หนึ่ง
โอเค หนังมันวางตัวเองเป็น “หนังผี/ตลกเกรดบี” แบบชัดเจน ซึ่งก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีพอสมควร อาจมีจุดสะดุดหรือขรุขระอยู่บ้างตามรายทาง แต่ไม่ทำให้โจทย์รวมๆ ของตัวหนังหันเหผิดเพี้ยนไปเท่าไหร่
นอกจากนี้ “เปรมิกาป่าราบ” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ตระกูลหนังผี/ตลกแบบไทยๆ” นั้น มันอาจไม่ใช่ “ข้อจำกัด” หรือ “เพดาน” อะไรบางอย่างเสียทีเดียว แต่หากฉวยใช้มันให้เป็น มันก็อาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิด “โอกาส” ให้คนทำได้พูดถึงประเด็นที่ไม่สามารถถูกบอกเล่าได้อย่างเป็นปกตินักในพื้นที่สื่อบันเทิงไทยทั่วไป
สอง
แต่ถามว่าประเด็นของ “เปรมิกาป่าราบ” มันแหลมคมมากมายไหม? มันก็ไม่ได้คมคายแปลกใหม่อะไรมากมายนัก
ประเด็นหลักๆ ของหนัง คือ การลุกขึ้นมาทวงแค้นของคนชายขอบ/ผู้หญิง ที่ถูกเหยียด ถูกกระทำจากผู้ชาย/ผู้มีอำนาจ (ซึ่งเอาเข้าจริง พวกสื่อบันเทิงกระแสหลักของไทย ทั้งในจอทีวีและโรงหนัง ก็ดันพูดถึงเรื่องพวกนี้ไม่เยอะ)
อย่างไรก็ตาม มีหลายๆ รายละเอียดรายรอบประเด็นหลักของหนังที่น่านำมาคิดต่อ
สาม
ข้อแรกที่ผมชอบ คือ สถานะของ “ตู้คาราโอเกะ”
ตั้งแต่ต้นจนถึงเกือบจบเรื่อง “ตู้คาราโอเกะ” เป็นเหมือนเครื่องเก็บงำและเปิดเผยอดีตหรือความลับในใจของตัวละครหลักหลายๆ ราย
ทว่า จริงๆ แล้ว สถานะสำคัญสุดๆ ของ “ตู้คาราโอเกะ” ในหนังเรื่องนี้ กลับปรากฏผ่านสายสัมพันธ์ระหว่าง “นายใหญ่” กับหญิงสาวต่างด้าวที่ถูกส่งมาขายตัวอย่าง “เปรมิกา”
โดย ณ เบื้องต้น “ตู้คาราโอเกะ” เป็นทั้งช่องทางที่ช่วยให้ “เปรมิกา” สามารถปรับประสานต่อรองเข้ากับ “ความเป็นไทย” ได้ในระดับหนึ่ง และเป็นเครื่องมือที่พาเธอหลีกหนีออกจากความจริง/ความทุกข์
และถึงขั้นสุด ความสัมพันธ์ที่มี “ตู้คาราโอเกะ” เป็นสื่อกลาง ก็สามารถทำให้ “เปรมิกา” ซึ่งถูกกดขี่เหยียดหยามอยู่ตลอดเวลา สามารถเหยียดกลับหรือหัวเราะเยาะใส่ “นายใหญ่” ผู้ร้องเพลงเพี้ยนได้
แน่นอน กลยุทธ์การหัวร่อต่ออำนาจนั้นไม่ได้ “เวิร์ก” เสมอไป และผลลัพธ์ภายหลังเสียงหัวเราะดังกล่าว ก็นำไปสู่เหตุการณ์ฆาตกรรม ซึ่งทำให้ “เปรมิกา” ต้องหันมาเอาคืนบรรดาผู้คนที่กระทำความรุนแรงต่อเธอ ด้วยความรุนแรงที่ดิบเถื่อนถึงเลือดถึงเนื้อมากกว่า ไม่ใช่เสียงหัวเราะขบขัน (หรือการเหยียดกลับ)
สี่
จุดที่ผมค่อนข้างเสียดายในหนัง คือ บรรดาคนที่ต้องตายในเกมการร้องเพลงคาราโอเกะนั้นมันมีแพทเทิร์นแน่ชัดไปหน่อย
