ท่องนคร “ทานตะวัน” เมืองยักษ์ใน “นางสิบสอง 2562”

หลังจากชมละคร “นางสิบสอง 2562” ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเมือง “ทานตะวัน” ของ “นางยักษ์สันธมาลา” นั้นถูกออกแบบหรือจัดวางโครงสร้างเอาไว้เป็นอย่างดี มีระบบระเบียบ จนน่านำมาเขียนถึง ดังนี้

“พระแม่เจ้า” กับ “แม่ย่า”

พระแม่เจ้า แม่ย่า

จุดสูงสุดบนยอดพีระมิดหรือชนชั้นนำผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองยักษ์แห่งนี้ล้วนเป็นสตรีเพศ ทว่าพวกนางก็ดูจะแบ่งออกเป็นสองขั้ว

ขั้วแรก คือ “พระแม่เจ้าสันธมาลา” อีกขั้วหนึ่ง คือ “แม่ย่า”

“พระแม่เจ้าสันธมาลา” นั้นพำนักอยู่ในปราสาทราชวัง และทำหน้าที่ปกครองดูแลอาณาจักร ขณะที่ผู้เฒ่าเช่น “แม่ย่า” กักตัวบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำ

ครั้งหนึ่ง “พระแม่เจ้าสันธมาลา” เคยยกย่องว่า “แม่ย่า” เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของเมือง ขณะเดียวกัน “แม่ย่า” เอง ก็มีความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ต่างๆ จึงอาจแปลความได้ว่า นางยักษ์อาวุโสตนนี้มีอำนาจหน้าที่อยู่ในขอบเขตศาสนจักร ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อ-ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

ในช่วงแรกของละคร “พระแม่เจ้าสันธมาลา” มีลักษณะเป็น “ยักษ์หัวก้าวหน้า” ที่สนับสนุนหลักการไม่กินเนื้อ/ไม่ฆ่ามนุษย์ ทั้งยังเลี้ยงดูมนุษย์ (เด็กหญิง) จำนวน 12 คน ประหนึ่งลูกแท้ๆ

นางคล้ายจะมีความเชื่อว่ายักษ์กับมนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้

ตรงกันข้าม “แม่ย่า” เริ่มปรากฏบทบาทในฐานะ “ยักษ์หัวโบราณ-อนุรักษนิยม” (กึ่งๆ สายเหยี่ยวด้วยซ้ำ) ซึ่งยืนกรานเรื่องยักษ์กับมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน

“แม่ย่า” ดูจะไม่ได้เคร่งครัดในกฎเกณฑ์ (ที่เพิ่งสร้าง) ซึ่งห้ามบรรดายักษ์ในเมืองทานตะวันมิให้กินเนื้อมนุษย์ มิหนำซ้ำ นางยังเหมือนจะแอบรู้เห็นเป็นใจกับ “พฤติกรรมต้องห้าม” ที่ขัดขืนกฎระเบียบดังกล่าวด้วย

แน่นอนที่สุด “แม่ย่า” คือผู้มีอำนาจคนสำคัญที่วางแผนการผลักไส “นางสิบสอง” ออกไปจากเมืองทานตะวัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง “พระแม่เจ้าสันธมาลา” กับ “แม่ย่า” นั้นก็น่าสนใจ

ส่วนใหญ่ “พระแม่เจ้าฯ” จะเคารพนบนอบและเชื่อฟังคล้อยตามคำแนะนำสั่งสอนของ “แม่ย่า” แต่เวลาโมโห โกรธา เดือดดาล ไม่ได้ดั่งใจ “พระแม่เจ้าฯ” ก็กล้าดุและตวาดใส่ “แม่ย่า” เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าให้พูดถึงสายการบังคับบัญชาแนวดิ่งแล้ว อย่างไรเสีย “พระแม่เจ้าสันธมาลา” ก็น่าจะอยู่เหนือกว่า “แม่ย่า”

ทว่าแม้ “แม่ย่า” จะมีอำนาจอาญาสิทธิ์ไม่เท่า “พระแม่เจ้าฯ” แต่นางก็รู้ดีว่าตนเองควรจะเล่นการเมืองในการโน้มน้าวใจ “พระแม่เจ้าฯ” ด้วยวิถีทางเช่นใด?

ดังเช่นที่ “แม่ย่า” สามารถแปรความโกรธความผิดหวังที่ “พระแม่เจ้าสันธมาลา” มีต่อการหนีหายของ “นางสิบสอง” ไปเป็นความเกลียดชังคั่งแค้นได้สำเร็จ

ขุนนางยักษ์

สันธมาลาและอีลีท

เมือง/นครต่างๆ ในโลกของละครจักรๆ วงศ์ๆ ย่อมต้องมีตัวละครสมทบเป็นเหล่าเสนาอำมาตย์และคุณท้าวนางกำนัล

ขุนนางยักษ์ระดับสูงในเมืองทานตะวันนั้นมีอยู่สี่ราย ได้แก่ “วิรุฬ” “จำบัง” “จตุรพักตร์” และ “ทุรโยธน์”

อย่างไรก็ตาม ทั้งสี่ตนดูจะมีสถานะอยู่บนแนวระนาบเดียวกัน มิได้ลดหลั่นจากอำมาตย์ลงเป็นหมื่นลงเป็นหัวหมู่ ดังเช่นระบบราชการในเมืองมนุษย์

