บันทึกถึง “เณรกระโดดกำแพง”

หนึ่ง

โดยส่วนตัว ถ้าเทียบหนังเรื่องนี้กับงานชิ้นหลังๆ ของ “พี่สืบ บุญส่ง นาคภู่” ผมยังรู้สึกว่า “เณรกระโดดกำแพง” นั้นด้อยกว่า “ฉากและชีวิต” กับ “ธุดงควัตร” ทั้งในแง่การเล่าเรื่องและในแง่ศิลปะภาพยนตร์

หากถึงช่วงมอบรางวัลหนังไทยประจำปี 2561 ผมก็เห็นว่า “ฉากและชีวิต” สมควรได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากกว่า “เณรกระโดดกำแพง” แต่ใช่ว่าหนังเรื่องหลังจะไม่มีจุดโดดเด่นเอาเลย อย่างน้อย นักแสดงนำบางคนนั้นมีศักยภาพพอจะเข้าชิงรางวัลสาขาการแสดงแน่ๆ หรือตัวบทภาพยนตร์ก็มีชั้นเชิงอยู่ไม่น้อย

เช่นเดียวกัน ถ้าพูดถึงความเป็นหนัง “ธุดงควัตร” นั้นลงตัวและสวยงามกว่า “เณรกระโดดกำแพง” ทว่าเรื่องหลังกลับสามารถสะท้อนภาพสังฆะแบบไทยๆ ได้อย่างสมจริง จับใจ แหวกแนวมากกว่า

สอง

เณรกระโดดกำแพง หนึ่ง

“เณรกระโดดแพง” มีเนื้อหาสองส่วนที่เคลื่อนหน้าไปในลักษณะของสองเส้นเรื่องที่ดำเนินคู่ขนาน ส่องสะท้อน ซึ่งกันและกัน

เส้นเรื่องแรก คือ ชีวิตของผู้กำกับหนังและน้องๆ ทีมงาน (ซึ่งเป็นเสมือน “ชีวิตจริง” ในปัจจุบันของพี่สืบเอง) ที่เดินทางกลับมาบ้านเกิด เพื่อดิ้นรนตามฝัน/ทำหนังด้วยทุนสร้างอันจำกัดจำเขี่ย

เส้นเรื่องหลัง เล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มในชนบท ซึ่งต้องบวชเณรเพื่อไขว่คว้าโอกาสทางการศึกษา แต่ท้ายสุด เมื่อเวลาผันผ่าน เขาก็เตรียมตัวจะสละผ้าเหลือง เพื่อสอบเข้าเรียนสาขาการละครในมหาวิทยาลัย ตามความใฝ่ฝันส่วนตัวที่อยากเป็นนักแสดง เป็นที่เข้าใจกันว่าเนื้อหาส่วนนี้ ก็คือ ปูมหลังชีวิตของพี่สืบอีกนั่นแหละ

ในแง่หนึ่ง ได้ยินพี่สืบพูดเป็นนัยๆ เมื่อวันฉายภาพยนตร์รอบสื่อว่า ต้องเลือกเล่าเรื่องด้วยแนวทางนี้ เพราะเงื่อนไขข้อจำกัดด้านทุนสร้าง (สอดคล้องกับรายละเอียด/ปมปัญหาสำคัญของเส้นเรื่องแรกในหนัง)

อย่างไรก็ดี การเล่าเรื่องแบบนี้กลับนำไปสู่ความเปรียบที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ การเปรียบเทียบกันระหว่างความใฝ่ฝันจะทำหนัง ที่ยังลุกโชนอยู่ในปัจจุบัน ทว่ามองไม่ค่อยเห็นอนาคต กับอดีตในวัดที่เว้าแหว่งรางเลือนลงเรื่อยๆ (ไม่ต่างอะไรกับโรงภาพยนตร์ร้าง ฟิล์มหนังเก่า หรือม้วนวิดีโอที่ถูกทิ้งขว้าง)

สาม

เณรกระโดดกำแพง ผกก

สารภาพว่าระหว่างดูจะติดๆ ขัดๆ กับเส้นเรื่องชีวิตผู้กำกับอยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ

