หนึ่ง
โดยส่วนตัวยังรู้สึกงงๆ กับตรรกะของบรรดา “ผี” ใน “น้องฮัก” อยู่เล็กน้อย
คำอธิบายเรื่อง “กระบวนการเห็นผี” ของตัวละครนำรายหนึ่งของหนังนั้น มา “ชัดเจน” เอาตอนบทสรุปสุดท้าย ตรงส่วนนี้ไม่มีปัญหาคาใจใดๆ
แต่ผมยังแอบบสงสัยนิดนึงว่าทำไม “(ว่าที่) ผี” จึงต้องพากันมาใบ้หวยผ่านตัวละครรายนั้น (เธอและคนใกล้ตัวเคยช่วยเหลือหรือมีสายสัมพันธ์กับพวกเขาหรือ? ก็เปล่า ยกเว้นกรณีท้ายสุด)
นอกจากนี้ ถ้าคิดแบบตัดพ้อ เราก็อาจรู้สึกได้ว่าทำไม “อำนาจเหนือธรรมชาติ” จึงยอมตกเป็น “เครื่องมือ” ให้ “คนตาดี” นำอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพวกตนไปหลอกใช้/เอาเปรียบ “คนตาใกล้บอด”
หรือว่า “ผี/อำนาจเหนือธรรมชาติ” เหล่านั้น ตัดสินใจเลือกข้าง “คนตาดี” เพราะเธอมีสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจด้อยกว่า “คนตาใกล้บอด”?
สอง
อย่างไรก็ตาม จุดที่ผมชอบมากๆ ในหนัง คือ สถานภาพของบรรดาตัวละคร ตลอดจนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพวกเขาและเธอนั้น มัน “เท่าเทียม” หรือ “สมมาตร” กันแบบแทบจะสมบูรณ์
กล่าวคือ มันไม่มีใครดีกว่าใคร และต่างฝ่ายต่างก็ไล่ฟัด, เหวี่ยง, ตอแหล, ตบตี หรือกระทำใส่กันอย่างพร้อมหน้า หรือไม่ยอมน้อยหน้ากัน
แต่วงจรพยาบาทนี้ก็ไม่ได้มีสภาพเป็น “งูกินหาง” อย่างบริบูรณ์ เพราะอย่างน้อยยังมีคนหลุดรอด/มีชีวิตเหลือรอดจากห่วงโซ่อาฆาตดังกล่าว นั่นคือ “คู่ผัวเมียคนใช้” หรืออาจรวมถึงครอบครัวและแฟนเก่าของนางเอกที่บ้านนอก (ไม่รู้จะถือเป็นชัยชนะทางชนชั้นได้หรือไม่?)
ขณะเดียวกัน พอเรามองสายสัมพันธ์ร้ายๆ ระหว่างตัวละครใน “น้องฮัก” เป็นวงจรเช่นนี้ ตัวละครรายหนึ่งที่แลดู “แปลกแยก” ออกมาชัดเจน ก็คือ คนญี่ปุ่นอย่าง “เคนจิ” ซึ่งออกแนว “พี่ชายที่แสนดี” เกินไปนิด (จริงๆ คือ “เยอะ” เลย)
ยังดี ที่หนังได้กำหนดให้ตัวละครรายนี้เป็นผู้ชักนำน้องนางเอกเข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยม ผ่านสมาร์ทโฟนและเกม Angry Birds หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาเป็นผู้ชักนำนางเอกเข้าสู่ความพังพินาศในทางอ้อมนั่นเอง
สาม
ระหว่างดู “น้องฮัก” ผมคิดถึง “The Rocket” อยู่พอสมควร
หนังคู่นี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “สังคมลาวร่วมสมัย” “การพัฒนา” “ฝรั่ง (คนนอก)” และวิถีชีวิต/การเคลื่อนตัวของ “คนใน (ประเทศ)” คล้ายๆ กัน
เพียงแต่ “น้องฮัก” มองโลกในแง่ดีน้อยกว่า มีอารมณ์เกรี้ยวกราดฉุนเฉียวมากกว่า และอยู่กับปัจจุบันมากกว่า
พ้นไปจาก “เรื่องผีสาง” และ “การใบ้หวย” หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดลำดับชั้นของการกดขี่ขูดรีดและการเอาคืน โดยตั้งต้นจาก “ฝรั่ง” ที่มา “หาแดก” (แกมโกง) กับโปรเจ็กต์พัฒนาประเทศโลกที่สาม/ประเทศกำลังพัฒนา
ขณะเดียวกัน ก็มี “คนใน” บางส่วน ที่สามารถร่วมมือหรือสานสัมพันธ์กับ “ฝรั่ง” ได้สำเร็จ (ในกรณีนี้ คือ การแต่งงาน) จน “คนใน” รายนั้น กลายสถานะเป็น “(เมีย) ฝรั่ง” “คนรวย” และ “ชนชั้นกลางระดับสูง/ชนชั้นนำน้อยๆ” ในบ้านเมืองของตนเอง
แล้วก็ยังมี “คนใน” ที่ถูกพวกเดียวกันหลอก “ใช้สอย” อย่างนุ่มนวล ใกล้ชิด สนิทสนม ก่อนที่เธอจะค่อยๆ “ฉวยใช้” ฝ่ายตรงข้ามกลับอย่างแนบเนียนไม่แพ้กัน
และตรงฐานรากสุด ก็ยังมี “คนใน” อีกกลุ่ม ที่ถูกกดขี่ ขูดรีด ข่มขู่อย่างชัดเจน ในฐานะ “ชนชั้นล่าง” ของสังคม ความคั่งแค้นของเขาและเธอค่อยๆ ถูกสะสมจนพอกพูน แล้วระเบิดออกมาอย่างรุนแรง ณ เบื้องท้าย
(ยิ่งพูดถึงลำดับชั้นแบบนี้ “เคนจิ” ก็ยิ่งเป็นองค์ประกอบที่พิกลในหนังมากขึ้นไปอีก เพราะเขาคือ “คนนอกก็ไม่ใช่คนในก็ไม่เชิง” ที่ไม่ยอมหากินนอกลู่นอกทางกับโปรเจ็กต์การพัฒนา แถมยังไม่ยอมขูดรีดใครอย่างเด่นชัดนัก ซึ่งหากมองจากมุมโรแมนติก หนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่นก็อาจถือเป็น “ความหวังดีงามสูงส่ง” เพียงหนึ่งเดียวแห่ง “โลกตะวันออก” 555)
สี่
แน่นอนว่า “น้องฮัก” พูดถึงสังคมลาวที่กำลัง “เปลี่ยนแปลง” อย่างรวดเร็วและรุนแรง
นี่คือหนังที่พูดถึงคนระดับล่างๆ ผู้กำลังได้เข้าถึงหรือลิ้มลองวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่
พวกเขามีความปรารถนาเอ่อท้น ที่จะเคลื่อนตัวมาสู่การเป็น “คนชั้นกลาง” ในเมืองใหญ่/เมืองหลวง
น่าสนใจว่า ในเวลาใกล้เคียงกัน หนังกัมพูชาอย่าง “Diamond Island” ก็พยายามพูดถึงประเด็นคล้ายๆ กัน ผ่านอารมณ์/ความรู้สึก/ประสบการณ์อันเคว้งคว้าง แปลกแยก ร้าวรานของตัวละครนำ
ขณะที่ “น้องฮัก” เลือกเล่าเรื่องราวทำนองเดียวกัน ผ่านสายสัมพันธ์อันแตกร้าว ผุพัง และการชำระแค้น!