เรตติ้งล่าสุด “เทพสามฤดู”-ตีความใหม่ “พระอภัยมณี”-รวม “มือระนาด” ช่วย “ป๋อม บอยไทย”

เรตติ้ง “เทพสามฤดู” ทรงๆ แต่ไม่ย่ำแย่

เรตติ้งละคร “เทพสามฤดู” ประจำวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2560 ยังทรงตัวอยู่ในระดับ “เกือบจะ” 6

โดยทั้งวันเสาร์ที่ 18 และอาทิตย์ที่ 19 ละครเรื่องนี้ต่างได้เรตติ้งไป 5.8 เท่ากัน

แม้จะไม่ถึงจุดพีกเกิน 7 ดังที่เคยทำได้ แต่ก็ไม่ขี้เหร่มากมาย เพราะคู่แข่งซึ่งออกอากาศในวันเดียวกันที่ชนะ “เทพสามฤดู” ขาดลอยจริงๆ ก็มีแค่ “สุดรักสุดดวงใจ” ละครเย็นที่โกยเรตติ้งถึงระดับ 9-10 ส่วน “ทิวลิปทอง” ละครหลังข่าวศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ผลงานของ “อาหลอง-ฉลอง ภักดีวิจิตร” ก็มีเรตติ้งความนิยม 6 กว่าๆ ถึง 7 นิดๆ เท่านั้น

(ที่มา กระทู้ เรตติ้งละคร-ภาพยนตร์วันศุกร์ที่17/11/2560-วันอาทิตย์ที่ 19/11/2560 โดย แม่น้องซ่า)

“พระอภัยมณี”: การตีความใหม่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หากนางผีเสื้อสมุทรคือ “อดีต” เราทุกคนต่างหนีนางผีเสื้อสมุทรของเรา เพื่อเอาชีวิตรอดเหมือนกันทั้งสิ้น

นางผีเสื้อฯ ในพระอภัยมณีนั้นเป็นตัวละครประหลาดนะครับ คือไม่มีที่มาที่ไป นางเงือกยังมีพ่อแม่เป็นตัวเป็นตน ซึ่งได้ช่วยให้พระอภัยและสินสมุทรหนีนางผีเสื้อในระยะแรก แต่นางผีเสื้อไม่มีพ่อมีแม่ หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว ก็ไม่มีผีเสื้อตัวอื่นโผล่เข้ามาในท้องเรื่องอีกเลย นางเป็นตัวเดียวหรือคนเดียวในสปีชีส์ของนาง เกิดขึ้นหรือมีขึ้นเพื่อพระอภัย และเป็นของพระอภัยคนเดียวโดยแท้

นางผีเสื้อจึงเป็นอดีตของพระอภัยเพียงคนเดียว และไม่มีใครขจัดเธอออกไปได้นอกจากตัวพระอภัยเอง วิธีขจัดนางผีเสื้อของพระอภัยก็น่าสนใจ เพราะใช้การเป่าปี่จนเธอสิ้นชีวิตลง วิธีที่เราขจัดอดีตอันบาดใจของเรา ก็ใช้วิธีเดียวกันคือเป่าปี่ หรือฟังคนอื่นเป่าปี่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หันไปหาสิ่งสวยงามที่จรุงใจให้ลืมอดีตลงได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

ปี่ของบางคนอาจเป็นศิลปะ บางคนอาจเป็นการทำงานหามรุ่งหามค่ำ บางคนอาจเป็นการสร้างชื่อเสียง บางคนอาจเป็นนางเงือกสาว นางสุวรรณมาลีและนางละเวง

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ปี่ของพระอภัยทำให้นางผีเสื้อตายลงจริงหรือ หากตายจริงเหตุใดพระอภัยจึงยังต้องหนีนางผีเสื้อต่อไปเกือบตลอดชีวิต ถึงไม่ได้หนีด้วยการว่ายน้ำ แต่ก็หนีด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งน่ากลัวพอๆ กัน คือเข้าทำสงครามนองเลือดกับรัฐโน้นรัฐนี้อย่างไม่หยุดหย่อน หรือต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อไปให้ถึง “เกาะแก้วพิสดาร” อันเป็นดินแดนที่พระอภัยเข้าใจว่าปลอดภัยจากนางผีเสื้อ อย่างจะหาความสงบในชีวิตสักชั่วขณะก็ไม่ได้เลย

“เกาะแก้วพิสดาร” ที่ไปได้ถึง อาจเป็นสถานที่ซึ่งนางผีเสื้อไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปทำอันตรายได้ แต่นางก็ยืนสกัดอยู่ไม่ไกลในทะเล มองเห็นเงาทะมึนเบื้องหน้า แม้เสียงถอนใจคร่ำครวญยังได้ยิน และความคั่งแค้นน้อยใจก็สัมผัสได้จากสายลม

มหากาพย์การวิ่งหนีอดีตหรือนางผีเสื้อของพระอภัยมาสิ้นสุดลงในตอนจบ ไม่ใช่โดยการฆ่านางผีเสื้อใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่โดยการหยุดหนี และใช้ชีวิตร่วมกันไประหว่างอดีตและปัจจุบัน ประนีประนอมยอมรับให้นางผีเสื้อเข้ามาอยู่ร่วมกับนางสุวรรณมาลีและนางละเวง ด้วยเหตุดังนั้น จึงพากันเดินทางไปพบกับนางเงือกซึ่งพระอินทร์ได้ตัดหางให้แล้วที่เมืองลังกา อย่าลืมว่า หากไม่นับสินสมุทรแล้ว นางเงือกเป็นตัวละครตัวเดียวที่มีชีวิตและบทบาทร่วมกับนางผีเสื้อ หรือ “อดีต” ของพระอภัย