แต่พอมานั่งนึกย้อนทบทวน ผมกลับเห็นว่าเนื้อหา ลีลาการเล่าเรื่อง และการแสดง รวมถึงการผสมผสานระหว่างประเด็นความฝันต่างเจนเนอเรชั่น ความเคร่งเครียดจริงจังในชีวิต อารมณ์ขันที่เชยนิดๆ และภาวะเรียลลิสติกที่ถูกลดทอนลงหน่อยๆ ในส่วนนี้ ดันมีความคล้ายคลึงกับ “หนังตลาดที่ถูกลืม” ของพี่สืบ คือ “191 ½ มือปราบทราบแล้วป่วน” อยู่ไม่น้อย

191 ครึ่ง

สำหรับคนที่คุ้นชินกับหนังอิสระแนวสัจนิยมของพี่สืบ นี่อาจเป็น “องค์ประกอบแปลกใหม่” พอสมควร

สี่

เณรกระโดดกำแพง

แต่ถึงที่สุดแล้ว องค์ประกอบของหนังที่ผมชื่นชอบชื่นชมมากที่สุด ก็ยังเป็นเส้นเรื่องชีวิตเณรอยู่ดี และหวังว่าสักวันหนึ่ง พี่สืบจะมีโอกาสขยาย/พัฒนาเนื้อหาส่วนนี้ ให้กลายเป็น “หนังเต็มเรื่อง” หรือ “หนังที่มีชีวิตของตัวมันเอง” เพื่อเติมเต็มภาวะเว้าแหว่งอันน่าค้างคาใจใน “เณรกระโดดกำแพง”

ความน่าตื่นตาตื่นใจของเส้นเรื่องว่าด้วยชีวิต “เณรรุ่ง” ก็คือ ลักษณะอันผิดแผกจาก “หนังพระ-เณร” แบบไทยๆ เรื่องอื่นๆ

พี่สืบไม่ได้พูดถึงด้านมืด-ความเลวร้ายฉ้อฉลที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังศาสนา

มาคราวนี้ แกมิได้ต้องการนำเสนอเรื่องแก่นธรรมหรือหลักคำสอนอันลึกซึ้งสูงส่ง เหมือนเมื่อครั้งทำ “ธุดงควัตร”

แล้วพี่สืบก็ไม่ได้อยากเล่าเรื่องราวของเณรในต่างจังหวัดที่เต็มไปด้วยแก๊กตลกสดใสหรืออารมณ์ฟีลกู๊ดน่ารักๆ (ดังที่แกปฏิเสธไม่ยอมขายบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สตูดิโอใหญ่เจ้าหนึ่ง)

แต่สิ่งที่พี่สืบบอกเล่าในหนังเรื่องนี้ คือ ชีวิตยากไร้ขัดสนของเด็กหนุ่มชนบท ที่มี “วัด” เป็นแหล่งทรัพยากรเดียว ซึ่งจะสามารถช่วยผลักดันให้เขาเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา กระทั่งก้าวไปสู่โลกใหม่ๆ ได้สำเร็จ

เส้นเรื่องชีวิต “เณรรุ่ง” จึงพาพี่สืบหวนกลับมาเดินบนเส้นทาง “สัจนิยม” ในจอภาพยนตร์อย่างเต็มตัวอีกหน

ผมชอบบรรดาฉากชีวิตธรรมดาๆ ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นจุดแข็งของพี่สืบอยู่แล้ว) เช่น ฉากที่พวกเณรกลับบ้าน แล้วถอดจีวรแขวนไว้บริเวณใต้ถุนบ้าน ก่อนจะไปประกอบกิจกรรมอื่นๆ เหมือนคนปกติ ตั้งแต่ช่วยแม่ทำกับข้าว ช่วยทางบ้านเก็บพืชผล พาน้องไปบวชเรียน หรือแอบคุยกับหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน

ผมชอบฉากเณรนัดต่อยกัน ชอบรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าข้างฝาและหน้าต่างกุฏิของเณรนั้นเต็มไปด้วยปก-รูปภาพจากนิตยสาร “มวยโลก”