เพราะส่วนใหญ่คนที่ต้องตาย จะได้แก่ผู้ชายที่กระทำสิ่งแย่ๆ ต่อผู้หญิง ตั้งแต่ฆ่า, กดขี่, ทิ้งขว้าง, ทำเธอท้องแล้วให้ไปแท้ง, ขูดรีดใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจ เรื่อยไปจนถึงเหยียดหยามและลวนลาม
ขณะที่คนที่อยู่นอกเกณฑ์นี้จะแทบไม่เป็นอะไรเลย เช่น ตุล (ผู้มีทัศนคติต่อความเป็นชายในอีกรูปแบบหนึ่ง)
อย่างไรก็ตาม มันมีตัวละครคู่หนึ่งซึ่งถูกเล่นงานโดยเกมคาราโอเกะเป็นคู่แรกๆ และอยู่นอกเหนือจากแพทเทิร์นด้านบนด้วย นั่นคือ คู่หูเน็ตไอดอลสาวที่ร้องเพลงไม่เป็น
เอาเข้าจริง ถ้าจะทวงถามหาตรรกะเหตุผลจาก “เปรมิกา” ดูเหมือนสองสาวคู่นี้จะมีสถานะเป็น “เหยื่ออารมณ์” ของผีสตรีชายขอบมากที่สุด และเป็นสองคนที่ไม่ควรโดนลงทัณฑ์ (แม้จะปากร้ายและไร้สาระไปนิด)
แต่กลายเป็นว่าพอไปเป็นผีแล้ว พวกเธอดันรับส่งบทกับ “เปรมิกา” ได้คล่องและลงตัวซะอีก 555
ห้า
อีกข้อที่น่าสนใจ คือ หนังบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าผีสาวชายชอบตนนี้ไม่ได้ชื่อ “เปรมิกา” แต่ “เปรมิกา” เป็นชื่อที่จ่าตำรวจซึ่งมาทำคดีตั้งให้เธอแบบลวกๆ เพราะเห็นป้ายชื่อร้านตัดเสื้อ “เปรมิกา” อยู่ตรงคอเสื้อที่ศพสวมใส่
ที่ตลก คือ หลังจากนั้น แม้แต่ผีสาวเองก็เหมือนจะยอมรับชื่อนี้ไปด้วยโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากชื่อ “เปรมิกาคาราโอเกะ” ที่เธอนำมาใช้เล่นงานล้างแค้นผู้คน
จุดนี้ มันแปลกดี เพราะเหมือนจ่าตำรวจจะเป็นคนแปะป้ายบอกอัตลักษณ์บางอย่างให้แก่ผีสาว แล้วผีสาวก็นำอัตลักษณ์ดังกล่าว (ที่คนอื่นสร้างขึ้นเพื่อบอกว่าเธอคือใคร) มาใช้งานหรือเปิดเผยแสดงตัวตน
นี่จึงเป็นความสัมพันธ์ที่กำกวมลักลั่นไม่น้อย หากคิด/ตีความว่าการหลอกหลอน-แก้แค้นของ “เปรมิกา” คือ “การปลดปล่อย” ประเภทหนึ่ง
เพราะ “การปลดปล่อย” ที่ว่า ยังต้องหยิบยืม “ชื่อเสียงเรียงนาม” อันถูกนิยามโดยกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีส่วนกดขี่/เพิกเฉยต่อเธอ มาใช้เป็นอาวุธต่อสู้
หก
อีกจุด ที่จริงๆ แล้ว เป็นลักษณะร่วมของหนัง-ละครไทยแทบทุกเรื่องที่มีตัวละครเป็น “ตำรวจ” มากกว่าจะเป็นจุดเด่น/ด้อยของหนังเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว ก็คือ ไม่รู้จะมีใครสังเกตบ้างว่าหนัง-ละครไทยแทบทั้งหมดนั้น มักใส่รายละเอียดเกี่ยวกับตำรวจผิดหมดเลย