การกลับไปพบกับนางเงือกอีกครั้งหนึ่ง จึงเท่ากับกลับไปเผชิญหน้ากับนางผีเสื้อหรืออดีตได้อย่างสงบเป็นครั้งแรก และเรื่องก็ควรจบลงได้อย่างบริบูรณ์

พระอภัยโชคดีที่ในที่สุดก็สามารถอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อได้ ในขณะที่คนอีกมากต้องหนีการไล่ล่าของนางผีเสื้อของตนเอง จนถึงวันสิ้นลม

การบำเพ็ญสมณธรรมของพระอภัยอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้กับการมีชีวิตร่วมกับอดีต แต่นั่นไม่ใช่วิธีเดียวเท่านั้น มีวิธีอื่นๆ อีกมากซึ่งเหมาะแก่แต่ละคน หากต้องเริ่มต้นที่อ่านแล้วทำให้สำนึกได้ว่า หยุดวิ่งหนีนางผีเสื้อของตนเสียที และจะอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อของตนอย่างไร

ตัวใครตัวมัน อย่างที่พูดๆ กันแหละครับ

ใครอ่านถึงตรงนี้ คงมีความเห็นตรงกันว่า เฮ้ย ผมนโนเอาเองนี่หว่า สุนทรภู่ไม่ได้คิดอย่างนี้แน่ ผมก็เห็นด้วยเลยว่าสุนทรภู่ไม่น่าจะคิดอย่างนี้ แม้ผมจะเห็นว่าสุนทรภู่มีสำนึกปัจเจกสูงกว่ากวีร่วมสมัยและก่อนสมัยอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม แต่คงไม่ถึงกับวางท้องเรื่องเพื่อเผยชีวิตส่วนในของพระเอกดังที่ผมกล่าวมาแต่ต้น แม้แต่ที่ผมเรียกว่า “ชีวิตส่วนใน” ก็คงเป็นความหมายที่คนรุ่นสุนทรภู่ไม่รู้จัก

แต่เราจะอ่านสุนทรภู่เพื่อรู้ว่าสุนทรภู่คิดอะไรไปทำไมครับ เราอ่านวรรณคดีอะไรก็ตาม เพื่อจะรู้ว่าเราคิดอะไรต่างหาก และนี่คือจุดอ่อนของการเรียนการสอนวรรณคดี (ทั้งไทยและต่างชาติ) ในประเทศไทย คือไม่สนใจว่าอ่านแล้วเราคิดอะไร และทำไม

หยุดเผาวรรณคดี
ภาพจาก https://www.matichonweekly.com

นี่คือจุดตั้งต้นของบทความที่อ่านสนุกมากๆ เรื่อง “หยุดเผาวรรณคดีไทยเสียที” โดยท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ครับ

ในส่วนที่เหลือของบทความ อ.นิธิ จะพยายามอธิบายว่า ทำไมเราจึงควรดึงวรรณคดี/วรรณกรรมลงมาจากหิ้ง หรือควรพรากงานเขียนเหล่านั้นออกมาจากอำนาจการตีความแบบเดิมๆ ที่ถูกผูกขาดโดยครูและผู้รู้

เพื่อนำไปสู่การตีความผ่านแง่มุมใหม่ๆ โดยผู้อ่านร่วมสมัยในโลกยุคปัจจุบัน

อ่านบทความฉบับเต็มที่นี่ครับ https://www.matichonweekly.com/column/article_66090

“สุดยอดมือระนาด” รวมตัว ร่วมใจช่วย “ป๋อม บอยไทย”

ป๋อม บอยไทย
ภาพจากเฟซบุ๊ก ป๋อมบอยไทย อาร์สยาม

คุณป๋อม บอยไทย หรือ “ชัยยุทธ โตสง่า” มือระนาดเอกเจ้าของรางวัลศิลปาธร และเป็นผู้บุกเบิกวง “บอยไทย” รวมทั้ง “บางกอกไซโลโฟน” เพิ่งล้มป่วยลงจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก และร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บรรดาพี่เพื่อนน้องสุดยอด “มือระนาด” หลายสิบชีวิต จึงได้มารวมตัวกันโชว์ฝีมือลือลั่น ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในงาน “คนรักดนตรีไทย ร่วมใจช่วย ‘ป๋อม บอยไทย’ ชัยยุทธ โตสง่า” เพื่อระดมเงินบริจาคไปช่วยเหลือป๋อมที่กำลังฟื้นฟูร่างกาย

โชว์เดี่ยวระนาดในวันนั้นกินเวลานานหลายชั่วโมง แต่ “มันส์” และ “แพรวพราว” มากๆ ครับ คิดว่าคนที่ชอบดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ชอบฟังดนตรีไทยเดิม หรือเคยประทับใจหนัง “โหมโรง” น่าจะมีความสุขกับการแสดง

ชมคลิปการแสดงได้ตามนี้ครับ

 

 

ส่วนนี่ คือ ผลงานเด่นเพลงหนึ่งที่คุณป๋อมเคยสร้างสรรค์เอาไว้ในอดีต

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.