(มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 ธันวาคม 2558)
“รุ่นพี่” เป็นผลงานชิ้นใหม่ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” หนึ่งในบุคลากรจากวงการโฆษณา ที่เข้ามาพลิกฟื้นคืนชีพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หรือช่วงต้นทศวรรษ 2540
เพื่อนร่วมรุ่นของวิศิษฏ์อย่าง “เป็นเอก รัตนเรือง” ดูเหมือนจะยังผลิตผลงานภาพยนตร์ออกมาเป็นระยะๆ แม้จะไม่จี๊ดจ๊าดแหวกแนวเหมือนเดิม แต่ก็ถือว่า “มีของ” สำหรับคนทำหนังที่อายุขึ้นต้นด้วยเลข 5
ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันอีกคนอย่าง “นนทรีย์ นิมิบุตร” ดูคล้ายจะโรยราไปพอสมควร ทั้งในวงการภาพยนตร์ และในวงการโทรทัศน์
วิศิษฏ์น่าจะคล้ายคลึงกับเป็นเอก คือเป็นชายวัยกลางคนที่ยังมีไฟ และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทั้งยังมีหลักคิดมุมมองต่อสังคมไทยและการเมืองไทย ที่คมชัด และไม่ไหวเอนไปตามกระแสรอบตัว
“รุ่นพี่” ผลงานล่าสุดของวิศิษฏ์ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสองชนิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หนึ่ง คือ นวนิยายวัยรุ่น อีกหนึ่ง คือ ภาพยนตร์
ทั้งนวนิยายและภาพยนตร์เล่าเรื่องราวเหมือนกัน ว่าด้วยเด็กสาวบุคลิกแปลกแยกที่สามารถดมกลิ่น/สื่อสารกับวิญญาณได้ (แต่มองไม่เห็น) เธอเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนคอนแวนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่วังเก่าของหม่อมเจ้าหญิงที่ถูกฆาตกรรมเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยกระบวนการยุติธรรมได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนสวนประจำวัง ในฐานะฆาตกร
อย่างไรก็ตาม ได้มีวิญญาณชายหนุ่ม “รุ่นพี่” ตนหนึ่ง พยายามติดต่อสื่อสารกับเด็กสาว เพื่อวอนขอให้เธอร่วมมือกับเขา ในการช่วยรื้อฟื้นและสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง
วรรคทองที่วิญญาณรุ่นพี่ผู้นี้อ้อนวอนต่อเด็กสาวผู้ได้กลิ่นวิญญาณ ก็คือ “ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ต้องการ”
สําหรับในฉบับงานเขียน ต้องนับว่านวนิยายเรื่องแรกของวิศิษฏ์นั้น อ่านได้เพลินและสนุกสนานทีเดียว จนสามารถอ่านได้รวดเดียวจบ หรืออย่างน้อยก็ทยอยอ่านจนจบเล่มได้ ภายใน 1-2 วัน
อย่างไรก็ดี แม้นิยายจะวางพล็อต สร้างโครงเรื่องได้น่าสนใจ มีลูกล่อลูกชนแพรวพราวในระดับหนึ่ง ทว่า ก็ไม่มีองค์ประกอบอะไรที่ “ใหม่” “แปลก” “แหวกแนว” หรือมีลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ในระดับสูง เฉกเช่นภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ของผู้เขียน
