(มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 มกราคม 2559)
“พันท้ายนรสิงห์” ผลงาน (ฟอร์มไม่ยักษ์) เรื่องล่าสุดของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย ถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์แรกเริ่ม ที่หวังจะผลิตให้เป็นละครโทรทัศน์ หรือ “ภาพยนตร์โทรทัศน์” (ในภาษาของท่านมุ้ย)
แต่ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่ลงตัว ละครหรือภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องนี้จึงเจอ “โรคเลื่อน” มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่า ในขณะที่คนทำต้องการให้ผลงานของตนเองออกเผยแพร่ในช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวค่ำ ทว่า ทางช่องกลับต้องการโยกพันท้ายนรสิงห์ไปฉายในฐานะละครเย็น (ซึ่งจริงๆ อาจโกยเรตติ้งดีกว่าละครหลังข่าวก็ได้)
ในที่สุด “พร้อมมิตร ภาพยนตร์” จึงหาทางออกด้วยการปรับเปลี่ยนผลงานของท่านมุ้ย ให้กลายเป็นภาพยนตร์ ซึ่งลงโรงฉายเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 หรือออกฉายรับปีใหม่ 2559 นั่นเอง
โดยรวมแล้ว นับว่า “พันท้ายนรสิงห์” ฉบับล่าสุด มีความสนุกสนานเพลิดเพลินพอสมควร
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะท่านมุ้ยมีโอกาสได้กลับมาเล่าเรื่องราวของตัวละครที่มีชีวิต จิตใจ เป็นมนุษย์เดินดินปกติอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หนังยังมีปัญหาใหญ่ๆ อยู่มากพอสมควร
ข้อแรก ด้วยความตั้งใจเบื้องต้นอยากจะเป็นละครทีวีขนาดยาวหลายตอนจบ (เท่าที่ทราบคือประมาณ 20 ตอน หรือไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง) แต่เมื่อต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นภาพยนตร์ฉายโรงที่มีความยาวเพียงแค่เกือบๆ 3 ชั่วโมง รายละเอียดของเรื่องราวจึงถูกตัดทอนออกไปจนมีบาดแผลเห็นได้ชัด
เช่น ที่มาที่ไปของตัวละครหลายรายขาดหาย (ดูแล้ว ก็ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าพวกเขาและเธอคือใครกันแน่?), การเรียงลำดับเรื่องราวหรือการเจริญเติบโตทางยศศักดิ์ของตัวละครดูสับสนปนเป (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)
ผลกระทบชัดเจนประการสำคัญของการทำละครทีวีให้กลายเป็นหนังโรง ก็คือ ดูเหมือนว่าแรกเริ่มเดิมทีในเวอร์ชั่นภาพยนตร์โทรทัศน์ ผู้เขียนบทได้แก่ ท่านมุ้ย และ อาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ จะต้องการพูดถึงสถานการณ์ช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ต่อเนื่องด้วยการสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง อย่างจริงจัง เห็นได้จากการระดมนักแสดงฝีมือดีๆ มารับบทเป็นตัวละครในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ลงโรง เหตุการณ์ส่วนนี้กลับกลายสถานะเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ที่ถูกกล่าวถึงอย่างผ่านๆ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 นาทีเสียด้วยซ้ำ
จริงๆ ถ้าท่านมุ้ยเลือกจะใส่เรื่องราวช่วงปลายแผ่นดินพระนารายณ์ลงไปในหนังให้มากกว่านี้ แล้วตัดต่อเรื่องราวส่วนอื่นๆ อาทิ รายละเอียดในการฉ้อราษฎร์บังหลวงและต่อต้านพระราชอำนาจของตัวละครพระยาราชสงครามและพรรคพวก ให้มีความสั้นกระชับมากขึ้น
พันท้ายนรสิงห์ก็อาจกลายเป็นหนังการเมืองยุคอยุธยาที่เข้มข้นและดูสนุกเรื่องหนึ่ง
ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานเรื่องล่าสุดของท่านมุ้ย ก็คือ แม้คนทำคล้ายต้องการจะใส่เรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองลงไปในหนัง แต่สิ่งที่ถูกใส่ลงไปกลับไม่ใช่องค์ประกอบชิ้นเยี่ยม
ส่งผลให้รสชาติความเป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ที่ควรจะดุเด็ดเผ็ดมัน แลดูอ่อนด้อยจืดชืดลงอย่างน่าเสียดาย
