ถ้าเทียบ “Jackie” กับ “No” ซึ่งเป็นผลงานสร้างชื่อก่อนหน้านี้ของ “Pablo Larraín”
ผมรู้สึกชอบและอินกับประเด็น รวมถึงบริบทเบื้องหลัง-รายละเอียดปลีกย่อยใน “No” มากกว่า
อย่างไรก็ตาม กลวิธีการนำเสนอเรื่องราวของ “Jackie” โดย Larraín กลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในมุมมองของผม
กล่าวคือ ผมรู้สึกว่า “แจ๊คกี้” ในหนัง นั้นมี “เรือนร่าง” หรือ “ตัวตน” อยู่สองแบบ
แบบแรก คือ “เรือนร่างทางการเมือง” แบบหลัง คือ “เรือนร่าง” ที่เป็น “ชีวิตส่วนตัว” ของ “มนุษย์” ตัวเล็กๆ อ่อนแอๆ ผู้หนึ่ง
สำหรับผม “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “แจ๊คกี้” ถูกแสดงออกชัดเจนผ่านภาพลักษณ์ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” ของเธอในรายการสารคดีแนะนำทำเนียบขาว (ที่มีกระบวนการ “สร้างภาพ” อย่างซับซ้อน เป็นขั้นเป็นตอน) หรืออิริยาบถของเธอในระหว่างพิธีศพสามี
น่าสนใจว่า “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “แจ๊คกี้” จะถูกผูกโยงอยู่กับถ้อยคำหรือแนวคิดประเภท “ประเพณี” “ประวัติศาสตร์” หรือ “ตำนาน” ที่มีความสืบเนื่องยาวนาน ไม่ขาดสาย และได้รับการเติมเต็ม (ในทางอุดมคติ) อยู่ตลอดเวลา
ซึ่ง “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “ผู้นำประเทศ” ก็ต้องไม่ขาดสายหรือเป็นอมตะดุจเดียวกับ “ประเพณี” “ประวัติศาสตร์” และ “ตำนาน”
เพียงแต่ “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “ผู้นำรัฐ” นั้นไม่ใช่ร่างกายหรือสมบัติส่วนตัวของมนุษย์คนไหน ทว่า เป็นเรือนร่างที่ถูกผูกโยงอยู่กับอำนาจรัฐ
ดังนั้น พอ “เจเอฟเค” ตายปุ๊บ “ลินดอน บี. จอห์นสัน” ก็ต้องรีบสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีทันที เพื่อสืบสาน “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “ผู้นำรัฐ” ให้มีชีวิตยืนยาวสืบไป
ขณะเดียวกัน “เรือนร่างทางการเมือง” ของ “แจ๊คกี้” ในฐานะ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” ก็ค่อยๆ เหี่ยวเฉาแหลกสลายลงตามมรณกรรมของสามี
ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “แจ๊คกี้” กับ “นักข่าว” ซึ่งเธอเปิดเผยตัวตนส่วนลึกหรือความในใจบางอย่างออกมานั้น แสดงให้คนดูเห็นว่าเธอจวนเจียนจะสูญเสียสถานะบุคคลสำคัญ/เรือนร่างแบบแรกไป
แต่สุดท้าย เธอก็ยังพยายามยื้อยุด “ความไม่เป็นทางการ” ที่เผลอหลุดออกมา ให้กลับคืนไปสู่ “ความเป็นทางการ” อยู่เสมอ
ตรงข้ามกับการฉายภาพ “แจ๊คกี้” ในสารคดีโทรทัศน์และพิธีกรรมแบบทางการ ช็อตอื่นๆ ส่วนใหญ่ภายในหนังเรื่องนี้ กลับพยายามจับภาพเธอในลักษณะโคลสอัพ ที่ทั้งแหว่งวิ่น ขาดห้วง ตื่นตระหนก สูญสิ้นความเชื่อมั่น
สำหรับผม ภาพเหล่านั้นแสดงให้เราเห็นถึง “แจ๊คกี้” ที่เป็นมนุษย์สามัญธรรมดา ผู้เพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาของการสูญเสียสามี ซึ่งถูกฆาตกรรม เธอต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งหรือความตึงเครียดต่างๆ มากมาย กับอำนาจรัฐ กับชนชั้นนำ กับครอบครัว กับความคาดหวังกังวลของตัวเอง
น่าสนใจว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ “บาทหลวง” ที่ค่อยๆ เพิ่มบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงหลังของหนัง นั้นเป็นคล้าย “คู่ตรงข้าม” กับการสนทนาระหว่างเธอกับ “นักหนังสือพิมพ์”
กล่าวคือ แม้การสนทนาระหว่างเธอกับ “หลวงพ่อ” จะมีความเป็น “กึ่งทางการ” และ “กึ่งส่วนตัว” ไม่ต่างจากการให้สัมภาษณ์สื่อ
(“แจ๊คกี้” ไม่ได้ไปพบ “หลวงพ่อ” ที่โบสถ์อย่างคนธรรมดา แต่เปิดอกพูดคุยกันโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอย รปภ. อยู่ห่างๆ และทั้งสองคนถือโอกาสสนทนากันก่อนจะไปประกอบพิธีกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องกึ่งครอบครัวกึ่งรัฐ)
แต่ต่อหน้า “หลวงพ่อ” “แจ๊คกี้” กลับค่อยๆ เริ่มปลดเปลื้องตนเองออกจากภาพลักษณ์ทางการที่มีความยึดโยงกับรัฐ หรือจาก “เรือนร่างทางการเมือง” แบบเดิม ที่เธอเคยยึดถือ/เข้าสวม
เธอกล้าเปิดเปลือยความในใจของตนเองในฐานะ “มนุษย์” คนหนึ่ง ออกมามากขึ้นๆ (ซึ่งก็เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการที่หลวงพ่อกล้าแสดงความสงสัย ความไม่รู้ ของแกเอง ออกมาเช่นกัน)
ปฏิสัมพันธ์กำกวมระหว่าง “แจ๊คกี้” และ “บาทหลวง” จึงมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อมโยงตัวตนของเธอเข้ากับสถานะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ต่างจากปฏิสัมพันธ์คลุมเครือระหว่าง “แจ๊คกี้” และ “นักข่าว” ที่ยังพยายามยึดโยงเธอไว้กับสถานภาพทางการเมืองบางอย่างอยู่
หรืออาจกล่าวได้ว่าการพูดคุยระหว่าง “แจ๊คกี้” กับ “หลวงพ่อ” เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนความคิด-ความทุกข์กันของ “เพื่อนมนุษย์” ผิดกับการสนทนาของเธอกับ “นักข่าว” ที่เป็นคล้ายการเล่นเกม/ต่อรองอำนาจระหว่าง “ตัวแทน” ของ “สถาบัน” สองประเภท ได้แก่ “สถาบันรัฐ/สถาบันทางการเมือง” กับ “สถาบันสื่อมวลชน”