ภาวะฮิตระเบิดของ “บุพเพสันนิวาส” ทำให้หลายคนพยายามเปรียบเทียบละครทีวีเรื่องนี้กับ “ศรีอโยธยา” ซีรีส์เล่าเรื่องราวยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดย “หม่อมน้อย” ของช่องทรูฯ หรือหนังใหญ่เมื่อ 14 ปีก่อนอย่าง “ทวิภพ” ฉบับ “สุรพงษ์ พินิจค้า”
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งผลงานบันเทิงที่มีความสอดคล้องใกล้เคียงกับ “บุพเพสันนิวาส” มากๆ คือ “พันท้ายนรสิงห์” ของ “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” หรือ “ท่านมุ้ย”
แรกเริ่มเดิมที โปรเจ็กท์นี้ถูกผลิตเป็น “ภาพยนตร์โทรทัศน์” เพื่อป้อนช่อง 3 แต่กลับโดนดองอย่างยาวนาน และมีข่าวว่าอาจจะถูกเผยแพร่ในฐานะละครเย็นแทน
ท่านมุ้ยและพร้อมมิตร ภาพยนตร์ จึงเปลี่ยนแผน ตัดภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องนี้ให้สั้นลง จนกลายเป็น “ภาพยนตร์ฉายโรง” ในปี 2558
ก่อนจะนำภาพยนตร์โทรทัศน์ความยาว 19 ตอน มาแพร่ภาพทางช่องเวิร์กพอยต์ ณ ปี 2559
โดย “พันท้ายนรสิงห์” ทั้งสองฉบับ ไม่ได้ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้หรือเรตติ้งมากมายนัก (ดูรายละเอียดเรตติ้งของละคร “พันท้ายนรสิงห์” ที่นี่)
อย่างไรก็ดี ใช่ว่า “พันท้ายนรสิงห์” ของท่านมุ้ยจะไม่มีจุดเด่นอยู่เลย
จุดน่าสนใจมากๆ ของภาพยนตร์โทรทัศน์/ฉายโรงเรื่องนี้ ก็คือ การใส่เนื้อหาว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงลงไปในเรื่องราวอย่างเข้มข้นจริงจัง
โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองสมัยพระนารายณ์นั้น นี่อาจนับเป็นสื่อบันเทิงไทยเรื่องแรกสุดที่นำเสนอประเด็นดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ (ก่อนการมาถึงของ “บุพเพสันนิวาส”)

ด้วยเหตุนี้ จึงมีตัวละครหลายรายใน “พันท้ายนรสิงห์” ที่ซ้อนทับกับตัวละครใน “บุพเพสันนิวาส”
เช่นเดียวกับนักแสดงบางคนที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์/ละครสองเรื่องนี้ โดยรับบทบาทต่างกัน
ได้แก่
สมเด็จพระนารายณ์ ฉบับพันท้ายนรสิงห์ รับบทโดย สุเชาว์ พงษ์วิไล
พระปีย์ ฉบับพันท้ายนรสิงห์ รับบทโดย ไชยา มิตรชัย
เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ (พระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์) – เจ้าฟ้าสุดาวดี (พระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์) รับบทโดย ธัญญา วชิรบรรจง และพิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์
(ในบุพเพสันนิวาสมีตัวละครสตรีสูงศักดิ์ปริศนารับบทโดย เจนจิรา จันทรศร ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าฟ้าหนึ่งในสองพระองค์นี้)
พระเพทราชา ฉบับพันท้ายนรสิงห์ รับบทโดย สมภพ เบญจาธิกุล
หลวงสรศักดิ์ ฉบับพันท้ายนรสิงห์ รับบทโดย พันเอกวันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด)
ฟอลคอน ฉบับพันท้ายนรสิงห์ รับบทโดย สเตฟาน เดอร์ ฌานาจ
นิรุตติ์ ศิริจรรยา ในบุพเพสันนิวาส รับบทเป็น ออกญาโหราธิบดี ในพันท้ายนรสิงห์ รับบทเป็นตัวร้ายชื่อ พระยาราชสงคราม
ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง ในบุพเพสันนิวาส รับบทเป็น สมเด็จพระนารายณ์ ในพันท้ายนรสิงห์ รับบทเป็น หลวงกำแหง ลูกน้องพระยาราชสงคราม
สุรศักดิ์ ชัยอรรถ ในบุพเพสันนิวาส รับบทเป็น ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในพันท้ายนรสิงห์ รับบทเป็น พระเจ้าสิริสุธรรมราชา พระเจ้าอังวะ
ติดตามชมภาพยนตร์โทรทัศน์ “พันท้ายนรสิงห์” เวอร์ชั่น 19 ตอน ได้ในเพลย์ลิสต์ด้านล่าง ใครสนใจประเด็นการเมืองปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ขอแนะนำให้ดู ตอนที่ 1 และ 18