ปีนี้ มีหนังนานาชาติถูกส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม มากถึง 92 เรื่อง
ที่สำคัญ หนังเหล่านั้นเป็นผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงมากถึง 27 ราย เว็บไซต์วาไรตี้จึงได้ไปสนทนากับบรรดาคนทำหนังสตรีจากทวีปเอเชีย ซึ่งกำลังมีลุ้นในรางวัลสาขานี้ ผ่านคำถามสำคัญๆ จำนวนหนึ่ง
หนึ่งในนั้น คือ คำถามว่า “คุณอยากให้โลกรับรู้อะไรเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของคนทำหนังสตรี และอะไรคือสารที่คุณอยากจะสื่อออกไป?”
บล็อกคนมองหนังคัดเลือกคำตอบของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงสามราย ที่ผลงานลุ้นรางวัลออสการ์ของพวกเธอเคยเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในบ้านเรา มาฝากกัน
แม็ตตี้ โด (น้องฮัก – ตัวแทนจากประเทศลาว)

“ถ้ามีอะไรที่ฉันอยากบอกให้โลกรับรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้กำกับหญิงจากลาว สิ่งนั้นก็คือความยากลำเค็ญสุดๆ จากหลากหลายเหตุผล
“เริ่มจากการเป็นผู้กำกับหนังในประเทศ ซึ่งวงการภาพยนตร์ยุคใหม่เพิ่งจะตั้งไข่ นี่จึงเป็นการเริ่มต้นอย่างไม่ราบรื่นเท่าไหร่ ตามมาด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงเพียงคนเดียวในประเทศ ซึ่งการทำหนังยาวยังเป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โตมากๆ
“อย่างไรก็ดี ฉันคิดว่าการได้รับโอกาสให้กำกับและสร้างสรรค์ภาพยนตร์ในสถานที่ที่ผู้คนมีความรู้เรื่องนี้ไม่มากนัก รวมถึงการได้สร้างภาษาภาพยนตร์ทั้งหมดด้วยตัวเอง ก็ส่งผลให้ประสบการณ์การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สตรีจากประเทศลาว กลายเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมงดงาม
“ทุกๆ ประเด็น ทุกๆ อุปสรรค และทุกๆ ปัญหา ที่ฉันต้องเผชิญ ได้ช่วยเพิ่มเติมความลึกซึ้งและรุ่มรวยให้แก่เรื่องราว ซึ่งฉันสามารถนำไปบอกเล่าบนจอภาพยนตร์ให้คนดูได้รับชม ฉะนั้น ได้โปรดตีตั๋วมาดูหนังของพวกเรากันเถอะค่ะ”
อโนชา สุวิชากรพงศ์ (ดาวคะนอง – ตัวแทนจากประเทศไทย)

“สารที่ฉันอยากสื่อออกไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่ที่การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หญิงจากประเทศไทย แต่มันคือสารจากผู้กำกับหญิงคนหนึ่งมากกว่า
“พวกเรายังต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้หญิงได้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผู้กำกับสตรีต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนทำหนังเพศชาย นอกจากนี้ พวกเรายังต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ สนาม ตั้งแต่สนามของหนังฮอลลีวูดทำเงิน จนถึงสนามของแวดวงภาพยนตร์อินดี้”
เคิร์สเตน ธาน (ป๊อปอาย – ตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์)

“ก่อนจะไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือฉันเป็นคนสิงคโปร์ สถานะแรกสุดและสำคัญสุดของฉันก็คือการเป็นมนุษย์ผู้มีเรื่องราวอยากจะบอกเล่าสื่อสาร
“ฉันปรารถนาเสมอมาที่จะทำหนังเพื่อเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่พวกเราทุกคนต่างมีร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงหวังว่าผลงานของตัวเองจะไม่ถูกกักอยู่ในกรอบ ซึ่งต้องทำความเข้าใจผ่านแนวคิดเรื่องเพศสภาพและเชื้อชาติเพียงเท่านั้น ในเมื่อชีวิตของพวกเราต่างมีอะไรที่ลึกซึ้งและซับซ้อนมากเกินกว่านั้น
“สำหรับฉัน ธรรมชาติขั้นพื้นฐานสุดของภาพยนตร์คือศักยภาพในการก้าวข้ามผ่านพรมแดน สื่อประเภทนี้จึงสามารถนำเสนอทั้งสิ่งที่แปลกแยกสุดๆ และใกล้ตัวเราสุดๆ ได้พร้อมกันในช่วงเวลาเดียว”
ที่มา http://variety.com/2017/film/asia/oscar-foreign-language-female-directors-on-their-fims-1202628504/