จุดผิดพลาดที่เห็นบ่อยๆ ก็เช่น การกำหนดให้ตำรวจที่มีแนวโน้มจะใหญ่สุดในการรับผิดชอบคดี (หรือใหญ่สุดในสถานี) เป็นแค่ “สารวัตร” (เหมือนตำแหน่ง “ผู้กำกับการ” หัวหน้าสถานี หรือกระทั่ง “ผู้บังคับการ” ที่คุมตำรวจทั้งจังหวัด มันจะไม่อยู่ในหัวของคนทำหนัง-ละครสักเท่าไหร่)
หรือการที่บรรดาตัวละครชอบเรียกสถานีตำรวจตามต่างจังหวัดว่า “สน.” ซึ่งย่อมาจาก “สถานีตำรวจนครบาล…” (เหมือนคนทำหนัง-ละคร จะไม่รู้จัก “สภ.” หรือ “สถานีตำรวจภูธร…”)
หรือตัวละครผู้หมวดหนุ่มไฟแรงใน “เปรมิกาป่าราบ” ก็แนะนำยศของตัวเองว่าผม “ร้อยตำรวจ…” (แต่ไม่มีตรี, โท ต่อท้าย)
หลายปีที่ผ่านมา ผมมักรู้สึกว่านี่เป็น “ความไม่รู้” ของคนทำสื่อบันเทิงไทย
แต่พอมาดู “เปรมิกาป่าราบ” มันมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดออกหรืออยากลองตีความเพิ่มเติม คือ หรือจริงๆ แล้ว ไอ้รายละเอียดยิบย่อยพวกนั้นมันจะ “ไม่ทำหน้าที่” หรือไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ในการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ทั่วไป (รวมถึงคนทำหนัง-ละครด้วย) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่จำเป็นจะต้องใส่ใจมัน หรือเข้าใจมันให้ถูกต้องเป๊ะๆ
ตัวอย่างชัดเจนสุด คือ สถานภาพของตัวละครตำรวจในหนังเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่า “ตำรวจไม่ดี” ก็ย่อมไม่ทำหน้าที่ตำรวจชัวร์อยู่แล้ว แต่กระทั่ง “ตำรวจดี” ที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ก็มิได้มีส่วนสะสางคดีในขั้นตอนสุดท้าย ทว่าเป็นผี “เปรมิกา” ต่างหาก ที่ลุกขึ้นมาชำระล้างเรื่องราวอันค้างคาทั้งหมดด้วยตัวเธอเอง
เท่ากับว่าเมื่อ “ตำรวจ” ไม่มีหน้าที่ทางสังคม สังคมก็ไม่จำเป็นต้องรู้จัก “ตำรวจ”
เจ็ด
ไม่แน่ใจว่าบทบาท “ครีเอเตอร์” ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ในหนังเรื่องนี้ นี่มีหน้าที่อย่างไรบ้าง?
แต่ผมกลับชอบหรือสนุกกับ “เปรมิกาป่าราบ” มากกว่า “รุ่นพี่” ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของวิศิษฏ์เสียอีก
ขณะเดียวกัน ผลตอบรับอันแสนบางเบาที่มีต่อหนังก็มิใช่เรื่องเกินคาด หากพิจารณาจากหน้าหนัง กระทั่งเนื้อในและตัวตนที่หนังเลือกจะเป็น
เช่นเดียวกับ “ปราโมทย์ ปาทาน” ที่อาจไปได้ดีในสื่อชนิดอื่นๆ แต่ก็ยัง “แป้ก” ในการแสดงภาพยนตร์อีกหน
ในอนาคต คนทำสื่อบันเทิงที่มีฟอร์มและเนื้อหาราวๆ นี้ คงต้องแสวงหาที่ทางให้ตนเองต่อไป ว่าแพลตฟอร์มแบบไหนที่จะเหมาะสมกับตัวงานที่ถูกผลิตออกมา