บันทึกถึงหนังจีนเรื่อง “Youth”

หนึ่ง

รวมๆ แล้ว เมื่อดูเสร็จจะนึกถึง October Sonata คือนี่เป็นหนังที่ถ่ายทอดชะตากรรมของผู้คน ที่ดำเนินคู่ขนานไปกับชะตากรรมทางการเมืองของประเทศ ผ่านแง่มุมความรักโรแมนติกภายในกรอบเวลายาวนานหลายทศวรรษ (1976-1995, พร้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2005 และ 2016 โดยไม่มีภาพ) ซึ่งอบอุ่น กรุ่นๆ กำลังดี

โดยส่วนตัว รู้สึกว่าหนังมันมีอาการ “จบไม่ลง” ในช่วงท้ายๆ จากจังหวะที่สามารถทำให้เราร้องไห้โฮได้ เลยเหลือแค่มีน้ำตารื้นๆ ออกมา

สอง

youth 2

สิ่งแรกที่เซอร์ไพรส์ คือ หนังไม่ได้ฉายภาพชีวิตหนุ่มสาวที่ร้าวรานแตกสลายใน/สืบเนื่องจาก “ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม” หรือ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มิได้ส่งผลกระทบแง่ลบโดยตรงต่อชีวิตของเหล่าตัวละคร

เพราะจุดออกสตาร์ทของภาพยนตร์ คือ ปี 1976 อันเป็นปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นปีที่ “ประธานเหมา” ถึงแก่อสัญกรรม

ก่อนที่ชีวิตของกลุ่มตัวละครนำจะเติบโต ระหกระเหิน พลัดพราก โดยมี “สงครามจีน-เวียดนาม” ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ (เริ่มหันเหสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม) ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นฉากหลัง

พูดอีกอย่างได้ว่าบรรดาตัวละคร โดยเฉพาะพระเอก-นางเอก มิได้ถูกกระทำเฉพาะใน “ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม” หรือ “หลังปฏิวัติวัฒนธรรม” เท่านั้น แต่พวกเขาและเธอยังตกเป็น “เหยื่อ” ของบริบท/ช่วงเวลาอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ด้วย

สาม

youth 6

อีกส่วนที่เซอร์ไพรส์มากก็คือ ก่อนหน้านี้ (ด้วยความเซ่อส่วนบุคคล) เคยเห็นแค่โปสเตอร์หนังเวอร์ชั่นตัวละครนั่งริมสระน้ำ เลยไม่นึกว่ามันจะมีฉากเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย แถมเป็น “สงครามจีน-เวียดนาม” อีกต่างหาก ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรก ที่ตัวเองได้ดูหนังที่มีฉากหลังเป็นสงครามนี้

จริงๆ พาร์ทสงครามเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบนัก แต่ก็ให้ผลลัพธ์อะไรบางอย่างที่น่าสนใจดี เช่น ก่อนหน้านี้ เวลาเรารู้จักสงครามจีน-เวียดนาม เราจะจดจำมันในฐานะสงครามที่จีน “สั่งสอน” เวียดนาม แต่สิ่งที่ “เฝิงเสี่ยวกัง” นำเสนอ กลับเป็นภาพโศกนาฏกรรมที่คนเล็กคนน้อยชาวจีนต้องประสบจากสงครามดังกล่าว

สี่

youth 7

ดูๆ ไป จะรู้สึกว่าพระเอกช่างเป็นคนดีดี๊ดี คือ โอเค ในโลกนี้และในสังคมไหนๆ มันอาจมีคนซื่อ คนตรง คนมักน้อย ที่ “เอาดี” ไม่ได้ไม่ว่าจะในระบบใดๆ แต่คนซื่อ คนตรง คนมักน้อย (หรือจะเรียก “เหลาซิก” ก็ได้) มันอาจไม่จำเป็นต้อง “ดีงามบริสุทธิ์” เป็นประชาชนตัวอย่าง แต่แบนราบ ขนาดพระเอก

ตรงกันข้าม ผมกลับรู้สึกว่านางเอกเป็นตัวละครนำที่มีมิติลุ่มลึกซับซ้อนมากกว่า เธอมีทั้งความผิดบาป ผิดแปลก หลุดโลก เกรี้ยวกราด เจ้าคิดเจ้าแค้น และปูมหลังที่รันทดรวดร้าว จนดูเป็น “มนุษย์” กว่าพระเอกชัดเจน

ห้า

youth 1

หนังแสดงให้เห็นว่า “เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด” ในมุมที่ไม่บวกนัก

ผมรู้สึกว่าหนังทรีต “คนทำงานด้านวัฒนธรรม” ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้น่าสนใจดี คือ ด้านหนึ่ง มันก็มีความงามเมื่อหน่วยงานนี้มีชีวิต มีความโหยไห้อาลัยเมื่อหน่วยงานนี้ต้องปิดฉาก แต่อีกด้าน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วย “อภิสิทธิ์ชน”

การเป็นทหาร คือ การมีอภิสิทธิ์หลายอย่างเหนือประชาชนทั่วไป ขณะที่กำลังพลในส่วนงาน “วัฒนธรรม” ของกองทัพ ก็มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าทหารที่เป็นกำลังรบ หลายคนเป็นลูกท่านหลานเธอ หลายคนสามารถเสาะแสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิต เพราะความสามารถทางศิลปวัฒนธรรม ภายหลังหน่วยงานถูกล้มเลิก หนุ่มสาวในหน่วยงานวัฒนธรรม ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างสุขสันต์ มีโอกาสทำกิจกรรมนันทนาการ และมีเวลาว่างพอจะนินทา ล้อเลียน หรือรังแกเพื่อนร่วมหน่วยรายอื่นได้

1102.00-00.Focus.HKChina.indd

และแน่นอน คนที่ค่อยๆ ถูกเขี่ยออกมาจากหน่วยงานนั้น ก่อนจะต้องไปแบกรับภาระหนักหนาและบาดแผลสาหัสในแนวหน้า ก็คือ “คนชายขอบ” ของหน่วย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหนุ่มฐานะยากจนที่เป็นเหมือนเบ๊ประจำคณะละคร และนักแสดงหญิงที่เป็นตัวตลกของเพื่อนๆ ผู้มีพ่อเสียชีวิตระหว่างโดนปรับทัศนคติอยู่ในค่ายกักกัน

หก

youth ending

แม้จะรู้สึกว่าหนังยืดย้วยไปหน่อย แต่ผมค่อนข้างโอเคกับตอนจบ กล่าวคือ ถ้า “เฝิงเสี่ยวกัง” เลือกจะปิดฉากเรื่องราวอย่างหนักมือกว่านี้ พระเอก-นางเอกคงกลายสถานะเป็น “วีรบุรุษ-วีรสตรี” ในอภิมหาบรรยายว่าด้วยชาติ ทว่าถูกหลงลืมในฐานะปัจเจกบุคคล ผู้มีชื่อเสียง เรียงนาม อัตลักษณ์ ตัวตน

แต่พอเรื่องราวถูกยืดขยาย แต่พอพระเอก-นางเอกไม่ได้ถูกทุบทำลายเสียจนแหลกละเอียด หากต้องล้มลุกคลุกคลานตกระกำลำบากไปเรื่อยๆ สถานภาพ “สามัญชน” ของเขาและเธอจึงยังดำรงอยู่อย่างมีชีวิต และปรากฏชัดในความทรงจำส่วนบุคคลและของมิตรสหายบางราย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.