เพิ่งเสิร์ชเจอบทสัมภาษณ์ ชีวิต-แนวคิดการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ต้นตอวลี “แม่ไม่ปลื้ม” โดย กันตพงศ์ ก้อนนาค ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562
นี่คือบทสัมภาษณ์ “ครูตุ้ม รัมภา ภิรมย์ภักดี” ว่าด้วยงานเขียนบทโทรทัศน์ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่เข้มข้นจริงจังชิ้นหนึ่ง และทำให้ได้รับทราบข้อมูลชัวร์ๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผู้เขียนบท “นางสิบสอง 2562” ผ่านนามปากกา “สุวิชา” ก็คือ รัมภา นั่นเอง
ตีความใหม่ “นางสิบสอง”
ครูตุ้มเล่าให้กันตพงศ์ฟังถึงการเขียนบท “นางสิบสอง” ฉบับใหม่ ซึ่งสอดแทรกประเด็นบางอย่างที่แตกต่างไปจากฉบับเดิมๆ โดยเฉพาะข้อขัดแย้งระหว่าง “เศรษฐีนนท์” คนธรรมดาปากไม่ดี กับ “พาลเทพ” เทวดาเจ้าคิดเจ้าแค้นจอมกลั่นแกล้ง
“ใช่ครูกำลังเขียนเรื่องนางสิบสอง ซึ่งตอนนี้เขียนไปได้แล้วประมาณสามตอน การผลิตครั้งนี้ต่างไปจากครั้งก่อน ครูปรับลักษณะนิสัยตัวละคร จากครั้งก่อนคือตัวพ่อของนางทั้งสิบสองที่จะค่อยๆ จนลง อาจโดนโกง จนถึงนำลูกทั้งสิบสองคนไปปล่อยในป่า แต่ครั้งนี้ครูปรับตัวเศรษฐีให้เป็นคนปากไม่ดี ท้าเทวดาจนเทวดาไม่พอใจ ใช้วิธีการต่างๆ กลั่นแกล้งจนเศรษฐีหมดตัว และการมีลูกถึงสิบสองคนนั้นเกิดจากการกลั่นแกล้งของเทวดา เหมือนกับผู้อำนาจที่คอยแกล้งชาวบ้าน การทำแบบนี้ทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผู้มีอำนาจไม่ควรกระทำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง”
วิธีการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ

วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์ของรัมภานั้นจะเป็นการเขียนเรื่องราวให้มีความต่อเนื่องขยับขยายไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการร่างโครงสร้างใดๆ ขึ้นมาก่อน ดังที่เธอระบุว่า
“ครูไม่ทำทรีตเม้นท์ไม่ร่างไม่แร่ง (หัวเราะ) ครูเขียนออกมาเลย จินตนาการครูออกมาเต็ม แต่เราต้องคุมเรื่องให้ได้ เราจึงรู้สึกสนุก เคยมีครั้งหนึ่งสถานีโทรทัศน์ขอทรีตเม้นท์ก่อน แต่เราก็บอกว่า…ไม่มี (หัวเราะ) พยายามเขียนแต่เรามีอิสระมาก เช่น การ์ตูนจ้ะทิงจา ครูเขียน อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ ในสุดสาครยังมีมือถือเลย (หัวเราะ) ไปแบบสุด”
รัมภายังเล่าถึงวิธีการดัดแปลงนิทานวัดเกาะมาเป็นละครทีวีไว้อย่างน่าสนใจว่า
“โครงเรื่องโดยส่วนใหญ่มาจากนิทานวัดเกาะ ซึ่งเนื้อเรื่องจะยาว พระเอกนางเอกเจอกันมีลูกมีหลานว่าไปเรื่อย เป็นคนละเรื่องไปเลย เหมือนเป็นการฝึกไปด้วย เรื่องแรกที่เขียนของละครจักรๆ วงศ์ๆ คือเรื่อง “เทพสามฤดู” (ปี 2530) ตอนแรกเราก็เขียนไม่เป็น ก็ว่าตามหนังสือ ครูอ่านทั้งเล่ม ซึ่งเป็นร้อยกรองทั้งหมด แล้วเขียนตามเขาทั้งเล่ม จนน้าหรั่ง (ไพรัช สังวริบุตร) เรียกไปคุย ตัวละครในเรื่องจะหมดแล้ว (ต้อง) แตกไปเรื่อย เขาเลยสอนใหม่ นำหนังสือมาแค่คู่แรก แล้วเรามาขยายความต่อเอง ยากมากเลย มันมีแค่นิดเดียว แต่ครูเรียนจบด้านวรรณคดีอังกฤษมา ครูนำมาปรับให้เป็นของไทยค่อนข้างเยอะ ตอนเด็กอ่านนิทานกริมม์ นิทานแอนเดอร์เซน นิทานอีสป ครูก็ปรับมาใช้ในละคร ปรับมาเรื่อยจนเรื่องที่สอง ปรับให้ร่วมสมัย ปรับสิ่งรอบตัวในปัจจุบันให้เป็นอดีต ให้คนปัจจุบันเข้าใจ เหมือนให้คนดูเข้าไปอยู่ในเรื่องได้”
การเขียนบทโดยไม่วางโครงเรื่องก็ดี และการนำนิทานวัดเกาะมาแต่งเสริมเติมต่อก็ดี อาจนำมาสู่ลักษณะ “ด้นสด” หรือ “ออกทะเล/มหาสมุทร” (มีความหมายทั้งในแง่บวกและลบ) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์สำคัญของละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร
ผู้สร้างสรรค์ “เจ้าชายไชยันต์” แห่ง “สังข์ทอง 2561”
ในฐานะผู้เขียนบท “สังข์ทอง 2561” ครูตุ้มพูดคุยกับกันตพงศ์ถึงกระบวนการสร้างตัวละครเพศทางเลือกอย่าง “เจ้าชายไชยันต์” เอาไว้ว่า
“คนชื่นชอบมากเลยตัวละครตัวนี้ หนึ่งในเขยของท้าวสามล ครูไม่ได้เขียนให้มันดราม่า แรง ตัวละครตัวนี้ไม่ได้ตั้งใจมาเลือกคู่ เขามาดูผู้ชาย มันตื่นตาตื่นใจ แต่พวงมาลัยที่ธิดาท้าวสามลเสี่ยงดันมาทางเขา พ่อแม่บังคับให้มีเมีย สมัยใหม่ก็เป็นแบบนี้อยากให้ลูกมีหลานไว้สืบสกุล สมัยก่อนไม่อยากให้ใครรู้ว่าลูกเป็นเลยให้แต่งงาน สมัยนี้เปิดเยอะกว่า ตอนจบต้องทำให้ดูว่าเขาไม่สามารถกลับเป็นผู้ชาย มันง่ายไป เป็นไปไม่ได้ ตัวละครขอโทษ เขามีพี่ชายฝาแฝด เป็นการปลอบใจ เมียเสียใจ จะเปลี่ยนได้อย่างไร”
1 Comment