ส่วนที่ผมชอบจริงๆ ในนิยายเรื่องนี้ กลับกลายเป็นช่วงบทต้นๆ ซึ่งกล่าวถึงเพื่อนสองคนที่โรงเรียนเก่าของนางเอก (ก่อนเธอจะย้ายมาที่โรงเรียนคอนแวนต์) ในฐานะเรื่องราวอันเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ขนาดสั้นๆ ของเนื้อหาหลักในนิยายส่วนที่เหลือ (น่าเสียดาย ที่เนื้อหาส่วนนี้ไม่ถูกนำเสนอในฉบับภาพยนตร์)
ขณะเดียวกัน เรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนสนิทคนเดียวของนางเอกที่โรงเรียนคอนแวนต์ ก็สนุกใช้ได้ และสามารถนำเสนอถึงแง่ลบของสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างหนักแน่นทีเดียว
เพียงแต่ผมรู้สึกว่าเรื่องราวส่วนนี้ถูกสรุปปิดท้ายอย่างโฉ่งฉ่างล้นเกินไปสักหน่อย (แม้หลายคนจะรู้สึกชอบ “ผีป๊อปคอร์น” โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็ตาม)
ที่น่าเสียดาย คือ ตัวคดีฆาตกรรมหลัก กลับไม่ได้ดำเนินไปสู่จุดที่สนุกถึงขีดสุด หรือไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้น่าประทับใจ
นอกจากนี้ วิศิษฏ์สู้อุตส่าห์พยายามประคับประคองให้นิยายของตัวเองเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของอะไรก็แล้วแต่ มาได้จนเกือบจะจบเล่มแล้ว
แต่สุดท้าย ไม่รู้ว่าเพราะผู้เขียนกลัวว่างานเขียนชิ้นแรกจะไม่แหลมคมหรือไม่ชัดเจนพอหรืออย่างไร เขาจึงตัดสินใจใส่รายละเอียดหรือจิ๊กซอว์บางอย่างลงไปในหน้าท้ายๆ ของนิยาย เพื่อให้ “สาร” ที่ถูกซ่อนแฝงไว้ โผล่ผงาดออกมา จนเห็นได้เด่นชัด (ขณะที่ “ความเป็นนิทานเปรียบเทียบ” ที่ดี กลับถูกทำลายลงไป)
เมื่อพูดถึง “ความเป็นนิทานเปรียบเทียบ” ผมรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการพยายามเสาะแสวงหาคำตอบอย่างเคร่งครัดว่า ตัวละคร A เท่ากับนาย ก ตัวละคร B เท่ากับนาง ข ฯลฯ ในโลกความจริง
เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่า คนเขียนหนังสือหรือคนทำหนังที่มีกึ๋นระดับหนึ่ง คงไม่เลือกจะพูดถึงสังคม ผ่านการผลิตงานศิลปะใดๆ อย่างเถรตรงถึงขนาดนั้น รวมถึงกรณีของวิศิษฏ์กับนิยายเรื่อง “รุ่นพี่” ด้วย
ทว่า “รุ่นพี่” เป็นนิทานเปรียบเทียบที่มีประสิทธิภาพในแง่ที่ว่า นิยายเรื่องนี้สามารถสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก คำถามค้างคาใจ การไร้ซึ่งศรัทธา หรือความทรงจำบาดแผลของคนบางกลุ่มในสังคมร่วมสมัย ได้ค่อนข้างดีต่างหาก
เมื่อมาถึงฉบับภาพยนตร์ ดูคล้ายวิศิษฏ์จะนำเสนอจุดเน้นและประสบกับปัญหาที่แตกต่างออกไปจากฉบับนวนิยาย
เริ่มจากการกำหนดให้ตัวละครนำ มีคุณลักษณ์พิเศษในการ “ดมกลิ่น” วิญญาณได้ ซึ่งถือเป็นการวางพล็อตที่น่าสนใจไม่น้อย และไม่มีปัญหามากนักสำหรับสื่อนวนิยาย ที่ผลักภาระในการจินตนาการเรื่องราวไปให้ผู้อ่านแทบจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
ผิดกับสื่อภาพยนตร์ที่ต้องสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม อย่างน้อยคือทางด้านภาพและเสียง ให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อจนสนิทใจ ทว่า ศักยภาพในการถ่ายทอด “กลิ่น” กลับถือเป็นจุดตายข้อหนึ่งของสื่อชนิดนี้พอดี