(ความนิยมหลงใหลในกีฬามวยของ “เณรรุ่ง” ซึ่งเป็นภาพแทนของ “สามเณรบุญส่ง” เปรียญธรรม 4 ประโยค แห่งวัดไพรสณฑ์ศักดาราม ก็ทำให้ผมนึกถึงชีวิตของ “สมาน ส.จาตุรงค์” เด็กหนุ่มชาวกำแพงเพชรซึ่งตามอ่านนิตยสารมวยโลกและเริ่มฝึกหัดลงนวม ตั้งแต่เมื่อครั้งเขายังเป็นสามเณรเปรียญธรรม 3 ประโยค แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์)

สมาน

ผมชอบพวกซีนปั๊ปปี้เลิฟระหว่าง “เณรรุ่ง” กับ “สาวติ๋ม” โดยเฉพาะการนัดจีบกันในร้านหนังสือที่ตัวเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวของเส้นเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังเป็นส่วนๆ เสี้ยวๆ กระจัดกระจาย จึงยังมีหลายคำถามที่ติดอยู่ในใจผม

ผมยังอยากรู้ว่าทำไม “เณรเปล่ง” ถึงสึกหายจากไปเสียดื้อๆ

ผมยังอยากรู้ว่าความสัมพันธ์กุ๊กกิ๊กระหว่าง “เณรรุ่ง” กับ “ติ๋ม” นั้นคลี่คลายสลายลงอย่างไร

ผมยังอยากเห็นระบบ-กระบวนการศึกษาเล่าเรียนของสามเณรในวัดไพรสณฑ์ฯ แบบละเอียดลงลึก

(ถ้าพิจารณาจาก “เณรกระโดดกำแพง” คนดูอาจพลอยรู้สึกว่าใจของ “เณรรุ่ง” นั้นลอยไปหาหนังหาดารา ลอยไปหาหญิงสาวนอกวัด และไม่ค่อยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเท่าไหร่ แต่ต้องไม่ลืมว่าในชีวิตจริง สามเณรชาวสุโขทัยชื่อ “บุญส่ง” ผู้ไปเรียนหนังสือที่วัดในจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นต้นแบบของตัวละคร “เณรรุ่ง” นั้น เอ็นทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นะคร้าบ ดังนั้น ระบบการศึกษาที่เขาได้รับในวัดคงไม่ธรรมดาแน่ๆ)

ห้า

เณรกระโดดกำแพง จบ สี

ผมชอบคำพูดของหลวงพ่อ/หลวงพี่ช่วงท้ายเรื่อง ที่เตือน “เณรรุ่ง” ว่า ถ้าเลือกสึก ชีวิตก็อาจกลับไป (ยากลำบาก) เหมือนเดิม แต่ถ้ายังบวชอยู่ ก็จะมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น

ดูเหมือนชีวิตจริงของพี่สืบจะแสวงหา “จุดกึ่งกลาง” ระหว่างสองทางเลือกนั้นได้เจอ คือ แกสามารถใช้/แปรโอกาสสุดท้ายภายใต้ผ้าเหลือง เป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้ชีวิตหลังบวชของตัวเองเดินทางไปสู่อีกจุดหมายหนึ่ง ในเมืองหลวง ในโลกภาพยนตร์ โดยไม่ซ้ำรอยเดิมกับชีวิตชาวนาช่วงก่อนบวชเรียน

แม้ว่าท้ายสุด ชีวิตที่ก้าวไปสู่โลกใหม่และชีวิตที่ติดค้างอยู่ในโลกเก่า ต่างล้วนเคว้งคว้าง รอคอยบางสิ่งบางอย่าง ท่ามกลางบรรยากาศเลื่อนลอยว่างเปล่า เหมือนๆ กันก็ตาม

ไปๆ มาๆ “เณรกระโดดกำแพง” อาจเป็นผลงานที่พี่สืบเปิดเปลือยชีวิตตนเองออกมามากที่สุด เท่าที่พอจะทำได้ (ณ ปัจจุบัน)

และการเปลือยชีวิตปัจจุบัน การเปิดชีวิตอดีต ซึ่งมาบรรจบกันในโรงภาพยนตร์แห่งความฝันช่วงท้ายเรื่องนั้น ก็เป็นภาวะหลอมรวมของเรื่องเล่าสองชนิด ที่เปี่ยมมนต์ขลังและมีเสน่ห์ดี

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.