“นางสิบสาม” โดย ประดิษฐ ประสาททอง และคณะละครอนัตตา
หนึ่ง
ดูจากชื่อคล้ายจะเป็นการตีความ “นางสิบสอง” ใหม่ แต่จริงๆ แล้ว เนื้อหาและโครงเรื่องของละครชาตรีร่วมสมัยเรื่องนี้ แทบจะเป็น “คนละเรื่อง” กับ “นางสิบสอง” ที่พวกเราคุ้นเคยกัน มีแค่ตัวละคร “นางยักษ์แปลงกาย/นางสิบสาม” เท่านั้นแหละ ที่ไปพ้องกับนิทาน “นางสิบสอง” อยู่รางๆ
สอง
ขณะเดียวกัน ชื่อละคร “นางสิบสาม” ก็มิได้หมายความว่าตัวละครเอกของละครเรื่องนี้จะเป็นผู้หญิงจำนวน “13 คน” ทว่า “นางสิบสาม” คือชื่อเฉพาะของสตรีคนหนึ่ง ถ้าใครได้ไปชมการแสดงก็ย่อมจะพบความนัยลึกซึ้งที่ซ่อนแฝงอยู่ภายใต้นามอันเป็นตัวเลข
สาม
โครงเรื่องตั้งต้นของละครเรื่องนี้อยู่ที่คำถามว่า ใครฆ่า “นางสิบสาม”? จากนั้น ตัวละครหลักสามรายจึงพยายามสืบค้นแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้นครที่มีเหตุการณ์สังหารสตรีนางนั้นอย่างฉาวโฉ่ ได้การยอมรับและปราศจากข้อครหาจากประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง (ฟังดูคุ้นๆ)
แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ประเด็นตั้งต้นก็ค่อยๆ ถูกขยายกระจายออก ส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากมุขตลกด้นสดสไตล์ละครชาตรี ที่คนบนเวทีอำกันเอง หรือคนบนเวทีหัน/ลงมาหยอกล้อกับผู้ชม (ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แข็งแรงมากของคณะละครอนัตตา แม้ผมยังรู้สึกว่า “อารมณ์ขัน” ของ “นางสิบสาม” จะไม่สุดเท่า “แก้วหน้าหมา” ละครชาตรีเรื่องก่อนหน้าของคณะนี้ก็ตาม)
สี่
ไปๆ มาๆ คำตอบว่าใครฆ่า “นางสิบสาม” ก็ถูกเฉลยอย่างไม่เซอร์ไพรส์มากนัก นอกจากนี้ ประเด็นที่ว่า “นางสิบสาม” คือ “นางยักษ์แปลงกาย” ผู้ถูกกระทำ ก็ไม่ใหม่สดเสียทีเดียว ซึ่งไม่ใช่ข้ออ่อนด้อยของละครแต่อย่างใด
เพราะประเด็นสรุปที่สำคัญกว่า ก็คือ ละครเรื่องนี้ไม่ได้หยุดตัวเองอยู่ตรงการค้นพบความจริงเหล่านั้น แต่กลับมุ่งหน้าไปสู่สถานการณ์ชุลมุนวุ่นวายของการอ้างอิงตนเองเข้ากับความเชื่อ-อารมณ์ความรู้สึกส่วนบุคคล/เฉพาะกลุ่มที่หลากหลาย (ในยุค Post-truth)
ห้า
“นางสิบสาม” จึงปิดท้ายในลักษณะที่แทบจะกลายเป็น “หนังฟิล์มนัวร์” ไปเลย คือ ลงเอยแบบปลายเปิดด้วยสถานการณ์หักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างตัวละครนำ 3+1 คน อันได้แก่ เจ้าเมืองอย่างท้าวระเด่นรันตู (ที่ได้อำนาจมาอย่างผิดครรลอง-ระบบ) นางสิบสาม ที่เป็นนางยักษ์แปลง และถูกผู้มีอำนาจใส่ร้ายปรักปรำ ภรรยาคนรองของเจ้าเมือง ซึ่งกลายเป็นตัวแทนของชาวบ้านชาวเมืองที่เลือกอยู่ข้างนางยักษ์ และพระอินทร์ ที่ระแวง/ไม่วางใจคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย
หก
ละครชาตรี “นางสิบสาม” มีกิมมิคที่เล่นกับคนดู ด้วยการให้ตัวละครชี้นิ้วมายังผู้ชมบางราย แล้วขอร้องให้พวกเขายกโทรศัพท์ขึ้นมา “ไลฟ์สด” การแสดง หรือกระบวนการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ “นางสิบสาม” บนเวที
น่าสนใจว่า แม้หลายคนจะทึกทักว่าเทคโนโลยีการไลฟ์เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือ จะทำให้เราเข้าใกล้ “ความจริง” มากขึ้น แต่บทสรุปของละครเรื่องนี้กลับกลายเป็นว่า ยิ่งสัมผัสกับ “ภาวะเสมือนจริง” ดังกล่าวมากเท่าใด เรากลับยิ่งสับสนงุนงงหนักขึ้นว่าอะไรคือ “ความจริง”?
เจ็ด
โดยสรุป ถ้าวัดกันในแง่ความสนุก เฮฮา แพรวพราวอารมณ์ขัน ผมชอบ “แก้วหน้าหมา” มากกว่า “นางสิบสาม” (ไม่แน่ใจว่าระยะห่างระหว่าง “คนเล่น” กับ “คนดู” ในการแสดงสองรอบแรกของ “นางสิบสาม” ที่ออดิทอเรียม หอศิลป์ กทม. จะส่งผลกระทบต่อประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน? หรืออาจเป็นเพราะ “แก้วหน้าหมา” นั้น อ้างอิงจาก “แก้วหน้าม้า” ที่มีความตลกโดยตัวมันเองอยู่แล้ว)
แต่ถ้าพิจารณาจากความคมชัดของประเด็นการนำเสนอ ผมรู้สึกว่า “นางสิบสาม” มีความหนักแน่จริงจัง ชวนขบคิดมากกว่า
หมายเหตุ
ละครชาตรีเรื่องนี้จะยังเปิดการแสดงอีกสองรอบในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน ณ ฟรี ฟอร์ม เฟสติวัล (ระหว่างเอกมัย 13 และ 15) ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่