ดังนั้น ความสามารถในการดมกลิ่นวิญญาณของนางเอกหนังเรื่อง “รุ่นพี่” จึงต้องถูกนำเสนออกมา ผ่านภาพลักษณ์/การปรากฏกายของวิญญาณ ด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ กราฟิก (เท่ากับเป็นการผลักภาระสำคัญของจมูกกลับไปสู่ดวงตาอีกครั้ง) และการแสดงท่าทางดมกลิ่นวิญญาณของนักแสดงนำ ซึ่งนับว่ามีความลักลั่นอยู่พอสมควร
การแสดงท่าดมกลิ่นวิญญาณของนักแสดงนำ ที่โด่งดังมาจากการเป็นเซเลบในโลกออนไลน์ อย่าง “พลอยชมพู-ญานนีน ภารวี ไวเกล” เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการแสดงในภาพรวม เพราะต้องยอมรับว่า พลอยชมพูยังแสดงหนังได้ไม่ดีนัก เช่นเดียวกับนักแสดงวัยรุ่นคนอื่นๆ ภายในเรื่อง
ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนดูไม่สามารถเชื่อได้ว่า นักแสดงวัยรุ่นเหล่านี้กำลังหัวเราะ ร้องไห้ มีความสุข มีความเศร้า ดังที่บทภาพยนตร์กำหนดให้พวกเธอและเขาเป็น แม้กระทั่งบทสนทนาธรรมดา นักแสดงกลุ่มนี้ก็ยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย
สวนทางกับนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, พรพรรณ เกษมมัสสุ, เปียทิพย์ คุ้มวงศ์ และ อรสา พรหมประทาน ที่พอจะประคับประคองมาตรฐานการทำงานของตนเองเอาไว้ได้ (โดยโน้มเอียงไปในทางการแสดงละครโทรทัศน์อยู่นิดๆ) ไม่นับรวม คาร่า พลสิทธิ์ ที่มาปรากฏกายอยู่ไม่กี่ฉาก ในบทหม่อมเจ้าหญิง ผู้ถูกฆาตกรรม
อีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเน้นที่แตกต่างระหว่างนวนิยายกับภาพยนตร์ก็คือ ในเวอร์ชั่นหนังยาว วิศิษฏ์ตัดสินใจลบเหลี่ยมมุมแหลมคมทางการเมืองออกไปมากพอสมควร จนอาจกล่าวได้ว่า “ความเป็นนิทานเปรียบเทียบ” อันโดดเด่น ที่ปรากฏอยู่ใน “รุ่นพี่” ฉบับนวนิยาย ได้ระเหยหายไปในฉบับภาพยนตร์
ตัวอย่างเด่นชัด ก็ได้แก่ “จิ๊กซอว์เปิดหน้าชก” ที่ถูกเปิดเผยในช่วงท้ายของนิยาย ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาเสนอในฉบับภาพยนตร์ (จริงๆ แล้ว อาจถือเป็น “ข้อดี”)
นอกจากนี้ เมื่อรูปแบบการเป็นหนังสืบสวนสอบสวน-วัยรุ่น ติดกลิ่นอายญี่ปุ่น (ที่งานด้านภาพในหลายช็อตหลายฉาก ทำออกมาได้ดีมาก) ถูกผนวกเข้ากับการแสดงที่ค่อนข้างอ่อน ก็ส่งผลให้ “รุ่นพี่” กลายเป็นหนังสืบสวนสอบสวนที่ดูสนุกพอตัว แต่กลับไม่มี “จุดเชื่อมต่อ” (อันจับต้องได้) ไปยังสถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ใดๆ นอกโรงภาพยนตร์
กระทั่งวรรคทองอย่าง “ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ต้องการ” ก็ดูเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ที่ไม่มีน้ำหนักและความหมายมากนัก เมื่อหลุดออกมาจากปากของตัวละครที่แสดงเป็นวิญญาณ “รุ่นพี่” (บอม-พงศกร โตสุวรรณ) ซึ่งเล่นแข็งเหมือนกับนักแสดงรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ
ผู้กำกับฯ มากประสบการณ์อย่างวิศิษฏ์น่าจะตระหนักได้ดีระหว่างกระบวนการเขียนบท-ถ่ายทำ ว่า “สารทางสังคม-การเมือง” หลายๆ ประการ ไม่สามารถถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนในภาพยนตร์
เขาจึงเลือกแทนที่ “สาระ” ที่หายไป ด้วยการกำหนดให้ตัวละครเดิน/ขี่จักรยาน วนเวียนอยู่แถวถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่สุดท้าย ปัญหาในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของนักแสดง และการโหมประโคมมิวสิกวิดีโอเข้ามาเป็นระยะๆ ก็ค่อยๆ กลบกระทืบฉากหลังดังกล่าว จนไม่สามารถสอดแทรกหรือพลิกสถานะกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในเนื้อหาหลักของภาพยนตร์ได้
ถ้าให้เปรียบเทียบผลงานหนังยาวเรื่องที่ผ่านๆ มาของวิศิษฏ์ กับ “รุ่นพี่”
ผมรู้สึกว่า “ฟ้าทะลายโจร” มีงานโปรดักชั่นและสไตล์การนำเสนอ ที่ทรงพลังและน่าตื่นตามากกว่า
ส่วน “หมานคร” แม้จะมีปัญหาคล้ายคลึงกับ “รุ่นพี่” ตรงที่คู่นักแสดงนำ ไม่สามารถรับบทบาทเป็นตัวละครได้ดีนัก แต่สุดท้าย เนื้อหาสาระน่าสนใจในหนังเรื่องนั้น ก็ยังไม่ถูกกลบเกลื่อนโดยงานโปรดักชั่นอันโดดเด่นสะดุดตาของวิศิษฏ์ และปัญหาเรื่องการแสดง
แน่นอนว่า “เปนชู้กับผี” ก็เล่าเรื่องได้สนุก น่าติดตามกว่า “รุ่นพี่” เยอะ
ไปๆ มาๆ ผมจึงมีความเห็นว่า “รุ่นพี่” มีคุณภาพใกล้เคียงกับ “อินทรีแดง” ผลงานก่อนหน้านี้ของวิศิษฏ์ ซึ่งท้ายที่สุด วิธีการเล่าเรื่อง, งานสร้าง และการแสดง ไม่สามารถโอบอุ้มเนื้อหาสาระที่แหลมคมทางการเมืองของหนังเอาไว้ได้ อย่างที่ควรจะเป็น
ขอแถมท้ายด้วยเรื่องเพลง เพราะแฟนหนังหลายคนคงจะทราบว่า วิศิษฏ์นั้นเป็นนักฟังเพลงที่ยอดเยี่ยม ทั้งยังเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดี
แต่ตามความเห็นและรสนิยมส่วนตัวของผม การเลือกใช้เพลงประกอบใน “รุ่นพี่” กลับไม่เวิร์กเอาเลย แถมยังมีส่วนผลักคนดูออกจากเรื่องราว/ประเด็นหลักของหนังด้วยซ้ำไป (ทั้งๆ ที่เพลงนำภาพยนตร์ ก็เป็นผลงานการแต่งเนื้อร้อง-ทำนองของวิศิษฏ์)
ผมยังคิดถึงการเล่นกับเพลงยุคสุนทราภรณ์ใน “ฟ้าทะลายโจร”
ยังคิดถึงการเล่นกับเพลง “ก่อน” อย่างชาญฉลาดและมีเสน่ห์ใน “หมานคร”
เหมือนกับที่ยังคิดถึงเพลงลูกทุ่ง “แม่สาวเสื้อฟ้า” ที่วิศิษฏ์แต่งขึ้น เพื่อใช้ใน “หมานคร” ตลอดจน “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ที่เขาแต่งให้กับหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ของเป็นเอก
อย่างไรก็ดี ถึง “รุ่นพี่” จะไม่ใช่ผลงานน่าดูลำดับต้นๆ ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แต่นี่ก็ถือเป็นหนังไทยเชิงพาณิชย์ที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งประจำปี 2558