หมายเหตุ ทีแรกเมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อน กะจะเขียนถึงภาพรวมของ “ศรีอโยธยา” ซีซั่นแรก หลังละครเพิ่งปิดฉากลง แต่ก็ผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา กระทั่ง “บุพเพสันนิวาส” จากทางฝั่งช่อง 3 เริ่มสร้างกระแสโด่งดังสนั่นจอไปทั่วประเทศพอดี จึงตัดสินใจเขียนถึงละครสองเรื่องนี้พร้อมๆ กันเสียเลยในคราวเดียว
อดีตที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน กับ ปัจจุบันที่ตัดตอนย้อนกลับไปยังอดีต
ข้อแรกสุด คือ เมื่อมองเผินๆ “ศรีอโยธยา” ของ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือหม่อมน้อย และ “บุพเพสันนิวาส” ของภวัต พนังคศิริ (เคยกำกับภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานใช้ได้เลยอย่าง “นาคปรก”) เหมือนจะมีเนื้อเรื่องคล้ายๆ กัน โดยต่างพูดถึงตัวละครยุคปัจจุบันที่ย้อนอดีตกลับไปยังเหตุการณ์ (อิง) ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา
ทว่า หากดูละครละเอียดๆ แล้ว เราจะพบว่าทั้งสองเรื่องมีปฏิสัมพันธ์กับ “อดีต” ต่างกันอย่างสำคัญ
“ศรีอโยธยา” นั้นพูดถึงความเชื่อมโยงสืบเนื่องทางอารยธรรม-ภูมิปัญญา-คุณค่า ที่ตกทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยไม่ขาดตอน
ขณะที่ “บุพเพสันนิวาส” พูดถึงการเดินทางย้อนกลับไปยังอดีตอย่างฉับพลัน ทันที และตัดตอน จนนำไปสู่สายสัมพันธ์อันแปลกแยกระหว่างยุคสมัย (แต่แน่นอน ย่อมเข้าใจและปรับประสานเข้าหากันได้ในท้ายสุด)
ความต่อเนื่องเชื่อมโยงจาก “อดีต” สู่ “ปัจจุบัน” ใน “ศรีอโยธยา”
ท่ามกลางความยืดเยื้อ การสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์อดีตกับปัจจุบันที่มีความคืบหน้าน้อยมาก และองค์ประกอบที่แลดูแปลกๆ ตลกๆ (ในทางที่ค่อนข้างแย่) และความไม่สนุก-ไม่น่าติดตามนานัปการ
จุดน่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหลักที่หม่อมน้อยต้องการนำเสนอใน “ศรีอโยธยา” ก็คือ “ความต่อเนื่องเชื่อมโยง” หรือการสืบทอดส่งมอบคุณค่า-อารยธรรม-วัฒนธรรม-ศิลปกรรม (อันสูงส่ง) ฯลฯ (ลองฟังเพลงประกอบละครดู) โดยไม่ขาดสาย ไม่ขาดตอน จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
ผ่านพล็อตหลักๆ ว่าด้วยการมีชีวิตคงอยู่ข้ามกาลเวลา (ภายในพื้นที่เฉพาะอันศักดิ์สิทธิ์) ของลูกหลานเจ้าพระยาพิชัยฯ อย่าง “บุษบาบรรณ” “คุณทองหยิบ” และเหล่าบริวาร (ได้รับอิทธิพลจากนิยาย “เรือนมยุรา” มาอย่างเด่นชัด) และการกลับชาติมาเกิดของเจ้าฟ้า-เจ้านายทรงกรมหลายพระองค์ (ตลอดจนขุนนางใกล้ชิด) ในยุคปัจจุบัน
