คงไม่เขียนวิจารณ์เจาะลึกอะไรมากมาย เพราะหลายคนเขียนกันไปหมดแล้ว พร้อมๆ กับการที่รายได้ของหนังทะลุหลักร้อยล้าน
แต่อยากจะเขียนถึง 3 ประเด็นในหนังเรื่องนี้ ที่สัมผัสกับประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง
ข้อแรก
จะมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากๆ คือ ฉากที่ “ลิน” เข้าห้องน้ำก่อนเข้าห้องสอบที่ออสเตรเลีย แล้วทำท่ายกมือไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง
ซึ่งมันสวนทางกับบุคลิก “เด็กเนิร์ด เด็กเรียน หัวสมัยใหม่” ที่ผ่านมาของเธอพอสมควร
ตรงนี้ ทำให้ผมคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ เหมือนกัน
จำได้ว่าก่อนขึ้นประถมศึกษา ตัวเองเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัว แล้วที่บ้านก็ซื้อ “เครื่องราง” ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ให้ผม
ผมพกเครื่องรางนั้นเข้าห้องสอบเสมอมา ตั้งแต่ช่วง ป.1-ปี 2 (ไม่นับรวมพระที่ห้อยคออยู่เป็นประจำ)
พร้อมๆ กับเครื่องรางญี่ปุ่น ประมาณ ป.4-5 มีเพื่อนคนหนึ่งนำ “แผ่นผูกดวง” ที่ทำจากทองเหลืองแข็งๆ คมๆ มาให้ผม
จากนั้น ผมเลยพกเครื่องรางญี่ปุ่น+แผ่นผูกดวงเข้าห้องสอบทุกครั้งไป
ผมเคยสอบตกวิชาวิทยาศาสตร์ตอนมิดเทอม ม.3 เทอมหนึ่ง ครั้งหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผม “เชื่อ” ในเครื่องราง-แผ่นผูกดวงที่พกติดตัวเข้าห้องสอบน้อยลง
ผมมาเลิกพกเครื่องราง-ของขลังเข้าห้องสอบเอาเมื่อตอนปี 2 เทอมหนึ่ง
ตอนนั้น ผมลงเรียนกับ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา เป็นวิชาแรก และเพราะนักศึกษาในชั้นมีเยอะ แกจึงจัดสอบมิดเทอม โดยนักศึกษาปี 2 (ที่ภาษาอังกฤษพื้นฐานยังไปไม่ค่อยรอดเลยอย่างผม) ต้องอ่านงานของ Thomas Hobbes และ Quentin Skinner ไปสอบ
เล่นเอาบ้าไปเลยครับ แถมในห้องสอบ อ.ธเนศ ยังมาร้องเพลง American Pie กวนนักศึกษาซะอีก 555
การเข้าห้องสอบครั้งนั้น ทำให้ผมตระหนักว่า เฮ้ย! เจออย่างนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ช่วยไม่ไหวว่ะ
นับแต่นั้นมา ผมเลยเลิกนำเครื่องรางและแผ่นผูกดวงเข้าห้องสอบไปโดยปริยาย
ข้อสอง
ข้อนี้ก็เป็นบทสนทนาเล็กๆ ในหนังเช่นกัน นั่นคือประโยคที่ “ลิน” บอกกับ “พัฒน์” และ “เกรซ” ว่า ในมหาวิทยาลัยไม่มีข้อสอบชอยส์แล้วนะ
อันนี้คงจะจริงสำหรับมหาวิทยาลัยเมืองนอก แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเมืองไทย (กรณีของผมคือ ธรรมศาสตร์) ผมยังเจอข้อสอบชอยส์จนเกือบเรียนจบเลยนะ
ตอนปี 1 มันจะมีวิชาเรียนรวมของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ข้อสอบชอยส์ วิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 1 ถึง 3 ก็ใช้ข้อสอบชอยส์แทรกอยู่ตลอด
ขึ้นปี 2 ผมข้ามไปเรียนวิชาหนึ่งที่คณะศิลปศาสตร์ (ซึ่งอีกหลายปีต่อมา -แต่ไม่ใช่ปัจจุบันนี้- กลายเป็นวิชาที่ “ดัง” ทั้งตัวอาจารย์และเนื้อหา) วิชานั้นก็ใช้ข้อสอบชอยส์ และเป็นข้อสอบชอยส์ที่ “โคตรยาก” ที่สุดในชีวิตหนหนึ่งเลย
ข้อสาม
ข้อนี้เป็นประเด็นใหญ่ในหนังหน่อยนึง
คือชะตากรรมของ “แบงค์” นี่ทำให้ผมนึกถึง “โหยวตั้นจือ” ใน “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า”
โหยวตั้นจือในแปดเทพฯ คือ ตัวละครที่ “ถูกกระทำ” มาตลอดเรื่อง ทั้งสูญเสียครอบครัว ทั้งโดนครอบหัวเหล็ก (ถูกปฏิบัติด้วยยังกะสัตว์เลี้ยง)
แต่พอมันฟลุ้กจะได้เป็นจอมยุทธชั้นนำ จะได้รักใครอย่างแอคทีฟ มันกลับโดนก่นด่าประณามในฐานะตัวร้ายโง่งม แล้วก็ต้องปิดฉากตัวเองด้วยเหตุโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด
พอเอา “แบงค์” ไปเทียบกับ “โหยวตั้นจือ”
โดยส่วนตัว ผมจึงไม่ค่อยแอนตี้ช่วงท้ายๆ ของ “ฉลาดเกมส์โกง” มากนัก
เพราะการที่ “ลิน” ถีบหัวส่ง “แบงค์” แบบเนียนๆ ดีๆ มีคุณธรรม เพื่อ “ฟอกขาว” ตัวเอง มันยิ่งทำให้ชะตากรรมของ “แบงค์” ทาบทับกับ “โหยวตั้นจือ” ได้แนบสนิทขึ้น
และ “แบงค์” มันคงบ่นว่า ไอ้ห่า! ก็พวกมึงนั่นแหละ ที่รวมหัวกันค่อยๆ เปลี่ยนกูให้กลายมาเป็นคนแบบนี้ แล้วพอกูจะเจริญรุ่งเรืองในระบบเหี้ยๆ ที่พวกมึงเคยประสบความสำเร็จ พวกมึงดันมาถีบหัวส่งกูซะงั้น
กูต้องทำไง ต้องโดดหน้าผาตายเหรอ?
1 Comment