ถ้าให้เปรียบเทียบกับหนัง “พันท้ายนรสิงห์” เวอร์ชั่นของ “เนรมิต” ที่นำแสดงโดย “สมบัติ-สรพงษ์” ดูคล้ายภาพยนตร์ฉบับนั้นจะยังมีสถานะเป็นหนังการเมืองที่เข้มข้นกว่าหนังฉบับใหม่เสียอีก ผ่านการฉายภาพการห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง “วังหน้า-วังหลัง” ในยุคปลายแผ่นดินพระเพทราชา
ปัญหาอีกข้อของพันท้ายนรสิงห์ฉบับท่านมุ้ย ที่อาจทำให้คนดูบางส่วนรู้สึกสะดุดใจอยู่ตลอดเวลา ก็คือ ลำดับศักดิ์ของเหล่าตัวละครในหนัง ซึ่งไม่คงเส้นคงวาเอาเสียเลย
ยกตัวอย่างเช่นตัวละครที่รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี ที่ซีจีในช่วงต้นของหนังระบุว่าเป็น “พระยาพิชัย” แต่บรรดาลูกน้องรายล้อมกลับเรียกเขาว่า “ท่านพระ” ขณะที่เพื่อนขุนนางบางคนเรียกเขาว่า “ท่านเจ้าคุณ”
หรือตัวละครพระเจ้าเสือเอง ก็ถูกคนรอบข้างเรียกว่าพระเจ้าเสือ พ่อเจ้าอยู่หัว และ กรมพระราชวังบวรฯ อย่างสลับสับเปลี่ยน ปนเปไปมา ไม่ขึ้นกับลำดับเวลา จนไร้ระบบระเบียบอยู่ตลอด กระทั่งสุดท้าย แม้เมื่อหนังจบ ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์แล้วหรือยัง
ไม่แน่ใจว่าความสับสนงงงวยตรงจุดนี้เกิดจากการเขียนรายละเอียดบทสนทนาของตัวละครที่ไม่รัดกุมพอ หรือเกิดจากความยากลำบากในการตัดทอนละครทีวีขนาดยาวให้กลายเป็นหนังขนาดสั้นกันแน่
จุดตำหนิอีกประการ เห็นจะเป็นเรื่องโปรดักชั่น แม้หนังจะมีการถ่าย/ตกแต่งภาพที่สวยงามในระดับมาตรฐานภาพยนตร์จอใหญ่ (ถ้าเอาไปลงจอโทรทัศน์ จะถือว่าเป็นโปรดักชั่นชั้นดีเลิศเลยทีเดียว) แต่น่าเสียดาย ที่ในฉากจบ คุณภาพของภาพกลับดร็อปลง กลายเป็นภาพแบบละครโทรทัศน์
ขณะที่ปัญหาของการตกแต่งภาพด้วยเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ ที่เปิดเผยจุดอ่อนมาตั้งแต่เมื่อครั้งตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาคสุดท้าย ก็ยังลุกลามเรื้อรังมาถึงหลายๆ ฉากในพันท้ายนรสิงห์
ขออนุญาตกล่าวถึงแง่มุมดีๆ บ้าง แม้จะมีความน่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งขับเน้นประเด็นการเมืองในยุคปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์อย่างจริงจัง แต่อย่างน้อยที่สุด นี่ก็น่าจะเป็นหนัง/ละครไทยเรื่องแรก ที่พยายามแตะประเด็นดังกล่าว
อีกข้อซึ่งถูกกล่าวถึงอย่างผ่านๆ แต่น่าสนใจมาก ก็คือ หนังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า แต่มิได้เล่าผ่านแง่มุมการก่อสงคราม หากเป็นแง่มุมการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันมากกว่า
อีกประเด็นที่น่าคิดก็ได้แก่ สถานะของตัวละคร “พระเจ้าเสือ” ในหนัง-ละคร “พันท้ายนรสิงห์” นับตั้งแต่เวอร์ชั่นต้นฉบับ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล มาจนถึงเวอร์ชั่นท่านมุ้ย ซึ่งล้วนถูกกล่าวถึงในแง่มุมที่ดี กล่าวคือ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ถูกวาดภาพป้ายสีให้มีความร้ายกาจเกินจริง ทั้งยังทรงเป็นสหายที่ดีของนายท้ายเรือ ผู้เป็นเพียงสามัญชน
ด้วยเหตุนี้ เรื่องเล่าแบบบันเทิงๆ ว่าด้วย “พันท้ายนรสิงห์” ฉบับละครเวทีและภาพเคลื่อนไหว หลายๆ เวอร์ชั่นจึงนำเสนอภาพพระเจ้าเสือหรือราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ไม่ใช่ “ผู้ร้าย” สวนทางกับเนื้อหาของพงศาวดารอยุธยาที่ถูกชำระในสมัยรัตนโกสินทร์
“พันท้ายนรสิงห์” ของท่านมุ้ย ยิ่งเป็นตัวอย่างอันชัดเจน เพราะแม้พระเจ้าเสือในหนังจะทรงมีขุนนางใกล้ตัวที่ประพฤติทุจริต แต่สุดท้ายบุคคลฉ้อฉลเหล่านั้นก็ถูกปราบปรามลงโทษ ขณะเดียวกัน พระองค์ยังสามารถเปลี่ยนใจบรรดาผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อต้านได้สำเร็จ (จากการยอมเสียสละชีวิตของพันท้ายนรสิงห์)
ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้ปกครองที่ดีในท้ายที่สุด