โดยส่วนตัว ฉากหนึ่งของช่วงปลายซีซั่นแรก ซึ่งอธิบายแนวคิดข้างต้นได้น่าสนใจมากๆ (แม้หลายคนจะเห็นว่ามันมีรายละเอียดหลายประการที่ตลกและผิดพลาด) คือ ฉากที่เจ้าฟ้าสุทัศ/วายุ เจอดวงพระวิญญาณพระเจ้าเสือ แล้วพระเจ้าเสือก็พาเจ้าฟ้าสุทัศ (วายุ) ไปล่องเรือตามลำน้ำ เพื่อผ่านพบกับพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ต่อมา เมื่อเจ้าฟ้าสุทัศไปเข้าเฝ้าฯ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร ขุนหลวงหาวัดก็ตรัสว่าพระเจ้าเสือเคยเสด็จฯ มาพบพระองค์ ในลักษณะนี้เช่นกัน
การย้อนอดีต/การแทนที่โดยฉับพลันแบบ “บุพเพสันนิวาส”
ต่างจาก “ศรีอโยธยา” ละครทีวีเรื่องดังแห่งปีอย่าง “บุพเพสันนิวาส” กลับดำเนินเรื่องโดยการนำตัวละครจากยุคปัจจุบัน เดินทางย้อนเวลากลับไปยังอดีต เพื่อฉายภาพให้เห็นกระบวนการปะทะกันระหว่างความแปลกแยกแตกต่างของยุคสมัย โดยมีศูนย์กลางการปะทะสังสรรค์อยู่ที่ตัวละคร “การะเกด/เกศสุรางค์” (ตัวอย่างมีให้เห็นเต็มไปหมด ผ่านคลิปสั้นๆ หรือมีมต่างๆ ที่แชร์กันในโซเชียลมีเดีย)
นอกจากนี้ การย้อนเวลากลับไปยังอดีตของตัวละครนำในละครเรื่องนี้ ยังเป็นการ “แทนที่โดยฉับพลัน” ของตัวละครต่างยุคต่างอุปนิสัยสองราย คือ ตัวละครคนหนึ่งตายลงในโลกปัจจุบัน แล้ววิญญาณก็ล่องลอยเข้าไปสิงร่างตัวละครอีกคนที่เสียชีวิตลงในอดีต
ดังที่บอกไป (และดังที่ได้รับชมกันอยู่ในละคร) “การแทนที่โดยฉับพลัน” เช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การปะทะ/เทียบเคียง/วางชน (ในลักษณะ “ตัดตอน” ช่วงเวลา) ระหว่างคุณค่า-รสนิยม-วัฒนธรรมต่างชุดต่างประเภท (อย่างน้อย ก็ “ณ เบื้องต้น”) จนก่อให้เกิดอาการประหลาดใจแก่ตัวละครนำและคนดูหน้าจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า มิใช่ความสืบเนื่องเชื่อมโยงที่ส่งต่อกันมาอย่างราบรื่นเรื่อยเรียงเป็นวิถีปกติ ซึ่งปรากฏใน “ศรีอโยธยา”
ความแตกต่างนำไปสู่อะไร?
จากการประเมินส่วนตัว ผมรู้สึกว่า “การย้อนอดีตแบบแทนที่โดยฉับพลัน” ใน “บุพเพสันนิวาส” นั้นแสดงให้เห็นถึง “ความไม่ต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์” เมื่อไม่ต่อเนื่อง ก็นำไปสู่ “ช่องว่าง” ของความไม่รู้และความผิดแผกแตกต่าง ก่อนจะลงเอยด้วย “การเล่นสนุก” กับ “ช่องว่าง” แห่งความไม่รู้ หรือ “ช่องว่าง” ระหว่างค่านิยมที่ต่างกันเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาหนุนส่ง “การเล่นสนุก” ข้างต้นด้วยเช่นกัน
เพราะต้องยอมรับว่า “การเล่นสนุก” ทำนองนี้ สามารถเกิดขึ้นมาได้ด้วยสถานภาพ/ตำแหน่งแห่งที่บางประเภทของตัวละครนำ ถ้าตัวละครเอกของ “บุพเพสันนิวาส” ถูกกำหนดให้มีสถานภาพเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือขุนนางที่รับใช้เจ้านายอย่างใกล้ชิด (เหมือนบรรดาตัวละครนำของ “ศรีอโยธยา”) เธอก็คงไม่สามารถ “เล่นสนุก” หรือ “สร้างอารมณ์ขัน” ได้อย่างที่เป็นอยู่