เส้นแบ่งของยักษ์สี่ตนนี้จึงอยู่ที่ “หน้าที่” ของพวกเขามากกว่า

โดย “วิรุฬ-จำบัง” ปฏิบัติหน้าที่เป็นมือซ้ายมือขวาของ “พระแม่เจ้าฯ” ส่วน “จตุรพักตร์-ทุรโยธน์” ก็ดูจะเป็นมือไม้ใต้อิทธิพลของ “แม่ย่า” (การทำงานของสองฝ่ายมีขัด-ขบกันเป็นครั้งคราว)

วังในเมืองทานตะวันยังมีนางกำนัล ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกระหว่างคุณท้าวยศสูงกับนางกำนัลทั่วๆ ไป แต่อาจมีนางกำนัลรุ่นใหญ่ที่มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดเจ้านายมากหน่อย เช่น “โขมดทอง” กับ “ขมูทิพย์” เป็นต้น

“ประชาชนยักษ์”

ประชาชนยักษ์ 1

ประเด็นหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ ใน “นางสิบสอง 2562” ก็คือเมืองทานตะวันนั้นมี “ประชาชน/พลเมือง/ราษฎรยักษ์” ดำรงอยู่

สวนทางกับละครจักรๆ วงศ์ๆ จำนวนมาก ที่มักนำเสนอ “ยักษ์” เป็นอมนุษย์ ผู้มีฤทธิ์เดชน่าเกรงขาม และมีรูปร่างใหญ่โตเหนือมนุษย์ จนอาจสามารถอนุมานได้ว่า “ยักษ์” อยู่ตรงข้ามหรือไม่ใช่ “ประชาชน”

แต่ละครกลับไม่ค่อย/เคยนำเสนอ หรือคนดูก็ไม่ค่อยนึกถึงภาพ “ยักษ์ที่เป็นประชาชน” หรืออาจเรียกขานว่า “ยักษ์เล็กยักษ์น้อย” กันสักเท่าไหร่

ละคร “นางสิบสอง” ฉบับนี้ ได้ฉายภาพ “ประชาชนยักษ์” ที่ชีวิตต้องได้รับผลกระทบจาก “ยักษ์ผู้เป็นชนชั้นปกครอง”

ประชาชนยักษ์ 2

เพราะเมื่อ “พระแม่เจ้าสันธมาลา” รับเด็กหญิงลูกมนุษย์จำนวน 12 ราย มาเลี้ยงดูเป็นพระธิดา นางก็สั่งการให้ยักษ์ทุกตนในเมืองทานตะวันเลิกทำตัวเป็น “ยักษ์” และให้ใช้ชีวิตประหนึ่ง “มนุษย์”

ครั้นพอมนุษย์สิบสองนางหนีหาย “พระแม่เจ้าฯ” ก็ระเบิดระบายอารมณ์ ทำลายบ้านเมืองของตนเองเสียย่อยยับ จนเหล่า “ยักษ์เล็กยักษ์น้อย” ทั้งหลาย โดนลูกหลงได้รับบาดเจ็บและต้องหลบภัยกันจ้าละหวั่น

ก่อนที่ “แม่ย่า” จะปรากฏตัวขึ้น พร้อมเอ่ยปากเตือน “พระแม่เจ้าสันธมาลา” ว่า “โน่น! ประชาชนทั้งเมืองที่พระแม่เจ้าเคยบังคับให้เขาอยู่อย่างมนุษย์ เขาทุกข์ทรมานเพราะแรงโมหะของพระแม่เจ้านะเพคะ”

จึงกลายเป็นว่า “แม่ย่า” คือยักษ์ฝ่ายขวา ผู้อยู่เคียงข้าง “ประชาชนยักษ์” ในเมืองทานตะวัน

เครือข่ายและจักรวาลรายล้อม “เมืองทานตะวัน”

สุรฤทธิ์ สุรกาศ

นครทานตะวันไม่ได้ตั้งอยู่เดี่ยวโดดชนิดตัดขาดจากโลกภายนอก

เห็นได้จากสองเจ้าชายยักษ์ต่างเมืองอย่าง “สุรฤทธิ์” และ “สุรกาศ” ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ “พระแม่เจ้าสันธมาลา” และถูกเชื้อเชิญมาให้เลือกใครบางคนในกลุ่ม “นางสิบสอง” เป็นคู่ครอง

หรือเมื่อ “พระแม่เจ้าฯ” กำลังมีอาการเป๋จากการสูญเสียลูกสาวบุญธรรมกลุ่มใหญ่ “แม่ย่า” ก็แอบส่ง “จตุรพักตร์” ไปขอตัว “เมรี” มาจากนครพันธุรัต เพื่อผูกใจ “พระแม่เจ้าฯ” ทดแทนเหล่า “นางสิบสอง”

ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์กับ “เครือข่ายเมืองยักษ์” ข้างต้น ทว่าเมืองทานตะวันยังเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของจักรวาลที่กว้างขวาง หลากหลาย และซับซ้อนกว่านั้น

เพราะเมื่อบรรดายักษ์จะข้ามเขตแดนเข้าสู่ “เมืองมนุษย์” พวกเขาต้องแจ้งแก่เทวดาปกปักรักษาพื้นที่เสียก่อน ว่าตนเองจะขออนุญาตผ่านแดนโดยมีเจตนาบริสุทธิ์

จักรวาลที่ประกอบด้วยเมืองยักษ์และเมืองมนุษย์ (ตลอดจนเทวดา) จึงมีกฎเกณฑ์เป็นกลางตั้งมั่นอยู่

แต่สุดท้ายแล้ว “พระแม่เจ้าสันธมาลา” ก็ตัดสินใจละเมิดกฎดังกล่าว

ขอบคุณภาพประกอบจาก ยูทูบสามเศียร

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.