ มาๆ ตัวแทนสาวไทยเลยเป็นผู้เข้าประกวดที่สูงใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ผ่านเข้ารอบห้าคนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส (ทั้งในปีของ “ฟ้าใส” และ “มารีญา”)
ดูเหมือนว่านอกจากเวทีการประกวดนางงามระดับชาติ จะมีวิธีการและจุดหมายปลายทางไปสู่ความสำเร็จบนเวทีการประกวดระดับนานาชาติที่ชัดเจนขึ้น
พื้นที่ตรงนี้ยังควรเป็นแหล่งแจ้งเกิดของผู้หญิงรูปร่างสูงยาวเข่าดี ที่มีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นนางแบบหรือดาราดังได้ไม่ยาก หากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและบรรทัดฐานของวงการบันเทิงไทยเมื่อหลายปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เวทีนางงามกลับกลายเป็นพื้นที่บันเทิงใหญ่ๆ แห่งเดียวของผู้หญิงเหล่านั้นในยุคปัจจุบัน เมื่อนิตยสารแฟชั่นแทบไม่หลงเหลือบนแผง (ส่วนแผงหนังสือก็เหลือน้อยเต็มที) งานแฟชั่นวีก กลายเป็นกิจกรรมของไฮโซเฉพาะกลุ่มที่ไม่ “ป๊อปปูลาร์” ในวงกว้าง
กระทั่ง “นางแบบระดับท็อป” รุ่นใหม่ ไม่สามารถเป็น “ดาราดัง” ได้ในคราวเดียวกัน ขณะที่ “นางแบบ” ที่ผันตนเองมาเป็น “ดาราดัง” ก็อาจไม่ใช่คนที่โดดเด่นสุดบนเวทีแคตวอล์ก อย่างไรก็ดี “นางแบบผู้โดดเด่น” นั้นสามารถข้ามมาคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีการประกวดนางงามได้ อาทิ “มารีญา” และ “มิเรียม ศรพรหมมาศ”
ในอีกด้านหนึ่ง มาตรฐานเรื่องเรือนร่างของ “นักแสดง/ดาราหญิง” ในวงการบันเทิงไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับคนดูหนังดูทีวี เราจะพบว่าขนาดสรีระร่างกายโดยรวมของพระเอกไทยในรอบ 20-30 ปีนี้ นั้นไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงมากนัก (แม้อาจมีลักษณะบางด้านที่ผันแปรไปบ้าง เช่น พระเอกรุ่นหลังๆ ซึ่งพากันเข้าฟิตเนสอย่างจริงจัง ต่างมีมัดกล้ามเป็นระบบแบบแผนตามสมัยนิยม)
เราเคยมีพระเอกสูง 180 กว่าๆ ในรุ่นก่อนอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีอย่างนั้น เราเคยมีพระเอกไซส์กลาง-เล็ก จำนวนหนึ่งอย่างไร ตอนนี้ก็ยังมีอยู่อย่างนั้น (จาก “ติ๊ก เจษฎาภรณ์” ถึง “มาริโอ้” ถึง “นน ชานน”)
แต่เราจะไม่รู้สึกกันว่ารูปร่างเฉลี่ยของพระเอกชั้นนำของยุคนี้ สูงใหญ่ขึ้น/เตี้ยเล็กลงจากพระเอกยุค 2530-2540 อย่างมีนัยยะสำคัญ
ตรงกันข้ามกับสภาวะที่เกิดขึ้นกับ “นางเอกไทยชั้นนำ” ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ถ้าพิจารณาจากนางเอกหลักๆ ของช่อง 3 “แต้ว” “มิว” “เบลล่า” มาจนถึงหน้าใหม่เช่น “เก้า สุภัสสรา” หรือนางเอกที่กำลังดังของฝั่งช่อง 7 อย่าง “มุกดา” ผนวกด้วยนางเอกอีกหลายรายของช่องวัน จีเอ็มเอ็ม 25 (อาทิ “ใบเฟิร์น”) และสาย BNK48
ก็จะพบว่าโครงสร้างสรีระร่างกายของดาราหญิงเหล่านี้มีขนาดเล็กลงกว่ามาตรฐานเดิมๆ ชัดเจน
โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับนางงามร่วมสมัย (ที่มีแนวโน้มจะสูงใหญ่ขึ้นกว่าเก่าตาม “สูตรสำเร็จ” บางอย่าง) ถ้าเราลองเทียบเคียง “นางเอกไทยอันดับต้นๆ” ยุคปัจจุบัน กับ “นางเอกระดับนำ” รุ่น 2530-40 อาทิ สินจัย, อภิรดี, หมิว ลลิตา, สิเรียม, มาช่า, คัทลียา, นุสบา, หน่อย บุษกร รวมถึง อั้ม พัชราภา และ ยุ้ย จีรนันท์ ฯลฯ
เราจะพบแนวโน้มแบบแผนว่านางเอกรุ่นใหม่นั้นมีสรีระเล็กกว่านางเอกรุ่นพี่-แม่ อยู่มากพอสมควร (ระหว่าง “เกือบ 160 ถึง 160 กลางๆ” กับ “160 ปลายๆ ถึง 170”)
(บางคนอาจเถียงว่า “โบว์ เมลดา” อดีตผู้ชนะไทยซูเปอร์โมเดลแห่งช่อง 7 ถือเป็นนางเอกหุ่นนางแบบของยุคนี้ ซึ่งมีรูปร่างพอๆ กับ “บี น้ำทิพย์” เมื่อยุคก่อน หรือเราอาจอ้างว่า “ญาญ่า” “คิมเบอร์ลี” “เดียร์น่า” “แมท” และนางเอกจำนวนหนึ่ง นั้นมีขนาดสรีระร่างกายเท่าๆ “นางเอกพิมพ์นิยม” ใน 2-3 ทศวรรษที่แล้ว แต่เอาเข้าจริง ก็มีเพียงบางรายในกลุ่มนี้เท่านั้นที่โด่งดังเข้าขั้นซูเปอร์สตาร์ อีกทั้งพวกเธอยังไม่ใช่ภาพแทนหลัก-กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อันเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ยของดาราหญิงชั้นนำในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน)
ส่วนหนึ่ง นี่อาจเป็นผลมาจากมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์เรื่อง “ความงาม” ที่เปลี่ยนไป จากความนิยมที่มีต่อ “นางเอก” ที่เป็น “นางแบบ” (ไซส์กลาง-เล็ก) ได้ด้วย มาสู่ “นางเอก” กึ่ง “สาวข้างบ้าน”
ด้วยมาตรฐาน-ค่านิยมอันเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เราจึงได้เห็นภาพตัวละครรุ่นลูกสาวร่างเล็กบาง ต้องตกอยู่ภายใต้คาริสมา-อิทธิพลของตัวละครรุ่นแม่ เช่น “อุ๋ม อาภาศิริ” (นางแบบรูปร่างขนาดกลางจากยุค 90) ในซีรี่ส์/ละครทีวีเรื่องแล้วเรื่องเล่า
คาริสมา-อิทธิพลดังกล่าวอาจเกิดจากฝีมือ-ประสบการณ์ของนักแสดงรุ่นอายุ 40-50 ปี แต่อีกส่วนหนึ่ง ถ้ามองผ่านความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ปรากฏในเฟรมภาพ ภาวะเช่นนั้นก็น่าจะเกิดจากโครงสร้างสรีระร่างกายของฝ่ายหลังที่ได้เปรียบ/อยู่เหนือกว่าฝ่ายแรกอย่างเด่นชัด (กระทั่ง “นก สินจัย” ก็น่าจะยืนยงอยู่ได้ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน)
โดยสรุป ค่านิยมเกี่ยวกับ “เรือนร่าง/ร่างกาย” ของผู้หญิงในอุตสาหกรรมไทยยุคปัจจุบัน นั้นมีอยู่อย่างน้อย 2 ชุด
ชุดแรก คือ เรือนร่างของนางงามที่ต้องสูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม จนความสูง 175-180 เซนติเมตร ไม่ใช่ความแปลกใหม่ แต่เป็นบรรทัดฐานทั่วไปบนเวทีการประกวด ซึ่งอยู่เหนือมาตรฐานของหญิงไทยส่วนใหญ่ชนิดไกลลิบลับ
ชุดที่สอง คือ เรืองร่างของนางเอกส่วนใหญ่ในหนัง-ละคร ซึ่งมีแนวโน้มจะตัวเล็กลง หากเทียบกับบรรดานางเอกเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเธอมีความเป็น “ผู้หญิงไทยธรรมดา” มากขึ้น
นี่คือมาตรฐานต่างชุดที่มีระยะห่างจากกัน ราวกับอยู่คนละโลก
คนเป็นนางงามหรือมีเรือนร่างแบบนางงาม จึงไม่ค่อยมีที่ทางในหนัง/ละคร (นอกจากละครสไตล์อาหลอง หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งดูเหมือนผู้อาวุโสที่อยู่เบื้องหลัง จะยังมีรสนิยม “โอลด์สกูล” อยู่) แม้แต่ผู้ที่เข้าถึงรอบหกคนสุดท้ายบนเวทีนางงามจักรวาล ก็ยังต้องมาวนเวียนเล่นละครช่อง 8 เป็นหลักเท่านั้น
กลับกัน คนเป็นนางเอก-ดารา-ซุปตาร์-เน็ตไอดอล เกือบทั้งหมด ก็ไม่ได้มีคุณสมบัติพื้นฐานในการเป็นนางงาม รวมทั้งนางแบบ (ในความหมายของซูเปอร์โมเดล) แต่พวกเธอสามารถดึงดูดแฟนๆ ด้วย “ความสวย-ออร่า-ความน่ารัก” อีกประเภทหนึ่ง (เช่น ความขาวยังคงเป็นคุณลักษณะเด่นของดาราเหล่านี้ สวนทางกับผิวที่ต้องมีสีแทนของนางงามไทยยุคหลัง)
ถ้าให้พูดเลียนแบบ “ฟ้าใส” ก็คงกล่าวได้ว่า “ค่านิยม-มาตรฐาน” สองชุดนี้ ไม่มีแบบไหนถูก-ผิดเสียทีเดียว แต่ทั้งคู่ต่างดำรงอยู่ด้วยวิธีคิด-หน้าที่-เป้าหมาย-ฐานแฟนคลับ ที่แตกต่างกัน
และก็มีความชอบธรรมเช่นเดียวกัน ที่ผู้หญิงอีกหลายคนจะเพิกเฉยต่อบรรทัดฐานคู่นี้ แล้วก้าวข้ามไปสู่บทพิสูจน์-พันธกิจชนิดอื่นๆ