หรือจะว่าไปแล้ว การนำเสนอภาพของการปะทะกันระหว่างยุคสมัย ก็ไม่ได้เกิดใน “บุพเพสันนิวาส” เป็นเรื่องแรก แต่พอละครเรื่องนี้เลือกจะแนะนำตัวหรือทำความรู้จักมักคุ้นกับผู้ชม ด้วยเหตุการณ์ปะทะสังสรรค์/ความแปลกแยกในวิถีชีวิตประจำวัน (ตั้งแต่เรื่องส้วม, อาหารการกิน, ไปจนถึงผายปอด ฯลฯ) ไม่ใช่เรื่องหนักๆ ในประเด็นประวัติศาสตร์การเมือง
“การเล่นสนุก” กับยุคสมัย จึงถูกนำเสนอออกมาได้อย่าง “สนุกสนาน” จริงๆ
ตรงข้ามกับกรณีของ “ศรีอโยธยา”
การขับเน้นไปที่ภาวะสืบเนื่องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ กลับยิ่งส่งผลให้ประวัติศาสตร์กลายสภาพเป็นภูมิปัญญา-ความศักดิ์สิทธิ์ ที่ยิ่งใหญ่ ไพศาล ตระการตา ซับซ้อน ยากเข้าถึง หรือ “เล่นสนุก” ด้วยไม่ง่ายนัก
ขณะเดียวกัน ผู้สร้างก็ดูเหมือนจะตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่าภูมิปัญญาหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดสืบสานกันมาอย่างยาวนาน นั้นไม่มีความแปลกแยกใดๆ เลยกับปัจจุบัน เห็นได้จากการที่ “พิมาน/พระพิมานสถานมงคล” ไม่มีอาการแปลกประหลาดใจหรือทำตัวผิดที่ผิดทางสักเท่าไหร่นัก เมื่อระลึกอดีตชาติของตนเองได้ เช่นเดียวกับตัวละครที่กลับชาติมาเกิดรายอื่นๆ (แต่พวกเขาอาจจะมีอาการซาบซึ้ง ปีติใจ ให้เห็น)
(ฉากที่อาจารย์พวงแก้ว คุณน้าของพิมาน -ชาติที่แล้ว คือ กรมขุนวิมลภักดี- แซววายุ -เจ้าฟ้าสุทัศ ในอดีตชาติ- ว่า “โถ่! น่าสงสาร องค์เจ้าฟ้าสุทัศ” นั้นก็แสดงให้เห็นถึงภาวะปะปนกันของอดีตกับปัจจุบัน อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงเจรจากับเพื่อนรุ่นน้องของหลานชาย ประหนึ่งพระมารดากำลังสนทนากับพระราชโอรสในอดีตชาติ)
(คลิกชมนาทีที่ 13.51-13.55 ของคลิปนี้)
ด้วยเหตุนี้ ตัวละครนำในยุคปัจจุบันของ “ศรีอโยธยา” จึงล้วนเผชิญหน้ากับ “อดีต” โดยตระหนักรู้ถึงภาวะเหลื่อมซ้อนของมิติเวลา ตระหนักรู้ถึงพันธะความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ และต่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับภาวะดังกล่าวในฐานะ “สัจจะ” ประการหนึ่ง อย่างมิผิดแผกแปลกแยก
ปัญหา คือ พอเรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองรู้อะไรมากเท่าไหร่ พร้อมทั้งรู้สึกว่าสิ่งที่เราหยั่งรู้นั้นยิ่งใหญ่เที่ยงแท้เพียงไร เราก็ยิ่งไม่มีแนวโน้มที่จะเปิด “ช่องว่าง” เพื่อผ่อนคลายตนเองและ “เล่นสนุก” กับองค์ความรู้ที่เราเชื่อว่าเราเข้าถึงโดยสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าหม่อมน้อยจะไม่พยายาม “เล่นสนุก” เอาเลย
อย่างน้อยการดำรงอยู่ของ “พระกำนัลนารี (สังข์)” ก็น่าจะสื่อถึงอารมณ์อยาก “สนุก” ของผู้กำกับท่านนี้มากพอสมควร เพียงแต่คนดูจะรู้สึกสนุกสนานขำขันกับตัวละครรายนี้หรือไม่? ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง